Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

1. ถึงแม้ปัญหาความขัดแย้งของการเมืองไทยรอบนี้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ (Power Elites) แต่เทคโนโลยีสารสนเทศปัจจุบันได้ดึงประชาชนจำนวนมากเข้าสู่วังวนความขัดแย้งด้วย เพราะคู่ความขัดแย้งแต่ละฝ่ายต่างใช้เทคโนโลยีสารสนเทศขยายฐานมวลชนเพื่อแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนวงกว้าง โดยฝ่าย ‘เสื้อแดง’ อาศัยกรอบอุดมการณ์ ‘ลัทธิประชาธิปไตย’ เป็นหลักยึด และพยายามชี้ให้ประชาชนเห็น ‘วงจรปัญหา’ (Vicious Circle) ของอำนาจพิเศษที่อยู่เหนือการตรวจสอบควบคุมโดยประชาชน ตามวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งนำไปสู่วงจร ‘รัฐประหาร - ฉีกรัฐธรรมนูญ  -  ร่างรัฐธรรมนูญ  -  รัฐประหาร......’ เพื่อเป็นกรอบอ้างอิงความชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมือง ขณะที่ฝ่าย ‘เสื้อเหลือง’ อาศัยกรอบอุดมการณ์ ‘ลัทธิจารีตนิยม’ เป็นหลักยึด และพยายามชี้ให้ประชาชนเห็น ‘วงจรปัญหา’ ความเสื่อมคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมือง ซึ่งนำไปสู่การ ‘ซื้อเสียง  -  เข้าสู่อำนาจรัฐ  -  โกงกิน  -  ซื้อเสียง......’ เพื่อเป็นกรอบอ้างอิงความชอบธรรมในการต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายตน

2. จากข้อ 1. การเจรจาประสานประโยชน์ระหว่างกลุ่มชนชั้นนำเพื่อให้สังคมการเมืองไทยคืนกลับสู่ความสงบเรียบร้อยในสถานะเดิม (status quo) เหมือนก่อนเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นไปได้ยาก เพราะคู่ความขัดแย้งแต่ละฝ่ายจะอธิบายกับมวลชนของฝ่ายตนไม่ได้ว่า การที่ไปชักชวนประชาชนให้ออกมาร่วมต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองนั้น ๆ จนมีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ด้วยหวังจะมีส่วนร่วมขับเคลื่อนบ้านเมืองไปสู่ ‘การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง’ (ตามอุดมการณ์ของฝ่ายเสื้อแดง) หรือเกิด ‘การเมืองที่มีคุณธรรม’ (ตามอุดมการณ์ของฝ่ายเสื้อเหลือง) แต่สุดท้ายเมื่อกลุ่มชนชั้นนำเจรจาแบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์ลงตัว แล้วจะให้บ้านเมืองหวนคืนกลับสู่สถานะเดิมของ ‘การเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย’ หรือ ‘การเมืองที่ไม่มีคุณธรรม’ ดังนี้มวลชนทั้ง 2 ฝ่ายก็เท่ากับถูกหลอกให้ออกมาเสี่ยงชีวิตต่อสู้อย่างสูญเปล่าเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำ โดยที่ไม่ได้ช่วยให้บ้านเมืองดีขึ้นตามอุดมการณ์ของการต่อสู้ที่แต่ละฝ่ายโฆษณาปลุกเร้ามวลชนฝ่ายตนไว้

3. จากข้อ 2. การต่อสู้ทางการเมืองรอบนี้ได้ทำให้ประชาชนจำนวนมากตระหนักถึง ‘วงจรปัญหา’ ของภาวะความแปลกแยก (Alienation) จาก ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ’ และ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม’ ซึ่งแฝงอยู่ในระบบสังคมการเมืองไทยนับแต่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 มองในอีกแง่หนึ่งความขัดแย้งทางการเมืองรอบนี้จึงเท่ากับเป็นพลังขับเคลื่อนทางประวัติศาสตร์ เพื่อยกระดับสังคมการเมืองไทยให้อภิวัฒน์สู่ความเจริญงอกงามขึ้นอีกขั้น (จนพ้นจากภาวะความขัดแย้งแปลกแยกดังกล่าว) ตามตรรกะของ ‘กฎวิภาษวิธี’ (Dialectic) ในทางปรัชญาการเมือง เพราะการจักนำพาบ้านเมืองไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ได้ จำเป็นต้องเสนอ ‘เส้นทาง’ (road map) ที่จะยกระดับสังคมการเมืองไทยให้ ‘ก้าวไปข้างหน้า’ สู่ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ’ และ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม’ ไม่ใช่การ ‘ถอยหลังกลับสู่สถานะเดิม’ ของ ‘การเมืองที่แปลกแยกจากประชาธิปไตย’ และ ‘การเมืองที่แปลกแยกจากคุณธรรม’ ดังเช่นที่ผ่านมาในอดีต โดยถ้าหากมวลชนทั้ง 2 ฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ต่างมองเห็นหนทางที่จะร่วมกันยกระดับสังคมการเมืองไทยสู่เป้าหมายในอุดมคติตามที่ตนเองต่อสู้เรียกร้อง และเห็นว่าถ้ามัวแต่ไม่ยอมกันในเรื่องปลีกย่อยบางเรื่องต่อไป ก็จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนบ้านเมืองไปสู่จุดหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าตาม ‘เส้นทาง’ ดังกล่าว ถึงตอนนั้นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม อภัยโทษ ฯลฯ ก็จะเกิดตามมาเองโดยที่ไม่มีฝ่ายไหนคัดค้าน (หรือถึงมีก็จะกลายเป็นเพียงเสียงส่วนน้อยของสังคมที่ไม่มีพลังอะไร)

4. สาเหตุที่การเมืองไทยแปลกแยกจากหลัก ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม’ ก็เพราะเรานำแนวคิดประชาธิปไตยซึ่งสะท้อนผ่านภาษาที่เป็นกุญแจสำคัญคือคำว่า ‘สิทธิ’ เข้ามาใช้กับบ้านเมืองเรา โดยที่เข้าใจแค่ความหมายในระดับ ‘โครงสร้างส่วนผิวพื้น’ (Surface Structure) ของคำ ๆ นี้ แต่หาได้เข้าใจถึงความหมายในระดับ ‘โครงสร้างส่วนลึก’ (Deep Structure) ของคำดังกล่าว ที่ยึดโยงอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมวิทยาของแต่ละวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน (ตัวอย่างเช่น คำว่า ‘กู-มึง’ ในโครงสร้างส่วนผิวพื้นแห่งความหมาย คือสรรพนามที่เรียกบุรุษที่ 1 และ 2 แต่ความหมายในระดับโครงสร้างส่วนลึกของภาษาโดยเมื่อหลวงพ่อคูณใช้คำว่า ‘กู-มึง’ เรียกตัวเองกับลูกศิษย์ จะแตกต่างจากที่อาจารย์ซึ่งมีการศึกษาและอยู่ในเมืองใช้เรียกตัวเองกับลูกศิษย์ เป็นต้น) ทั้งนี้เนื่องจากพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของอารยธรรมยิว-คริสเตียน ได้เชื่อมโยงคำอธิบายความหมายของคำว่า ‘สิทธิ’ เข้ากับรากฐานทางจริยปรัชญาของสังคมตะวันตก ด้วยการอธิบายว่าสิทธิเป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้กับมนุษย์นับแต่สร้างมนุษย์คู่แรก และให้สิทธิที่มนุษย์จะบริโภคใช้สอยสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่พระเจ้าสร้างขึ้นนี้ สิทธิจึงมีความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ อันพึงที่มนุษย์จักต้อง ‘เคารพในสิทธิของตัวเอง’ ด้วยการใช้สิทธิดังกล่าวในทางที่สอดคล้องกับเจตจำนงของพระเจ้าผู้ประทานสิทธิให้แก่มนุษย์ ตลอดจนต้อง ‘เคารพในสิทธิของผู้อื่น’ ด้วย เพราะมาจากการประทานของพระเจ้าเช่นกัน (อันเป็นรากฐานของมโนทัศน์เรื่อง ‘สิทธิมนุษยชน’ ที่มีความสำคัญในอารยธรรมตะวันตก) เมื่อสังคมไทยนำคำว่า ‘สิทธิ’ ในลัทธิประชาธิปไตยเข้ามาใช้บนพื้นฐานของโครงสร้างส่วนลึกทางสังคมที่แตกต่างกัน โดยเข้าใจแค่ความหมายของสิทธิในระดับโครงสร้างส่วนผิวพื้นว่า คือ เสรีภาพที่มนุษย์จะกระทำอะไรก็ได้ตราบเท่าที่ไม่ไปล่วงละเมิดสิทธิของผู้อื่นจนผิดกฎหมาย ฉะนั้นถึงนักการเมืองคนใดจะมีข้อบกพร่องทางด้านคุณธรรมจริยธรรม แต่ตราบเท่าที่บุคคลผู้นั้น ยังไม่ได้ทำผิดกฎหมายจนถูกดำเนินคดี และประชาชนส่วนใหญ่พร้อมใจกันเลือกตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เป็น ‘ความชอบธรรม’ ที่นักการเมืองผู้นั้นจะพึงเข้าสู่อำนาจรัฐได้ ประชาธิปไตยบนพื้นฐานแห่งการเข้าใจความหมายของ ‘สิทธิ’ เช่นนี้จึงไม่มีความเชื่อมโยงทางตรรกะอะไรกับเรื่องคุณธรรมจริยธรรม (ซึ่งแตกต่างจากประชาธิปไตยของสังคมตะวันตก) ในที่สุดก็ทำให้การเมืองไทยแปลกแยกจาก ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม’

5. สาเหตุที่การเมืองไทยแปลกแยกจาก ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ’ ก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่เข้าใจตรรกะของ ‘สัญญาประชาคม’ (Social Contract) ที่เป็นรากฐานทางปรัชญาการเมืองของลัทธิประชาธิปไตย ซึ่งถือว่า ‘สิทธิ’ เป็นแก่นสารคุณค่า (Virtue) ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน แต่ความจำเป็นต้องรวมกันอยู่เป็นระบบสังคมเพื่อช่วยเหลือกันในการต่อสู้กับภัยต่าง ๆ ทำให้มนุษย์หันมาทำข้อตกลงร่วมกันที่จักสละ ‘สิทธิส่วนน้อย’ เพื่อสถาปนาอำนาจรัฐขึ้น และอาศัยอำนาจที่เป็นทางการของรัฐ (Authority) ช่วยปกป้อง ‘สิทธิส่วนใหญ่’ (ที่เหลือ) ของประชาชน เช่น ยินยอมให้รัฐมีอำนาจเรียกเก็บภาษีเหนือ ‘สิทธิในทรัพย์สินส่วนบุคคล’ จำนวนหนึ่ง เพื่อรัฐจะได้มีเงินงบประมาณไปจ้างตำรวจหรือทหารมาช่วยปกป้องคุ้มครองสิทธิของประชาชนไม่ให้ถูกละเมิดจากโจรผู้ร้ายภายในหรือจากศัตรูภายนอกประเทศ เป็นต้น รัฐจึงจำเป็นต้องใช้อำนาจที่มาจากประชาชนโดยทางที่ ‘ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนมากที่สุด’ และ ‘อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันที่สุด’ ตามหลัก ‘ความยุติธรรมในฐานะแห่งความเป็นธรรม’ (Justice as Fairness) เพราะเมื่อรัฐไม่สามารถผูกขาดการนิยามความหมายของคำว่า ‘คุณธรรม’ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินความ ‘ถูก-ผิด’ ของผู้คนในสังคมเหมือนรัฐเทวสิทธิ์ (Divine Right) ในอดีตที่ยึดโยงกับศาสนาต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนที่มาร่วมทำสัญญาประชาคมอาจมีความเชื่อด้านคุณธรรมแตกต่างกันไปตามศาสนาที่ตนศรัทธานับถือ ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นต้องอาศัย ‘หลักนิติธรรม’ มาเป็นเครื่องตัดสิน ‘ความถูก-ผิด’ ของผู้คนในสังคมแทนหลักคุณธรรมทางศาสนา ด้วยการถือหลักว่าคนที่ละเมิดกฎหมาย ก็คือคนที่ละเมิดต่อหลักคุณธรรมขั้นพื้นฐานที่ผู้คนยอมรับให้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินความถูก-ผิด ดี-ชั่ว ร่วมกันในสังคม ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่ ‘ข้อยุติโดยธรรม’ (อันเป็นรากศัพท์แห่งความหมายของคำว่า ‘ยุติธรรม’) ที่จะยึดโยงให้ผู้คนในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรกติสุข การที่สังคมไทยยินยอมให้มีการตีความกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายแบบ ‘สองมาตรฐาน’ ตลอดจนสมยอมให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 309 ขึ้นมาปกป้องการใช้กฎหมายโดยทางที่ขัดต่อ ‘หลักความยุติธรรมในฐานะแห่งความเป็นธรรม’ จึงสะท้อนให้เห็นถึงภาวะความแปลกแยกจาก ‘ตรรกะของหลักประชาธิปไตย’ ซึ่งส่งผลทำให้เกิด ‘ประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ’ ในบ้านเมืองเรา

6. สิ่งที่คลี่คลายจากตรรกะของสัญญาประชาคมในลัทธิประชาธิปไตย ก็คือหลัก ‘สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค’ แต่สัญญาใด ๆ ก็อาจถูกฉีกทิ้งได้ถ้าหากคู่สัญญาดังกล่าวไม่มีสำนึกในความเป็น ‘คนพวกเดียวกัน’ ที่จักต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นพิเศษยิ่งกว่า ‘คนพวกอื่น’ ที่อยู่นอกพันธะสัญญานั้น ด้วยเหตุนี้ลัทธิประชาธิปไตยจึงต้องอาศัยหลัก ‘ภราดรภาพ’ ในโครงสร้างส่วนลึกทางสังคม เพื่อเป็นพื้นฐานรองรับหลัก ‘สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค’ ในโครงสร้างส่วนบนทางสังคม ขณะที่ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้น รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะทำหน้าที่สร้างหลักประกันด้าน ‘สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค’ ให้กับประชาชน ส่วนสถาบันพระมหากษัตริย์จะทำหน้าที่สร้างหลักประกันด้าน ‘ความเป็นภราดรภาพ’ แห่งตัวตนของความเป็นไทยให้กับสังคม มองในแง่นี้สถาบันพระมหากษัตริย์จึงไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับประชาธิปไตย ตรงข้ามกลับเป็นหลักประกันที่ช่วยทำให้ประชาธิปไตยมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นยิ่งขึ้นด้วยซ้ำ การที่สังคมไทยปล่อยให้ ‘การเมือง’ ดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ลงมาเป็นเครื่องแบ่งแยกทำลายพรรคการเมืองฝ่ายหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองและกลุ่มกดดันทางการเมืองอีกฝ่ายหนึ่ง จนกระทบต่อบทบาทการทำหน้าที่สร้าง ‘ความเป็นภราดรภาพ’ แห่งสังคมไทยของสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องอันตรายยิ่งถึงขั้นคุกคามต่อเสถียรภาพในระดับของ ‘ระบอบการเมือง’ (Political Regime) ภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

7. ทุกระบบสังคมการเมืองจำเป็นต้องมี ‘โครงสร้างทางวัฒนธรรม’ ที่เกิดจากการผสมผสานรากฐานทางจริยปรัชญา ความเชื่อทางศาสนา เรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ ตำนาน พิธีกรรม ฯลฯ เพื่อสร้าง ‘ศาสนาของพลเมือง’ หรือ ‘ธรรมะแห่งความเป็นพลเมือง’ (Civic Religion) ขึ้นมาทำหน้าที่ ‘สะกด’ ความต้องการ (Demand) ของผู้คนในสังคม ไม่ให้ขยายตัวเกินกว่าขอบเขตที่ทรัพยากรและโครงสร้างของระบบสังคมการเมืองนั้น ๆ จะสามารถรองรับและตอบสนอง (Support) ได้ ประมุขของแต่ละประเทศจะมีบทบาทสำคัญในการปลูกฝัง ‘ธรรมะแห่งความเป็นพลเมือง’ ให้กับผู้คนในชาติ ดังเช่นสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ตอกย้ำให้คนอเมริกันเชื่อว่าตนเป็นชาติที่ ‘พระเจ้าทรงเลือกแล้ว’ เป็นต้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ก็คือองค์พระประมุขของชาติที่ทรงทำหน้าที่ปลูกฝังธรรมะแห่งความเป็นพลเมืองให้กับสังคมไทย ผ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทต่าง ๆ มองในแง่นี้ วาทกรรม (Discourse) แห่ง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่อธิบายจากกรอบความคิดของหลักพุทธธรรมอันเป็นรากฐานทางจริยปรัชญาของสังคมไทย จึงอาจเป็น ‘กุญแจสำคัญ’ ในการสร้างธรรมะแห่งความเป็นพลเมืองสำหรับคนไทย เพื่อนำประเทศชาติไปสู่ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม’ และ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ’ จนสามารถหลุดพ้นจากวงจรปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในบ้านเมืองทุกวันนี้

8. ในอัคคัญญูสูตร ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค พระพุทธเจ้าได้ตรัสเล่าถึงทฤษฎีกำเนิดอำนาจรัฐด้วยตรรกะที่คล้ายคลึงกับทฤษฎีสัญญาประชาคมของลัทธิประชาธิปไตย แต่มีลำดับขั้นที่ลึกกว่าในคำอธิบาย โดยทรงเล่าถึงรากฐานที่มาแห่งอำนาจรัฐว่า ในภาวะดั้งเดิมตามธรรมชาติ (State of Nature) ก่อนที่รัฐจะถือกำเนิดขึ้นมาครอบงำสังคมมนุษย์นั้นผู้คนได้อยู่รวมกันเป็นสังคมอย่างสันติสุขท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในธรรมชาติ และ ‘ความพอเพียง’ ในการบริโภคของมนุษย์ ต่อมามีบางคนเกิดความโลภและความเกียจคร้านโดยเริ่มสะสมกักตุน ‘ผลผลิตส่วนที่เกินจากความจำเป็นหรือความพอเพียงขั้นพื้นฐาน’ สำหรับเก็บไว้เพื่อบริโภค เมื่อคนอื่นเห็นเข้าก็เลียนแบบทำตาม จนในที่สุดระบบนิเวศได้เริ่มสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ไปเพราะไม่พอต่อการรองรับ ‘ความต้องการส่วนเกินความพอเพียง’ ของมนุษย์ และเริ่มมีความขาดแคลนเกิดขึ้นในสังคม ความขาดแคลนเป็นเหตุปัจจัยนำไปสู่การก่อเกิด ‘สถาบันกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล’ (Property Right) ดังเช่นน้ำสะอาดสมัยก่อนที่มีให้ผู้คนบริโภคอย่างเหลือเฟือ ก็ไม่มีใครคิดเอาน้ำสะอาดมาขายกัน แต่ปัจจุบันเมื่อน้ำฝนที่ตกลงมามีสารปนเปื้อนจนดื่มกินไม่ได้ ก็เกิดการนำน้ำสะอาดมาบรรจุขวดขาย เป็นต้น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นมูลเหตุนำไปสู่การ ‘ละเมิดสิทธิ์’ ตลอดจนการทะเลาะวิวาทและทำร้ายกันเกิดขึ้น ผลที่สุดผู้คนก็หันมาทำข้อตกลงร่วมกันที่จักสถาปนา ‘อำนาจที่เป็นทางการ’ (Authority) ขึ้นมาไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางสังคม จนพัฒนาไปสู่การกำเนิดของ ‘มหาชนสมมติ กษัตริย์ และราชา’ ที่เป็น ‘สถาบันอำนาจรัฐ’ ขึ้นมาครอบงำระบบสังคมมนุษย์ ฉะนั้นการจักหวนคืนกลับสู่ภาวะดั้งเดิมแห่งความมี ‘สิทธิเสรีภาพอันไพบูลย์’ ซึ่งเป็นสังคมในอุดมคติของลัทธิประชาธิปไตย จึงมีความจำเป็นทางตรรกะที่มนุษย์จะต้องหันมา ‘ลดความโลภ’ เพื่อให้เข้าถึง ‘ความพอเพียง’ ในชีวิตยิ่ง ๆ ขึ้น ภายใต้คำอธิบายในเชิงปรัชญาการเมืองเช่นนี้ วาทกรรมแห่ง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพลังที่จะเป็นสะพานเชื่อมมโนทัศน์ซึ่งสะท้อนผ่านคำว่า ‘สิทธิ’ ในลัทธิประชาธิปไตยให้กลืนเข้ากับรากฐานทางจริยปรัชญาของสัมคมไทยที่ตั้งอยู่บนหลักพุทธศาสนา จนนำไปสู่ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรม’ ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงทางตรรกะจนกลายเป็นเนื้อเดียวกับ ‘ประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ’ ด้วย (เพราะทฤษฎีกำเนิดอำนาจรัฐในอัคคัญญสูตรดังกล่าวไม่มีความขัดแย้งทางตรรกะอะไรกับทฤษฎีสัญญาประชาคมในลัทธิประชาธิปไตย ตรงข้ามกลับช่วยปิดจุดอ่อนของลัทธิประชาธิปไตยที่นำไปสู่การเบียดเบียนกันของมนุษย์ ภายใต้วัฒนธรรม ‘ทุนนิยม-บริโภคนิยม’ ในโลกทุกวันนี้) เฉกเช่นเดียวกับที่สังคมตะวันตกสามารถเชื่อมโยงคำอธิบายเรื่อง ‘สิทธิ’ ให้กลืนเข้ากับรากฐานทางจริยปรัชญาของอารยธรรมยิว-คริสเตียนที่มี ‘พระเจ้า’ เป็นศูนย์กลางของความเชื่อ จนทำให้ประชาธิปไตยของสังคมตะวันตกมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น

9. ถ้าสมมติฐานที่กล่าวมาทั้งหมดถูกต้อง เราก็อาจมีหนทางนำพาบ้านเมืองไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ได้ด้วยการ
9.1 อาศัยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นเครื่องมือชักนำให้คนไทยทุกฝ่ายหันมาร่วมกันสร้าง ‘จินตภาพใหม่’ ของสังคมประชาธิปไตย ‘ที่มีคุณธรรมและมีคุณภาพ’ แทนความพยายามที่จะถอยหลังคืนกลับสู่สถานะเดิมของระบบสังคมการเมืองตาม ‘จินตภาพเก่า’ ที่ผ่านพ้นยุคสมัยไปแล้วของกลุ่มชนชั้นนำบางคน (ในคู่ความขัดแย้งทั้งสองฝ่าย) เพื่อสร้าง ‘เป้าหมายร่วม’ ที่เป็นเสมือนสัญญาประชาคมใหม่ของคนไทยทั้งประเทศ รวมถึงแนวทางหลัก ๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว

9.2 ทำให้หลัก ‘ความยุติธรรมในฐานะแห่งความเป็นธรรม’ (Justice as Fairness) คืนกลับสู่สังคมไทย ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกฝ่าย (รวมถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ)  มีโอกาสที่จะต่อสู้คดีเพื่อปกป้องความบริสุทธิ์ของตนเอง ภายใต้กระบวนการยุติธรรมปรกติที่เป็น ‘มาตรฐานเดียว’ ของบ้านเมือง เพื่อจักเป็นเครื่องนำไปสู่ ‘ข้อยุติโดยธรรม’ ในการอยู่ร่วมกันอย่างปรกติสุขของสังคมไทย (แต่ไม่ใช่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อล้มล้างความผิดในคดีต่าง ๆ)

9.3 การจักบรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อ 9.1 และ 9.2 ได้ จะต้องทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเรื่องของ ‘คนไทยทั้งประเทศ’ ซึ่งประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางมากที่สุด จนกลุ่มการเมืองแต่ละฝ่ายที่ขัดแย้งกันอยู่ต่างก็ไม่เกิด ‘ความกลัว’ ว่าอีกฝ่ายจะสามารถเข้ามาครอบงำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในทางที่เป็นโทษต่อฝ่ายตน แล้วออกมาต่อต้านคัดค้านเพราะความหวาดระแวงกลัวดังกล่าว

9.4 ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 18 ฉบับที่ผ่านมา ไม่สามารถช่วยให้ระบบสังคมการเมืองไทยเกิดเสถียรภาพ อันแสดงให้เห็นว่าถึงแม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะเป็น ‘เงื่อนไขจำเป็น’ แต่ไม่ใช่ ‘เงื่อนไขที่พอเพียง’ สำหรับการสร้างประชาธิปไตยที่มีคุณธรรมและมีคุณภาพในสังคมไทย ฉะนั้นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชนเพื่อให้เข้าถึง ‘วัฒนธรรมทางการเมือง’ (Political Culture) ของประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ผ่านวาทกรรมแห่ง ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ (ตามสมมติฐานข้อ 7,8) จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินควบคู่พร้อมกันไป โดยรัฐบาลสามารถใช้กองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้ว อาทิ กองทุนพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (SML) และกองทุนชุมชนพอเพียง เป็นต้น เพื่อเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ประชาธิปไตยที่มีคุณธรรมและมีคุณภาพในระดับหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศจากการลงมือปฏิบัติจริงสำหรับรองรับประชาธิปไตยในระดับประเทศ ผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ที่มีต้นทุนต่ำและสามารถดำเนินการในขอบเขตที่กว้างขวางครอบคลุมทุกหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศพร้อมกันได้

9.5 ถ้าหากคนไทยทุกฝ่ายต่างมองเห็น ‘เส้นทาง’ ที่จะยกระดับสังคมการเมืองไทยให้อภิวัฒน์สู่ความเจริญงอกงามยิ่งขึ้นดังนี้แล้ว และเห็นว่าคดีร้ายแรงต่าง ๆ ที่แต่ละฝ่ายมีชนักติดหลังอยู่นั้นจะเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนสังคมการเมืองไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ถึงตอนนั้นการพิจารณาเรื่องออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับทุกฝ่าย ก็จะไม่มีใครต่อต้านคัดค้าน เสมือนการแก้เงื่อนปมของกลุ่มด้ายถูกทางในขั้นต้นแล้ว เงื่อนปมอื่นก็จะค่อย ๆ คลี่คลายเองตามลำดับ ๆ แต่ถ้าแก้ไขผิดลำดับขั้นทางตรรกะ เงื่อนปมก็จะยิ่งขมวดกันยุ่งเหยิงมากขึ้นกว่าเดิมฉันใด การนำพาบ้านเมืองออกจากวิกฤติปัญหาความขัดแย้งรอบนี้ก็มีลักษณะดุจเดียวกันฉันนั้น

    

 ______________________________________________________________________________________

 * ข้อสรุปจากเนื้อหาในหนังสือ ‘สังคมวิทยาของความแตกแยกในระบบสังคมการเมืองไทย’ และ ‘ทางสู่ความปรองดองของชาติ’ โดย สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net