Skip to main content
sharethis

(19 ก.ค.55) ที่มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและศูนย์รับเรื่องร้องเรียนค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม 8 ศูนย์พื้นที่ แถลงผลสำรวจการรับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าจ้างไม่เป็นธรรม ไตรมาสแรก หลังนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล 300 บาทต่อวัน มีผลบังคับใช้พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา

ชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า จากการสำรวจ มีผู้ร้องเรียน 5,134 คน ใน 3 กรณีปัญหา ได้แก่ การไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2,380 คน โดยพบในกิจการธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขนส่ง ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์รถยนต์และจิวเวอรี การเปลี่ยนสภาพการจ้าง เช่น ปรับย้ายตำแหน่ง ลดสวัสดิการ ย้ายฐานการผลิต จำนวน 2,168 คน ในกิจการสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และการนำสวัสดิการมารวมค่าจ้าง 586 คน พบในกิจการอิเล็กทรอนิกส์ บริการ ธุรกิจขนส่ง อาหารและเฟอร์นิเจอร์

ชาลี กล่าวด้วยว่า สถานประกอบการกว่า 50% มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐบาลกำหนดจริง แต่กลับปรับลดสวัสดิการอื่นๆ ลงแทน เพื่อทำให้สถานประกอบการจ่ายเงินให้ลูกจ้างได้ในอัตราผลรวมเท่าเดิม เช่น ในกิจการธุรกิจขนส่ง พบว่า แรงงานที่เป็นพนักงานขับรถส่งของ นายจ้างไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้ แต่เอาค่าขับรถในแต่ละรอบไปรวมกับเงินเดือนกลายเป็นค่าจ้างแทน ทั้งที่ค่าขับรถแต่ละเที่ยวนั้นไม่ใช่ค่าจ้างประจำจึงไม่สามารถนำไปรวมเป็นค่าจ้างตามกฎหมายได้ และเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน หากวันใดไม่มาทำงานก็จะไม่ได้รับ การทำเช่นนี้ยิ่งจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุและส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยในการทำงานเพิ่มขึ้น เพราะแรงงานจะต้องทำงานมากขึ้น ชั่วโมงการทำงานยาวขึ้น

ชาลี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่าไม่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขึ้นตามอายุงาน ทำให้แรงงานที่เข้ามาทำงานใหม่ได้รับค่าจ้างเกือบเท่ากับแรงงานที่ทำงานมานานนับสิบปี ส่งผลให้แรงงานที่ทำงานมานานหมดกำลังใจในการทำงานตามฝีมือแรงงาน และเมื่อแรงงานกลุ่มนี้ร้องเรียนต่อผู้บริหารเพื่อขอปรับค่าจ้าง นายจ้างก็จะใช้วิธีข่มขู่เรื่องการเลิกจ้างแทน ทั้งที่สถานประกอบการย่อมทราบดีว่าแรงงานที่อายุการทำงานมาก เมื่อถูกเลิกจ้างมักหางานทำยาก เพราะส่วนใหญ่เป็นแรงงานสูงอายุ

บางบริษัทใช้วิธีประกาศเลิกกิจการแล้วเปิดกิจการใหม่ โดยประกาศรับพนักงานแล้วเริ่มนับอายุงานใหม่ เพื่อหลีกเลี่ยงการปรับค่าจ้างแรงงานในกลุ่มแรงงานที่ทำงานมานานแล้วในอัตราที่สูงขึ้น ขณะที่แรงงานในภาคบริการ เช่น แม่บ้าน ยามรักษาความปลอดภัย ซึ่งส่วนมากเป็นการจ้างงานผ่านบริษัทเหมาช่วง มีการทำสัญญาการจ้างงานที่มีระยะเวลาแน่นอน เมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ก็ยังมีการใช้สัญญาจ้างเดิม ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ชาลี กล่าวต่อว่า คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหา โดยกระทรวงแรงงานในฐานะผู้สนองนโยบาย ต้องมีมาตรการในการทำให้นโยบายนี้เป็นสิ่งที่ทำได้จริง นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐบาลยกเลิกคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติและคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด ซึ่งทำงานซ้ำซ้อนกันเนื่องจากมีโครงสร้างแบบเดียวกัน ทั้งยังเป็นโครงสร้างที่ครอบงำโดยข้าราชการอย่างชัดเจน ที่สำคัญ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำยังเป็นระบบการกำหนดค่าจ้างชั้นเดียว อำนาจตัดสินใจยังอยู่ที่คณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ และยังไม่ถูกออกแบบให้คำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละอุตสาหกรรมตามที่ควรจะเป็นด้วย

นอกจากนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ยังเสนอให้กระทรวงแรงงานตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้น เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว โดยคำนึงถึงค่าจ้างที่เป็นธรรมเป็นสำคัญ

ยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า กระทรวงแรงงาน ต้องไม่เป็นแค่กรรมการให้นายจ้างกับลูกจ้างต่อรองกันเอง แต่ต้องควบคุมให้นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเกิดขึ้นจริงด้วย

ยงยุทธ กล่าวว่า หลังประกาศใช้นโยบายดังกล่าว พบว่ามีการนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่กลับพบว่ามีการหักค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ทำให้ค่าจ้างที่ได้บิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็น รวมทั้งยังพบว่าสถานประกอบการมีโครงการทวิภาคีร่วมกับสถานศึกษา เพื่อนำนักศึกษาอาชีวะเข้ามาฝึกงานในสถานประกอบการ แต่กลับมีการทำงานเหมือนพนักงานประจำทุกประการ โดยมีทั้งการทำงานล่วงเวลา ทั้งยังมีการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำด้วย ทั้งนี้ เมื่อนายจ้างมีปัญหากับสหภาพแรงงาน ก็จะนำแรงงานช้ามชาติและนักศึกษาเหล่านี้เข้ามาทำงานแทนทันที

วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ในสถานประกอบการขนาดใหญ่นั้น คนงานคงดีใจเมื่อมีการปรับขึ้นค่าจ้าง ส่วนนายจ้างก็ได้รับการลดหย่อนภาษีเหลือ 23% แต่ลูกจ้างในสถานประกอบการขนาดเล็กนั้นมีแต่ความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกจ้างที่ไร้ทักษะ เพราะไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ โดยที่ผ่านมา มีกรณีที่สถานประกอบการต้องการปรับโครงสร้างให้เล็กลง มีการบีบแรงงานหญิงให้ลาออก พร้อมขู่ว่าหากไม่ออก เมื่อไม่มีออร์เดอร์ขึ้นมา ก็อาจถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

วิไลวรรณ ระบุด้วยว่า หลังปรับขึ้นค่าจ้าง คนงานยังคงต้องทำงานหนักอยู่เหมือนเดิม โดยเฉพาะคนงานในอีก 70 จังหวัดที่ยังไม่ได้ปรับค่าจ้าง แต่ค่าครองชีพก็ปรับขึ้นไปแล้ว ดังนั้น เรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า ในปี 56 ก็ขอให้ทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างอีก 70 จังหวัดที่เหลือ มิเช่นนั้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและคนงานกลุ่มย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ก็จะร่วมกันเคลื่อนไหวให้ถึงที่สุด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net