Skip to main content
sharethis

ประวิตร โรจนพฤกษ์ แห่งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นสัมภาษณ์ อดิศร เกิดมงคล ผู้ปฏิบัติงาน Migrant Working Group (MWG) หนึ่งในห้านักปกป้องสิทธิที่ได้รับการยกย่องจากกองทุนรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ว่าด้วยชะตากรรมของแรงงานข้ามชาติในไทย (ฉบับภาษาอังกฤษตีพิมพ์ใน The Nation on Sunday, Historical bias against neighbouring nations a burden for migrant workers, 15 กรกฎาคม 2555)

 


อดิศร เกิดมงคล
(แฟ้มภาพ: ประชาไท)

 

ประวิตร: คิดอย่างไรกับการที่กระทรวงแรงงานยังพิจารณาความเป็นไปได้ในการออกนโยบายบังคับให้แรงงานข้ามชาติที่ตั้งครรภ์กลับไปคลอดที่ประเทศตนเอง
อดิศร: คิดว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองหรืออคติที่รัฐไทยมีต่อแรงงานข้ามชาติ ที่ยังมองพวกเขาเป็นเพียงแรงงานและภาระของประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันเหตุผลในการดำเนินนโยบายนี้ก็ไม่ได้สอดคล้องหรือแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เหมือนที่กระทรวงแรงงานได้พูดไว้ แต่กลับไปเพิ่มปัญหามากขึ้นไปอีก ทั้งเรื่องสุขภาพของแม่และเด็ก เรื่องการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐไทยคิดจะมีนโยบายในลักษณะนี้ขึ้นมา และทุกครั้งก็จะถูกโต้แย้งทั้งจากภาควิชาการ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหรือองค์กรพัฒนาเอกชนเสมอ แต่ก็ยังมีแนวคิดเรื่องนี้ในแทบทุกรัฐบาลจึงคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องมุมมองที่รัฐมีต่อแรงงานข้ามชาติมากกว่า
 

2) แล้วทำไมกระทรวงแรงงานถึงไม่คิดใช้มาตรการเช่นเดียวกับคนต่างชาติอื่นๆ ที่ทำงานในเมืองไทยแต่เป็นคนงานคอปกขาว?
- ผมมองว่ากระทรวงแรงงานไม่ได้มองว่าคนชาติอื่นๆ เป็นภาระ สามารถดูแลตัวเองได้ อาจจะรวมถึงในเรื่องจำนวนที่อาจจะไม่มากเท่าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศนี้ หรือพูดในอีกลักษณะหนึ่งก็คือ ดูเหมือนกระทรวงแรงงานจะให้คุณค่าและความสำคัญต่อแรงงานประเภทคอปกขาวมากกว่าแรงงานที่เป็นผู้ใช้แรงงานระดับล่าง ซึ่งสะท้อนให้เรื่องของชนชั้นในวิธีของระบบราชการในประเทศไทย ที่ยังมองว่าคนระดับล่างสร้างปัญหา หากเรามองการแก้ไขปัญหาเรื่องแรงงานของกระทรวงแรงงาน แรงงานทั่วไปถูกมองในลักษณะแบบนี้เช่นกัน เพียงแต่แรงงานข้ามชาติจะมีอคติเรื่องความไม่ใช่คนไทย หรือเป็นคนอื่นมาประกอบเข้าไปด้วย
 

3) ปัญหาหลักๆ ของแรงงานข้ามชาติในไทยมีอะไรบ้าง?
- ปัญหาหลักยังคงเป็นเรื่องการเอารัดเอาเปรียบ เรื่องของการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้าง สภาพการจ้างงาน เรื่องการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การยึดเอกสารประจำตัวของแรงงานไว้ทำให้แรงงานไม่สามารถเดินทางได้ ซึ่งพวกนี้เป็นปัญหาหลักที่สะสมมานานมากแล้ว และยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ซึ่งแม้เราจะมีกฎหมายที่ค่อนข้างดี แต่มันไม่เคยจะถูกบังคับใช้เพื่อให้แรงงานได้รับการคุ้มครองมากนัก

รวมถึงการขาดกลไกที่จะเอื้อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการคุ้มครองเท่านี้ เช่น ขาดเรื่องของล่าม หรือเอกสารที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถรวมตัวกันตั้งสหภาพแรงงานได้ สุดท้ายก็คือเรื่องของอคติที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ทั้งเรื่องอคติทางประวัติศาสตร์ มองว่าเพื่อนบ้านเป็นศัตรู ด้อยกว่า มองว่าเป็นปัญหา ซึ่งฐานคิดเหล่านั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการลดทอนความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติ และเป็นฐานทำให้การละเมิดสิทธิอื่นๆ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่คนไทยก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องปรกติ

4) ทำไมคนงานเหล่านี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพ ดูเหมือนไม่มีตัวตน ไม่ถูกมองเห็น ไม่สามารถรวมตัวพบปะกันในสาธารณะเป็นจำนวนหลายคนเหมือนที่แม่บ้านรับจ้างทำความสะอาดชาวฟิลิปปินส์ทำในฮ่องกง?
- ผมคิดว่ามีสองประเด็นหลักๆ คือ หนึ่ง เป็นเรื่องอคติของคนไทยโดยเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองที่มองว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นภัยหรือเป็นปัญหาต่อพวกเขา รวมถึงทัศคติเรื่องเชื้อชาติ หรือประวัติศาสตร์เหมือนที่พูดมาแล้ว ทำให้แรงงานข้ามชาติรู้สึกว่าพวกเขาไม่สามารถจะเปิดเผยตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ อาจจะถูกคนรอบข้างไม่พอใจหรือมีปัญหาได้

สอง เป็นเรื่องของความปลอดภัยต่อตัวแรงงานข้ามชาติ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งยังจ้องหาผลประโยชน์จากการรีดไถหรือเอารัดเอาเปรียบแรงงาน คือ ถ้าหากแรงงานข้ามชาติแสดงตัวอย่างชัดเจน เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปตรวจสอบ จับกุมรวมถึงเรียกรับเงินจากแรงงานข้ามชาติ ทำให้แรงงานข้ามชาติต้องปิดบังความเป็นตัวตนของตัวเองเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ รวมถึงมุมมองในเชิงนโยบายใหญ่ที่มองว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นปัญหาความมั่นคง การรวมตัวของพวกเขาไม่ว่าด้วยสาเหตุใด มักจะถูกมองในแง่ของความมั่นคงมากกว่าประเด็นอื่นๆ


5) การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าเป็นผลดีต่อคนเหล่านี้ไหม อย่างไร?

- ระดับหนึ่งผมมองว่าพวกเขามีความหวังกับชีวิตมากขึ้น มองเห็นแสงสว่างในชีวิตมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็มีความรู้สึกปลอดภัยหรือสบายใจมากขึ้นหากต้องกลับไปใช้ชีวิตในประเทศบ้านเกิดหลังเกษียณตัวเอง หรือหลังจากสะสมเงินได้ระดับหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันแรงงานบางส่วนก็มองถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและอาจจะกลับไปทำงานที่บ้านเกิด จะได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น

เท่าที่รู้จักแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก สนใจและติดตามการเปลี่ยนแปลงการเมือง และมีความหวังกับการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด เพียงการแสดงออกที่จะแตกต่างกันไป ผมแอบหวังว่าแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนหนึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า เพราะอย่างน้อยพวกเขาได้เรียนรู้ในเรื่องสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยจากชีวิตในประเทศไทยไปพอสมควร

6) ความเกลียดชังทางประวัติศาสตร์ระหว่างไทย-พม่า มีผลในการปฎิบัติด้านลบต่อแรงงานพม่าในไทยหรือไม่ อย่างไร?
- เท่าที่เจอมากับตัวเอง เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกมีทัศนคติในแง่ลบต่อคนจากประเทศพม่า หลายครั้งมันไม่ใช่แค่การมองในแง่ลบ แต่มันกลายเป็นความเกลียดชัง ความไม่ไว้วางใจ ทำให้นำไปสู่การละเมิดสิทธิ หรือการเพิกเฉยเมื่อแรงงานข้ามชาติ หรือคนจากประเทศพม่าถูกละเมิดสิทธิ

7) ทำไมคุณถึงเลือกจับประเด็นเรื่องแรงงาน และผู้ลี้ภัยข้ามชาติในไทย
- จริงๆ เริ่มต้นจากประเด็นการเมืองในพม่าหลังจากการปราบปรามประชาชนใน 1988 ทำให้มีคนจำนวนมากอพยพเข้ามาในประเทศไทย พอเข้ามาทำงานในประเด็นรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในพม่าและก็มีโอกาสได้ลงไปในพื้นที่และรู้จักกับแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย ก็พบว่า มันมีปัญหาการละเมิดสิทธิ หรือการเอารัดเอาเปรียบต่อพวกเขาค่อนข้างมาก แล้วพวกเขาเองก็ไม่สามารถที่จะออกมาเรียกร้องหรือแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้เลย ขณะเดียวกันก็ยังต้องเจอกับเรื่องที่คนไทยไม่ชอบ หรือหวาดระแวงพวกเขา

นอกจากนั้นแล้วนโยบายรัฐไทยในช่วงนี้ก็มองพวกเขาเป็นปัญหาต้องควบคุม ต้องจัดการ มันทำให้ความรุนแรงของปัญหาในชีวิตของพวกเขามีมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มองย้อนกลับมาว่าการที่ยังมีปัญหาความไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบธรรมในเรื่องนี้อยู่ในประเทศไทย มันส่งผลเสียต่อสังคมไทยโดยรวมด้วย มันเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิดขึ้นมาหากไม่มีการแก้ไข ก็เลยรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องทำให้สังคมไทยได้เข้าใจได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็มองว่าปัญหาหลักอันหนึ่งอยู่ที่นโยบายรัฐต่อพวกเขาด้วย ก็เลยเริ่มต้นที่จะผลักดันประเด็นนี้อย่างจริงจัง
 

8) อยากบอกอะไรกับคนไทยที่มองว่าแรงงานข้ามชาติไว้ใจไม่ได้ มาแย่งงานคนไทย และออกลูกออกหลานในประเทศไทยจนเป็น "ปัญหา"
- เบื้องต้นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกเขาเหล่านั้นก็เหมือนกับคนไทยทุกคนที่ต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเอง ดำรงศักดิ์ศรีของตัวเองไว้ และเท่าที่รู้จักกันมาจำนวนมาก เขามองคนไทยในแง่ดี ยกเว้นในบางกรณีที่ถูกละเมิด ถูกทำร้ายอาจจะมีความหวาดกลัวคนไทยบางกลุ่มบางคน ขณะเดียวกันในรอบเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมานี้แรงงานข้ามชาติได้กลายเป็นกลไกหลักในการสร้างเศรษฐกิจไทย เป็นกำลังสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยให้พัฒนาต่อไปได้ ผมเชื่อว่าหากขาดแรงงานข้ามชาติเหล่านี้หลายๆ กิจการอาจจะมีปัญหาได้

นอกจากนั้นแล้วผมอยากให้มองว่าการย้ายถิ่นข้ามชาติเป็นปรากฏการณ์ปรกติที่สังคมไทยหลีกเลี่ยงไม่พ้น ขณะเดียวกันเราก็ได้ประโยชน์จากปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่น้อย จึงอยากให้สังคมไทยทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเคลื่อนย้ายในภูมิภาคนี้ที่มีปัจจัยหลายๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถานการณ์ภายในประเทศต้นทาง ความต้องการแรงงานในประเทศไทย หรือภูมิประเทศที่มีพรมแดนติดกัน และท้ายที่สุด ผมคิดว่า ทุกคนมีโอกาสจะกลายเป็นแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยได้ ดังนั้นเราควรสร้างสังคมที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายที่เราหลีกเลี่ยงไม่พ้นในอนาคต

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net