Skip to main content
sharethis

เหตุล้มเหลวในการเรียนรู้ทฤษฎีการเมืองของสมาชิก และปัจจุบันมีคนทำงานวัฒนธรรมเพื่อการต่อสู้ของประชาชนเกิดขึ้นมากมาย 

เมื่อวันที่ 8 ก.ค.55  ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กลุ่ม ‘ประกายไฟการละคร’ ได้จัดกิจกรรมแถลงชี้แจงเหตุยุติการทำกิจกรรมของกลุ่ม และเสวนา ‘คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม’ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย เพียงคำ ประดับความ กวีเสื้อแดง, ประกิต กอบกิจวัฒนา แอดมินเพจ ‘อยู่เมืองดัดจริตชีวิตต้องป๊อป’ และนิธิวัต วรรณศิริ นักร้องวงไฟเย็น และปิดท้ายด้วยการแสดงดนตรีของวงไฟเย็นจนถึง 22.00 น. โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 60 คน

สำหรับการชี้แจงการยุติการทำกิจกรรมของกลุ่มประกายไฟการละครนั้น น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง แกนนำกลุ่มฯ ได้เล่าถึงที่มาของทางกลุ่มว่าได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จากมติของกลุ่มประกายไฟ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสรรค์งานวัฒนธรรมการต่อสู้ทางชนชั้นให้แก่มวลชน โดยใช้งานละครเป็นงานที่สื่อถึงชีวิตและการต่อสู้ให้ตรงประเด็นและรวดเร็ว น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง มองว่า ละครเวทีโดยส่วนใหญ่ มักถูกสงวนให้เป็นเพียงศิลปะเพื่อชนชั้นนายทุน หรือศักดินาเสพเท่านั้น ประชาชนคนรากหญ้าไม่มีโอกาสได้เสพศิลปะเหล่านั้น เพราะราคาค่าเข้าชมที่สูง สามารถซื้อข้าวกินไปได้หลายวัน อีกทั้งการแสดงละครเวทียังกลายเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเองของนักแสดงซึ่งทำให้ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นจนคนจนแตะไม่ถึงความงาม เสพได้แต่เพียงศิลปะจากละครน้ำเน่าผ่านช่องฟรีทีวีเท่านั้น 

น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ยังอธิบายถึงความเชื่อพื้นฐานของกลุ่มว่า ศิลปะที่ดีนั้นควรจะเป็นศิลปะที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้ เราจึงตั้งกลุ่มละครที่ใช้อาสาสมัคร ไม่ได้หากินกับการเล่นละครเข้ามาร่วมแสดงกับเรา โดยแสดงในที่ม็อบ ทั้งบนเวทีและบนท้องถนน หมู่บ้านที่เราไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งนี้เพื่อน้อมเอาศิลปะบางอย่างที่คนบางคนได้เสพแต่คนอีกหลายล้านคนไม่มีโอกาสได้เสพ มาทำให้มันต่ำลง ติดดิน และ ได้บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปของสังคมการเมือง ทัศนคติ ของผู้คน ผ่านการแสดง ที่ง่าย สั้น และ ใช้คนแสดงไม่เยอะ พร็อพไม่มาก ไม่เสียซื้อบัตรแค่หยอดกล่องรับบริจาค

“แน่นอนที่สุด เราคือกลุ่มละครการเมือง ทุกอย่างที่เราเล่น เราเล่นเกี่ยวกับการเมือง หากจะนับกันแล้วเราเล่นละครกันมาไม่ต่ำกว่า สี่สิบเรื่อง เพราะทุกๆครั้งที่เล่นประเด็นในสังคมเปลี่ยนไป เราจึงต้องไล่ตามให้ทันแก่สถานการณ์ ถ้าหากจะเรียกกันแบบที่รุ่นพี่หลายๆคนเรียก เราคงจะเป็น ละครมาร์กซิส กากๆ ที่เล่นทุกอย่างเพื่อเสียดสี ชี้นำ ไร้ศิลปะ  แน่นอนที่สุด เรายอมรับทุกอย่างที่เป็นเรา ที่สำคัญคือละครของเรา ชี้นำ เราชี้นำให้คนทั่วไปลุกขึ้นต่อสู้ ชี้นำให้เค้าเห็นจุดสิ้นสุดและแนวทางที่เราเชื่อ เราไม่จำเป็นต้องปล่อยให้คนดูกลับไปคิด หรือทิ้งอะไรไว้ เพราะเราเชื่อว่าสังคมต้องการการเปลี่ยนแปลง และเราจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้น เราเล่าความจริง” น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง แกนนำกลุ่มประกายไฟการละคร กล่าว

เหตุผลที่ยุติบทบาททางการแสดงของประกายไฟการละคร น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ชี้แจงว่า เพราะความล้มเหลวในการสร้างสรรค์กระบวนการในการเรียนรู้ทฤษฎีการเมืองแก่สมาชิกในกลุ่มที่กำลังเติบโตจากการชื่นชมของมวลชน เพราะเหตุผลที่ว่ากลุ่มฯเป็นละครการเมือง ดังนั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มฯ จึงจำเป็นที่จะต้องมีทฤษฎีการเมืองรองรับ หากสมาชิกไม่มีหลักในการเคลื่อนไหวแล้วจะไม่มีทิศทาง และสุดท้ายอาจจะกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ กลุ่มฯ ไม่อยากเป็นเพียงกลุ่มละครรับจ้าง หรือย้ายข้าง เปลี่ยนขั้ว ไร้ซึ่งจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ชัดเจน

น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ย้ำอีกว่า “การศึกษาทฤษฎีในการเคลื่อนไหวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดมากกว่าศิลปะที่งดงาม มากกว่าถ้อยคำที่สวยหรู เพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนถูกปั้นแต่งขึ้นมาทั้งสิ้น ทุกอย่างสามารถฝึกฝนกันได้ แต่หากเราไร้ซึ่งอุดมการณ์แล้ว เราจะไม่รู้ว่าเราควรจะเล่าอะไร ไม่รู้ว่าเราควรจะสื่ออะไร”  แกนนำกลุ่มประกายไฟการละคร กล่าวถึงบทเรียนในอดีตว่ากลุ่มละครการเมืองหลายๆกลุ่มที่เกิดขึ้นในยุคเดือนตุลา ปัจจุบันได้กลับลำ ย้ายข้างไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับประชาชน หากกลุ่มยังเล่นละครไปวันๆและไม่มีจุดยืนทางอุดมการณ์ที่ชัดเจน สุดท้าย เราอาจจะกลายเป็นเช่นกลุ่มละครเหล่านั้น ไม่ได้มีอะไรมารับประกันว่าวันหนึ่งสมาชิกจะไม่เปลี่ยน เพราะขนาดคนที่จับปืนเข้าป่าต่อสู้กับรัฐบางคนยังย้ายข้างอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนี้ น.ส.ภรณ์ทิพย์ มั่นคง  ยังให้เหตุผลการยุติกิจกรรมอีกว่า ปัจจุบันได้มีเครือข่ายงานวัฒนธรรมเพื่อการต่อสู้ของประชาชนเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งล้วนแต่มีประสิทธิภาพ เป็นมืออาชีพ และ เต็มไปด้วยศิลปะ จึงมองว่าหมดเวลาของพวกตนแล้ว แต่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพและอบรมให้แก่กลุ่มต่างๆ ที่สนใจจะทำกิจกรรมในลักษณะนี้โดยเฉพาะละครการเมืองต่อไป

0 0 0

สมาชิกกลุ่มประกายไฟการละครกล่าวขอบคุณผู้ร่วมงาน 



 

คุยกับ 'ภรณ์ทิพย์ มั่นคง' ผู้ประสานงานกลุ่ม 

นอกจากการแถลงการณ์ยุติการทำกิจกรรมของกลุ่มประกายไฟการละครแล้วผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงบทเรียนของการทำกิจกรรมการแสดงละครในที่ชุมนุมของเสื้อแดงตลอด 2 ปี ของกลุ่มดังกล่าว

ประชาไท : จากการที่ทำกิจกรรมแบบนี้มา 2 ปี ได้เรียนรู้อะไร และเห็นว่ามันมีความสำคัญอย่างไรกับการเคลื่อนไหว?
ประกายไฟการละคร : สองปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในเรื่องการแสดง เพราะที่ผ่านมาเราเดินทางเล่นท่ามกลางมวลชนตลอดเราจึงต้องรับกับสภาพอารมณ์ร่วมของมวลชน ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเสียใจ ความสนุก มันทำให้เราเห็น เราสบตากับคนดู จนรับรู้ถึงความรู้สึกที่ส่งมา นั่นแหละมันทำให้การแสดงของเราดีขึ้น เหมือนคนดูส่งอารมณ์ให้เราแสดงออกมา จนมันเคยชินกันไปหมด พอเล่นแล้วคนดูเงียบ คนดูนั่งดูเฉยๆ แบบในโรงละคร เราจะเล่นกันไม่ค่อยออก มันเขิน มันไม่ได้รับรู้ความรู้สึกของคนดู เหมือนกับว่ามันจะกระตุก ทำไมคนดูเงียบ  เขาจะเข้าใจที่เราเล่นรึป่าวทำไมเค้าไม่มีเสียงอะไรตอบโต้มาเลย เวลาที่เราเล่นในพื้นที่ปิดเราเลยต้องบอกคนดูก่อนว่า ให้คิดว่าเรากำลังเล่นให้ท่านดูในม็อบ อยากโห่ก็โห่เลย อยากด่าก็ด่าเลย ดีใจก็กรี๊ดเลย เพราะไม่เช่นนั้นเราจะเล่นกันไม่ออก นอกจากนั้นคงเป็นเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเวลาแสดง  เพราะเล่นทุกครั้งไม่เคยมีอะไรราบรื่น หรือสมบูรณ์แบบเลย และการเขียนบท ที่จะต้องสั้น กระชับ และ ตรงประเด็นที่สุด ไม่เช่นนั้นนักแสดงจะเหนื่อย กับการใช้เสียง และคนดูจะเบื่อ เราต้องเขียนบทให้เร็ว และดึงคนดูให้อยู่กับเราให้ได้ตลอด เพราะในพื้นที่เปิดมันมีอะไรแย่งความสนใจไปจากเราได้ตลอด ต่อมาก็คือการเคลื่อนไหวร่างการที่มากๆ จะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ  เรื่องไหนเคลื่อนไหวน้อยๆ คนดูเบื่อ ต้องมีอะไรเยอะๆ มันจะคึกคัด เซอร์ไพรส์ อีกอย่างที่สำคัญมากๆ คือ เราจะไม่เอาบทละครที่คนอื่นเขียนมาเล่นอีกแล้ว เพราะเราไม่เข้าใจสิ่งที่เขาเขียนมากนัก ถ้าเอามาก็คงจะเอามายำ เฉยๆ ส่วนเรื่องคนดูเรื่องที่เราเรียนรู้คือ คนดูมีหลายกลุ่มมาก คนดูที่เป็นลุงๆป้าๆจะชอบละครแบบเรามาก เพราะมันดูแล้วสะใจ ได้อารมร่วม แต่คนดูที่ออกจะเป็นปัญญาชนหน่อยๆ จะดูเฉยๆกับการแสดงของเรา หรือเพราะเราประเมินเค้าไม่ออกก็ไม่รู้ เพราะเวลาคนพวกนี้ดูเค้าจะไม่โห่ฮาเหมือนพวกลุงๆป้าๆ

อีกเรื่องที่สำคัญมากๆคือการเขียนบทตามสถานการณ์นี่แหละ ด้วยความที่ว่าสถานการณ์มันเปลี่ยนตลอดเราจึงต้องอ่านข่าว วิเคราะห์ข่าวกันว่าเราจะเล่นอะไร จะสื่ออย่างไร ที่สำคัญคือ ต้องเร็ว ไม่เช่นนั้นไม่ทัน แต่ถ้าเรื่องไหนมีเวลายาวหน่อย เราก็จะคิดได้เยอะหน่อย พยายามจะขมวดเอาหลายๆประเด็นในสังคมมาเล่าให้ได้ในเรื่องเดียว แต่นี่คือเราต้องทำงานเป็นทีม เราต้องคิดไปพร้อมๆกัน คุยบทกัน ใครอยากจะสื่ออะไรใครอยากจะพูดอะไร ใครคิดยังไงกับประเด็นที่เราจะเล่น แล้วค่อยเขียนบทกัน แล้วค่อยเล่นกัน

ที่นับว่าเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญมากๆของเราคือ ความเข้าใจของความหมายของประโยคที่ว่า “มวลชนดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” วันที่ 4 ตุลา 54 เราจะเล่นละครแขวนคอกันแล้วมีคนโทรมาข่มขู่ ว่าจะมาทำร้ายพวกเราถ้าเรามาทำการแสดง เราได้อัดเสียงไว้มีคนเอาไปเผยแพร่ให้ แล้วก็ไปออกรายการทีวีช่องเอเชียอัพเดท รายการของคุณอดิศรกับคุณสุธรรม เลยบอกออกอากาศไปว่าใครว่างให้มาดูนะคะจะพวกเรากลัวคนมาทำร้าย พอเล่นจริง คนดูมาเยอะมาก เล่นเสร็จคนที่ทยอยมาแต่ไม่ทันยังมีอีกเยอะเหมือนกัน จนวันที่ 5-6 ก็มีคนดูอยู่เล่นละครเรื่องก่อนอรุณจะร่วงกับเราด้วย ถ้าเราไม่มีมวลชนมาช่วย งานของเราใน 3-4 วันนั้นคงจะไม่ประสบความสำเร็จขนาดนี้ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะมวลชนจริงๆ

มีเหตุการณ์ที่ประทับใจที่สำคัญอะไรบ้าง ?
มีเยอะนะ เล่นกันทุกรอบเราก็ประทับใจทุกรอบ แต่ที่น่าประทับใจจริงๆ คงจะเป็น ตอนที่เล่นในม๊อบครั้งแรก เรื่องขอความสุขของใครคืนกลับมา วันที่ 19 กันยา  มันทั้งตื่นเต้น ทั้งลุ้น ทั้งกลัว ทั้งเหนื่อย ทั้งสนุกแล้วทุกๆคนก็สู้เต็มที่ ตอนนั้นยังไม่มีแกนนำมา มีแต่มวลชนมา แล้วเราก็เล่นกันหลายรอบมาก ฝนก็ตก พี่ๆในกลุ่มมาช่วยกันหมด ถือร่ม ถ่ายวีดีโอ ซื้อน้ำ ขนของ ตอนที่เราล้อมวง แล้ววอร์ม คนก็ตกใจ แต่ก็มาดู คนดูบางคนอินมากถึงกับเข้ามาตบนักแสดงเบาๆ แบบหมั่นไส้อะไรแบบนี้ มีคนเอาเงินมาใส่หมวกให้ แต่เราก็เกร็ง ตื่นเต้นกันตลอดทุกครั้งที่เล่น

อีกอันหนึ่ง คือเรื่องเก้าอี้ เรื่องนั้นประทับใจตอนคิดบทและตอนที่แอบขโมยเก้าอี้มาเล่นกัน ตอนนั้นแบบ เล่นเป็นคนบ้า แล้วก็สนุกมาก เพราะเวลาเล่นมันสนุกเราสนุกไปกับบท บทไม่ซีเรียสมากแต่เคลื่อนไหวเยอะ กลับมาปวดเมื่อยไปหมด ที่สุดๆ คือรอบสุดท้ายที่หน้าอนุสรณ์สถาน14ตุลา แยกคอกวัว ซึ่งเป็นที่ตั้งของพวกตำรวจ ตอนแรกเราจะเลิกเล่น แต่พอเห็นตำรวจเราเลยชวนกันเล่นต่อ ท้าทาย อยากให้ตำรวจดู แล้วรอบนั้นรอบที่ได้ท้าทายเจ้าหน้าที่รัฐต่อหน้านี่แหละ สนุกที่สุด

อีกครั้งหนึ่ง ประทับใจมวลชนมาก คือวันที่ 10 เมษา ปี 54 เราไปเล่นกันรำลึกถึงคนตายตามจุดที่มีคนตายเราเลือกที่จะเล่นก่อนที่จะมีคนมาเยอะ แกนนำยังไม่เปิดเสียงอะไรมากจากที่เวที เรามีแค่ลำโพงเล็กๆไม่กี่อัน เสียงเบามากเมื่อเทียบกับลำโพงของเวทีใหญ่ ทีนี้มีรถแกนนำจะผ่านเข้ามา จำได้ว่าเป็นคุณวรวุฒิ วิชัยดิษฐ์  แล้วก็มีการ์ดมาไล่เราขณะที่เรากำลังตั้งแถวแสดงกันอยู่เลยเค้าก็มาไล่ เราเลยตัดสินใจจับมือกันแล้วไม่ยอมออกไปไหน แล้วก็เลยตะโกนด้วยความ จำได้ว่าน่าจะตะโกนว่า เรามาเพื่อรำลึกถึงคนตายไม่ได้มาเพราะแกนนำ คนตายสำคัญกว่าแกนนำ ประมาณนี้  ทีนี้คนที่กำลังจะดูเราเขาก็มาจับมือต่อ เข้าไปคุยกับแกนนำ ไปคุยกับการ์ด ขอให้เราแสดงก่อน มีคนเข้ามากอดปลอบใจ ดีมาก ทั้งๆที่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักพวกเราเท่าไร วันนั้นถึงจะได้เงินในกล่องน้อย ไม่พอจ่ายค่ารถให้สมาชิกครบทุกคนเราก็ถือว่าเราได้สัมผัสน้ำใจของมวลชนจริงๆ อีกครั้งคงจะเป็นงานหกตุลา ที่คนที่มาร่วมแสดง ยอมเหนื่อย ยอมอดนอนอยู่กับเรา ยุงกัด ฝนตก สภาพแย่ทุกอย่างเลย แต่เค้าก็ยังอยู่กันจนงานเสร็จ ซึ่งใจจริงๆ

ถ้าจะมีการทำกิจกรรมแบบนี้ต่อไปคิดว่ากลุ่มควรมีการปรับปรุงอะไรบ้าง?
ที่เราจะต้องปรับปรุงคงเป็นเรื่องของคนในทีมที่จะต้องแทนกันได้ตลอด ทั้งเรื่องเขียนบท เรื่องการแสดง หรือเรื่องการเมือง เพราะคนมันหมุนอยู่ตลอดเวลา เราต้องทำให้คนในทีมมีพื้นฐานความรู้ ความคิดไปในทิศทางเดียวกันเพื่อจะได้เขียนบทออกมาจากจุดยืนเดียวกัน ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องราวตามสถานการณ์เท่านั้น อีกอย่างคงจะเป็นเรื่องศาสตร์ทางการแสดงที่ต้องเพิ่มเติม แต่นั่นไม่สำคัญเท่าความรู้ทางทฤษฎี เพราะเอาเข้าจริงแล้วเราสร้างหลักสูตรการแสดงของตัวเองได้ จากการที่เราไปดูหรือเรียนรู้จากรุ่นพี่ หรือกลุ่มละครอื่นๆแล้วทดลองแสดงกัน ต้องเพิ่มศักยภาพเฉพาะด้านของสมาชิกแต่ละคนให้เต็มที่กว่านี้ แต่นั่นมันต้องใช้เวลามากเหมือนกัน

กิจกรรมที่ผ่านมาเคยโดนคุกคามหรือไม่อย่างไร?
เรื่องการคุกคาม แบบจริงๆจังๆที่ไม่นับสันติบาล หรือ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน) ที่ดูเป็นเรื่องปกติ ที่ต้องเจอ แต่ที่เห็นแบบคุกคามจริงๆ แบบรุนแรงก็น่าจะเป็น คนที่อ้างตัวว่าเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่โทรมาข่มขู่ให้เลิกเล่นละครแขวนคอ  อันนั้นมันแบบคุกคาม ข่มขู่จริงจัง ส่วนการคุกคามอีกแบบหนึ่งคือการคุกคามทางความคิด อันนี้เราได้รับการคุกคามโดยทางอ้อมจาก นปช.  ทั้งตอนที่ นปช. ให้การ์ดคอยตรวจว่ามีใครมาแจกเอกสาร มีใครมาทำอะไรในที่ชุมนุมที่หมิ่นเหม่ให้การ์ดจับตัวมาส่ง แต่เราก็ไม่เคยโดนจับกัน เค้าคงเห็นเราเป็นเด็กๆเลยไม่มีใครสนใจ แล้วยิ่งที่ผ่านมา ที่ นปช. ประกาศเรื่องการส่งบทส่งสคริป วันที่ 24 มิถุนา อันนั้น เป็นการคุกคามกันเองที่ดูเลวร้ายมาก มันคือการกีดกันความคิดเห็นอื่นๆในพื้นที่ชุมนุม แต่เราก็ไม่กลัว แค่คิดว่า นปช. ไม่ควรจะทำแบบนี้เลย

อีกอย่างคงจะเป็นการคุกคามจากมวลชนเสื้อแดงด้วยกัน จริงๆมันอาจจะไม่เรียกว่าเป็นการคุกคาม อาจจะเป็นแค่การเข้าใจผิด คือ เราเคยเดินแจกเอกสารข้อมูล ในม๊อบก่อนที่เราจะเล่นละครในเวทีย่อย เราก็แจกเอกสารว่าเราจะเล่นที่ไหนกี่โมง ก็เจอมวลชนบางคนถามแบบแรงๆว่า “จะเอาเงินเท่าไร” “มาอีกแล้วพวกนี้ มาขอเงินอีกแล้ว” “กระดาษไม่กี่แผ่นตั้งยี่สิบบาท” พวกเราก็หน้าเสียเลย เราไม่ได้มาแจกเอกสารเพื่อขอเงิน คือ เค้าคงติดภาพว่านักศึกษามาแจกอะไรต้องให้เงินตลอด เราเลยหน้าชามาก คือ คนที่แจกเอกสรแล้วเดินกล่องทำไมไม่เจอกับคำถามแบบนี้ เราไปเล่นละครแค่แจกใบปลิวว่าเราจะเล่นละคร เราเจอแบบนี้ เหมือนว่าเราเป็นขอทาน แต่เราก็โทษมวลชนไม่ได้เพราะเขาเห็นแบบนั้นบ่อย แต่แค่น้อยใจว่าทำไมเราต้องมาเจอแบบนี้  จริงๆการเจอแบบนี้มันบั่นทอนกำลังใจของเรามากกว่าการถูกคุกคามจากฝ่ายตรงข้ามอีก

ต่อจากนี้จะทำอะไรกันต่อไปของสมาชิกในกลุ่ม?
คงจะกลับไปทบทวน หาความรู้ และ ตั้งคำถามกับตัวเองกันว่า มีใครพร้อมที่จะอยู่และเรียนรู้ทฤษฎีบ้าง และ คงจะตั้งใจศึกษาหาความรู้กัน จริงๆหลังจากงานเสวนา ("คำถามถึงการเปลี่ยนแปลงสังคมผ่านงานวัฒนธรรม") ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นนะว่าคนทำงานวัฒนธรรมควรจะมานั่งคุยกถึงแนวทางแลกเปลี่ยนกัน เราอาจจะจัดวงเสวนาแนวดีเบตกัน เพื่อเพิ่มความรู้ให้ตัวพวกเราเองด้วย บางทีอะไรที่มีคนทำอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำต่อไป เมื่อมีคนอื่นทำแล้วเราควรจะไปเสริมในส่วนที่ยังไม่มีคนทำ เราคิดแบบนั้น เราอยากจะเป็นคนช่วยเสริมให้กลุ่มอื่นๆสามารถผลิตละครของตัวเองได้ ไม่จำเป็นว่าต้องการละครจะต้องเรียกหาประกายไฟ ทุกกลุ่มมีละครได้ ทำละครได้ เราพร้อมที่จะสอนให้ ถ้าอยากจะเรียนรู้ความรู้กากๆ แบบเราประมาณนั้น

มีเรื่องอะไรที่อยากเล่นหรือประเด็นอะไรที่อยากเล่น แต่ไม่ได้เล่น บ้างเพราะอะไร?
เรามีเรื่องที่อยากจะเล่นอยู่เต็มหัวไปหมด โดยส่วนตัวอยากเล่นเดี่ยว เรื่องเด็กหญิงจุดไม่ขีดไฟ แบบของประกายไฟนะ คิดบทไว้แล้วด้วย แต่ก็คงไม่ได้เล่นแล้ว แล้วก็ยังมีเรื่องจอมพล ป.  ที่อยากจะเล่น คือเราเห็นคนเล่าเรื่องปรีดีเรื่องคนอื่นเยอะ แต่ยังไม่มีคนเล่าเรื่องจอมพล ป. ทั้งๆที่มีความน่าสนใจมากและน่าเห็นใจมากในทางประวัติศาสตร์ แล้วก็อยากเล่นเรื่องแบบนิทานพื้นบ้านที่เป็นนิทานแบบศรีธนนชัย เวตาล แล้วเล่าเรื่องแบบหนังอินเดีย มีเต้นๆด้วย อยากทำเป็นตอนๆ ค่อยๆเล่น อยากไปเล่นในต่างจังหวัด เล่นให้พี่น้องที่อยู่ต่างประเทศดู อยากเล่นในที่ที่ต่างกัน และที่สำคัญอยากเล่นให้เด็กๆดู เราอยากจะเล่านิทานเรื่องใหม่ให้เด็กๆฟัง นิทานที่ไม่ใช่เรื่องของพระราชา เจ้าชาย เจ้าหญิง แต่เป็นนิทานของคนธรรมดาที่เปลี่ยนโลกได้

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :
คำถามถึงแนวรบศิลปวัฒนธรรม โดย  เพียงคำ ประดับความ http://prachatai.com/journal/2012/07/41456

‘หนูน้อยหมวกแดง’ พรุ่งนี้... จะทำอย่างไรต่อไป? http://prachatai.com/journal/2010/07/30202

เยาวชนอีสาน-3 จว.ชายแดนใต้ ร่วมรำลึกเหตุความรุนแรง 19 พ.ค. หน้าบ้าน ‘ส.ส.ภูมิใจไทย ขอนแก่น’ http://prachatai.com/journal/2010/11/31718

ประกายไฟการละครตอน ‘แม่-พิมพ์’ การตั้งคำถามต่อความรักของ ‘แม่ตัวเอง’ http://prachatai.com/journal/2011/08/36708

โทรข่มขู่กลุ่มประกายไฟ เลิก ‘ละครแขวนคอ’ อ้างนักศึกษาไม่พอใจ http://prachatai.com/journal/2011/10/37229

เวทีเล็ก ทวงสิทธิ 'นักโทษการเมือง'- ประกายไฟการละครสะท้อนปัญหาภายในเสื้อแดง http://prachatai.com/journal/2012/05/40598

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net