Skip to main content
sharethis

นับเป็นประเทศที่ 75 ของโลกที่ให้สัตยาบันสนธิสัญญาห้ามการลงโทษประหารชีวิต ทำให้ 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกรวมทั้งแอฟริกาถือว่ายกเลิกโทษประหารไปแล้วทางพฤตินัย 

9 ก.ค. 55 - แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เผยแพร่แถลงการณ์ฉบับวันที่ 6 ก.ค. 55 ระบุว่า รัฐบาลเบนิน ซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ทางแอฟริกาตอนใต้ ได้ให้สัตยาบันสนธิสัญญาห้ามการลงโทษประหารชีวิตแห่งสหประชาชาติแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเบนินนับเป็นประเทศที่ 75 ของโลกที่รับรองสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้ประเทศในทวีปแอฟริกา รวมถึง 2 ใน 3 ของประเทศต่างๆ ในโลก ถือว่ายกเลิกโทษประหารชีวิตแล้วโดยพฤตินัย 

ทั้งนี้ โทษประหารชีวิต ยังเป็นส่วนหนึ่งในกฎหมายของเบนิน แต่หลังจากที่รัฐบาลให้สัตยาบันในสนธิสัญญาดังกล่าว ต้องรอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติของเบนินยกเลิกมาตราดังกล่าวในกฎหมายซึ่งยังอนุญาตให้ใช้โทษประหาร อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากแอมเนสตี้ฯ ระบุว่า เบนินไม่ได้ประหารชีวิตบุคคลใดเลยตลอด 25 ปีที่ผ่านมา

สนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ห้ามการลงโทษประหาร เป็นพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. 2532 แห่งสหประชาชาติ (1989 Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) โดยในปัจจุบัน มี 141 ประเทศในโลกจาก 198 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว ส่วนประเทศไทย ยังไม่ได้ลงนามในพิธีสารเลือกรับฉบับดังกล่าว  

0000

แถลงการณ์ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล

6 กรกฎาคม 2555

เบนินให้สัตยาบันสนธิสัญญาสำคัญขององค์การสหประชาชาติเพื่อยกเลิกโทษประหาร 

ก้าวย่างสำคัญของเบนินเพื่อมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารเกิดขึ้นเมื่อวานนี้ หลังจากได้ประกาศให้ภาคยานุวัติต่อสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่ห้ามการลงโทษประหาร

เบนินเป็นประเทศลำดับที่ 75 ของโลกที่รับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. 2532 (1989 Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มีเป้าหมายยกเลิกโทษประหาร

การให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 2 ของรัฐบาลเบนินนับเป็นก้าวย่างสำคัญอีกก้าวหนึ่ง และเบนินควรดำเนินการต่อเนื่องโดยทันที เพื่อบังคับใช้กฎหมายที่ยกเลิกโทษประหารจากกฎหมายระดับชาติใด ๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด

การดำเนินงานเพื่อยกเลิกโทษประหารของเบนิน นับเป็นการกำหนดมาตรฐานให้ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคนี้ปฏิบัติตาม

แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลได้รณรงค์อย่างยาวนานเพื่อให้ยกเลิกโทษประหารในประเทศเบนิน

การให้ภาคยานุวัติต่อพิธีสารเท่ากับว่าเบนินสัญญาว่าจะไม่ประหารชีวิตใครอีก และจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงเพื่อยกเลิกโทษประหารที่มีอยู่ในแนวนิติศาสตร์ของตน โทษประหารยังเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายในเบนินอยู่ ต้องรอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติของเบนินยกเลิกมาตราในกฎหมาย ซึ่งยังอนุญาตให้ใช้โทษประหารอยู่ แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญาของเบนินยังคงอนุญาตให้ใช้โทษประหารกับความผิดหลายประการ แต่ในช่วงเกือบ 25 ปีที่ผ่านมา เบนินไม่ได้ประหารชีวิตบุคคลใดเลย

ตามข้อมูลที่แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลมีอยู่ การประหารชีวิตครั้งสุดท้ายในเบนินเกิดขึ้นในเดือนกันยายน 2530 โดยเป็นนักโทษสองคนที่ถูกยิงเป้าเนื่องจากความผิดฐานฆาตกรรมผู้อื่นเพื่อประกอบพิธีบวงสรวง ในปี 2529 มีการยิงเป้าหกคน พวกเขาเป็นนักโทษที่มีความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยการใช้อาวุธและการฆาตกรรมผู้อื่น ครั้งสุดท้ายที่ศาลเบนินตัดสินลงโทษประหารคือปี 2553 เป็นการลงโทษผู้หญิงคนหนึ่งในข้อหาฆาตกรรมโดยระหว่างการอ่านคำพิพากษาตัวจำเลยไม่อยู่ในศาล ถึงสิ้นปี 2554 ในเรือนจำของเบนินมีนักโทษประหารอย่างน้อย 14 คน              

เบนินได้เข้าร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในแอฟริกาเพื่อยกเลิกโทษประหาร จนถึงปัจจุบัน 16 ประเทศในแอฟริกาได้ยกเลิกโทษประหารต่อความผิดทางอาญาใด ๆ รวมทั้งสามประเทศในช่วงสามปีที่ผ่านมาได้แก่ บูรุนดี โตโก และกาบอง แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลถือว่าอีก 22 ประเทศรวมทั้งเบนินเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารในทางพฤตินัย

หมายถึงว่าในระดับภูมิภาคแอฟริกา เช่นเดียวกับในระดับโลกกว่าสองในสามของประเทศต่าง ๆ ได้ยกเลิกโทษประหารทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัยไปแล้ว

ในประเทศกานา มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลยอมรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเสนอให้ยกเลิกโทษประหารในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในเดือนกันยายน 2554 เซียร์ราลีโอนยอมรับข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติ และได้ให้สัตยาบันต่อพิธีสารเลือกรับฉบับที่สอง และภายหลังการลดโทษหลายครั้งเป็นเหตุให้ในประเทศนี้ไม่มีนักโทษประหารเหลืออยู่เลย ส่วนในประเทศบูร์กินาฟาโซและมาลียังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกเลิกโทษประหาร

ในเดือนมีนาคมของปีนี้ มองโกเลียได้ให้ภาคยานุวัติต่อพิธีสารเลือกรับฉบับที่สอง ในขณะที่ทาจิกิสถานสนับสนุนข้อเสนอแนะขององค์การสหประชาชาติและสัญญาว่าจะทำแบบเดียวกัน

แม้จะมีความก้าวหน้าที่สำคัญเหล่านี้ แต่ต้องมีการรณรงค์ต่อไปเพื่อยกเลิกโทษประหารทั่วโลก

ในปี 2554 มีการประหารชีวิตใน 21 ประเทศและอีก 63 ประเทศมีการสั่งลงโทษประหาร บรรดาวิธีประหารชีวิตที่ใช้กันได้แก่ การตัดศีรษะ การแขวนคอ การฉีดสารพิษเข้าร่างกาย และการยิงเป้า

ประเทศต่าง ๆ ที่ยังคงประหารชีวิตผู้กระทำความผิด เริ่มมีจำนวนน้อยลง เพราะต้องต่อสู้กับกระแสความเห็นระดับโลกและแนวปฏิบัติด้านกฎหมายที่ต่อต้านโทษประหาร

ประเทศต่าง ๆ ที่ยังคงมีโทษประหารควรกำหนดข้อตกลงเพื่อยกเลิกโทษประหารชั่วคราว ทั้งนี้ตามข้อเรียกร้องขององค์การสหประชาชาติ และเข้าร่วมกับประชาคมโลกในการยกเลิกการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมอย่างที่สุดเช่นนี้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net