Skip to main content
sharethis

"นี่คือแผ่นดินถิ่นเกิดของเฮา เขาเป๋นไผมาจากไหน เขาถึงได้มาเยียะกับเฮาจะอี้โดยตี้บ่บอก บ่หื้อข้อมูล บ่ชี้แจง จริงๆโครงการใหญ่ๆเขาน่าจะมาฝังรากกับเฮา ตั้งแต่โครงการเริ่มแรก นี่บ่ได้หื้ออะหยังกับเฮาเลย เฮาทำหนังสือเข้าไปสอบถาม ถามแล้วถามแหม เขาบ่เกยตอบ"

 

ท้องทุ่งอันเขียวขจีแต้มแต่งด้วยสีเหลืองส้มของขอบฟ้ายามตะวันลับเหลี่ยมดอยเขาแก้ว เป็นภาพที่ชาวตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เห็นชินตามาตั้งแต่รุ่นปู่ยาตาทวด เพราะเป็นทั้งแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพ และปลูกสร้างบ้านเรือนสำหรับลูกหลาน แต่พอก้าวเข้าสู่ปี 2555 พวกเขาอาจจะไม่ได้เห็นภาพเช่นเดิมนั้นอีก เมื่อพื้นที่บริเวณบ้านหมู่ 12 ตำบลดู่ใต้ ได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ จากแนวเขตทั้งหมด 270 กิโลเมตร อันเป็นผลสืบเนื่องจากการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโครงการหงสาลิกไนต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินแห่งแรกของลาว โดยเงินลงทุนจากบรรษัทไทย ตั้งอยู่ในเมืองหงสา แขวงไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยจะเริ่มจ่ายไฟฟ้าได้ในปี 2558 [1]       

 

 

นโยบายพลังงานที่ไม่เคยถามประชาชน

ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการฯ และประกาศสำรวจแนวสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์จากชายแดน (บริเวณจังหวัดน่าน) ไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยแม่เมาะ [2] ในช่วงเดือน กรกฎาคม 2554 ได้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสำรวจแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ดำเนินการสำรวจแนวสายส่งบริเวณพื้นที่ตำบลดู่ใต้ โดยทำการปักหมุด ปักเสาไม้ มีการถาง หัก ตัด กิ่งไม้ พืชผลของชาวบ้าน และป้ายสีตามต้นไม้ ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของชาวบ้าน โดยชาวบ้านไม่ทราบมาก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ของตน จึงสร้างความวิตกกังวลอย่างยิ่ง ปัญหาลักษณะนี้ไม่ปรากฎว่าประชาชนได้รับข้อมูลขาดการสื่อสารไม่ประกาศแจ้งที่ที่ทำการอำเภอ ที่ทำการกำนัน ผู้ใหญ่บ้านให้ได้รับทราบกันอย่างทั่วถึง ไม่มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและขาดความยินยอมเห็นชอบจากชุมชนอีกด้วย [3]

ความรู้สึกของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ดังกล่าวบอกเล่าผ่านปากของตัวแทนชาวบ้าน [4] ซึ่งร่วมติดตามสถานการณ์นี้มาอย่างต่อเนื่อง เธอกล่าวในการประชุมชาวบ้านครั้งหนึ่งเป็นภาษาถิ่นว่า "...บอกความฮู้สึกหื้อเปิ้นฮู้ ว่านี่คือแผ่นดินถิ่นเกิดของเฮา เขาเป๋นไผมาจากไหน เขาถึงได้มาเยียะกับเฮาจะอี้โดยตี้บ่บอก บ่หื้อข้อมูล บ่ชี้แจง จริงๆโครงการใหญ่ๆเขาน่าจะมาฝังรากกับเฮา ตั้งแต่โครงการเริ่มแรก นี่บ่ได้หื้ออะหยังกับเฮาเลย เฮาทำหนังสือเข้าไปสอบถาม ถามแล้วถามแหม เขาบ่เกยตอบ เลื่อนแล้วเลื่อนแหม..." [5] จากคำบอกเล่าของตัวแทนชาวบ้านซึ่งร่วมสถานการณ์ในชุมชนมาโดยตลอด  ทำให้เราเห็น 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. เกิดการละเมิดสิทธิของประชาชนขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่การละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล และที่สำคัญไปกว่านั้นคือการละเมิดสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของรัฐ 2. ธรรมาภิบาล และความโปร่งใส ความรับผิดชอบต่อสังคม การปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกๆ ฝ่ายอย่างเท่าเทียมตลอดจนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ

 

แนวสายส่งฯ นำเข้าสารพิษจากเหมืองถ่านหินลิกไนต์

ที่ผ่านมา หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้พัฒนาโครงการแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ได้นำเสนอข้อมูลเชิงบวกเพียงด้านเดียวเกี่ยวกับโครงการฯ และให้ข้อมูลกับชาวบ้านในลักษณะที่แยกขาดออกจากโครงการต้นตอที่เชื่อมโยงกัน คือ เหมืองและโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์หงสา ทำให้ชาวบ้านรับรู้ข้อมูลอย่างไม่รอบด้าน และไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญได้

โดยเฉพาะประเด็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน อันจะเกิดจากการทำเหมืองถ่านหินลิกไนต์ เพื่อผลิตไฟฟ้าส่งเข้าแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในประเทศไทย

ปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำกัดเช่นนี้ ทำให้พวกเขามีความรู้ในการมองปัญหาผลกระทบอยู่ในขอบเขตจำกัดเฉพาะแนวเขตสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเป็นส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถตระหนักถึงราคาแฝงที่มาพร้อมกับโครงการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือภาระจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาวจากเหมืองเปิดหน้าดินขนาดใหญ่ อยู่ห่างจากชายแดน ไทย-ลาว อ.เฉลิมพระเกียรติ 35 กิโลเมตร และห่างจาก อ.เมืองน่าน ประมาณ 70 กิโลเมตร เท่านั้น เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ฝุ่นเถ้าจากการเผาถ่านหิน สารตะกั่ว สารหนู และสารพิษอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด และระบบการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆ เมื่อได้รับสารปนเปื้อนเหล่านั้นทางอากาศ ดิน และน้ำ   

แต่อย่างไรก็ดี เฉพาะกรณีโครงการแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จะพาดผ่านที่ทำกินของชาวบ้านนั้น ก็ยังคงสะท้อนให้เห็นผลกระทบใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพกายและสุขภาพจิต ความสวยงามทางทัศนียภาพในชุมชนซึ่งจะเกิดขึ้นและเห็นผลได้อย่างชัดเจนในไม่ช้า [6] นอกจากนี้ ผลกระทบโดยตรงจากโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูง คือชาวบ้านซึ่งมีที่ดินอยู่ในแนวสายส่งต้องสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกิน และเรือกสวนไร่นาซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด ทั้งนี้ ชาวบ้านระบุว่า การประเมินราคาค่าชดเชยที่ดินของ กฟผ. นั้น เป็นการประเมินค่าชดเชยให้เฉพาะบริเวณที่แนวสายส่งไฟฟ้าจะพาดผ่านนั้น  แต่ไม่ได้คิดรวมที่ดินทั้งแปลง กรณีนี้จะทำให้ราคาที่ดิน ประเมิน การชื้อขาย การจำนองจำนำ ในปัจจุบัน และอนาคตตกต่ำ  ไม่เพียงเท่านั้น แนวสายส่งไฟฟ้าจะพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ป่าชุมชนบริเวณดอยเขาแก้ว (หม่อนจ่อมก้อม)  ซึ่งถือเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติที่ชุมชนตำบลดู่ใต้พึ่งพาอาศัยเก็บเห็ด  หน่อไม้  ผักชนิดต่างๆ  นอกจากนี้ กฟผ. ได้ซื้อที่ดินบริเวณบ้านดู่เหนือพัฒนาอะไร หมู่12  ซึ่งเป็นพื้นที่นาข้าวและแอ่งรับน้ำ บริเวณดังกล่าว จะมีการถมที่ดินเพื่อสร้างสถานีจ่ายไฟฟ้าย่อย จะเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน ปิดกั้นการไหลของน้ำ  ซึ่งจากประสบการณ์ของชาวบ้านคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มจะเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนบริเวณรอบๆ อีกด้วย 

รวบ รัด ตัด ตอน เร่งเจรจาค่าชดเชยผลกระทบแนวสายส่งฯ

หลังจากมีการประกาศแนวสายส่งฯ ทาง กฟผ. ได้ทำหนังสือถึงเจ้าของที่ดินที่แนวสายไฟจะพาดผ่าน ต่อมา ทางกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อทำหน้าที่กำกับกิจการไฟฟ้าและกิจการก๊าซธรรมชาติภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ [7] และเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2555 ทาง กกพ. ได้ให้นายกิจจา ลิ้มแสงชัย ผู้ชำนาญการพิเศษฝ่ายจัดการที่ดินและทรัพย์สิน มาลงพื้นที่เพื่อรับทราบข้อมูล ตรวจสอบสภาพปัญหาของผู้ที่ได้รับความเสียหาย ที่บ้านหมู่ 12 ต.ดู่ใต้ ซึ่งเป็นการนัดลงพื้นที่แบบรายบุคคล

คำถามมีอยู่ว่า การดำเนินการในลักษณะดังกล่าว เป็นการดำเนินการที่เหมาะสมหรือไม่ เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลกระทบภายในชุมชน ไม่ใช่ผลกระทบในเชิงปัจเจกบุคคลเท่านั้น การไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร การไม่ได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นเป็นความเสียหายที่ได้รับโดยทั่วกัน การมองสภาพปัญหาไม่เป็นภาพรวม เสมือนเป็นการตัดตอนให้ปัญหาใหญ่ขาดวิ่น เพียงเพื่อง่ายแก่การแก้ไขปัญหา หรือทำให้ปัญหาจบๆ ไป โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวที่อาจจะเกิดขึ้น

นี่แสดงให้เห็นว่า หน่วยงาน กกพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีเจตจำนงและวิธีการที่เป็นการลดทอนความซับซ้อนของปัญหาในระดับชุมชน ขาดมุมมอง ในมิติที่หลากหลายทั้งสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้ปรากฏอยู่ในหนังสืออุทธรณ์คัดค้านของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต่อ กกพ. แต่ไม่ปรากฏว่าจะได้มีการพูดถึงหรือเยียวยาความเสียหายสำหรับการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเหล่านี้แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี เมื่อชาวบ้านได้รับหนังสือตอบกลับ จึงได้หารือและตกลงกันว่าจะนัดรวมตัวกันเพื่อเจรจา ให้ข้อมูลกับทางผู้แทน กกพ.ในฐานะกลุ่มชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบร่วมกันในฐานะชุมชน มิใช่เพียงผลกระทบต่อตัวบุคคลเท่านั้น บรรยากาศเป็นไปอย่างราบรื่น และเต็มไปด้วยความหวังของชาวบ้านที่จะส่งเสียงของตนไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ถึงผลกระทบทั้งในแง่เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชีวิตซึ่งตนและลูกหลานในอนาคตจะได้รับ อันเนื่องมาจากการกระทำของ กฟผ.ในครั้งนี้

ทั้งนี้ นายกิจจา ได้ชี้แจงกับชาวบ้านว่า ตนมาติดตามดูว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกแนวสายส่งพาดผ่านและได้ร้องอุทธรณ์มาที่ กกพ.นี้ จะให้ดำเนินการอย่างไร ซึ่งหากต้องการให้ย้ายหรือยกเลิกแนวสายส่งนั้น ต้องผ่านเงื่อนไข 2 ประการ คือ 1.หากต้องย้ายไปในที่ดินของผู้อื่น ต้องให้บุคคลนั้นให้ความยินยอม 2.ต้องมีความเป็นไปได้ในทางวิศวกรรม และต่อข้อกังวลของชาวบ้านว่ามีการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการในเรื่องค่าทดแทนไปแล้วนั้น นายกิจจาชี้แจงว่า ต้องให้คณะกรรมการฯมีมติต่อการร้องอุทธรณ์แล้วจึงจะสามารถดำเนินการในส่วนของการจ่ายค่าทดแทนในที่ดินที่แนวสายส่งพาดผ่านได้ต่อไป

เมื่อตัวแทนชาวบ้านดู่ใต้ได้ชี้แจงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนทั้งในแง่ของการใช้ที่ดินซึ่งเป็นมรดกของลูกหลานจากบรรพบุรุษ ด้านจิตวิญญาณของชุมชน และความคับข้องใจต่อกระบวนการอันไม่โปร่งใส และไร้การมีส่วนร่วมของชาวบ้านที่ได้รับการกระทบสิทธิ นั้นนายกิจจา ได้กล่าวว่า "ตามที่นำเสนอมานี้ ผมอาจจะต้องเอาไปใส่ในวาระอื่นๆ ผมอาจจะเอาความรู้สึกไปถ่ายทอดให้ได้เท่านั้นเอง ซึ่งจะเป็นอย่างไรก็ต้องแล้วแต่มติที่ประชุม ส่วนเรื่องวาระนี้ ก็จะนำเอาข้อเท็จจริง ความรู้สึกของผู้อุทธรณ์ ของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบไปนำเสนอท่าน [กกพ.-ผู้เขียน]"

 

ซึ่งความเห็นแบบแบ่งรับแบ่งสู้ของผู้แทน กกพ. ดังกล่าวนี้ก็ไม่ได้เพิ่มความมั่นใจต่อชาวบ้านว่าเจ้าหน้าที่ซึ่งมาปฏิบัติหน้าที่จะดำเนินการให้บรรลุผล เป็นเสมือนข้อความส่งสัญญาณให้ผู้ได้รับผลกระทบทำใจไว้ล่วงหน้า

หลังการลงพื้นที่ของผู้แทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน นายกิจจาได้ชี้แจงว่าจะดำเนินการจัดทำรายงานการลงพื้นที่และนำเสนอต่อ กกพ. หลังจากนั้นทาง กกพ. จะพิจารณาแล้วลงมติว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งต้องดำเนินการภายใน 60 วันนับจากวันรับคำร้อง และหากไม่เป็นไปตามกรอบเวลาผู้ร้องเรียนสามารถฟ้องศาลปกครองได้ภายใน 50 วัน [8]

 

ผลักดัน กสม. ตรวจสอบความรับผิดชอบการลงทุนไทยต่างแดน

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ทางชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐตามโครงการดังกล่าว ได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554  ซึ่งเป็นกลไกสำคัญอันหนึ่งในการตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐซึ่งกระทบต่อสิทธิของประชาชน ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกรณีนี้ คือ การตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว เพื่อดำเนินการ ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป และตามมาตรา 32 เพื่อดำเนินการสอบถามส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการหรืองานใดๆ หรือส่งวัตถุ เอกสาร หรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือส่งผู้แทนมาชี้แจงหรือให้ถ้อยคำประกอบการพิจารณาได้ [9]

เนื้อหาการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของชาวบ้านดู่ใต้ เป็นไปเพื่อต้องการให้ กสม. เข้ามาตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการรับรู้และเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เอกสารสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ  คือ สำเนาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไนต์ (Hongsa PPA) รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการหงสาลิกไนต์ฉบับสมบูรณ์ และรายงานฉบับสมบูรณ์ของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ?ของโครงการหงสาลิกไนต์ ในลาว อย่างไรก็ตาม กฟผ. อ้างว่าเอกสารเหล่านี้ เป็นเอกสารที่มีความอ่อนไหวทางการค้า ไม่อาจเปิดเผยต่อสาธารณะได้ และสำหรับ EIA นั้นอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐบาลลาวที่จะให้ความยินยอม [10]

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโดยนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อร้องเรียนเรื่องการกระทบสิทธิชุมชนจากการตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งมีเรื่องของแหล่งต้นทางของโรงไฟฟ้าที่อยู่ในเมืองหงสาประเทศลาว และการลงทุนของนักธุรกิจไทยในลาว ซึ่งประกอบด้วย เรื่องเสาไฟฟ้าแรงสูง และโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งสองเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสิทธิชุมชน กระทบชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน วัฒนธรรมวิถีชีวิต ซึ่งในครั้งนั้น กสม. ได้ตรวจสอบความเป็นจริงในพื้นที่ และรับฟังข้อมูลความคิดเห็นของชาวบ้านโดยตรง ขณะเดียวกันก็จะดำเนินการให้กฟผ.เข้ามาชี้แจงข้อมูลต่อคณะกรรมการสิทธิฯต่อไป [11] 

ทั้งนี้ การละเว้น เพิกเฉย และไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมายขององค์กรภาครัฐ ปิดกั้นการมีส่วนร่วมตัดสินใจวางแผนการพัฒนาตั้งแต่ระดับท้องถิ่นและระดับชาติของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย  กรณีกลุ่มชาวบ้านใน จ.น่าน ที่ลุกขึ้นมาทักท้วงกระบวนการทำงาน อันไม่โปร่งใสขององค์กรรัฐที่เกี่ยวข้องกับโครงการแนวสายส่งไฟฟ้าเหมืองหงสาฯ ชี้ให้สังคมเห็นถึงพลังของการรวมกลุ่ม และกระบวนการเรียนรู้ของประชาชน ในการตระหนักรู้ถึงสิทธิที่ได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ และหลักการสิทธิมนุษยชนสากล และสามารถดำเนินการตามกลไกของกฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิของตน และชุมชนได้

จัดการ "พลังงาน" ให้โปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อความมั่นคงของชีวิตมนุษย์

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเหมืองหงสาลิกไนต์จะแล้วเสร็จและเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในปี 2558 (2015) อันเป็นปีที่ สปป.ลาว และไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โครงการสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ชายแดน(บริเวณจังหวัดน่าน)-ท่าวังผา ซึ่งเกิดขึ้นในนามของ "ความมั่นคงทางพลังงาน" ที่เชื่อมโยงโครงข่าย และนโยบายแต่ตั้งแต่ท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับภูมิภาค ที่เรียกกันว่า "ASEAN Power Grid"  สอดรับกับนโยบาย "แหล่งพลังงานของภูมิภาคอาเซียน"(Battery of ASEAN) ของรัฐบาลลาวที่เน้นการส่งออกพลังงานเพื่อจำหน่ายให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานในเขตอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub region-GMS)

ในขณะที่ปัจจุบันมีประชากรลาวเพียง ร้อยละ 70 ของครัวเรือนเท่านั้นที่เข้าถึงไฟฟ้า และร้อยละ 60 อยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ [12] แต่ประชาชนจำนวนมากต้องแบกรับผลกระทบที่มากเกินไปจากการผลิตไฟฟ้า เช่น การต้องอพยพย้ายถิ่นฐานจากการสร้างเขื่อน ผลกระทบจากการสร้างเหมืองถ่านหิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตทางสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม  สิ่งที่รัฐบาลลาวและชนชั้นนำอาเซียนคาดหวังคือความมั่งคั่งของผู้ที่ได้เปรียบทางสังคมจากการเอาเปรียบคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นความร่ำรวยที่ต้องแลกมาด้วยชีวิตของประชาชนอาเซียน

เฉพาะกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านดู่ใต้ จังหวัดน่านมีความซับซ้อนอันเนื่องมาจาก "ตัวแสดง" (actors) ที่เกี่ยวข้องนั้น มิได้เป็น "ตัวแสดง" (actors) ภายในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว แต่บทบาทและปฏิบัติการของตัวแสดงระหว่างประเทศ หรือตัวแสดงข้ามชาติ นั้นกลับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งรัฐวิสาหกิจไทยที่ดำเนินกิจการในต่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติซึ่งลงทุนข้ามพรมแดน  อันส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์อย่างไร้พรมแดนเช่นกัน ทั้งในแง่กายภาพ และจิตวิญญาณ

คำถามสำคัญจึงมีอยู่ว่า เมื่อเราสามารถบูรณาการทางเศรษฐกิจให้เชื่อมร้อยผูกโยงกันได้อย่างแนบแน่นแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลักดันให้เกิดการยกระดับมาตรฐาน และกลไกการจัดการสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน อันเป็นเรื่องความมั่นคงของชีวิตมนุษย์ในระดับภูมิภาคไปพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ ตัวแสดงซึ่งเป็นบรรษัท หรือผู้ประกอบการข้ามชาติ ก็ต้องไม่มีอภิสิทธิ์อยู่นอกเหนือกลไกการแสดงความรับผิดชอบทางสังคมต่อชุมชนและผู้คนที่ได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากกิจการของตนด้วย

เมื่อหันมามองทิศทางการวางแผนพัฒนาพลังงานของประเทศไทย ที่มุ่งนำเข้าพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ประชาชนไทยในฐานะผู้บริโภคคงต้องไตร่ตรองให้ถ้วนถี่ถึงนโยบายรับซื้อไฟฟ้าที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อสร้าง "ความมั่นคงทางพลังงาน" ภายในประเทศ เนื่องจากมีข้อสังเกตจากภาคประชาสังคมต่อการคาดการณ์ความต้องการพลังงานที่มากล้นเกินความจำเป็น และกรณีไฟฟ้าจากกระบวนเผาไหม้ถ่านหินนั้นคือ "พลังงานสกปรก" ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมโลกด้านสภาพภูมิอากาศ ที่สังคมอารยะประเทศกำลังส่งเสริมให้ยุติการผลิตพลังงานชนิดนี้

หากประเทศไทยไม่ปฏิบัติอย่างจริงจังเกี่ยวกับการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความโปร่งใส ดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และส่งเสริมการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนไปพร้อมกับการดูแลสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศน์ที่มีคุณภาพต่อการดำรงชีวิตมนุษย์ ก็ไม่มีทางใดเลยที่ความมั่นคงทางพลังงานนั้น จะนำมาซึ่งความมั่นคงต่อชีวิตของประชาชน.

 


 เชิงอรรถท้ายบทความ

 

[1] บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด (2554), เอกสารเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการเหมืองหงสาลิกไนต์ 

 

[2] ประกาศการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. 2550. ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 124, ตอนพิเศษ 120ง, หน้า 21

 

[3]หนังสืออุทธรณ์คำสั่งแจ้งการประกาศกำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า โดย นางเพียรวรรณ มูลราช 

[4] การประชุมประชาคมบ้านดู่เหนือพัฒนา หมู่ 12 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน จ.น่าน วันที่ 18 เมษายน 2555         

[5] บอกความรู้สึกของเราให้เขารู้ ว่าที่นี่คือแผ่นดินถิ่นเกิดของเรา เขาเป็นใครมาจากไหน ถึงมาทำกับเราโดย
ไม่บอกกล่าวแบบนี้ ไม่ให้ข้อมูล ไม่ชี้แจง ซึ่งโครงการขนาดใหญ่เขาน่าจะมาใกล้ชิดกับเรา ตั้งแต่แรก แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเลย เราทำหนังสือไปถาม หลายครั้ง เขาก็ไม่ตอบ เลื่อนแล้วเลื่อนอีก (แปลโดย ผู้เขียน)

[6] บันทึกการประชุมผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ชายแดน (บริเวณจังหวัดน่าน) -น่าน 2-แม่เมาะ3 วันที่ 29 สิงหาคม 2554 ณ หอประชุมบ้านดู่เหนือพัฒนา ต.ดู่ต้ อ.เมืองน่าน จ.น่าน
 
[7] สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน. (2554) สืบค้นเมื่อ 23 พฤษภาคม 2555, จาก:   http://www.erc.or.th/ERCWeb2/Default.aspx          

[8] กิจจา ลิ้มแสงชัย, สัมภาษณ์, 20 เมษายน 2555, เทศบาลตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน
[9] สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ. (2555)? สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2555, จาก:http://www.nhrc.or.th/2012/wb/th/contentpage.php?id=2&menu_id=1&groupID=1&subID=2
[10] การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย. กฟผ. 981400/16160, ความคืบหน้าการเปิดเผยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการหงสาลิกไสต์ (Hongsa Lignite project)และเอกสารประกอบ, 12 มีนาคม 2555

[11] สำนักข่าวประชาธรรม. (2555) นพ.นิรันดร์ ลงพท.น่าน หลังชาวบ้านร้องกฟผ.ละเมิดสิทธิฯ. สืบค้นเมื่อ 12 มิถุนายน 2555, จาก: http://www.prachatham.com/detail.htm?code=n1_26012012_04

[12]  Powering the Countryside:The Lao PDR Rural Electrificati on Success Story. Retrieved June 12, 2012, from Worl Bank Website: http://go.worldbank.org/KN0XV85WV0
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net