Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: ตามที่ในวันนี้ (5 ก.ค. 55) ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่งบัลลังก์ศาล ได้ชี้แจงต่อผู้ถูกร้องจากพรรคเพื่อไทยว่า ในสมัยที่เขาเป็น ส.ส.ร.ปี 2550 นั้นเคยบอกว่าให้รับรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อให้พ้นจากระบอบปฏิวัติรัฐประหาร แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เหมาะไม่ควรตรงไหนก็ให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ แต่ไม่ได้บอกว่าให้ยกร่างทั้งฉบับนั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อวันที 3 ส.ค. ปี 2550 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิไตยได้จัดดีเบตระหว่างฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยหนึ่งในผู้อภิปรายฝ่ายสนับสนุนคือจรัญ ภักดีธนากุล รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น ปัจจุบันดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงที่ 2 ของการอภิปราย นายจรัญได้เสนอให้รับรัฐธรรมนูญปี 2550 ไปก่อน เพราะเป็น "สิ่งที่จำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชนอย่างราบรื่น ชัดเจน แน่นอน " และหลังจากนั้นสามารถแก้ไขมาตราเดียวแบบเดียวกับที่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยนายจรัญยืนยันว่าเป็นวิธีการที่ "ราบรื่น" กว่าการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 โดยมีรายละเอียดของการอภิปรายดังนี้

 

"การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ‘ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที’ คมช. สิ้นสภาพทันที ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ ‘เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ!’ เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่ เนี่ยครับ เราก็ว่าถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้"

จรัล ภักดีธนากุล, รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 3 ส.ค. 2550

 

จรัญ ภักดีธนากุล
รองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550

ผมก็ดีใจมาก ที่กิจกรรมนี้ได้ดำเนินมาอย่างราบรื่น จนถึงเวลาใกล้จะยุติลงได้ด้วยดี ขอเรียนว่าอย่างนี้ครับ ที่เราคุยกันมาทั้งหมด 3 ชั่วโมงนี้ ล้วนแต่เป็นความคิดเห็น และความเชื่อของแต่ละคนๆ ซึ่งมีภูมิหลังแตกต่างกัน มีประสบการณ์ความรู้แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพบว่าเป็นปัญหาจริงๆ อยู่ที่ความยึดมั่น ถือมั่นของพวกเรากันเองว่าจะรุนแรงเกินไปไหม ถ้าเราลดคลายทิฐิมานะลงบ้างทุกฝ่าย แล้วก็เริ่มต้นทำใจเป็นกลาง แล้วก็วิเคราะห์ปัญหานี้ซึ่งเป็นปัญหาของบ้านเมืองให้หาประโยชน์ให้ได้ว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการก้าวต่อไปของเราในการลงประชามติ ‘รับ’ หรือ ‘ไม่รับ’ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นประโยชน์มากกว่าหรือน้อยกว่าแล้วเราก็ตัดสินใจอย่างนั้น อย่าได้ถูกชี้นำหรือชักนำไปตามความคิดความเห็นของวิทยากรที่นำเสนอในวันนี้ นะครับ

ผมเองในฐานะได้รับมอบหมาย จากคณะผู้เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับให้สรุป ผมก็ต้องสรุปอย่างนี้ครับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เรายอมรับว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด แต่เรามองว่า มันเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดของการกลับคืนมาแห่งอำนาจของประชาชนอย่างราบรื่น ชัดเจน แน่นอน (ปรบมือ)

ผมเคารพและได้ฟังความคิดเห็นของท่านอาจารย์วรเจตน์ชัดเจนวันนี้ เมื่อสักครู่นี้ ว่าท่านเห็นทางสะดวกของท่านเหมือนกัน แต่ว่า ท่านครับ นั่นคือความเห็นและความเชื่อไม่ชัดเจนแน่นอน ราบรื่นเท่ากับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้

จุดที่สองครับ การที่เราลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ จะให้ผลดีคือ ‘ยุติระบบปฏิวัติรัฐประหารทันที’ คมช. สิ้นสภาพทันที ส่วนว่ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ดี มีข้อบกพร่อง มีบางจุดหลายจุดที่ท่านนำเสนอมานี้ เราเริ่มกระบวนการแก้ไข การแก้ไขนี้ผมอยากจะให้ ‘เราทำแบบเมื่อปี 2540 เราเสนอแบบให้ 50,000 คนเท่านั้นครับ! แล้วก็ ส.ส.ในสภา 1 ใน 4 เท่านั้นครับ!’ (น้ำเสียงหนักแน่น) เสนอแก้ไขมาตราเดียวแบบที่เราเริ่มทำในปี 2540 แล้วให้กระบวนการนั้นจัดทำกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนขึ้นใหม่ เนี่ยครับ เราก็ว่าถ้าเราเดินอย่างนี้มันจะราบรื่นกว่าที่เราจะใช้วิธีการว่า เอาล่ะ! เราล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แล้วคาดหวังว่า คมช. กับ ครม. จะหยิบร่างรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในอดีต มาปรับปรุงให้ดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เรากำลังทำนี้

ท่านครับ ท่านไม่มีอะไรไปบังคับเขาได้นะครับ! ไม่มีเลย นี่เป็นความคาดหวังของเรา แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่เราคาดละครับ อะไรจะเกิดขึ้น นะฮะ แต่ถ้าเรารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะดีจะเลว เราได้ระบอบประชาธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประเทศ เราได้อำนาจอธิปไตยกลับคืนมาเป็นของประชาชน แล้วหลังจากนั้นครับ เราช่วยกันเถิดครับ ช่วยกันพาประเทศนี้เข้าสู่กระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน ที่เราทุกคนอยากได้อีกครั้งหนึ่งเถิดครับ

ส่วนร่างฯ มาตรา 309 ท่านครับ เจตนารมณ์ท่านอาจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพทูรย์ พูดชัดตรงกับเจตนารมย์ของเราว่า ต้องการคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น สิ่งที่ไม่ชอบไม่คุ้มครอง ท่านอย่าตีความไปอย่างอื่น เปิดช่องให้มีการเล็ดลอดออกไปอย่างนั้นครับ ผมคิดว่าจะเอาเจตนารมย์นี้ให้มั่น ณ วันนี้ว่า มาตรา 309 มีเจตนารมณ์มุ่งคุ้มครองการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ขอบคุณครับ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net