ปิยบุตร แสงกนกกุล: Coup d'Etat 2.0 กระแสรัฐประหารรูปแบบใหม่ภายใต้การอ้างนิติรัฐ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 รัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญ - รัฐประหารโดยศาล กำลังเป็นที่นิยมในหลายประเทศ ตลอดเดือนที่ผ่านมา ศาลแสดงบทบาทมาก ตั้งแต่ อียิปต์, ปากีสถาน, ปารากวัย, "ราชอาณาจักร" ไทย เมื่อสักครู่อ่านจาก หนังสือพิมพ์ฝรั่ง เขาตั้งชื่อว่า รัฐประหารในลักษณะนี้เป็น "Coup d'Etat 2.0" ภายหลังจาก Coup d'Etat โดยทหาร ล้าสมัยและสังคมโลกไม่อาจยอมรับได้

Coup d'Etat โดยศาล กล่าวอ้างความชอบธรรมได้เสมอ เพราะกระทำในนาม "กฎหมาย" ทำให้อำนาจดิบเถื่อนกลายเป็นสิ่งชอบธรรมและดู Rational มากขึ้น

เมื่อนิติรัฐเบ่งบานไปทั่วโลก หากศาลในประเทศไหนวิปริต คิดก่อการ Coup d'Etat ก็จะกระทำลงไปได้สะดวกขึ้น โดยอ้างความจำเป็นของการมีศาลในการควบคุมตรวจสอบตาม "นิติรัฐ"

นานาอารยประเทศจะไม่เข้ามาแทรกแซง กดดัน วิพากษ์วิจารณ์ เพราะ เป็นเรื่องระบบรัฐธรรมนูญภายในของแต่ละประเทศ และไม่ได้ใช้กำลังทางกายภาพที่แสดงออกอย่างประจักษ์ชัดถึงความรุนแรง และอย่างน้อยที่สุด ดีๆชั่วๆ มันก็มาในนาม "กฎหมาย"

นี่เป็นอันตราย และเป็นศักยภาพล่าสุดของ "Coup d'Etat 2.0"

What is to be done?

กับดักที่ทำให้ต้านรัฐประหารโดยศาลทำได้ยาก – ความเห็นต่างไม่มีผลทางกฎหมาย

อิทธิฤทธิ์ของ "Coup d'Etat 2.0" รัฐประหารโดยศาล อีกประการหนึ่ง คือ เขาจะผลักให้บุคคลที่ไม่เห็นด้วยกับการตัดสินของศาล บุคคลที่เห็นว่าการตัดสินของศาลเป็น "รัฐประหารโดยศาล" ไปว่า "นี่เป็นความเห็นแตกต่างกัน คุณไม่เห็นด้วยก็เป็นการใช้เสรีภาพ แต่สุดท้าย ศาลตัดสินแล้วต้องเคารพ ไม่งั้นบ้านเมืองอยู่ไม่ได้"

วิธีการต่อต้านกับ "Coup d'Etat 2.0" รัฐประหารโดยศาล ที่ส่งผลพอฟัดพอเหวี่ยง และอาจต้านสำเร็จ มีเพียงประการเดียว คือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ ต้องใช้อำนาจที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญ เข้าไปจัดการกับ "รัฐประหารโดยศาล" นั้น
เพราะ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ อาศัยอำนาจที่ตนมีตามรัฐธรรมนูญเข้าไป "กำจัด" ผลิตผลที่ศาลผลิตขึ้น นี่เป็นการทำตามอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ เหมือนกับที่ศาลก็อ้างแบบนี้

การให้บุคคลภายนอกวิจารณ์พวกเขาก็จะไม่ส่งผลทางกฎหมาย เพราะ พวกเขาจะโยนไปว่า "นี่เป็นความเห็นต่าง"
การให้ประชาชนออกไปชุมนุม ก็ไม่ส่งผลทางกฎหมาย พวกเขาจะโยนไปว่า "นี่คือการคุกคามศาล"
การเข้าชื่อถอดถอนศาล ก็สำเร็จได้ยาก เพราะ ผู้มีอำนาจถอดถอน อาจเป็นกลไกเดียวกับพวกเขา

ดังนั้น มีอยู่เพียงประการเดียว คือ องค์กรผู้มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ใช้อำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบให้ ใช้กลไกต่างๆที่รัฐธรรมนูญมอบให้ เข้าไป "จัดการ" รัฐประหารของศาลเสีย

นี่เป็นการใช้อำนาจปะทะอำนาจ ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพ ถ้าศาลไม่ใช้อำนาจออกนอกแถวมาก่อน ก็จะไม่มีการใช้อำนาจโต้กลับไป

พลังของตัวบทอยู่ที่การตีความ และการตีความอยู่ภายใต้การ “บีบ” ให้ผู้ตีความยับยั้งชั่งใจ

ขออนุญาตนำทฤษฎีของ Michel Troper มากล่าวซ้ำอีกครั้ง ความคิดของ Troper คร่าวๆ คือ เขาสร้างทฤษฎี Théorie réaliste de l'interprétation ขึ้นมา เพื่อบอกว่า ตัวบทที่ผลิตออกมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพียงตัวบทเท่านั้น แต่ตัวบทจะกลายเป็น Norme ทางกฎหมาย มีพลังทางกฎหมายได้ ก็เพราะมีการตีความตัวบทนั้น ดังนั้น องค์กรผู้มีอำนาจตีความกฎหมายจึงเป็นคนกำหนด Norme คนร่าง กฎหมายไม่ได้เป็นคนกำหนด Norme

องค์กรผู้มีอำนาจตีความกฎหมายไม่จำเป็นต้องเป็นศาลเท่านั้น ประธานาธิบดีก็ตีความได้ นายกรัฐมนตรีก็ตีความได้ รัฐสภาก็ตีความได้ องค์กรผู้ใช้กฎหมายทั้งหลายก็ตีความได้

ปัญหาตามมาคือ เราจะมีวิธีถ่วงดุลองค์กรผู้ตีความ กฎหมายได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งตีความรัฐธรรมนูญ แล้วมีผลผูกพัน

นี่คือปัญหาพื้นฐานในการออกแบบโครงสร้างรัฐธรรมนูญเลย จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญเขาจะตีกรอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้น้อย และกำหนดให้ชัดเจนมากว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้อำนาจได้อย่างจำกัด ตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดอย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มีเสถียรภาพและสมดุล ฝ่ายการเมืองก็อาจโต้ศาลรัฐธรรมนูญได้ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญตีความ มาตรา 190 เติมคำว่า "อาจจะ" รัฐสภาก็อาจแก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือ ศาลรัฐธรรมนูญอาศัย "ช่อง" ไปตรวจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รัฐสภาก็อาจแก้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ชัดเจนว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าว เป็นต้น

Troper บอกว่า ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ยังต้องมี Théorie des contraintes juridiques ควบคู่ไปด้วย เขาพยายามหาคำตอบว่า แล้วทำไม องค์กรผู้ตีความกฎหมายถึงตีความไปในทางนี้ ทำไมตีความไปทางนั้น

ปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนสร้าง contraintes มีทั้งปัจจัยที่ไม่ใช่กฎหมายเช่น Ideology (อุดมการณ์) การฝึกฝนการเรียนรู้ของผู้พิพากษาตั้งแต่วัยเยาว์ และปัจจัยทางกฎหมาย เช่น การรักษาดุลยภาพของอำนาจ การจำกัดอำนาจการตีความของตนเอง

ทฤษฎี contraintes juridiques มุ่งสนใจแต่ส่วนหลัง เพราะ อยู่ในวงของวิชานิติศาสตร์  ส่วน contraintes ที่ไม่ใช่ทางกฎหมายนั้น สำนักกฎหมายเรียลิสม์ ของอเมริกาสนใจเป็นพิเศษ

Théorie des contraintes juridiques เข้ามา "บีบ" ให้องค์กรผู้มีอำนาจตีความได้ "ยับยั้งชั่งใจ" ก่อนตัดสินใจว่าจะตีความไปแบบใด โดยทั่วไปแล้ว contraintes juridiques ที่มีประสิทธิภาพ คือ การแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพ เช่น หากองค์กร ก. ตีความแบบนี้ จนไปล้ำแดนขององค์กร ข. องค์กร ข. อาจใช้อำนาจโต้ได้ ซึ่งองค์กร ก. คำนวณแล้ว เกรงอันตราย ก็เลยเปลี่ยนใจไม่ตีความแบบนั้น เป็นต้น

แต่ถ้า "บีบ" ไม่สำเร็จ เช่น ศาล รธน ตีความ "บิดผัน-ล้ำแดน" ออกมาชัดเจน องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับผลกระทบ ย่อมใช้อำนาจของตน "ตอบโต้" กลับไป

อย่างไรก็ตาม Théorie des contraintes juridiques ของ Michel Troper อาจยิ่งซับซ้อนมากขึ้น ใน "ราชอาณาจักร" ไทย

ศาลรัฐธรรมนูญ "บิดผัน-ล้ำแดน" เพราะไม่เกรงกลัวต่อ contraintes juridiques ใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากตนเองมี ซูเปอร์ contraintes พอกระทำการใดๆออกมา รัฐสภากลับไม่กล้าสู้ ใช้อำนาจ "โต้" กลับไป เพราะ เป็นรัฐสภาต่างหากที่เกรงกลัว "ซูเปอร์ contraintes"

ส่วน "ซูเปอร์ contraintes" คืออะไร ท่านพิจารณากันเอาเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท