Skip to main content
sharethis

หลังออง ซาน ซูจี กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างเยือนไทยและยุโรปเรียกชื่อประเทศว่า "เบอร์ม่า" ซึ่งเป็นชื่อเดิมก่อนที่รัฐบาลทหารพม่าจะเปลี่ยนเป็น "เมียนมาร์" ทำให้ กกต.พม่า เตือนออง ซาน ซูจี และพรรคฝ่ายค้านให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะที่โฆษกพรรคฝ่ายค้านโต้ว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องไม่เคารพรัฐธรรมนูญ 

ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับสหภาพ ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ เมื่อ 29 มิ.ย. 2555

กกต.พม่าประกาศลง นสพ. ให้ออง ซาน ซูจีเรียกชื่อประเทศว่า "เมียนมาร์"

เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของรัฐบาลพม่า ได้ลงประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับสหภาพ หรือ กกต.พม่า เรื่อง "ประกาศเพื่อการแจ้งพรรคเอ็นอแอลดีให้ใช้ชื่อประเทศตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์"

โดยในประกาศของ กกต.พม่า ได้อ้างมาตรา 2 ในรัฐธรรมนูญพม่าปี 2551 ระบุว่า ชื่อของประเทศจะถูกเรียกว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์" (The Republic of the Union of Myanmar) และอ้างมาตรา 405 ที่ระบุว่า พรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติตามและเคารพต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้บังคับ

ประกาศชี้แจงว่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือพรรคเอ็นแอลดี ซึ่งลงทะเบียนเป็นพรรคการเมืองมีข้อผูกพันว่าจะต้อง "ปฏิบัติตามและเคารพต่อรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์" ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 6 กฎหมายขึ้นทะเบียนพรรคการเมือง

และนางออง ซาน ซูจี ประธานพรรคเอ็นแอลดี สมาชิกสภาประชาชน ได้เรียกชื่อ "เมียนมาร์" ว่า "เบอร์ม่า" (Burma) ในการกล่าวสุนทรพจน์ของเธอในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม เมื่อ 1 มิ.ย. และได้กล่าวในระหว่างสุนทรพจน์อีกหลายครั้งในระหว่างการเยือนยุโรป

"ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่า "ประเทศจะถูกเรียกชื่อว่าสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์" ไม่มีใครมีสิทธิเรียกว่า "เบอร์ม่า" คณะกรรมการการเลือกตั้งระดับสหภาพจึงแจ้งต่อพรรคเอ็นแอลดีให้ใช้คำว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์" และ "เมียนม่าร์" ในการเรียกชื่อประเทศ" ประกาศของ กกต.พม่า ระบุ

"ดังนั้น จึงเป็นการประกาศว่า คณะกรรมการเลือกตั้งขอแจ้งต่อพรรคเอ็นแอลดีอีกครั้งให้เขียน กล่าว ชื่อของประเทศตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย และเป็นการเคารพต่อรัฐธรรมนูญ" ท้ายของประกาศ กกต.พม่า ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ระบุ

ขณะที่โฆษกพรรคเอ็นแอลดี นายญาน วิน กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีต่อเรื่องการเรียกชื่อประเทศว่า "เบอร์ม่า" ว่า "ไม่เกี่ยวกับเรื่องการไม่เคารพรัฐธรรมนูญ"

 

การเปลี่ยนชื่อประเทศ และการนำไปใช้

ทั้งนี้ในปี 2532 สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ หรือ SLORC ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารที่ปกครองพม่าในขณะนั้นได้เปลี่ยนชื่อประเทศจาก "เบอร์ม่า" (Burma) เป็นเมียนมาร์ (Myanmar) และในรัฐธรรมนูญปี 2551 ได้เรียกชื่อประเทศว่า "สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนม่าร์" (The Republic of the Union of Myanmar) ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ยังเรียกชื่อประเทศว่า "เบอร์ม่า" เพื่อแสดงการต่อต้านรัฐบาลทหารที่เปลี่ยนชื่อประเทศ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และอังกฤษยังคงเรียกชื่อประเทศว่า "เบอร์ม่า" รวมทั้งสื่อมวลชนอย่างบีบีซีด้วย

ทั้งนี้ในการประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หรือ UPR เมื่อเดือนมกราคมปี 2554 นักการทูตพม่าเคยขอให้ที่ประชุมเรียกชื่อประเทศว่า "เมียนม่าร์" หลังนักการทูตสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า "เบอร์ม่า" และนักการทูตสาธารณรัฐเช็คใช้คำว่า "เบอร์ม่า/เมียนม่าร์"

ในกรณีของไทย ราชบัณฑิตยสถานยังคงกำหนดให้เรียกชื่อประเทศในภาษาไทยว่า "พม่า" ตามประกาศราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง กำหนดชื่อประเทศ ดินแดน เขตการปกครอง และเมืองหลวง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2544

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Burma tells Aung San Suu Kyi 'call us Myanmar', BBC, 29 June 2012 Last updated at 12:13 GMT

New Light of Myanmar, 29 June 2012 p.9

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net