เด็กสวนนันฯ ย้ำ ไม่เอา ม.นอกระบบ

นศ.มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ระบุการดำเนินการขาดความโปร่งใส ไม่เป็นธรรม รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมของประชาคมสวนสุนันทา

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. เวลาประมาณ 13.00 น. สภานักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา พร้อมด้วยนักศึกษากว่า 300 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าตึก 31 อาคารที่ใช้เป็นห้องประชุม เพื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยเหตุผลที่ว่า "การดำเนินการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบที่เกิดขึ้นขาดความโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาคมสวนสุนันทา"

โดย การชุมนุมของนักศึกษาจัดขึ้นบริเวณอาคาร 31 อาคารที่ใช้จัดประชุมสภาคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย เบื้องต้น นายยศอนันต์ โรจนาพันธุ์พัฒน์ ประธานสภานักศึกษา มร.สส. ได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกต่อ นายกร ทัพรังสี นายกสภามหาวิทยาลัยฯ เพื่อคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พร้อมส่งตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมสังเกตการณ์ในที่ประชุม ในวาระที่เกี่ยวข้องกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้ จำนวนทั้งสิ้น 6 คน กลุ่มนักศึกษาที่เดินทางมารวมตัวกันทั้งหมด ได้รอส่งกำลังใจให้ตัวแทนนักศึกษาให้เข้าไปรับฟังการประชุมของสภา มหาวิทยาลัยเป็นเวลานานกว่า 4 ชั่วโมง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะกลุ่มตัวแทนนักศึกษา ก็ยังไม่สามารถเข้าไปร่วมการประชุมได้ โดยทางสภามหาวิทยาลัยอ้างว่า ยังไม่ถึงวาระการประชุมเรื่องดังกล่าว จนเวลาประมาณ 16.00 น. นักศึกษาได้ประกาศยุติการรมตัวและยกเลิกการรอเข้าสังเกตการณ์ในที่ประชุม โดยให้ความเห็นว่า ในเมื่อนักศึกษาได้รวมตัวมาเพื่อรอขอพบแล้ว แต่ทางผู้บริหารกลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมเปิดการเจรจา ทำให้นักศึกษาส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่เห็นความสำคัญและไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น นักศึกษา โดยที่ผ่านมาก็เกิดลักษณะเช่นนี้มาตลอด เนื่องด้วยทางผู้บริหารได้กระทำการดำเนินนโยบายการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยปราศจากการรับรู้ของนักศึกษา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย มีการเร่งเสนอร่างพระราชบัญญัติการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ต่อสภามหาวิทยาลัยอย่างเร่งรีบ โดยไม่ผ่านการมีส่วรร่วมของคนในประชาคม ไม่มีการทำประชาพิจารณ์หรือการทำประชามติใด ๆ และเมื่อเวลา 16.30 นาฬิกา นักศึกษาทั้งหมดจึงได้แยกย้ายการรวมตัว โดยตลอดเวลากว่า 4 ชั่วโมงที่มีการเฝ้ารอเพื่อขอเข้าที่ประชุมของนักศึกษา ก็ได้มีนักศึกษาบางส่วนและอาจารย์บางท่าน ได้ขึ้นเวทีบริเวณหน้าตึก ประกาศเรื่องสถานการณ์ในมหาวิทยาลัยและบอกเล่าถึงลักษณะการเป็นมหาวิทยาลัย นอกระบบอยู่ตลอดเวลา รวมถึงมีการบอกเล่าถึงข้อสงสัยในการเร่งรีบออกร่างพระราชบัญญัติฯ และวิธีการที่ไม่ถูกต้องในการให้ความรู้แก่นักศึกษา

การประชุม ของคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยดำเนินไปจนถึง 17.00 โดยจากการสอบถามกรรมการสภามหาวิทยาลัยถึงวาระที่เกี่ยวข้องกับการนำ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ พบว่ามีจะเลื่อนการพิจารณาลงมติการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบออกไปอีก 1 เดือน เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ตรวจสอบผลประชาพิจารณ์ โดยทางมหาวิทยาลัยอ้างว่ามีรายชื่อนักศึกษาที่เห็นด้วยกับการนำมหาวิทยาลัย ออกนอกระบบประมาณ 5,000 รายชื่อ

ในขณะที่ทางสภานักศึกษาได้ เตรียมยื่นเรื่องขอตรวจสอบรายชื่อดังกล่าว หลังได้รับทราบว่ารายชื่อที่ได้มาทั้งหมดนั้น มาจากความยินยอมในการเห็นชอบหรือไม่ โดยหากพบว่าเป็นการนำชื่อนักศึกษามาโดยการลงรายชื่อจากโครงการอื่น หรือไม่ได้แจ้งจุดประสงค์ในการขอรายชื่อแล้ว ทางสภานักศึกษาก็คงต้องทวงสิทธิให้กับนักศึกษา เพราะเท่ากับว่าทางมหาวิทยาลัยได้ละเมิดสิทธิมนุษชนที่นำรายชื่อของนักศึกษา มาใช้เพื่อจุดประสงค์แอบอ้าง


จดหมายเปิดผนึกนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

เรื่อง การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ

 
หลังจากการประชุมคณะกรรมการ 4 สภา เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ประชุมได้มีมติให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย นำเรื่องการปรับสถานะมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐกลับ ไปสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาคมสวนสุนันทาใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของนักศึกษาซึ่งถือเป็นประชากรที่มีมากที่สุดและ เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญที่สุดในมหาวิทยาลัย ทั้งนี้เวลาได้ผ่านล่วงเลยมาประมาณ 1 เดือน มหาวิทยาลัยได้จัดเวทีให้ความรู้จริงตามมติในที่ประชุม แต่จากการสังเกตของนักศึกษาพบว่า

 
ในการประชุมให้ความรู้ ครั้งที่ 1 เป็นการให้ความรู้เพียงด้านเดียว คือ ชี้ให้เห็นแต่ข้อดีของการออกนอกระบบพยายามจูงใจผู้เข้าร่วมประชุมให้หลง เชื่อและคล้อยตามแนวคิดที่จะนำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาออกนอกระบบ รวมถึงการให้ความรู้ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นการจัดในช่วงที่ มหาวิทยาลัยยังไม่เปิดภาคเรียน นักศึกษาที่ไม่ได้ติดตามสถานการณ์หรือไม่ได้เข้าร่วมประชุมจะไม่สามารถจะรู้ ได้เลยว่าการนำมหาวิทยาลัยที่ตนเรียนอยู่ดำเนินไปอย่างไร และมหาวิทยาลัยยังละเมิดสิทธิของนักศึกษาด้วยการจำกัดสิทธิในการเข้ารับฟัง การประชุมโดยกำหนดว่าแต่ละสาขาวิชาจะต้องส่งตัวแทนเข้ารับฟังได้สาขาวิชาละ 8 คน ซ้ำยังเป็นการนัดประชุมในขณะที่ยังไม่เปิดภาคเรียน ส่วนในการประชุมครั้งที่ 2-3 เป็นการให้ความรู้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และผู้ปกครอง ในงานปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ซึ่งครั้งนี้ทางผู้ให้ความรู้ก็ไม่ได้ให้ความรู้ครบทุกคณะ ซึ่งดำเนินการเพียง 2 รอบ คือ 1.คณะวิทยาการจัดการ 2.คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะครุศาสตร์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมสร้างความเลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมกับนักศึกษา ชั้นปีที่ 1 และผู้ปกครองคณะอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับฟังการให้ความรู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยนอกระบบ นอกจากจะนั้นยังมีการจัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ ที่ห้องประชุมนิภานภดล คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีการสรุปผลจากส่วนงานประชาสัมพันธ์ว่าการประชุมในครั้งนี้ “มีนักศึกษาและบุคลากรที่สนใจ เข้าร่วมรับฟัง” ทั้ง ๆ ที่การจัดงานนี้ ไม่ได้แจ้งให้ทราบโดยทั่วกัน หากคณะผู้บริหารจะมัดมือชกและยืนยันว่านักศึกษาทั้งหมดมีความรู้ความเข้าใจ และเห็นพ้องกับการนำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาออกนอกระบบทั้งหมดแล้วนั้น ขอได้โปรดอย่ากล่าวอ้างว่าเราเป็นเพียงชนกลุ่มน้อยในมหาวิทยาลัยที่ไม่เห็น ด้วยกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เพราะแม้เวลานี้เราก็ยังมั่นใจว่าการเดินหน้าให้ความรู้ของมหาวิทยาลัยยังคง ไม่ประสบผลสำเร็จ ขาดความชอบธรรม ความโปร่งใส และที่สำคัญที่สุด คือ “ขาดการมีส่วนร่วมที่ชอบธรรม” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังเกตได้ว่าคณะผู้บริหารมักจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างรวด เร็วในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อป้องกันการคัดค้านและต่อต้านจากนักศึกษาซึ่งเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 31 สิงหาคม 2554 แต่กระนั้นคณะผู้บริหารก็หาได้ระงับยับยั้ง หยุด หรือชะลอการดำเนินการผลักดันมหาวิทยาลัยไปสู่มหาวิทยาลัยนอกระบบตามที่ถูก ต่อต้าน ซึ่งทางนักศึกษาเห็นว่าเป็นการดำเนินการช่วงที่นักศึกษาไม่ทันจะตั้งตัว โดยทางนักศึกษาได้นิยามร่าง พ.ร.บ.นี้ว่า “พ.ร.บ.ลักหลับ”

 
การรวมกลุ่มกันในวันนี้ของนักศึกษา เกิดขึ้นเพราะ “พวกเรามีความกังวลว่า สภามหาวิทยาลัย จะได้ข้อมูลที่อันเป็นเท็จ บิดเบือนว่านักศึกษาเห็นด้วยและยินยอม ต่อการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว ดังนั้นเราจึงขอยืนยันว่า เรายังไม่พร้อมที่จะให้มหาวิทยาลัยของเราออกนอกระบบราชการ และเราจะไม่ขอยอมรับร่างพ.ร.บ.ฉบับใด จนกว่าจะมีกระบวนการเพื่อการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาคมสวนสุนันทา อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม”

 
ด้วยจิตสมานฉันท์
 นักศึกษาสวนสุนันทา

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท