Skip to main content
sharethis

ค่ำคืนวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ร้านหนังสือบูคู ปัตตานี ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือรวมบทกวีที่มีชื่อว่า “บทเพลงแห่งมาตุภูมิ” ของ มาตุภูมิ มุสลิมีน กวีหนุ่มหน้าใหม่จากจังหวัดนครศรีธรรมราช งานเขียนชิ้นนี้ ถูกจัดพิมพ์ขึ้นด้วยทุนของนักเขียนเอง ฝากขายตามร้านหนังสือเล็กๆเพียงไม่กี่แห่ง ร้านหนังสือบูคูจึงเชิญคุณมาตุภูมิมาพูดคุยเกี่ยวกับบทกวีและความคิดและเรื่องราวชีวิตของเขา

 

เปิดประเด็น

จุดเริ่มต้นของการเขียนกวีเริ่มตั้งแต่เมื่อไหร่และทำไมถึงเลือกที่จะเขียนบทกวี?

สมัยเรียนมัธยม ผมเริ่มเขียนบทกวีที่มีฉันทลักษณ์มาก่อน เป็นกลอนฉันทลักษณ์ธรรมดา เขียนเพื่อเอาเกรดฮะ แล้วบางทีพอเราเขียนไป เราอยากให้คำนี้มาอยู่กับคำนี้ แต่มันทำไม่ได้ มันไม่เข้ากัน เราก็เลยเลิกเขียน จนได้มาอ่าน เลือดไม่ใช่น้ำตา ของมะห์มูด ดาร์วิช กวีชาวปาเลสไตน์ เราก็ได้รู้ว่ามันมีการเขียนบทกวีแบบนี้ด้วยหรือ แบบนี้เค้าเรียกว่าบทกวีหรือ พอหลังจากนั้นเราก็เริ่มฝึกเขียน เขียนเก็บไว้ แล้วต่อมาก็นำมาเผยแพร่ในเว็บไทยโพเอ็ทโซไซตี้ ของคุณซะการียย์ยา อมตยา ให้คนอื่นได้อ่านด้วย มีนักกวีมาอ่านแล้วก็ช่วยวิจารณ์งาน พอเขียนไว้สักสองสามปี ก็อยากจะรวบรวมไว้ เลยจัดพิมพ์เอง ไม่ได้ส่งสำนักพิมพ์ที่ไหน ก็เป็นบรรณาธิการเอง ตรวจปรู๊ฟเอง ขายเอง โดยวางตามร้านหนังสือไม่กี่ร้าน

บทกวีของคุณส่วนใหญ่จะเขียนถึงคนชายขอบในสังคม อย่างเช่น ชาวโรฮิงยา ชนเผ่าอุยกูร์ คนขายโรตีจากบังคลาเทศ หรือคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอันที่จริงคุณเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช ทำไมจึงรู้สึกว่าอยากเขียนถึงผู้คนเหล่านี้?

บรรพบุรุษของผมมาจากกลันตังครับ เราเป็นคนเชื้อชาติมลายู เราเป็นมุสลิม มุสลิมเป็นพี่น้องกัน เมื่อพี่น้องเราโดนรังแก เราก็เจ็บปวด แต่เราทำอะไรไม่ได้ เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราทำได้แค่เขียนบทกวี

แรงบันดาลใจหรือต้นแบบในการเขียนบทกวีของคุณคือมะห์มูด ดาร์วิช อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น นอกจากนี้ยังมีใครเป็นพิเศษอีกมั้ยคะ หรือบทกวีบทไหนที่ทำให้คุณรู้สึกอยากเขียนบทกวี บทที่จำได้ขึ้นใจ?

นอกจากมะมูด ดาวิชแล้ว ก็มีมูฮัมหมัด ส่าเหล็ม ส่วนบทกวีที่ชื่นชอบก็คือ บทกวีสำหรับชายชาตรี

“มาเถอะสหายผู้อยู่ในโซ่ตรวนและความโศกเศร้า
ขอให้เราก้าวเดินไปและจงอย่ายอมแพ้เลย
เพราะเราไม่มีอะไรจะเสียแล้ว นอกจากแคร่หามศพของเรา
เราจักเปล่งเสียงเพลงแด่ท้องฟ้า
เราจักกระจายความหวังของเราออกไป
เราจักเปล่งเสียงเพลง ในโรงงาน บ่อหิน และทุ่งนา
เราจักออกจากที่ซ่อนของเราเพื่อเผชิญหน้ากับดวงตะวัน
พวกมันคือชาวอาหรับ
พวกมันคือคนป่าเถื่อน
ศัตรูของเราตะโกนก้อง
ถูกแล้ว เราคือชาวอาหรับ
เรารู้จักวิธีสร้างโรงงาน บ้านเรือน โรงพยาบาล โรงเรียนลูกระเบิดและจรวด
เรายังเขียนดนตรีที่ไพเราะและบทกวีที่งดงามได้อีกด้วย…”

เป็นบทกวีของมะห์มูด ดาร์วิช กวีชาวปาเลสไตน์ครับ เป็นกวีที่เติบโตมาในยุคที่ถูกยิวเข้าไปยึดครองประเทศและเค้าถูกเนรเทศออกจากบ้านเกิด ส่วนใหญ่กวีในยุคนั้นจะถูกเนรเทศออกจากปาเลสไตน์เพราะเขียนต่อต้าน

เคยคิดมั้ยว่าบทกวีของเราจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ หรือแค่เขียนเพื่อระบายความรู้สึกที่เกิดจากความไม่ชอบธรรมในสังคมที่เกิดขึ้น?

ผมคิดว่า มันน่าจะเปลี่ยนแปลงสำหรับคนเขียนเท่านั้นมั้ง ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงสังคม เปลี่ยนแปลงคนอื่นหรือจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เพราะว่าเราคนเดียวคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้

เหมือนเราเขียนเพื่อเยียวยาตัวเราเองอย่างนั้นหรือเปล่า?

มันก็ไม่เชิง เราเขียนเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมด้วย เยียวยาก็ส่วนหนึ่ง

 

 

จากการอ่านบทกวีในเล่ม สังเกตว่าท่าทีของกวีในการเขียนบทกวีแต่ละบท ดูคล้ายๆจะมีการใช้ท่าทีแบบเสียดเย้ย กราดเกรี้ยว หรือประชดประชัน ต่อความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมค่อนข้างมาก ทำไมจึงเลือกใช้ท่าทีแบบนั้น?

ตอนที่เราเขียนเราก็ไม่ได้คิดอะไรมาก อย่างเรื่องคนขายโรตีเนี่ย คือผมไปเจอคนขายโรตีที่บ้าน ผมก็ไปคุยกับเค้า แล้วเค้าก็เล่าให้ฟังถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นหลายๆอย่างกับเค้า จะละหมาดก็ไม่ได้ เข้าโรงพยาบาลก็ไม่ได้ เรียนในโรงเรียนก็ไม่ได้ เค้าเล่าให้เราฟังแบบนี้ แล้วตอนปี2552 ที่มันเกิดเหตุการณ์ที่โรงฮิงยาถูกทหารไทยผลักดันออกนอกประเทศ ห้ามเข้าประเทศไทย แล้วนั่งเรือออกไป ปรากฏว่าจมน้ำตาย

ตอนนี้ก็มีเหตุการณ์เรื่องโรฮิงยาที่กำลังเกิดขึ้น คุณคิดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหรือเปล่า มีมุมมองยังไงต่อเหตุการณ์เหล่านี้?

ผมอยากให้มีคนเหลียวแล โดยเฉพาะประเทศที่เป็นมุสลิม อย่างอินโดนีเซีย ในเกาะชวาเค้าพยายามผลักดันให้โรงฮิงยาออกจากประเทศ แต่เค้าก็ไม่ยอมกลับ ก็มาสร้างบ้านสร้างอะไรอยู่ ประท้วงรัฐบาลไป อย่างมาเลเซียนี่ก็จะดีหน่อย เพราะว่าเป็นมุสลิมเหมือนกัน เค้าถือว่าเป็นพี่น้องกัน

สำหรับบทกวีแบบไร้ฉันทลักษณ์ที่คุณเขียน มักจะมีคำถามหรือคำวิจารณ์ว่าไม่ใช่บทกวี เป็นแค่การเคาะวรรคประโยคเท่านั้น คุณคิดอย่างไรกับประเด็นนี้?

อันนี้ผมไม่รู้นะ อยากจะเรียกบทกวีหรือกลอนเปล่าหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเราเขียนมาอย่างนี้ ผมไม่คิดว่ามันคือบทกวีหรืออะไรหรอก แล้วแต่จะเรียกกัน มันอาจจะเป็นความเรียงก็ได้

เวลาที่คุณเขียนบทกวี จำเป็นที่จะต้องมีโครงร่างมาก่อนหรือว่าเขียนออกมาสดๆในขณะนั้นเลย

ส่วนใหญ่ผมจะเก็บเรื่องไว้ในหัวก่อน อย่างเรื่องโรฮิงยา บังขายโรตี ที่เจอมา อย่างคนขายโรตีที่เราไปคุยด้วย ผมก็คุยกับเค้า ถามถึงครอบครัวเค้า แล้วเราก็เกิดความรู้สึกว่าเราสงสารเค้า ไม่อยากให้ใครมาดูถูกเค้า เรื่องพวกนี้ผมก็เก็บไว้ ร่างเป็นความคิดไว้ในหัว ผมไม่ได้จด บางคนเค้าจะจดเอาไว้เวลากินกาแฟ นึกได้ก็จด แต่ผมไม่ใช่ ผมคิดไว้ก่อน วางประเด็นหลักเอาไว้ว่าเราจะพูดถึงเรื่องอะไร แล้วพออยากเขียนก็เขียนเลย ตอนหลังก็เขียนลงเฟซบุค เขียนลงในเว็บไทยโพเอ็ท แล้วพอมันเยอะมากก็เลยคิดว่าเราน่าจะรวมเล่มนะ เผื่อวันนึงเราตาย เราอยากเขียนให้ญาติพี่น้องของเราอ่าน ให้คนที่บ้านอ่าน

ตอนนี้หนังสือมีวางขายที่ไหนบ้าง?

ถ้าภาคใต้นี่ก็มีร้านบูคูที่เดียว แล้วก็ที่1oo1 night แกลลอรี่ กับร้านหนังสือเดินทาง แล้วก็ศูนย์หนังสือกรุงเทพที่ศูนย์กลางอิสลาม

มองสถานการณ์ในแวดวงของกวีนิพนธ์อย่างไรบ้างคะ อย่างที่รู้กันว่าในปัจจุบันกวีนิพนธ์เป็นงานที่ค่อนข้างขายยาก ไม่ค่อยมีคนซื้อคนอ่าน?

ผมไม่ค่อยได้สนใจว่ามันจะตายหรือไม่ตาย แต่ผมว่ามันไม่ตายหรอก ตอนนี้ก็มีนักเขียนใหม่เกิดขึ้นเยอะแยะ นักเขียนเก่าก็ยังเขียนงานอยู่ แต่ก็มีเคสนึงที่ผมเจอ คือเอาหนังสือไปฝากขาย แล้วเค้าก็ถามว่าไม่เขียนเรื่องสั้นบ้างหรือ บทกวีขายยาก แต่เค้าก็ให้ผมลองวางขายดูนะ

คุณคิดว่าอะไรที่ทำให้บทกวีมีผู้อ่านน้อยกว่าเรื่องสั้นหรือนิยาย?

ผมคิดว่าบทกวีมันต้องมีการตีความ อย่างเช่นประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งเรามาย่อให้เป็นบทกวีหน้านึง บางทีเราก็ไม่ได้บอกว่าประวัติศาสตร์อะไร คนอ่านต้องตีความ แต่ว่าจะถูกจะผิดจะตรงกับคนเขียนหรือไม่ก็ได้ อย่างที่เค้าบอกว่า กวีตายไปแล้วตั้งแต่เขียนเสร็จ คุณไม่มีสิทธิแล้ว ผู้อ่านจะตีความไปยังไงก็ได้ ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าสนุก

แนวโน้มในอนาคต คุณคิดจะเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายหรือเปล่า เพราะอย่างที่ทราบกันว่าบทกวีค่อนข้างขายได้ยากกว่าเรื่องสั้นหรือนิยาย?

ผมคิดว่าคนเขียนบทกวีก็อาจจะเขียนเรื่องสั้นหรือนิยายอยู่แล้ว อย่างผมเองก็เขียนเรื่องสั้นมาก่อน ไม่ได้เริ่มต้นจากการเขียนบทกวี บางทีการเขียนบทกวี มันเหมือนกับเราไปย่นเรื่องสั้นหรือนิยายมา

มีบทกวีบทหนึ่งของคุณ ที่ชื่อว่า ความหวังของอัลอักซอ ที่พูดเรื่องเพลงImagine ของ John Lennon ด้วยท่าทีปฏิเสธหรือต่อต้าน ทั้งๆที่เนื้อหาของเพลงนี้คือการเรียกร้องหาสันติภาพ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ผมก็ฟังนะเพลงนี้ แต่ผมหมายถึงว่า เราอย่ามัวร้องเพลงเรียกหาสันติภาพกันอยู่เลย ลุกฮือกันขึ้นมาเถอะ ลุกขึ้นมาต่อสู้ มาทำอะไรสักอย่าง เราร้องเพลงนี้กันมานานแล้วตั้งแต่สงครามเวียดนามโน่นล่ะ ลุกฮือในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าไม่จำเป็นต้องไปจับอาวุธต่อสู้อะไรนะ ลุกฮือเพื่อสันติภาพก็ได้ แต่ก็ต้องแล้วแต่ประชามติ

 

 

ด้วยความที่มีอาชีพเป็นนักข่าวสายอาชญากรรม งานที่ทำอยู่มีส่วนต่อความคิดความรู้สึกในการเขียนบทกวีของคุณรึเปล่าคะ อย่างเวลาไปทำข่าวในที่เกิดเหตุ เคยคิดอยากเขียนเรื่องที่เราได้ไปพบเจอมาบ้างรึเปล่า?

จริงๆผมเขียนบทกวีก่อนที่จะไปทำงานนี้ แต่ในปัจจุบันก็มีบ้าง อย่างเวลาที่เราไปเจอเรื่องอะไรที่สะเทือนใจ เช่นชาวนามาเรียกร้องเรื่องนายทุนยึดที่ เราก็เขียนไว้ แต่ถ้าจะรวบรวมต้องดูคอนเซปต์ก่อน แล้วแต่โอกาส

งานเล่มนี้เป็นเล่มที่พอใจรึยัง?

ผมคิดว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น ยังมีจุดบกพร่องอยู่อีกเยอะ พอผมมาอ่านตอนหลัง เรื่องคำที่มันยังเยิ่นเย้อ ยังไม่กระชับ ยังต้องปรับปรุงแก้ไขให้ดีกว่านี้

เป้าหมายสูงสุดในการเขียนบทกวีของคุณคืออะไร?

ผมอยากให้คนอ่านได้คิดอย่างที่ผมคิด คือเกิดความเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแค่นั้น ไม่ได้คิดว่าจะต้องได้รางวัลอะไร เพราะว่าคนที่เขียนเกี่ยวกับอิสลามที่เป็นกวีก็น้อย เรื่องสั้นก็น้อย บทกวีที่เขียนเกี่ยวกับมุสลิมก่อนซะการีย์ยาก็มีมูฮัมหมัด ส่าเหล็ม ซึ่งก็เสียชีวิตไปแล้ว ตอนนี้ก็เหลือแต่ซะการีย์ยาแล้วก็มูฮัมหมัด ฮาริส กาเหย็ม

มีการคุยกันว่าในวงการกวีมุสลิมเนี่ย ไม่ค่อยเห็นการเขียนบทกวีที่พูดถึงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่าไหร่ แม้แต่คนในพื้นที่เอง ที่มีความรู้สึกถึงความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้นและอยากจะเขียน แต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นมีงานที่เกี่ยวกับมุสลิมในจังหวัดภาคใต้เกิดขึ้น คุณมองเรื่องนี้ยังไง?

ผมมองว่าการเขียนอะไรสักอย่าง มันต้องมีการฝึกตนเอง ต้องฝึกเขียน เอาไปให้คนโน้นคนนี้อ่าน เอาไปให้นักเขียนกวีวิพากษ์วิจารณ์ แล้วเราก็ต้องอ่านเยอะด้วย อย่างผมก็จะอ่านงานของมะห์มูด ดาร์วิช งานของมูฮัมหมัด ส่าเหล็ม อย่างมูฮัมหมัด ส่าเหล็มก็จะเขียนงานเกี่ยวกับศาสนา พูดถึงเรื่องการละหมาด

ศาสนามีผลต่อการเขียนบทกวีของคุณหรือเปล่า?

มีผลเยอะเลย คือเวลาเราเขียนเราก็ต้องดูหลักการศาสนาด้วย บางทีเราไปเขียนเรื่องที่มันผิดหลักความเชื่อก็เขียนไม่ได้ เรื่องเทวดาผีสาง แต่มันก็จะมีบทนึงที่เขียนถึงเรื่องเล่า เรื่องผีตะเคียน แต่เป็นเรื่องเล่า เราก็สามารถเขียนถึงได้

นอกจากอ่านบทกวีแล้ว คุณอ่านหนังสือประเภทอื่นด้วยรึเปล่า?

อ่านฮะ ผมอ่านพวกงานของนักเขียนรางวัลโนเบล อย่างพวกนากิบ มาฟูซ งานของเฮมิ่งเวย์ ตอลสตอย อะไรพวกนี้ด้วย อย่างวรรณกรรมคลาสสิค พออ่านแล้วมันทำให้เรารู้สึกถึงพลัง เกิดความรู้สึกว่า โห ทำไมเขียนได้ขนาดนี้ ทำไมเราเขียนแบบนี้ไม่ได้วะ อะไรแบบนี้

มีบทกวีในเล่มนี้บทนึงที่พูดถึงกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ได้มีโอกาสรู้จักกันมาก่อนหรือเปล่าคะ แล้วเค้าเป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงานของคุณบ้างหรือเปล่าคะ ในฐานะที่เป็นคนบ้านเดียวกัน คือเป็นคนนครศรีธรรมราชเหมือนกัน?

พี่กนกพงศ์เค้าอยู่ตรงหน้าเขามหาชัยที่เป็นส่วนหนึ่งของเขาหลวง แล้วผมก็เรียนอยู่ราชภัฏ ตอนนั้นผมอยู่ปีสองมั้ง แล้วพี่เค้ามาจัดอบรมเรื่องสั้น ผมก็เอาหนังสือเรื่องแผ่นดินอื่นหน็บหลัง ยืนสูบบุหรี่อยู่ พี่เค้าก็กินกาแฟ ผมจะขอลายเซ็นก็ไม่กล้าขอ ผมก็ได้เจอเค้าครั้งนั้นครั้งเดียวเท่านั้นแหละครับ แต่ผมก็ชอบอ่านหนังสือของพี่เค้า ที่พูดถึงเรื่องโนราห์ พูดเรื่องน้ำตก เรื่องในวัยเด็ก ผมก็เขียนเรื่องสั้นบ้าง พี่เค้าก็ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้นของผม ผมคิดว่าเค้ามีสายตานักเขียน เห็นอะไรก็เอามาทำให้เป็นเรื่องได้

* * * * *

หลังจากการพูดคุยกันในบรรยากาศอย่างเป็นกันเอง ปิดท้ายงานด้วยการอ่านบทกวีที่แนะนำในเล่ม ซึ่งมีชื่อว่า “มือใครปลูกดอกไม้ระเบิด” พร้อมด้วยเสียงกีต้าร์อะคูสติกที่บรรเลงทำนองระหว่างการอ่านบทกวี

"ขุนเขาบูโดโน้มกายภายใต้เมฆทะมึนซึมเศร้า
ป่าฮาลา-บาลา ก้องไปด้วยเสียงแห่งความตาย
ชายหาดตะโละกาโปร์ถูกคลื่นร้ายกลืนกินเสียแล้ว
เรือกอและก็ไม่อาจฝ่าฝืนกระแสทะเลคลั่ง
แม่น้ำตากใบ-บางนรา-สายบุรี ร่ำไห้

มือใครก็ไม่รู้...
มาปลูกดอกไม้ระเบิดบนเส้นทางสัญจร
ถนนทุกสายจึงเจิ่งนองไปด้วยโลหิต
มือใครก็ไม่รู้...
มาเผาโรงเรียนในยามพลบค่ำ
เด็กเด็กจึงต้องหยุดเรียนโดยไม่มีกำหนด
มือใครก็ไม่รู้...
ลั่นไกปลิดชีวิตผู้บริสุทธิ์
เด็กเด็กต้องกำพร้าและแม่หญิงต้องเป็นม่าย

มือใครก็ไม่รู้...
สลักกลิ่นคาวเลือดไว้ในความทรงจำ
มือใครก็ไม่รู้...
ตะปบเสียงร้องทุกข์จนเงียบกริบ
มือใครก็ไม่รู้...
กระชากตาชั่งยุติธรรมจนขาดวิ่น

มือเปื้อนเลือดของใครก็ไม่รู้
พร่ำเพ้อฝันหาแต่สันติภาพ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net