"ซ้อมทรมานแบบไทยๆ" เปิดปมปัญหา-หลากข้อเสนอรูปธรรม

ญาติเหยื่อทหารเกณฑ์ตายคาแข้งครูฝึก เล่าประสบการณ์เรียกร้องความเป็นธรรมที่ยังมาไม่ถึง ทนายความสิทธิฯ เผย 3 คดีเหนือ-อีสาน-ใต้ โชว์ความบกพร่องกฎหมายพิเศษ องค์กรสิทธิเสนอร่าง กม.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการซ้อมทรมาน ขณะศาลเตือนตั้งองค์กรใหม่ไม่เวิร์ค-เปลืองงบประมาณ

 


ภาพโดย Eric Constantineau (CC BY-NC 2.0)

ในการเสวนาสาธารณะ เรื่อง การเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาเหยื่อซ้อมทรมาน ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. เนื่องในวันต่อต้านการซ้อมทรมานสากล พรเพ็ญ คงเจริญเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ผู้ดำเนินรายการ กล่าวนำการอภิปรายว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน ซึ่งให้นิยามคำว่า "การทรมาน" ไว้ว่าคือการทำให้เกิดความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำที่เป็นเจตนา โดยมุ่งหมายต่อข้อสนเทศ คือ การรับสารภาพ หรือข้อมูลข่าวสาร ที่อาจจะเป็นประโยชน์กับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ แต่หากผู้ที่กระทำการดังกล่าวไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ จะไม่ใช่การทรมานตามความหมายนี้ อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นว่าการทรมานกระทำได้ ถ้าเป็นการลงโทษที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังมีโทษประหารชีวิต ซึ่งก็เป็นที่วิจารณ์กันในวงการสิทธิมนุษยชนว่า อาจเข้าข่ายการทรมาน หรือเป็นการปฏิบัติโดยไร้มนุษยธรรมด้วย

ญาติเหยื่อบอกเล่าความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง
ด้าน นริศราวัลถ์ แก้วนพรัตน์ นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงการเรียกร้องความเป็นธรรมในพลทหารวิเชียร เผือกสม น้าชาย ซึ่งเป็นทหารเกณฑ์ในพื้นที่สามจังหวัดและถูกครูฝึกรุมทำร้ายจนเสียชีวิต โดยได้ร้องเรียนมาตั้งแต่หลังจากผู้ตายเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.54 จนปัจจุบันนี้ก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

เธอเล่าว่า ก่อนหน้านี้ พลทหารวิเชียรเป็นพระมาตลอด 8 ปี หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาโท คณะสังคมสงเคราะห์ มธ. ได้แจ้งทางบ้านว่าจะขอสึกไปทำงาน 6 เดือน โดยไม่ได้แจ้งว่าจะไปเกณฑ์ทหาร ทางบ้านได้ทราบเรื่องก็เมื่อค่ายพล ร.151 โทรแจ้งเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า พลทหารวิเชียรหลบหนีจากค่าย เมื่อสอบถามหัสดี ทางบ้านจึงได้ทราบว่าพลทหารวิเชียรได้สมัครเป็นทหารเกณฑ์ในสามจังหวัดเนื่องจากมองว่ากำลังพลขาด ต่อมา ได้รับแจ้งว่าพลทหารวิเชียรกลับมาที่ค่ายแล้วและไม่ได้ข่าวอีก จนเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ได้รับแจ้งว่า พลทหารวิเชียรนอนอยู่ห้องไอซียู โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส จึงได้สอบถามไปยังค่ายทหารซึ่งได้รับคำตอบว่าพลทหารวิเชียรยังอยู่ในค่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อทางบ้านได้ตามไปที่โรงพยาบาล ปรากฏว่า พลทหารวิเชียรไม่สามารถตอบสนองใดๆ ได้แล้วและเสียชีวิตในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ได้ทราบว่า ก่อนเสียชีวิต พลทหารวิเชียรได้แจ้งชื่อผู้กระทำทั้งหมด 10 นายแก่แพทย์ พร้อมบอกรายละเอียดเพื่อติดต่อมารดาเอาไว้ด้วย

เธอชี้ว่า ในงานศพพลทหารวิเชียร มีความไม่โปร่งใส อาทิ มีร้อยโทนายหนึ่งเข้ามาช่วยเหลืองานศพ ตั้งแต่วันแรกที่นำศพกลับมา และเจรจาขอคลุมธงชาติ รับขอพระราชทานเพลิงศพ พร้อมเสนอเงิน 3 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 5 ล้านบาทเมื่อทราบว่าผู้ตายมีวุฒิการศึกษาสูง ต่อมา ทางครอบครัวทำหนังสือไปที่ต้นสังกัดเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แต่ก็ไม่มีคำตอบในเรื่องดังกล่าว จึงตัดสินใจเก็บศพไว้ ยังไม่ฌาปนกิจตามกำหนดเดิม โดยที่ผ่านมา ได้ยื่นหนังสือถึงทั้งแม่ทัพภาคที่ 4 ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ไม่มีการตอบกลับมา จนบังเอิญ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เดินทางมามอบทุนการศึกษาที่จ.สงขลา จึงเข้าไปขอความเมตตา ต่อมา มีการสอบสวนปรากฏว่าทหาร 9 นายถูกดำเนินคดี ส่วนร้อยโทที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้สั่งการถูกคุมขังเพียง 15 วัน และปัจจุบันยังไม่ถูกดำเนินคดี

เธอเล่าว่า คดีนี้ถูกส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และใช้เวลานานกว่าจะโอนไปยังสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) โดย ป.ป.ช.ระบุว่ายศต่ำกว่าพลตรีต้องโอนไปที่ ป.ป.ท. ทั้งนี้ ยืนยันว่ามีเอกสารชัดเจนที่จะเอาผิดร้อยโทในกรณีนี้ แต่เมื่อตรวจสอบสำนวนที่ ป.ป.ท. ปรากฏว่าไม่พบเอกสารดังกล่าว ด้านศาลทหารเลือกดำเนินคดีตามมาตรา 157 เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเท่านั้น ส่วนข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนายังอยู่ในระหว่างการชี้มูลของ ป.ป.ท.

เธอเล่าว่า ที่ผ่านมา ได้เรียกร้องและทวงถามถึงการดำเนินการกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ก็กลับมีการโยนความรับผิดชอบไปมา จนไม่รู้จะเรียกร้องความเป็นธรรมจากไหนได้ บางครั้ง ถามตัวเองว่าทำไมไม่รับเงินตามที่มีการเสนอเสีย จะได้ไม่ต้องวุ่นวาย ปัจจุบันก็ไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ ต้องเดินทางไปร้องเรียน-ทวงถาม เวลาเดินทางก็ต้องระวังตัว เพราะมีการข่มขู่ครอบครัวเธอด้วยว่า คนตายก็ตายไปแล้ว ถ้าเลือกจะร้องเรียน คนเป็นอาจจะตายตามไป อย่างไรก็ตาม เธอทิ้งท้ายว่า ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนอื่นอีกแล้ว อยากให้ทหารในสามจังหวัดเสียสละชีวิตเพราะแผ่นดินเกิด ไม่ใช่เพราะลำแข้งทหารหรือครูฝึก

"ซ้อมทรมาน" กระทบถึงความมั่นคงของประเทศ
ซุกกรียะห์ บาเหะ ผู้ช่วยวิจัยกลุ่มด้วยใจ เรือนจำกลาง จ.สงขลา เล่าถึงผลการวิจัยของกลุ่มที่ทำกับผู้ต้องขังคดีความมั่นคง 50 รายจากทั้งหมด 118 ราย ระหว่างวันที่ 26 ก.ย.-3 ต.ค.54 โดยผู้ต้องขัง 80% ถูกซ้อมทรมานในช่วงปี 2547-2551 ช่วงเวลาที่ถูกซ้อมทรมานส่วนใหญ่คือ ช่วงจับกุม ช่วงระหว่างการเดินทาง และระหว่างถูกควบคุมตัวภายใต้กฎอัยการศึก และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยกลุ่มตัวอย่าง 63% ถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกาย 72% ถูกทำร้ายด้วยปลายปืนห่อผ้า เพื่อให้ไม่ปรากฏร่องรอย 51% ถูกยึดทรัพย์ระหว่างตรวจค้น ทำให้ขณะที่รัฐมองชาวบ้านว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ชาวบ้านก็มองเจ้าหน้าที่ว่าเป็นโจร

ซุกกรียะห์ประเมินว่า ผู้คุมขังที่ถูกซ้อมจะสูญเสียความไว้วางใจ โดยแม้ตนเองซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยจะนับถือศาสนาอิสลาม เป็นมลายูเหมือนกัน แต่เมื่อไปสัมภาษณ์ ก็จะถูกตั้งคำถามว่า เมื่อให้ข้อมูลจะถูกกระทำเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนอาการที่พบ คือ พวกเขาจะไม่ค่อยปฏิสัมพันธ์กับใคร นอนไม่หลับ ฝันร้าย ซึมเศร้า สูญเสียการควบคุมตัวเอง ตกใจง่ายเมื่อมีเสียงดัง พะว้าพะวง และตึงเครียด โดยมี 8 รายที่แม้จะนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีข้อห้ามฆ่าตัวตาย แต่พวกเขาก็ยังคิดฆ่าตัวตาย

ซุกกรียะห์ มองว่า ผลจากการถูกซ้อมทรมานกระทบต่อทั้งผู้ที่ถูกกระทำ ครอบครัว ชุมชน และความมั่นคงของประเทศ โดยระดับบุคคล เกิดความเครียด หวาดกลัว ระดับครอบครัว เกิดความไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ ขณะที่เมื่อเรื่องราวการซ้อมทรมานกระจายไปในระดับชุมชน ทำให้เกิดการตั้งคำถามกับการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ซึ่งบอกว่าจะพิทักษ์ประชาชน แต่กลับเห็นบางส่วนมาทำร้ายประชาชน และเมื่อความไว้วางใจที่ประชาชนเคยมีให้กับรัฐสูญเสียไป ทำให้ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศตามมาด้วย โดยแม้กระทั่งในปัจจุบัน ก็ยังมีการร้องเรียนจากครอบครัวผู้ต้องขังในพื้นที่อยู่

เธอเรียกร้องด้วยว่า อยากให้ผู้เกี่ยวข้องตระหนักเรื่องนี้ว่าการกระทำของคนๆ หนึ่งนั้นส่งผลกระทบกับประเทศอย่างไร พร้อมเรียกร้องให้รับผิดชอบการอยู่ในประเทศร่วมกัน ทั้งนี้ เชื่อว่าประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดพร้อมจะอยู่กับผู้นำที่มีความยุติธรรม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม

หมอเชื่อ นิติวิทยาศาสตร์หยุดการซ้อมทรมานได้
พญ.ปานใจ โวหารดี สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า มีคำกล่าวว่า นิติวิทยาศาสตร์หรือนิติเวชคือการปฏิบัติเพื่อให้เกิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมา โดยในประเทศที่เจริญแล้ว นิติวิทยาศาสตร์ก็จะเจริญตาม จะไม่มีการใช้พยานบุคคลในการสืบสวนสอบสวนมากนัก แต่จะใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ไม่ต้องซ้อมใครเพื่อให้ได้หลักฐาน แต่บางประเทศที่นิติวิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญมากนักและจะต้องปิดคดี อาจทำให้เกิดการซ้อมเพื่อให้ได้ข้อมูล

พญ.ปานใจ ชี้ว่า ปัญหาของประเทศไทย คือนิติวิทยาศาสตร์ยังเติบโตได้ไม่เร็วและไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร โดยตำรวจส่วนใหญ่ยังพึ่งคำสารภาพ ยังไม่มีเจ้าภาพหลักในเรื่องนี้ และยังไม่มีความโปร่งใสเท่าที่ควร ทั้งนี้แม้ว่า กระบวนการการเยียวยาจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่จากการพูดคุยกับทนายและเหยื่อ พวกเขาอยากได้ความจริงก่อน ซึ่งกระบวนการใช้นิติวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยได้

พญ.ปานใจ แนะนำด้วยว่า เมื่อมีเหตุการณ์ซ้อมทรมาน ต้องเข้าตรวจเพื่อเก็บพยานหลักฐานโดยเร็วที่สุด เพราะรอยฟกช้ำหรือบาดแผลบางอย่างอยู่ไม่นาน และการที่ไม่พบบาดแผลภายนอก ก็ไม่ใช่ว่าไม่เกิดการทรมานขึ้น โดยยกตัวอย่างการทรมานที่ออกแบบมาเพื่อไม่ให้ตรวจเจอ เช่น การให้นั่งอยู่ในท่าไม่สบายนานๆ การปิดกั้นประสาทสัมผัสบางแบบ เช่น ไม่ให้เห็น ไม่ได้ยินเสียง ซึ่งไม่บาดเจ็บ แต่ได้ผลอย่างมาก ทำให้แทบบ้าไปได้ ส่วนนี้จำเป็นต้องใช้จิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเข้าไปเก็บข้อมูลผลกระทบด้านจิตใจด้วย อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับสภาทนายความ พบว่า ศาลไทยยังไม่ค่อยยอมรับเรื่องของผลกระทบด้านจิตใจนัก ทั้งที่เธอมองว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าผลกระทบด้านร่างกาย

ตัวอย่างจากเหนือ-อีสาน-ใต้ โชว์ข้อบกพร่องกฎหมาย "พิเศษ"
รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความคดีสิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างคดีที่สะท้อนข้อบกพร่องของกฎหมาย โดยคดีแรกเกิดในชายแดน จ.แม่ฮ่องสอน ประชากร 2 คนถูกเจ้าหน้าที่ชายแดนจับ ด้วยข้อหาว่าไม่เดินกลับผ่านทางด่านพรมแดน ตามกฎหมายแล้ว ทั้งสองเพียงแต่เสียค่าปรับ 1,000 บาท แต่ปรากฏว่า ทหารขออายัดบุคคลทั้งสองไว้ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ซึ่งสามารถคุมตัวไว้ 7 วันเพื่อสอบถาม โดยมีการเบิกตัวมาสอบสวนที่ค่ายทหารในวันที่ 9 ธ.ค.2549 เวลาประมาณ 21.00 น. วันต่อมา เวลาประมาณ 23.00น. ทั้งสองถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล คนหนึ่งบาดเจ็บสาหัส คนหนึ่งเสียชีวิต โดยทหารอ้างว่า ทั้งคู่ขอโดยสารมาในรถและกระโดดหลบหนี จนเสียชีวิตและบาดเจ็บ อย่างไรก็ตาม ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน ไต่สวนและทำคำสั่งไม่เชื่อว่ากระโดดรถหลบหนี พร้อมซักพนักงานสอบสวนท้องที่ที่ทำสำนวนไปในทิศทางที่เจ้าหน้าที่ททหารกล่าวอ้างว่า เหตุใดจึงไม่สอบสวนว่าขณะที่ทั้งสองกระโดดนั้น รถขับมาด้วยความเร็วเท่าใด

จากกรณีนี้ รัษฎาชี้ว่า กระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นต้องให้ความยุติธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ไม่จำเป็นต้องเข้าข้างประชาชน แต่ต้องทำให้เป็นกลาง และตั้งคำถามว่า การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ให้อำนาจแก่ทหารควบคุมประชาชน นำตัวไปซักถามที่ค่ายทหาร ในเวลากลางคืน เป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ยัดข้อหาหรือไม่

กรณีที่สอง เกิดในภาคใต้ กรณีอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ซึ่งทหารควบคุมตัวอิหม่ามยะผา พร้อมคนที่บ้านรวม 6 คน เอาไปแถลงข่าวว่าร่วมก่อความไม่สงบ คุมตัวไว้ในค่ายทหาร เอาขึ้นรถผู้ต้องหาโรงพักของตำรวจ จากนั้นมีการนำตัวอิหม่ามออกมาซ้อมแล้วนำกลับไปไว้ในรถ หกโมงเช้า อิหม่ามยะผาตายคาตักลูกชาย ส่วนอีก 5 คนถูกย้ายไปค่ายอิงคยุทธบริหาร อีก 20 กว่าวัน โดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ให้อำนาจควบคุมบุคคลได้รวมแล้ว 30 วัน จากนั้นจึงปล่อยกลับมา โดยไม่ดำเนินคดีใดๆ

รัษฎากล่าวถึงข้อจำกัดของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ต้องหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร กฎหมายมีข้อจำกัด ห้ามไม่ให้พลเรือนฟ้องเจ้าหน้าที่ทหารต่อศาล แต่ให้พนักงานอัยการ ศาลทหารเท่านั้นเป็นผู้ฟ้อง ซึ่งหากพนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องสิทธิของประชาชนก็หมดไป หรือหากศาลชั้นต้นยกฟ้อง อัยการ หรือศาลทหารเห็นว่า ไม่ควรอุทธรณ์ คดีก็เป็นอันยุติไป ทั้งนี้ ตั้งคำถามว่า กฎหมายใดที่ยังจำกัดสิทธิของประชาชนหรือล้าหลังนั้น ควรจะแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกไปหรือไม่

ทั้งนี้ เขามองว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้อยู่นั้น ก็เป็นกฎหมายที่ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายพิเศษ ซึ่งจะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ลุแก่อำนาจ

นอกจากนี้ รัษฎา ยังตั้งคำถามถึงกฎหมายที่ให้อำนาจองค์กรอิสระอย่าง ป.ป.ช. ในการตรวจสอบว่าทำให้คดีไปรกอยู่กับ ป.ป.ช.มากเกินไปหรือไม่ โดยยกตัวอย่างคดียาเสพติดในจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีชายวัยรุ่นแขวนคอตายในท้องนา มีตำรวจระดับผู้กำกับเป็นจำเลย อยู่ด้วย ใช้เวลานานมากกว่าจะมีการส่งฟ้อง มีการส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. แล้วใช้เวลาอีกหนึ่งปี กว่าจะมีการส่งเรื่องกลับมาว่าไม่อยู่ในอำนาจตรวจสอบ โดยระบุว่าเป็นอำนาจของ ป.ป.ท.เพราะเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ยศต่ำ ถามว่าแล้วเมื่อไหร่ประชาชนจะเข้าถึงความยุติธรรมเสียที

รัษฎากล่าวถึงการสัมมนาเกี่ยวกับร่างกฎหมายแก้ไขอำนาจหน้าที่ของ กสม.ว่า ไม่เห็นด้วยกับกรณีที่มีดำริจะห้ามเปิดเผยข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบของ กสม. โดยชี้ว่า การที่ กสม.ลงพื้นที่ มีสื่อไปทำข่าว มีเวทีสาธารณะ ให้ประชาชนได้เข้าฟัง ทำให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม แต่หากการตรวจสอบเป็นความลับ ประชาชนจะไม่รู้ว่ามีการดำเนินการถึงขั้นไหนแล้ว รวมถึงยังไม่เห็นด้วยกับดำริที่จะลดอำนาจฟ้องคดีแทนประชาชนผู้เสียหาย โดยมองว่านี่เป็นดาบที่ กสม.ควรจะมี เพื่อทำหน้าที่แทนประชาชน ซึ่งอาจไม่กล้าฟ้องหน่วยงานรัฐ

เสนอร่างกฎหมายป้องกันการทรมาน
พูนสุข พูนสุขเจริญ เจ้าหน้าที่รณรงค์กฎหมายป้องกันการทรมาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า ไทยเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานตั้งแต่ปี 2550 โดยมีพันธกรณีต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญา โดยต้องมีนิยามและฐานความผิดเรื่องการซ้อมทรมาน โดยในอนาคต ไม่ว่าจะโดยการออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายเดิมก็ตาม จะทำให้มีข้อหาเรื่องการซ้อมทรมาน

สำหรับสภาพปัญหาที่เกิดในพื้นที่ภาคใต้นั้น มีตั้งแต่ความไม่มั่นใจของผู้ถูกกระทำว่า หากร้องเรียนแล้วจะถูกทรมานเพิ่มหรือไม่ เมื่อร้องเรียนว่าถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ปรากฏว่าถูกดำเนินคดีกลับ หรือแม้จะกล้าร้องเรียนแล้ว ก็ยังพบอุปสรรค โดยเจ้าหน้าที่บ่ายเบี่ยง ให้ไปร้องเรียนที่ สน.อื่น ทำให้หมดแรงและหมดศรัทธาในการร้องเรียนต่อ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการพิสูจน์พยานหลักฐาน ที่แพทย์ควรเข้าถึงผู้ถูกร้องเรียนเร็วที่สุด แต่ปรากฏว่ากว่าจะได้ร้องเรียน บาดแผลก็หายไปแล้ว เมื่อพบแพทย์เพื่อออกใบรับรอง แพทย์ในต่างจังหวัดก็อาจยังไม่เข้าใจว่าต้องเก็บพยานหลักฐานอย่างไร ด้านปัญหาในการดำเนินคดีในชั้นศาล อาทิ กรณีของอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ที่ฟ้องทหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อศาลยกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้คดีถูกโอนจากศาลยุติธรรมไปศาลทหาร ซึ่งผู้เสียหายไม่ได้มีส่วนร่วมในคดีต่อ ด้านการเยียวยา พบว่าผู้เสียหายไม่เคยได้รับการเยียวยาทางจิตใจอย่างเป็นระบบ รวมถึงแพทย์ยังมีความไม่เข้าใจการตรวจด้านนี้

เธอกล่าวต่อว่า แม้ว่าไทยจะมีทั้งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญาที่ปกป้องสิทธิบุคคล รวมถึงให้มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่กลไกในบ้านเรายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการนำบุคคลมาลงโทษ หรือเยียวยาผู้เสียหาย

สำหรับร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมาน พ.ศ.... ที่เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมกันร่างขึ้น พูนสุข ระบุว่า มีการออกแบบให้มีคณะกรรมการ 12 คน โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน และคณะกรรมการมาจากการสรรหาของประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจหน้าที่หลัก คือ ตรวจเยี่ยมสถานที่คุมขัง เสนอแนะให้แก้ไขกฎระเบียบ สอบสวน เผยแพร่ความรู้อบรม กำหนดมาตรการเยียวยา นอกจากนี้ ยังให้มีพนักงานสอบสวนคดีซ้อมทรมาน เพื่อสร้างพนักงานที่เชี่ยวชาญในคดีประเภทนี้ด้วย

ข้อดีของการแก้กฎหมายอาญา คือ ไม่ต้องสร้างองค์กรใหม่ และมีเจ้าหน้าที่พร้อมอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ที่สอบสวนกับเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดอาจเป็นกลุ่มเดียวกัน ซึ่งจะขัดกับหลักเป็นกลางในการสอบสวน ขณะที่หากออกกฎหมายเฉพาะ ซึ่งมีการเสนอให้มีคณะกรรมการป้องกัน สอบสวน เยียวยาโดยเฉพาะ มีข้อดีคือ ผู้ที่ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนมีความเป็นกลางมากกว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงจะอนุวัติตามพันธกรณีได้ครบถ้วนและมีสภาพบังคับมากกว่าการใช้กลไกการบริหารอย่างเดียว แต่ข้อเสียซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันคือ การสร้างองค์กรใหม่อาจเปลืองงบประมาณและเจ้าหน้าที่ในคณะกรรมการอาจไม่มีเวลานั่งดู แต่หากกำหนดอยู่ในกฎหมายอาญาจะผูกพันเจ้าหน้าที่มากกว่า

 

เสนอมาตรการแก้ปัญหา
ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เสนอมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1.ประกาศยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่ หากไม่สามารถเลิกได้ ให้ลองงดใช้บางช่วง เพื่อทดสอบว่าเอาอยู่หรือไม่ หากควบคุมไม่ได้ จะได้มีเหตุผลในการประกาศใช้ต่อ รวมถึงอาจลดดีกรีการบังคับใช้ลง ดังเช่นที่มีการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย) แทนกฎอัยการศึกเป็นต้น 2.ควรอนุวัติกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และ 3.เร่งลงสัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลมิให้ถูกบังคับให้สูญหายโดยเร็ว พร้อมออกกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาดังกล่าว

นอกจากนี้ มาตรการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา เจ้าหน้าที่ที่จะลงพื้นที่จะต้องเรียนรู้มิติด้านภาษาและวัฒนธรรมด้วย ส่วนมาตรการคุ้มครองกลไกสิทธิ จะต้องมีการสร้างระบบให้โปร่งใสในทุกขั้นตอนตั้งแต่ตรวจสอบ จับกุม คุมขัง จนกระทั่งปล่อยตัว เช่น มีการบันทึกภาพอย่างละเอียด รวมถึงบันทึกรับส่งตัว ห้องสอบปากคำควรเป็นห้องกระจกใส ไม่สอบในยามวิกาล

เหยื่อสงครามยาเสพติดในอีสาน
พิกุล พรหมจันทร์ เครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตและผู้เสียหาย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ปัญหาในพื้นที่ภาคอีสานนั้นไม่เหมือนกับในภาคใต้ โดยในอีสาน เกิดจากการกระทำของตำรวจ อันเป็นผลมาจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดในช่วงปี 2546-2548 ประชาชนที่ด้อยโอกาสและยากจนมักถูกกระทำหรือซ้อมทรมาน ขณะที่ผู้มีอิทธิพล มีบารมีรอดตัวไป

พิกุล กล่าวว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ก็เป็นไปได้ยาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจกันหมด ทำให้ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่รับแจ้งความ ไม่มีการสืบสวนสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ชันสูตรที่เกิดเหตุ เมื่อไปร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองก็ถูกปฏิเสธ เพราะเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ ที่จะปราบปรามยาเสพติด

พิกุล เล่าว่า จากการเสียชีวิตของหลานชายในปี 47 ทำให้เธอต้องออกมาเรียกร้อง คาดว่าคดีนี้มีตำรวจตั้งแต่ระดับผู้กำกับลงมาเกี่ยวข้อง 6 ราย ซึ่งจะมีคำพิพากษาในวันที่ 30 ก.ค.นี้ โดยก่อนหน้านี้ คดีไปค้างอยู่ที่ ป.ป.ช.นานร่วม 3 ปี ทั้งที่แม้แต่คนไม่รู้กฎหมายอย่างเธอยังรู้ว่านี่เป็นคดีอาญา พร้อมเรียกร้องด้วยว่า อยากให้มีการนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษเป็นอันดับแรก เพื่อไม่ให้มีการละเมิดรายอื่นซ้ำอีก

พิกุล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้มีการมอบเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาทให้กับกรณีภาคใต้แล้ว อยากขอให้มองไปทางภาคอีสานบ้าง เพราะเมื่ออยู่ใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน ก็น่าจะได้รับความเป็นธรรมเหมือนกัน

"ศาล" ห่วงตั้งองค์กรอิสระเพิ่ม เปลืองงบประมาณ
ดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา กล่าวว่า การเยียวยาเหยื่อทางจิตใจนั้น ศาลพร้อมอยู่แล้ว รอแต่กฎหมายเปิดช่อง อย่างไรก็ตาม ความยากคือความเสียหายทางจิตใจจะแปรเป็นตัวเงินได้อย่างไร เพราะศาลชินกับค่าเสียหายตามความเป็นจริง เสียหายเท่าไหร่ก็จ่ายตามใบเสร็จ ยกตัวอย่างคดีซ้อมทรมาน แม้ไหล่ไม่หลุดแต่ทรมาน จะจ่ายเท่าไหร่ ทุกวันนี้ ไม่มีความชัดเจน ทำให้ศาลละล้าละลังที่จะจ่าย เรื่องนี้อาจต้องดูแนวของต่างประเทศว่ามีมาตรฐานอย่างไร

ต่อร่าง พ.ร.บ.การป้องกันการทรมาน ซึ่งเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นนั้น ดล แสดงความเป็นห่วง โดยกล่าวว่า องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ก.ก.ต. กสม. ที่ตั้งขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญ 40 ที่มีแนวคิดดีนั้น ก็เห็นแล้วว่าทางปฏิบัติเป็นอย่างไร งบประมาณของรัฐที่ต้องเสียหายไปเท่าไหร่กับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ พร้อมตั้งคำถามว่า 10 กว่าปีแล้วพิสูจน์หรือยังว่าหน่วยงานเหล่านั้นทำงานได้คุ้มกับภาษีประชาชน ทั้งนี้ แนะนำว่าถ้าไม่คุ้มก็ทำให้คุ้มเสีย พร้อมยกตัวอย่างว่า กสม. นั้นขอให้ติดดาบและบวกกึ๋นหรือความกล้าเข้าไป เมื่อให้อำนาจไต่สวนและฟ้องก็ต้องฟ้อง

ดล แสดงความเห็นต่อว่า การตรวจสอบสถานที่ควบคุมตัวเป็นหัวใจสำคัญ ต้องมีคนเข้าไปตรวจสอบ โดยสถานที่คุมตัวนอกจากเรือนจำแล้ว ยังมีค่ายทหาร โรงเรียนตำรวจบางเขน ฯลฯ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ต้องมีคณะกรรมการที่มีหน้าที่โดยตรงเข้าไปตรวจสอบและสุ่มตรวจ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังตลอดเวลา ส่วนจะถึงขนาดตั้งเป็นคณะกรรมการหรือไม่ ฝากว่าถ้าจะตั้ง ต้องเป็นกรรมการที่มีอำนาจตรวจสอบและไต่สวนเบื้องต้น มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้เลย โดยอาจใช้หน่วยงานที่มีอยู่ เช่น กระทรวงยุติธรรม ดีเอสไอ ฯลฯ เพิ่มอำนาจหน้าที่เป็นชุดเฉพาะกิจ และอย่าใส่อำนาจเชิงนโยบาย ไม่ต้องตั้งให้ใหญ่ เพราะจะเทอะทะ ซ้ำซ้อน และเกี่ยงหน้าที่กัน

ทนายเผยญาติผู้ถูกคุมตัวร้อง เข้าเยี่ยมลำบาก
ด้าน อับดุลเลาะห์ หะยีอาบู ทนายความมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ซึ่งทำงานในจังหวัดปัตตานีกล่าวว่า การควบคุมตัวผู้ที่ต้องสงสัยโดยอาศัยกฎอัยการศึก ในค่ายทหารหรือที่เรียกว่ากรมทหารราบนั้น ญาติสามารถเยี่ยมได้บ้าง-ไม่ได้บ้าง แต่ช่วงหลังที่มีการเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวจากกรมทหารราบเป็นกรมทหารพราน ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ นอกจากนี้ ในการเยี่ยมนั้น มีเจ้าหน้าที่มายืนคุมอยู่ด้วย ทำให้การที่ผู้ถูกคุมตัวจะแจ้งต่อญาติว่าถูกทำร้ายร่างกายไม่สามารถทำได้ และเมื่อไม่รู้ว่ามีเหตุเกิดขึ้น ก็ทำให้ไม่สามารถนำแพทย์เข้าตรวจได้ทันที เพื่อให้ได้หลักฐาน

กรณีที่ ไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กสม.ระบุว่า กรรมการสิทธิฯ มีอิสระที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐ อับดุลเลาะห์ กล่าวว่า ในความเป็นจริง พบว่า เมื่อมีการร้องเรียน กรรมการสิทธิฯ กลับส่งเรื่องให้กลไกของรัฐในพื้นที่ตรวจสอบ เช่น เมื่อมีการร้องเรียนสถานีตำรวจภูธร (สภ.) แห่งหนึ่งในยะลา กสม.กลับตั้งเรื่องให้ภูธรยะลาตรวจสอบ ซึ่งดูตามตรรกะแล้ว การตรวจสอบก็จะไม่อาจเกิดขึ้น เพราะตรวจโดยกลไกของรัฐเอง จุดนี้ ชาวบ้านได้ฝากว่าควรให้อีกองค์กรตรวจสอบจะดีกว่า

ยันทหารใช้ "อัยการศึก" เพื่อป้องปราม ไม่ใช่ปราบปราม
พันโทศิรสิทธิ์ แก้วบุญเมือง กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่า ในช่วงปี 51-55 การซ้อมทรมานในภาคใต้แทบไม่มีเลย ส่วนที่มีอยู่นั้นเป็นคดีค้างเก่า เพราะนโยบายของแม่ทัพภาคสี่ส่วนหน้า ห้ามกำลังพลกระทำกับพลเรือน นอกจากนี้ยังอนุญาตให้ญาติเยี่ยมได้ทันทีในช่วงถูกควบคุมตัว โดยหากทนายความต้องการเยี่ยมก็ทำได้ แต่ขอให้ทำหนังสือแจ้งก่อน

ด้านการบังคับใช้กฎหมายที่มีการวิจารณ์กันนั้น พันโทศิรสิทธิ์ กล่าวว่า มีแนวโน้มว่าในอนาคตจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงแทน โดยขณะนี้มีการนำร่องแล้วในสี่อำเภอในสงขลา และหนึ่งอำเภอในปัตตานี อย่างไรก็ตาม การใช้กฎอัยการศึกตามแนวชายแดนนั้นมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ต้องมี เพื่อป้องกันประเทศ ทั้งนี้ชี้แจงว่า ทหารไม่ได้ใช้กฎอัยการศึกเต็มที่หรือใช้เพื่อปราบปราม แต่เป็นการใช้เพื่อป้องปรามเท่านั้น เช่น ห้ามออกนอกพื้นที่ ห้ามมีระเบิด พร้อมยืนยันว่าไม่ได้ใช้อำนาจละเมิดสิทธิหรือก้าวก่ายสิทธิคนอื่น ส่วนการเยียวยานั้น ก็ไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนเลยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
 

ความรับผิดชอบของฝ่ายปฏิบัติการ-ฝ่ายนโยบาย
สมชาย หอมลออ กรรมการปฎิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าสถิติการทรมานในสามจังหวัดที่ลงลด แม้จะยังไม่คงที่ ส่วนระดับประเทศ ปัญหานี้ของตำรวจลดลงมาก ซึ่งมองว่ามาจากการที่เจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจดีขึ้น สื่อ องค์กรอิสระ และภาคประชาสังคม มีการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้น บทบาทของศาล ศอ.บต. กอ.รมน. ที่เอาใจใส่ที่จะลดปัญหา โดยมองว่าทุกภาคส่วนเริ่มตระหนักว่า สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกัน และหากสร้างดุลยภาพได้ ก็จะทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไปได้

สมชาย กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงเหตุการณ์ภาคใต้เท่านั้นที่สังคมไทยกำลังเรียนรู้ ความขัดแย้งทางการเมืองช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา เราก็กำลังเรียนรู้เช่นกัน ในฐานะกรรมการ คอป. พบว่า กรณี 7 ต.ค.2551 ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าควบคุมฝูงชน และถูกดำเนินคดี โดยคดีค้างอยู่ ป.ป.ช. มีคำถามว่าเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายกับฝ่ายรับผิดชอบเชิงนโยบาย จะแบ่งรับผิดชอบกันอย่างไร หรือกรณีเหตุการณ์เมื่อปี 53 เจ้าหน้าที่เริ่มเรียกร้องว่าคำสั่งฝ่ายนโยบายต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ด้วยวาจาและในที่สุดก็ผลักภาระความรับผิดชอบมาให้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ทางปฏิบัติ

สมชาย เล่าว่า จากการรับฟังเจ้าหน้าที่ ได้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ไม่อยากจะซ้อมทรมาน แต่ต้องการรู้ว่าสิ่งใดทำได้ หรือทำไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีแรงกดดันที่ต้องปฏิบัติตามนโยบาย-คำสั่งการของฝ่ายนโยบายและแรงกดดันทางการเมืองและสังคม ทำให้เจ้าหน้าที่จำนวนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่เบี่ยงเบนไปจากหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน แต่ท้ายที่สุด คนรับผิดชอบคือ ตัวเจ้าหน้าที่เอง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท