ยูโร 2012: บางแง่มุมของประเด็น ‘ผู้หญิง’ กับยูโร 2012

ขณะที่กลุ่ม FEMEN กำลังประท้วงเรื่องเซ็กส์ทัวร์ที่มาพร้อมกับการแข่งขันยูโร 2012 อีกด้านหนึ่งก็มีข่าวลือว่า Olga Kurylenko ดาราซูเปอร์สตาร์เลือดยูเครนจะเปลือยเพื่อชาติหากยูเครนได้แชมป์ (ซึ่งก็พลาดไปแล้ว) … และลองไปดูเรื่องราวบางแง่มุมของประเด็นผู้หญิงๆ ในการแข่งขันยูโร 2012

 ยูโร 2012 กับการเปลือยของสาวยูเครน

 

‘Olga Kurylenko’ เปลือยเพื่อชาติ?


Olga Kurylenko (ที่มาภาพ: wikipedia) color:#0000CC">

เมื่อช่วงต้นของการแข่งขันยูโร 2012 เว็บไซต์ euronews2012.com รายงานว่า Olga Kurylenko ดารานางแบบสาวเลือดยูเครนวัย 32 ปี นางเอกจากภาพยนตร์ชุด James Bond ตอน Quantum of Solace ที่ถึงแม้ว่าเธอจะโอนสัญชาติไปเป็นฝรั่งเศส แต่ยังมีใจให้กับประเทศบ้านเกิด โดยมีข่าวลือว่าหากยูเครนได้แชมป์เธอจะเปลื้องผ้าเพื่อฉลองแชมป์ให้กับยูเครน

ทั้งนี้ เว็บไซต์ euronews2012.com ไม่ได้ระบุว่า Kurylenko จะแก้ผ้าฉลองแชมป์ให้ยูเครนตอนไหนอย่างไร แต่ข่าวลือดังกล่าวก็กลายเป็นสีสันให้พูดถึงในการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 ในช่วงต้นๆ

 

Yulia Tymoshenko หายไปไหน?

 

(ที่มาภาพ: wikipedia)

ก่อนมหกรรมยูโร 2012 จะเริ่มคาดหมายกันว่า Yulia Tymoshenko จะเป็นนางเอกตัวจริงของการแข่งขัน เธอเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงยูเครน ปัจจุบันถูกจำคุกในข้อหาทุจริต ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการถูกกลั่นแกล้งทางการเมืองหลังจากมีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เธอทำให้ทั้งยุโรปจับตายูเครนประเทศเจ้าภาพร่วมด้วยการอดอาหารในคุกเพื่อประท้วงเนื่องจากถูกผู้คุมทำร้ายร่างกาย ทั้งนี้ตามกฎหมายของยูเครนเจ้าหน้าที่ทัณฑ์สถานมีสิทธิใช้อำนาจทางร่างกายต่อผู้ต้องขังได้ -- และนั่นคือการจุดประเด็นที่สำคัญให้ทั้งโลกจับตาเรื่องสิทธิมนุษยชนในยูเครนพร้อมๆ ไปกับมหกรรมการฟาดแข้งยูโร 2012

Tymoshenko เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ ยูเครน เจ้าภาพร่วมฟุตบอลยูโรครั้งนี้มาแล้วถึง 2 สมัย โดยสมัยแรกเธอดำรงตำแหน่งเมื่อปี ค.ศ.2005 (9 เดือน) และสมัยที่สองตั้งแต่ปี ค.ศ.2007 - 2010

หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2010 เธอได้ลงแข่งขันรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับ Viktor Yanukovych หลังความพ่ายแพ้นี้เองที่ทำให้ชะตาชีวิตเธอต้องดำดิ่งลง เธอถูกสอบสวนในข้อหาทุจริตหลายอย่าง อาทิ การเซ็นสัญญาขายแก็สให้กับรัสเซีย ในสมัยที่เธอยังเรืองอำนาจ เป็นต้น โดยศาลตัดสินว่าเธอมีความผิดและลงโทษจำคุกเธอ 7 ปี

ทั้งนี้พอการแข่งขันยูโร 2012 เริ่มขึ้น ข่าวคราวของเธอก็โดนประเด็น "ฟุตบอล" กลบไปเสียสิ้น

 

 

‘เปลือย’ เพื่อศักดิ์ศรี ‘FEMEN’ ความภูมิใจแห่ง “ผู้หญิงยูเครน”


แคมเปญ FUCK EURO ของกลุ่ม FEMEN ต่อต้านการแข่งขันยูโร 2012 ที่พวกเธอมองว่าเป็นการกระตุ้นอุตสาหกรรมเซ็กทัวร์ให้แก่ยูเครน (ที่มาภาพ: http://femen.livejournal.com/)

นอกเหนือจากประเด็นของ Yulia Tymoshenko แล้ว ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปครั้งนี้ ก็มีเรื่องของผู้หญิงๆ ออกมาให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม FEMEN ที่ประท้วงการแข่งขันครั้งนี้อย่างแข็งขันด้วยนโยบาย “FUCK EURO”

FEMEN เป็นองค์กรกิจกรรมด้านสิทธิสตรีที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ.2008 ผู้ก่อตั้งและทำงานอยู่เบื้องหลังคือ Anna Hutsol นักเศรษฐศาสตร์หญิงชาวยูเครน ที่กรุง Kiev ประเทศยูเครน ก่อนที่จะมีการขยายเครือข่ายในระดับนานาชาติ พวกเธอต่อต้านอุตสาหกรรมเซ็กส์ทัวร์ และทำกิจกรรมประเด็นทางเพศที่เกี่ยวโยงกับสังคม-ความเท่าเทียม รวมถึงมีการพัฒนานักกิจกรรมหญิงรุ่นใหม่ในยูเครนขึ้นมา

เริ่มแรกทีเดียวสมาชิกของ FEMEN จะเป็นนักศึกษาสาวอายุระหว่าง 18 - 20 ปี คนมีส่วนร่วมกับการทำกิจกรรมประมาณ 300 คน (ซึ่งก็มีผู้ชายด้วยแต่เป็นจำนวนน้อย) โดยการประท้วงที่พวกเธอมักจะเลือกใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของ FEMEN ก็คือการเปลือยอกประท้วง (topless protests)


การประท้วงคัดค้านการปฏิรูปการเกษียณอายุ (ที่มาภาพ kyivpost.com) color:#0000CC">

นอกเหนือจากประเด็นเพศสภาพแล้ว FEMEN ยังใช้การรณรงค์ประท้วงแบบเปลือยอกนี้ต่อต้านเรื่องที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เช่น ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2011 พวกเธอก็ได้ปฏิบัติการเปลือยอกประท้วงรัฐบาลยูเครนที่กำลังเสนอแผนปฏิรูประบบการเกษียณอายุ ที่รัฐสภาในกรุง Kiev หญิงสาวเปลือยอก 3 ราย สวมพวงมาลัยไว้บนศีรษะ พร้อมป้ายข้อความประท้วงรัฐบาล พยายามวิ่งฝ่าเจ้าหน้าที่เข้าไปยังบริเวณทางเข้าอาคารรัฐสภา ขณะเดียวกันได้ร้องตะโกนสโลแกนต่อต้านการปรับเพิ่มอายุการเกษียณของผู้หญิง โดย FEMEN คัดค้านการปฏิรูปการเกษียณอายุ เพราะถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง

และในการแข่งขันยูโร 2012 ครั้งนี้ FEMEN ก็ออกมาต่อต้าน เพราะมองว่ามันเป็นเรื่องที่มากกว่าฟุตบอล โดยเฉพาะการ "กระตุ้นอุตสาหกรรมเซ็กทัวร์" ที่แฝงมากับมหกรรมกีฬาครั้งนี้ โดยเริ่มประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. ณ Independence Square ใจกลางกรุง Kiev ที่มีการประดับประดาดอกไม้ให้เป็นรูปมาสคอตของการแข่งขัน









การประท้วงเมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ Independence Square (ดูภาพและคลิปวีดีโอของกลุ่ม FEMEN เพิ่มเติมได้ที่: http://femen.livejournal.com/)

ทัศนคติต่อยูเครนในยุคใหม่ของชาวต่างชาติ ที่ทำให้ FEMEN ต้องออกมาเคลื่อนไหว นั่นก็คือ "ดินแดนสวรรค์แห่งเซ็กส์ทัวร์" และว่ากันว่าก่อนหน้าการแข่งขันยูโร 2012 นี้ มีการลงทุนเปิดคลับเปลื้องผ้าแห่งใหม่ถึง 7 แห่งที่กรุง  Kiev เพื่อรองรับแฟนบอลจากประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขัน

"เรารู้ดีว่าพวกผู้ชายชอบอะไร พวกเขาต้องการเบียร์ ดูฟุตบอล จากนั้นพวกเขาก็จะคิดถึงเซ็กส์ เราต้องการจะทำให้แน่ใจว่าพวกเขาจะได้รับข้อความว่า ผู้หญิงยูเครนไม่ใช่วัตถุทางเพศ และประเทศยูเครนก็ไม่ใช่ซ่อง" Oleksandra Shevchenko นักกิจกรรมกลุ่ม FEMEN กล่าว

โดยในช่วงการแข่งขันยูโร 2012 นี้ FEMEN ก็ได้ออกมาประท้วงเป็นระยะๆ  

 

การประท้วงของ FEMEN ในแฟนโซนสวีเดน เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. (ดูภาพและคลิปวีดีโอของกลุ่ม FEMEN เพิ่มเติมได้ที่: http://femen.livejournal.com/) color:#0000CC">

 

 

Dick Kerr's Ladies บทเรียนในอดีตของการกีดกันผู้หญิงจากสนามฟุตบอล

 

 
(ที่มาภาพ: dickkerrladies.com)

 
การแข่งขันฟุตบอลหญิงก็ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับฟุตบอลสมัยใหม่ เช่นเดียวกับช่วงแรกของฟุตบอลชาย กีฬานี้เป็นเกมกีฬาของผู้หญิงชั้นสูง (ลูกผู้ดีมีเงิน) ก่อน โดยมีการแข่งขันอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.1892  แต่การแข่งขันฟุตบอลหญิงก็ต้องถูกสกัดไม่ให้เติบโตและปราบปรามอย่างเด็ดขาด ด้วยค่านิยมที่มองว่าผู้หญิงเป็นเพศที่บอบบาง ในปี ค.ศ.1896 สมาคมฟุตบอลดัตช์ออกคำสั่งไม่ให้มีการแข่งขันฟุตบอลหญิง และในปี ค.ศ. 1902 สมาคมฟุตบอลอังกฤษได้ออกกฎห้ามทีมฟุตบอลชายแข่งกับทีมฟุตบอลหญิงเด็ดขาด

 
แต่ทว่าการไหลบ่าเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมของแรงงานหญิงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้ทำให้กระแสฟุตบอลหญิงบูมขึ้นมาอีกครั้ง และคราวนี้ทีมที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงในยุคนั้นเป็นทีมที่ประกอบไปด้วยผู้หญิงชนชั้นแรงงาน ในนามทีม Dick Kerr's Ladies (ซึ่งนักเตะในทีมทำงานอยู่ในโรงงาน Dick, Kerr & Co. ในเมือง Preston) ที่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1917 โดยมีผู้ชมแมตซ์เปิดตัวนี้กว่า 10,000 คน Deepdale เมือง Preston

 
ในปี ค.ศ.1920 มีแฟนบอลถึง 53,000 คน เข้าไปดูเกมระหว่าง Dick Kerr's Ladies กับ St. Helen's Ladies ที่สนาม Goodison Park ในเมือง Liverpool จากนั้นปี ค.ศ. 1921 ในอังกฤษก็มีทีมฟุตบอลหญิงผุดขึ้นอย่างน้อยกว่า 150 ทีม และสมาคมฟุตบอลหญิงก็เปิดตัวขึ้นในเมือง Blackburn

 
กระแสฟุตบอลหญิงต้องมาสะดุดอีกครั้ง คราวนี้สมาคมฟุตบอล(ชาย)ของอังกฤษ เริ่มรู้สึกว่าพวกเขาถูกคุกคาม ปี ค.ศ. 1921 สโมสรฟุตบอลหญิงถูกสั่งห้ามไม่ให้เล่นในสนามแข่งขันของฟุตบอลชาย รวมถึงการตัดความช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและการฝึกสอน ทำให้ฟุตบอลหญิงซบเซาเรื่อยมาจนถึงทศวรรษที่ 1990’s ที่เริ่มมีการปลุกกระแสฟุตบอลหญิงในอังกฤษอีกครั้ง

 

 

ว่าด้วยเกร็ด ประเด็น “ผู้หญิงๆ” กับกระแส “ยูโร 2012

แฟนบอลหญิงในโลกอิสลาม

ที่อิหร่าน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าแฟนหญิงถูกห้ามไม่ให้ชมเกมยูโร 2012 ที่ถ่ายทอดสดในสถานที่สาธารณะเนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม โดยในประเทศอิหร่านนั้น ส่วนใหญ่นิยมที่จะมีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลในโรงภาพยนตร์ แต่ทางการอิหร่านระบุว่าโรงภาพยนตร์กลับเป็นสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมเมื่อผู้ชายและผู้หญิงดูฟุตบอลด้วยกันในโรงภาพยนตร์

ทีวีจีนเรียกเรตติ้งให้ประกาศหญิงจีนนุ่งบิกินี


(ที่มาภาพ: http://www.wantchinatimes.com)

ผู้ประกาศข่าวสาวของ Guangdong TV ประเทศจีนกับยูนิฟอร์มชุดชุดบิกิรายงานข่าวพยากรณ์อากาศของประเทศยูเครน และโปแลนด์ เจ้าภาพร่วมฟุตบอลยูโร 2012

กลยุทธ์นี้ Guangdong TV นำมาใช้เพื่อแข่งขันเรียกเรตติ้งกับคู่แข่งอย่าง CCTV ที่เชิญ Li Yundi นักเปียนโนคลาสสิคคนดังของจีน มาบรรเลงเพลงของโชแปงช่วงข่าวกีฬาในช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 นี้

Guangdong TV ได้ทำการคัดสาวมาเป็นผู้ประกาศข่าว จากผู้เข้าประกวดเวทีชุดบิกินี่ Changlong ในเมือง Guangzhou จำนวน 10 คน โดยแต่ละคนมีอายุระหว่าง 18-30 ปี และต้องมีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 162 เซนติเมตร

เมื่อ "ผู้หญิงไทย" ติดพนันบอล

เมื่อกลางเดินมิถุนายนที่ผ่านมา เครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ต้องจัดเวทีเสวนา “ผู้หญิง กับภัยร้ายพนันบอล” และจับมือเอแบคโพลล์ สำรวจความคิดเห็นและทัศนคติ “ผู้หญิงต่อการพนันฟุตบอล ช่วงยูโร 2012” ในกลุ่มผู้หญิงอายุต่ำกว่า 20 ปี และ 20 ปีขึ้นไป 1,000 ราย ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระหว่างวันที่ 2-6 มิ.ย.นี้

ธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์หยุดพนัน ได้เปิดเผยผลสำรวจดังกล่าวว่า จากกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 62.5 ยอมรับว่าเคยเล่นการพนัน แม้จะรู้ว่าผิดกฎหมาย ศีลธรรม เกิดปัญหาสังคม หากพิจารณาการเคยเล่นพนันพบข้อมูลที่น่าตกใจว่าในกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี เคยพนันบอลมาแล้วถึงร้อยละ 40.6 เมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่าเป็นกลุ่มว่างงานถึงร้อยละ 75.0 รองลงมา คือ ข้าราชการร้อยละ 70.6 ธุรกิจส่วนตัว/ค้าขายร้อยละ 69.8 เกษตรกร/รับจ้างร้อยละ 68.3 แม่บ้าน/เกษียณอายุร้อยละ 63.6 พนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 63.2 และนักเรียน/นักศึกษาร้อยละ 49.0

ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งมองว่าการพนันบอลกำลังเป็นเรื่องปกติไปแล้วในสังคมไทย อีกทั้ง 1 ใน 4 ระบุว่าเคยมีประสบการณ์เล่นพนันฟุตบอลในช่วง 12 เดือนที่ผ่าน เมื่อสอบถามถึงสาเหตุที่ทำให้คนเล่นทายพนันบอล พบว่าร้อยละ 55.2 เล่นเพื่อความสนุก ร้อยละ 53.0 เล่นตามเพื่อน /แฟน ร้อยละ 46.6 ชอบลุ้น ชอบตื่นเต้น ร้อยละ 23.2 เห็นคนใกล้ชิดในครอบครัวเล่น และอื่นๆ เช่น คลายเครียด เข้าสังคมและหวังรวยทางลัด

 “ผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังจากติดตามการแข่งขันฟุตบอล กลุ่มตัวอย่างระบุว่าร้อยละ 48.6 เจ็บไข้ได้ป่วย เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ และร้อยละ 41.0 ต้องหยุดงานหยุดเรียนเนื่องจากติดตามดูการถ่ายทอดสด ร้อยละ 31.4 มีหนี้สิน ร้อยละ16.2 ถูกขู่กรรโชก ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 15.9 ใช้หนี้ด้วยวิธีที่ผิด เช่น ค้ายาเสพติด ขายบริการทางเพศ และร้อยละ 11.4 เครียด พยายามฆ่าตัวตาย” ธนากร กล่าว

ด้าน จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้ว่าแนวโน้มการพนันช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโร คาดว่า กลุ่มวัยรุ่นผู้หญิงอาจจะต้องตกเป็นเหยื่อพนัน ส่งผลกระทบโดยตรง เกิดปัญหาหนี้สิน ความรุนแรงในครอบครัว และหากไม่มีการแก้ปัญหาอาจจะเลยเถิดทำให้ผู้หญิงถูกกระทำได้ง่ายขึ้น หรือหาทางออกด้วยวิธีที่ผิด เช่น ทำงานไซด์ไลน์ ขาย บริการเพื่อใช้หนี้ ถูกหลอกเป็นเหยื่อค้าบริการทางเพศ และจากข่าวที่ผ่านมา มีผู้หญิงต้องยอมขนยาเสพติดแลกกับเงินที่จะนำมาใช้หนี้พนันบอลอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มูลนิธิได้ลงพื้นที่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ยังพบว่า ผู้หญิงที่ขับวินมอเตอร์ไซต์รับจ้าง มีแนวโน้มการเล่นพนันที่สูงขึ้น อย่างรายล่าสุด ต้องนำเสื้อวินไปขายในราคา 8 หมื่นบาท เพื่อนำเงินมาใช้หนี้พนัน อย่างไรก็ตามปัญหาผลกระทบจากพนันบอลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้หญิงที่ติดพนัน กรณีผู้หญิงที่ไม่ได้เล่นแต่มีแฟน คนรัก หรือพี่น้องที่ติดพนัน ก็ส่งผล กระทบต่อผู้หญิงด้วย เช่น ถูกขโมยของมีค่าไปขาย หรือจำนำ ถูกขโมยเงิน เริ่มโกหก ไม่สนใจครอบครัว และพอมีปากเสียงกันก็จะนำไปสู่ความรุนแรงได้

“ลำพังเจ้าหน้าที่ตำรวจคงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวมีมานานแล้ว และกฎหมายการจับกุมก็ยังไม่หมดไป อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจจับอย่างจริงจัง รวมถึงกระทรวงพัฒนาสังคมฯ ต้องมีหน่วยเฝ้าระวังพิเศษ เช่น เปิดศูนย์ครอบครัวคอยให้คำปรึกษา มีพื้นที่ระบายความรู้สึก รวมไปถึงศูนย์พึ่งได้ ของกระทรวงสาธารณสุข ควรออกมาให้คำแนะนำ และอยากเรียกร้องต่อสื่อควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ชี้ช่องให้เกิดการเล่นพนัน แต่ควรพูดถึงผลกระทบที่เกิดจากการเล่นพนันฟุตบอล” จะเด็จกล่าว

 

ข้อมูลประกอบการเขียน:

http://www.dickkerrladies.com/ (เข้าดูเมื่อ 11-6-2012)

http://en.wikipedia.org/wiki/Dick,_Kerr%27s_Ladies_F.C. (เข้าดูเมื่อ 11-6-2012)

http://en.wikipedia.org/wiki/FEMEN (เข้าดูเมื่อ 28-6-2012)

FEMEN Protest EURO 2012 (cryptome.org, 31-5-2012)

Iran bans women from Euro 2012 screenings (AFP, 10-6-2012)

Models report the weather for Chinese Euro 2012 coverage (WantChinaTimes.com, 10-6-2012)

Topless activists target Euro 2012 mascots in Ukraine (The Sun, 1-6-2012)

Topless FEMEN activists protest pension reform in Kyiv (kyivpost.com, 5-7-2011)

เมื่อ 'ผู้หญิง' ติดพนันบอล (คมชัดลึก, 15-6-2555)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท