Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์นาซาเผย ยกเลิกโครงการสำรวจอากาศ SEAC4RS mission ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2555 ระบุเหตุไม่ได้รับความยินยอม และความร่วมมือกันภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดจากรัฐบาลไทย

โดยหน้าเว็บของนาซ่า ซึ่งให้รายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ได้อัพเดทข้อมูลว่าหลังจากรอการอนุมัติจากรัฐบาลไทยเพื่อเห็นชอบความร่วมมือในโครงการสำรวจอากาศนั้น วันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา นาซ่าได้ยกเลิกโครงการสำรวจอากาศ SEAC4RS mission ซึ่งตามกำหนดการเดิมจะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2555 ระบุเหตุผลว่าไม่ได้รับความยินยอม และความร่วมมือกันภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดจากรัฐบาลในภูมิภาค

ขณะที่เว็บไซต์มติชนรายงานคำสัมภาษณ์โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ (นาซา) ยกเลิกโครงการศึกษาการก่อตัวของเมฆที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAC4RS) แล้วเนื่องจากรอไม่ได้

นายวอลเตอร์ บราวโนห์เลอร์ โฆษกสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยกล่าววันนี้ว่า นาซาไม่สามารถรอได้เนื่องจากโครงการจะต้องดำเนินการเฉพาะเดือนสิงหาคมและกันยายนเท่านั้น แต่คณะรัฐมนตรีไทยมีมติเมื่อวันอังคารให้รัฐสภาอภิปรายเรื่องนี้หลังเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเลยกำหนดเส้นตายของนาซาไปแล้ว 1 เดือน โฆษกกล่าวด้วยว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่านาซาจะทบทวนเรื่องโครงการนี้อีกครั้งในปีหน้าหรือไม่

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวนั้น มีนายไบรอัน ทูน นักวิชาการด้านจากภาควิชาชั้นบรรยากาศและสมุทรศาสตร์ มหาวิทยาลับโคโลลาโดเป็นหัวหน้า โดยคาดหมายว่าจะเริ่มโครงการวิจัยได้ในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อศึกษาสภาพอากาศ และผลกระทบโดยเขากล่าวว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่สำคัญของโลก ประชากรกลุ่มใหญ่ของโลกอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ และเป็นภูมิภาคที่มีทั้งการปล่อยมลพิษทั้งจากไฟไหม้ตามฤดูกาล และจากเมืองใหญ่ต่างๆ ตามปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนด้านอุตุนิยมวิทยาไปทั่วภูมิภาค และเมื่อสารเคมีต่างๆ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมันก็จะส่งผลต่อโลกทั้งโลกด้วย รวมไปถึงอาจส่งผลต่อฤดูลมมรสุมด้วย ซึ่งเขาหวังว่าโครงการ SEAC4RS จะทำให้เกิดความเข้าใจต่อปรากฏการณ์เหล่านี้ได้มากขึ้น และโครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการจำนวนมากเพื่อที่จะช่วยกันไขความเข้าใจเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศและถือว่าเป็นโครงการใหญ่อีกโครงการหนึ่งของนาซ่า

เจฟรีย์ เรียด จาก นักวิชาการจากสถาบัน Naval Research Laboratory's Marine Meteorological Division in Monterey, Calif หัวหน้าทีมวิจัยผลกระทบด้านรังสี กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหรัฐต้องการจะพัฒนาการพยากรณ์ด้านอากาศในภูมิภาคนี้ และเพื่อจะพัฒนาไปได้นั้นเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่ามลพิษและสภาพอากาศนั้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร และไม่มีที่ใดในโลกที่จะมีความซับซ้อนด้านอุตุนิยมวิทยามากเท่ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาจกล่าวได้ว่าภูมิภาคนี้เป็นภูมิภาคที่ทำการพยากรณ์อากาศได้ยากที่สุดในโลกด้วย เพราะว่ามีทั้งการปล่อยมลพิษในระดับที่รุนแรงขณะเดียวกันก็มีพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์อย่างยิ่งด้วย

ฮัล มาริง จาก Earth Science Division at NASA Headquarters กล่าวถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับอีกประการจากโครงการนี้คือ ข้อมูลที่แม่นยำขึ้นจากที่เคยได้จากดาวเทียมเพราะว่าพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเป็นพื้นที่ที่ยากมากสำหรับการตรวจจับระยะไกลด้วยดาวเทียม เนื่องจากมักมีเมฆเข้ามาอยูในเส้นทาง ดังนั้นหากใช้การเก็บข้อมูลจากเครื่องบินก็จะสามารถเก็บข้อมูลจากในชั้นบรรยากาศได้ดีกว่าการเก็บข้อมูลจากดาวเทียมที่อยู่เหนือชั้นบรรยากาศ และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาเปรียบเทียบกันเพื่อพัฒนาข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net