Skip to main content
sharethis

 

27 มิ.ย.55 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม มล.ตุ้ม ชุมสาย ณ อยุธยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับคณะนิติศาสตร์ และภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “80 ปีแห่งความย้อนแย้งของประชาธิปไตยไทย” โดยมี รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อภิปรายในหัวข้อ “อภิรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทย 2475-2555”

สมชายเริ่มต้นกล่าวถึงหัวใจสำคัญรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย หรือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ.2475 ซึ่งมีอยู่สองประการ คือหนึ่ง เป็นรูปแบบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง และสอง อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย

ต่อมารัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งว่ากันว่าเป็นฉบับที่ได้รับการยอมรับกันในหลายฝ่ายในชนชั้นนำไทย ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะ “ยืนยงอยู่คู่กับสยามรัฐราชสีมาตราบเท่ากัลปาวสาน” เป็นความมุ่งหมายในช่วงเริ่มต้นรัฐธรรมนูญของไทย ในรัฐธรรมนูญหลังๆ อีกสองสามฉบับหลังจากนั้นก็จะเห็นเรื่องนี้ แต่รัฐธรรมนูญหลังจากนั้น โดยเฉพาะหลังทศวรรษ 2520 เป็นต้นมา ความเข้าใจคือเราทราบกันดีว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่มีทางกัลปาวสาน แค่ข้ามทศวรรษได้ก็เก่งแล้ว แต่ในช่วงเริ่มต้นรัฐธรรมนูญไทย อันนี้เป็นนัยยะสำคัญที่มีอยู่

แต่ในความเป็นจริงตั้งแต่ 2475-2525 ครบรอบ 50 ปี เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว 13 ฉบับ และจากปี 2475-2555 ครบรอบ 80 ปีรัฐธรรมนูญ มี 18 ฉบับ จะพบว่าอายุเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญในเมืองไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยยะสำคัญ ประมาณ 4 ปีบวกลบนิดหน่อยต่อฉบับ เราจะบอกว่าเป็นความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญในสังคมไทยหรือไม่

ปรากฏการณ์นี้นำไปสู่คำถามจำนวนมาก ในหมู่นักกฎหมายก็จะมองว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุด หรือนักรัฐศาสตร์ก็ตาม รัฐธรรมนูญอยากจะฉีกเมื่อไรก็ฉีกได้ หรือรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เสนอว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีน้ำยาหรือศักดิ์สิทธิ์เท่าที่ระเบียบในกรมกองหน่วยงานราชการ หรือรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการแย่งชิงอำนาจทางการเมือง เมื่อไรที่ใครไม่พอใจกฎกติกาที่มีอยู่ ก็ยึดอำนาจ และเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตน

แนวทางการอธิบายรัฐธรรมนูญของสังคมไทย เรามักอธิบายให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร ดูเฉพาะที่เป็นตัวบทบัญญัติ ว่าเขียนไว้ว่าอย่างไร และมักอธิบายเป็นรายฉบับ และค้นหาความหมายของบทบัญญัติในแต่ละมาตรา การมองดูแบบนี้ทำให้มองไม่เห็นความต่อเนื่องในระนาบที่มันยาวขึ้น

สมชายได้เสนอให้มองรัฐธรรมนูญในแบบที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญจารีตประเพณี ไม่มีประเทศไหนที่มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรโดยไม่มีจารีตประเพณี แต่จะมากจะน้อยก็ว่ากันไป เช่นเดียวกันในประเทศอังกฤษที่เรามักอธิบายว่ามีรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี จริงๆ ก็มีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรด้วย จึงเสนอให้มองรัฐธรรมนูญไทยในระนาบที่กว้างและยาว เพื่อมองจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตามกันตนเป็น “บรรทัดฐาน” ในห้วงเวลา 80 ปี การมองในระยะยาว เราจะพบเห็นว่ามันมีอะไรบางอย่างเป็นจารีตซึ่งเป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตามกัน แม้จะไม่ได้เขียนไว้เป็นบทบัญญัติก็ตาม แต่เป็นที่รู้กันว่าต้องเป็นแบบนี้ โดยทั้งหมดเป็นผลการต่อสู้ช่วงชิงกันจากฝ่ายสำคัญต่างๆ ทางการเมือง

สมชายเสนอว่าในรัฐธรรมนูญไทยถ้ามองจากมุมจารีตประเพณี มี 4 เรื่องสำคัญที่จะช่วยให้เข้าใจรัฐธรรมนูญไทยมากขึ้น ได้แก่ จารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหาร, อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, รัฐสภานักเลือกตั้งและประชาธิปไตยราชการ และอำนาจของราษฎรในรัฐธรรมนูญ

เรื่องแรก จารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหาร ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 คล้ายๆ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นที่ยอมรับเพราะได้ผ่านการต่อรองจากชนชั้นนำฝ่ายต่างๆ พอสมควร กลายเป็นหลักหรือกติกาให้ทุกฝ่ายมาต่อสู้กัน 2476 เกิดการยึดอำนาจเกิดขึ้น แต่การยึดอำนาจที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญแบบที่เราคุ้นกันในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือพระยามโนปกรณ์ฯ ยึดอำนาจจากสภาผู้แทนราษฎร ด้วยปิดประชุมสภา และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยพระยามโนปกรณ์ฯ เป็นนายกฯ ต่อ คือการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองมีอยู่ แต่มันก็ไม่ได้ถึงกับฉีกกติกาที่ถือเป็นกติกาใหญ่ อย่างมาก็งดใช้บางมาตรา

สองเดือนต่อมา พอพระยาพหลพลพยุหเสนายึดอำนาจคืน ก็ยึดโดยให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ ให้บังคับใช้ทั้งฉบับเหมือนเดิม หมายความว่าการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมืองในระยะแรก รัฐธรรมนูญยังเป็นกติกาหลักอยู่ การฉีกรัฐธรรมนูญมันยังไม่อยู่ในความเข้าใจว่าต้องทำแบบนั้น ยังคล้ายๆ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้หรือพ้นไปจากจินตนาการอยู่ การช่วงชิงต่อสู้ทางอำนาจจึงยังยึดโยงกับรัฐธรรมนูญอยู่พอสมควร

จน 2490 เกิดการยึดอำนาจโดยคณะทหารนอกราชการ รัฐธรรมนูญ 2490 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกภายหลังเกิดการฉีกเกิดขึ้น การฉีกทหารทำ แต่ประกาศใช้ภายใต้พระปรมาภิไธย โดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่การรัฐประหารก็ไม่ได้นำมาซึ่งการฉีกรัฐธรรมนูญเสมอไป ดังเช่นรัฐประหาร2500 ก็ไม่ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ เมื่อมีการฉีกรัฐธรรมนูญ 2489 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและประกาศใช้ฉบับใหม่ มันทำให้เกิดการถกเถียงการวิจารณ์เกิดขึ้น เพราะไม่เคยมีการทำแบบนี้มาก่อน ตกลงการรัฐประหารนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และผลในทางกฎหมายเป็นอย่างไร

กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทยต้องออกแถลงการณ์เพื่อชี้แจงถึงความชอบด้วยกฎหมาย “การทำรัฐประหารนั้นในชั้นแรกเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เมื่อได้กระทำรัฐประหารสำเร็จ จนผู้กระทำรัฐประหารได้ครองอำนาจอันแท้จริงในรัฐแล้ว ผู้กระทำรัฐประหารก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเลิกล้มรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้อยู่ได้ และอาจออกรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใหม่ได้” (แถลงการณ์ฉบับที่ 15)

คือคณะรัฐประหารปัจจุบันไม่ต้องออกแถลงการณ์แบบนี้ หลัง 2490 ที่ต้องออกแบบนี้เพราะไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน นี่เป็นครั้งแรก เกิดการตั้งคำถามในหนังสือพิมพ์ จึงต้องออกแถลงการณ์นี้ออกมา สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือแถลงการณ์นี้ไปสอดคล้องกับคำพิพากษาฎีกาที่เกิดขึ้นติดตามมาในสองสามปีหลัง คือแถลงการณ์ฉบับนี้อธิบายสองเรื่อง การรัฐประหารละเมิดรัฐธรรมนูญแน่ แต่เมื่อยึดอำนาจสำเร็จ ก็มีอำนาจเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และสองคือมีอำนาจออกรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

คำพิพากษาฎีกาปี 2495 บอกว่า “การล้มล้างรัฐบาลเก่า ตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ ในตอนต้นอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกว่าประชาชนให้การยอมรับนับถือแล้ว” อันนี้ช่วงแรกของแถลงการณ์ฉบับที่ 15 ส่วนช่วงท้ายอีกฉบับหนึ่งบอกว่า “คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองได้เป็นผลสำเร็จ การบริหารปกครองในลักษณะเช่นนี้ คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจจะเปลี่ยนแปลง ยกเลิกและออกกฎหมาย” ความเชื่อมโยงกับการรัฐประหารกับสถาบันตุลาการ เกิดขึ้นมานานแล้วแต่อย่างไม่โจ่งแจ้ง

ทศวรรษ 2490 ได้สร้างจารีตประเพณีในการรัฐประหารให้เกิดขึ้น หมายความว่าการรัฐประหารไม่ใช่เพียงการยึดอำนาจในทางการเมือง แต่ยังหมายถึงการจะต้องมีกลไกหรือระบบต่างๆ มารองรับ ให้ความชอบธรรมในการยึดอำนาจต่อด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นคือคณะรัฐประหารแบบที่เราพบในปัจจุบัน คือคณะรัฐประหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญด้วยตนเอง มันได้รับการรองรับไว้ด้วยอำนาจของสถาบันตุลาการ ในขณะที่การสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องกระทำภายใต้พระปรมาภิไธย แต่รูปแบบนี้กลายเป็นที่ยอมรับกันแล้วในหมู่ผู้กระทำการรัฐประหาร ว่าถ้าเกิดการรัฐประหารแล้วต้องเดินตามแบบนี้ เพราะมันได้มีกลไกหรือระบอบทั้งหมดรองรับการรัฐประหารเอาไว้

ในนัยยะนี้ เหตุที่ข้อเสนอของนิติราษฎร์ โดยเฉพาะเรื่องการล้มล้างผลการรัฐประหาร มันจึงไปกระทบหรือเกิดการตอบโต้จากหลายฝ่าย เพราะมันกำลังจะไปสั่นคลอนจารีตประเพณีว่าด้วยการรัฐประหารในสังคมไทยที่อยู่ยืนยงมากว่า 60 ปีอย่างสำคัญ จึงพอเข้าใจได้ว่าทำไมข้อเสนอนี้จึงถูกตอบโต้อย่างรุนแรง

สอง “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”  สถานะของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของอังกฤษ เกิดขึ้นภายใต้การต่อสู้อันยาวนานระหว่างรัฐสภากับกษัตริย์ และจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายรัฐสภา คือหมายความว่าสามารถทำให้สถาบันกษัตริย์ค่อยๆ ถอยหลังไปจากการมีส่วนทางการเมือง มีฝรั่งคนหนึ่งเขียนสรุปไว้ว่ารากฐานของรัฐธรรมนูญอังกฤษมาจากสงครามกลางเมือง การปลงพระชนม์กษัตริย์ การสถาปนาระบอบกษัตริย์ใหม่ และการปฏิวัติอันรุ่งเรือง ซึ่งกินระยะเวลาที่ยาวนาน ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15 มา

แต่กษัตริย์อังกฤษยังมีสิทธิธรรมอยู่ในฐานะประมุขของรัฐ ดังการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับใหม่จะเรียกว่า Act of the Queen-in-Parliament คือกฎหมายที่เป็นของควีนแต่ผ่านสภา คือสภามีอำนาจ แต่ว่ากษัตริย์ยังอยู่ในฐานะที่ได้รับการยอมรับเป็นประมุขของรัฐ แต่ทั้งหมดนี้กษัตริย์ไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้ด้วยตนเองในทางการเมือง แต่ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ พูดง่ายๆ ว่า King cannot act alone เมื่อไม่ได้ทำอะไรด้วยตนเอง กษัตริย์จึงไม่สามารถทำอะไรผิดได้ เป็นที่มาของสถานะของกษัตริย์ในระบอบรัฐสภาของอังกฤษ

ส่วนพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทย มีหลายเรื่องที่ตนกำลังเขียนอยู่ แต่ในที่นี่จะพูดเพียงเรื่องเดียว คือเรื่องการสืบทอดราชสมบัติ ในรัฐธรรมนูญ 2475-2521 การสืบทอดราชสมบัติเป็นไปตามกฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ แต่สุดท้ายต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญที่ในตอนนั้นแทบไม่มีใครสังเกตเห็น มาเกิดขึ้นเมื่อการยึดอำนาจโดยคณะรสช. ของสุจินดา คราประยูร ยึดอำนาจเมือ 23 กุมภาพันธ์ 2534

ในรัฐธรรมนูญ 2534 แก้ไขในส่วนการสืบทอดราชสมบัติ แบ่งเป็นสองส่วนคือกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ตามกฎมณเทียรบาล ให้ครม.แจ้งประธานรัฐสภาทราบ ให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมสภาเพื่อรับทราบ และสอง คือกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และมิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาทไว้ ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามตามกฎมลเทียรบาลต่อคณะรัฐมนตรี และเสนอต่อรัฐสภา นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในยุครสช. หลัง 2534 บทบัญญัติส่วนนี้ไม่มีการแตะต้อง สืบเนื่องมาถึงรัฐธรรมนูญ 2550

อันนี้สอดคล้องกับอำนาจในการแก้ไขกฎมลเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ ในระยะแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่มีบทบัญญัติเรื่องนี้ไว้ชัดเจน ในรัฐธรรมนูญ 2492 บัญญัติว่าจะกระทำมิได้ ช่วง 2511-2521 การแก้ไขกฎมณเทียรบาลต้องดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือมีสถานะไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญและยังเป็นอำนาจของรัฐสภาอยู่ แต่พอช่วงรสช. 2534-2550 การแก้ไขเพิ่มเติมกลายเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริให้องคมนตรีจัดทำร่างขึ้นถวาย เมื่อทรงเห็นชอบและลงพระปรมาภิไธยแล้ว ให้แจ้งประธานรัฐสภา เพื่อแจ้งให้รัฐสภาทราบ อันนี้เกิดขึ้น 2534 และสืบเนื่องต่อมา

สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าการสืบทอดราชสมบัติ มีลักษณะที่เป็นอิสระจากระบบรัฐสภาเพิ่มมากขึ้นโดยสัมพัทธ์

และการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้ยากลำบากมาก บทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตนคิดว่าเป็นส่วนที่รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทยแก้ไขได้ยาก เป็นหมวดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด แตะต้องได้ลำบาก

สาม คือการต่อสู้ช่วงชิงระหว่างนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งกับนักการเมืองข้าราชการ อันนี้เป็นส่วนที่เรามองเห็น และมักทำความเข้าใจกันเสมอ ถ้าใช้ภาษาของอาจารย์เสน่ห์ จามริก คือรัฐธรรมนูญไทยจะสะท้อนสัมพันธภาพทางอำนาจ โดยเฉพาะระหว่างนักการเมืองจากการเลือกตั้งกับนักการเมืองข้าราชการ

ในช่วงระยะ 2500-2521 จะพบว่านักการเมืองข้าราชการสามารถยึดพื้นที่ของระบบรัฐสภาไว้ได้ ไม่ว่าจะด้วยการรัฐประหาร หรือการดำรงตำแหน่งในฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารก็ตาม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 หลังเหตุการณ์พฤกษา 2535 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการขยายอำนาจของนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งเหนือพลังฝ่ายที่เรียกว่าอำมาตย์หรือนักการเมืองจากฝ่ายข้าราชการ ช่วงคุณสุจินดาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างเงียบๆ แต่มีผลต่อมาอย่างสำคัญ

หลังเหตุการณ์พฤกษา 35 หัวใจสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำให้อำนาจของนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งขยายเข้าไปในระบบรัฐสภามากขึ้น ตัวอย่างข้อเสนอในตอนนั้น เช่น ให้ประธานสภาผู้แทนฯ เป็นประธานรัฐสภา ก่อนหน้านี้ประธานวุฒิสภาจะเป็นประธานรัฐสภา ลดทอนอำนาจของวุฒิสภาในการเปิดอภิปรายรัฐบาล ที่สำคัญก็คือนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทำให้นักการเมืองจากระบบเลือกตั้งสามารถขยายอำนาจและมีที่ยืนอยู่ในระบบรัฐสภาได้อย่างมั่นคงมาตราบเท่าทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็ปิดช่องทางของพลังอำมาตย์ในการควบคุมนักการเมืองจากระบบเลือกตั้ง ทำให้ตีบตันมากขึ้น ก่อนหน้านี้เป็นวุฒิสภาบ้าง ไปเป็นนายกฯ แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ เส้นทางของระบบราชการมันตีบตันลง แต่พอในรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ก็กลับทำให้เกิดช่องทางใหม่ในการเข้าแทรกแซงนักการเมืองจากระบบเลือกตั้งของพลังฝ่ายอำมาตย์อีก ผ่านช่องทางที่เรียกว่าองค์กรอิสระ การเปลี่ยนแปลงในช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมาเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากช่องทางอันนี้

สี่ อำนาจของราษฎรทั้งหลายในรัฐธรรมนูญ เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่อยากพูด คือถ้าแบ่งรัฐธรรมนูญเป็นสองแบบ คือรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหารและมีเจตนาบังคับใช้ช่วงระยะเวลาสั้น กับรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งคาดว่าจะให้มันอยู่นานๆ แต่เป็นที่รู้กันว่าก็อยู่ได้ไม่นาน อำนาจของราษฎรทั้งหลายที่เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างสำคัญ คือมันมีอำนาจของราษฎรในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับถาวรเพิ่มขึ้น

ถ้าคิดใน 4 มิติ คือมิติของการเขียน ในอดีตการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของเนติบริกร แต่ปัจจุบันนี้ถ้าพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องพูดถึง ส.ส.ร. จะให้เนติบริการ 10 คนไปรวมหัวกันเขียนไม่ได้แล้ว อำนาจของราษฎรในการเขียนรัฐธรรมนูญมันเริ่มเกิดขึ้น มันเพิ่งมาเกิดขึ้นอย่างสำคัญช่วงรัฐธรรมนูญ 2540  ในมิติการมีส่วนร่วม การรับฟังความคิดเห็นกลายเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ เมื่อไรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน การรับฟังความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้

ในมิติการให้ความเห็นชอบ ในอดีตรัฐสภาผูกขาดการเห็นชอบรัฐธรรมนูญ แต่หลัง 2550 ประชามติเริ่มเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงและถูกเรียกร้อง เช่นเดียวกับในมิติการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้จำกัดแค่รัฐสภา แต่ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ทั้งหมดนี้ที่กล่าวมา ความเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญไทยมีรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีกำกับความเปลี่ยนแปลงเอาไว้ การฉีกหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างอิสระตามใจชอบ ไม่ใช่อยากเขียนอะไรก็เขียน แต่มีจารีตประเพณีบางอย่างกำกับไว้ การเปลี่ยนแปลงของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากหลากหลายกลุ่มต่อรอง ช่วงชิง และสร้างความหมายให้เกิดขึ้น ไม่มีกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดผูกขาดนิยามความหมายของเนื้อหาในรัฐธรรมนูญไว้ได้ทั้งหมด กลุ่มใหญ่ๆ ที่มีบทบาทสำคัญ เช่น สถาบันทหารสถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบราชการ ระบบรัฐสภา ประชาชน เป็นห้าส่วนที่สำคัญ

ความเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไทยจึงไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางเดียว บางส่วนดำเนินไปในลักษณะเดียวกันกับนานาอารยะประเทศ เช่น ต้องมีการเลือกตั้ง ต้องมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่บางส่วนกลับหัวกลับหางจากนานาอารยะประเทศ เช่น เรามีสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นอิสระจากระบบรัฐสภามากขึ้น ในแง่นี้การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญของไทยถ้ามองในกรองรัฐธรรมนูญจารีตประเพณี เราจะมองเห็นลักษณะที่ย้อนแย้ง (paradox) บางอย่างดูเหมือนไปข้างหน้า บางอย่างดูเหมือนย่ำกับที่ ไม่ไปข้างหน้า อันนี้คือภาพสะท้อนที่ดีของรัฐธรรมนูญไทย

แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่าหยุดนิ่งกับที่ บางส่วนได้รับการยอมรับจนกลายเป็นจารีตที่ยากจะปฏิเสธได้ บางส่วนเพิ่งเกิดขึ้นและยังพัฒนาต่อได้ ในนัยยะนี้ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีมีความหมายสำคัญ โดยที่ประชาชนสามารถเข้าไปผลักดันมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในรัฐธรรมนูญจารีตประเพณีได้ รัฐธรรมนูญจารีตประเพณีไม่ได้อยู่ในมือของชนชั้นนำแต่เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ในมือของประชาชนที่จะผลักดันและร่วมกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net