อุดมศึกษาไทยในอาเซียนสมัย ภายใต้ระบบพนักงานมหาวิทยาลัยที่ไร้สถานะ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในสภาวะแห่งยุคทุนนิยม ที่เศรษฐกิจเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ประกอบกับประเทศต่าง ๆ นั้นอยู่รวมกันเป็นสังคมโลก ไม่สามารถอยู่โดดเดี่ยวเดียวดายได้    ดังนั้นการรวมตัวกันของประเทศในแต่ละภูมิภาคเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ร่วมและพัฒนาประเทศในภูมิภาคไปพร้อม ๆ กัน   จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มประเทศต่างๆในโลก   เริ่มรวมตัวกันด้วยเหตุนี้

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือ อาเซียน ซึ่งในปัจจุบันอาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ     ก็เป็นอีกกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงให้มีการรวมตัวเป็นประชาคมเดียวกันให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2558 โดยกรอบความร่วมมือด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community:AEC)ซึ่งเดิมมีการกำหนดเป้าหมายที่จะตั้งขึ้นในปี 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงกันเลื่อนกำหนดให้เร็วขึ้นเป็นปี 2558

จากกรอบความร่วมมือในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังกล่าวประเทศไทยมองในมิติการได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจในฐานะเป็นประเทศผู้นำในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเพราะเป็นการกระจายสินค้าบริการและการลงทุนสู่ประเทศในกลุ่มประชาคม   แต่ในขณะเดียวกันประเทศในกลุ่มประชาคมก็มองผลประโยชน์ที่ตนเองน่าจะได้รับในบริบทไม่แตกต่างไปจากที่ไทยมองแต่หากเราพิจารณาดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยดูข้อมูลจาก Human Development Report 2011 ของ UNDP ที่พิจารณาเฉพาะดัชนีการศึกษา (Education Index) ที่ คํานวณจากอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ และสัดส่วนของเด็กวัยเรียนที่ ได้รับการศึกษาระดับประถมจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มและจัดอันดับจากทั้งหมด 187 ประเทศ แต่จะเปรียบเทียบเฉพาะสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ปรากฏว่ากลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมากคือ สิงคโปร์ (อันดับที่ 26)บรูไน (อันดับที่ 33)กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงคือ
มาเลเซีย (อันดับที่ 61)กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับปานกลางคือไทย (อันดับที่ 103)ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 112)อินโดนีเซีย (อันดับที่ 124)เวียดนาม (อันดับที่ 128)สปป.ลาว (อันดับที่ 138)กัมพูชา (อันดับที่ 139) และกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับต่ำคือพม่า (อันดับที่ 149)(ที่มา :http://www.thai-aec.com)

การพัฒนาศักยภาพมนุษย์มาจากพื้นฐานการศึกษาในแต่ละประเทศ   ซึ่งหมายความว่าถ้าเราพัฒนาบุคลากรของประเทศไม่ทัน เราจะแข่งขันกับประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียได้ยาก แต่หากมองกลับมาที่ระบบการอุดมศึกษาไทยเอง ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาศักยภาพมนุษย์สู่ตลาดแรงงาน   กลับพบว่า  ประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงภายในของระบบการอุดมศึกษาไทยที่ชะลอการพัฒนาเพื่อการแข่งขัน  ซึ่งอาจไม่ใช่ศักยภาพของระบบอุดมศึกษาไทยที่ด้อยกว่าชาติในกลุ่มอาเซียนชาติอื่นๆ ณ เวลาในปัจจุบัน   แต่อาจกลายเป็นว่า  ประเทศไทยกำลังมีตัวแปรซ่อนเร้นที่อาจทำให้ระบบอุดมศึกษาไทยอาจก้าวไม่ทันการพัฒนาเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต

เป็นที่ทราบกันดีว่า  มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ในปัจจุบันได้เปลี่ยนระบบบุคลากรในมหาวิทยาลัยจาก “ข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษา”  กลายสภาพมาเป็น “พนักงานมหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นระบบการจ้างงานผู้มีความรู้ความสามารถภายใต้กรอบสัญญาการจ้างงานที่มีระยะเวลา  หากมองโดยผิวเผินโดยหลักการจะเห็นว่าประเทศไทยได้นำระบบที่ทันสมัยและก้าวทันประชาคมโลกมาใช้   เพราะเป็นการกระจายอำนาจและเพิ่มอิสระในการบริหารให้กับสถาบันอุดมศึกษาส่งผลให้ระบบมีความคล่องตัวสูงและจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลายสถานะสามารถเข้าสู่ระบบได้สะดวกขึ้นพร้อมด้วยค่าตอบแทนแรงงานและสิทธิสวัสดิการที่น่าสนใจอีกทั้งการสร้างระบบสัญญาจ้างจะไม่ผูกมัดบุคลากรมากเกินไปในการถ่ายเทแรงงานด้านการศึกษาสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอนาคต

แต่เมื่อนำมาใช้จริงในทางปฏิบัติ   ด้วยความเคยชินของระบบราชการไทย  มุมมองในการบริหารงานในอุดมศึกษาไทยกลับไม่ได้พัฒนาระบบและระเบียบตลอดจนวิธีการ   ให้สอดคล้องกับหลักการที่เขียนขึ้นอย่างสวยหรู   หากแต่เคลือบแฝงไว้ด้วยเงามืดดำทางการบริหารและการทับซ้อนของระบบดั้งเดิมที่มีข้าราชการพลเรือนในอุดมศึกษาอยู่ร่วมกับพนักงานมหาวิทยาลัย   สร้างทั้งความเหลื่อมล้ำและความตกต่ำในทางวิชาการ  อย่างน่าเป็นห่วง   กระบวนการจ้างพนักงานมหาวิทยาลัยในอุดมศึกษาไทยที่ขาดการรับรองสถานะทางกฏหมายกลับกลายเป็นเครื่องมือต่อรอง  ตลอดจนบั่นทอนขวัญกำลังใจโดยตรงของคนที่ได้ชื่อว่า   “ผู้สร้างอนาคตของชาติ”  ทั้งที่พนักงานมหาวิทยาลัยคือบุคลากรที่มีทั้งความรู้ความสามารถสูงแต่กลับตกอยู่ภายใต้ระบบสัญญาจ้างที่ไร้ซึ่งการรับรองสถานะที่ชัดเจน   จึงกลายเป็นช่องว่างสำคัญของการอ้างความไร้ตัวตนทั้งในแง่การพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อการแข่งขันตลอดจนขวัญกำลังใจในการทำงานที่มีสถานะไม่ต่างไปจาก “กรรมกรทางการศึกษา”ของการบริหารอุดมศึกษา   ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อมของการพัฒนาการศึกษาไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน   อย่างไม่ต้องสงสัย

อาจเพราะกระบวนการจ้างงานในระบบพนักงานมหาวิทยาลัย  ยังยึดกรอบวิธีคิดแบบเก่าของระบบราชการไทย  ทำให้สถานะพนักงานมหาวิทยาลัย   ไม่ต่างไปจาก  ลูกจ้างชั่วคราวของรัฐ กล่าวคือ มีค่าตอบแทนแรงงานที่หลากหลาย  ตามแต่สถาบันการศึกษานั้นๆกำหนด  อีกทั้งไม่มีระบบรองรับสถานะที่ชัดเจน  เช่น  ไม่อยู่ภายใต้กฏหมายแรงงาน   ไม่มีสวัสดิการเกื้อหนุนจากรัฐ   ไม่มีระบบสร้างความก้าวหน้าในวิชาชีพ เหมือนระบบข้าราชการเดิม ส่งผลให้ผู้ปฏิบัติงานสร้างผลงานจากแรงกระตุ้นกดดันทางการบริหารเพียงอย่างเดียว    ไร้ซึ่งจิตวิญญาณและสามัญสำนึกของวิชาชีพที่แท้จริง  นั่นหมายถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างยากจะคาดเดาในระบบอุดมศึกษาไทยในอนาคต

จริงอยู่ในประการที่ว่า  พนักงานมหาวิทยาลัย ในสถาบันอุดมศึกษาบางแห่ง  ที่ได้ค่าตอบแทนและสวัสดิการค่อนข้างน่าพอใจ  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า  สถานะของพนักงานมหาวิทยาลัย จะได้รับการรับรองอย่างมั่นคง  หากเป็นเพียงแค่การอยู่ดีมีสุขบนเส้นด้ายแห่งวิชาชีพที่ติดอยู่กับกรอบสัญญาจ้างที่มีทั้งระยะเวลาและหรือผลกระทบด้านสวัสดิภาพในวิชาชีพ  เฉกเช่นเดียวกัน

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ  เมื่อเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประชาคมอาเซียนอย่างเต็มตัวแล้ว  ประเทศที่สามารถจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถสูงและอยู่ในสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาด  จะได้เปรียบในด้านการให้ผลประโยชน์ที่จูงใจกว่า  ยิ่งจะส่งผลกระทบต่ออนาคตการศึกษาไทย  ที่ไม่ใช่การเกิด “สมองไหล” ไปสู่ภาคธุรกิจเอกชนดังปรากฏการณ์ในอดีตที่ผ่านมา   แต่กลับไหลออกสู่ประเทศคู่แข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแทน  นั่นย่อมหมายความว่าประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางการแข่งขันทั้งทางการศึกษาและตลาดแรงงานมีฝีมือในอนาคตไปอย่างน่าเสียดาย

ในโลกแห่งทุนนิยม   การแข่งขันทางการศึกษาในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะส่งผลให้  มหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่มีต้นทุนทั้งด้านการเงินและบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสามารถจะสามารถอยู่รอดได้  แต่มหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถต้านทานสภาวะของการแข่งขันในโลกทุนนิยม  อาจจำใจต้องแปรสภาพของตนเองเพื่อความอยู่รอด  นั่นย่อมหมายความว่า ระบบอุดมศึกษาไทยกำลังจะถูกสั่นคลอนจากการเปิดเสรีกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสภาวะที่ยังสามารถเยียวยาสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้   หากภาครัฐซึ่งมีความกระตือรือร้นสูงต่อการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน   จะกลับมามองและยอมรับความจริงที่ว่า  เรากำลังเอาความเสียเปรียบที่มองไม่เห็นหรืออาจไม่อยากมองของการอุดมศึกษาไทย   ไปแลกกับการได้มาซึ่งหน้าตาของการเป็นประเทศผู้นำในกลุ่มอาเซียนแล้ว  นั่นหมายถึงเรากำลังจะได้บทเรียนราคาแพงทางด้านการศึกษาให้รู้สึกเจ็บปวดอีกครั้ง   โดยไม่คิดที่จะแก้ไขก่อนสายเกินจะแก้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท