Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"โปรดฟังอีกครั้ง"

เป็นคำกล่าวที่มักจะถูกใช้ในการกล่าวนำในการประกาศระหว่างการทำปฏิวัติหรือรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจ เป็นการประกาศเพื่อให้มีการดำเนินการตามคำประกาศ/กฎ/ระเบียบที่ฝ่ายที่ยึดอำนาจได้บัญญัติขึ้นเพื่อให้มีการปฏิบัติตาม

มีการใช้นับตั้งแต่การทำการปฏิวัติโดยคณะราษฎรวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จนถึงการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด 19 กันยายน 2549 ซึ่งปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทยครบรอบ 80 ปี ที่มาพร้อมคำประกาศของคณะราษฎร ว่า "อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย"

แต่มาถึงวันนี้ทำให้เกิดข้อกังวลที่สำคัญยิ่ง ผู้เขียนจึงขอประกาศจุดยืนและทำความเข้าใจแก่ประชาชนทั้งหลายเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยที่กำลังถูกรุกรานผ่านบทความนี้

สืบเนื่องจากการที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ลงนามในหนังสือชี้แจงตามข้อกล่าวหามาตรา 68 (รธน.) ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2555 ต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่รับคำร้องไว้พิจารณากรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 291 ของคณะรัฐมนตรี รัฐสภา พรรคการเมือง และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ยื่นโดยกลุ่ม ส.ส. ส.ว. และประชาชน จำนวน 5 สำนวน ลงวันที่ 1 มิถุนายน 2555

จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ได้มีประชาชน นักการเมือง นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและด้านรัฐศาสตร์หลายต่อหลายท่านรวมทั้งผู้เขียนเองได้ออกมาเรียกร้องและเขียนบทความขอให้รัฐบาลและรัฐสภาเพิกเฉยต่อคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญสืบเนื่องจากการรับคำร้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในที่นี้ผู้เขียนจะไม่ขอกล่าวถึงรายละเอียดอีก แต่จะขอหยิบยกมาเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับข้อเรียกร้องสืบเนื่องจากการกระทำของประธานสภาฯ ดังนี้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://prachatai.com/journal/2012/06/40955)

"ผู้เขียนขอเรียกร้องให้รัฐสภาเพิกเฉยต่อคำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ และ/หรือตอบโต้ด้วยการชี้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ และทำหน้าที่ของรัฐสภาต่อไป"

"เมื่อมีคำสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีหนังสือชี้แจงภายใน 15 วัน หากรัฐสภาทำหนังสือชี้แจงตามที่ศาลได้มีคำสั่งมานั้นและ/หรือไม่ดำเนินการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 การกระทำดังกล่าวย่อมถือได้ว่าเป็นการยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้โดยนัยแล้วหรือไม่ เพราะการกระทำการใดที่เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับว่าอำนาจดังกล่าวมีอยู่จริง ทั้งที่ไม่มีอยู่จริง จะถือเป็นการสถาปนาอำนาจนอกรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่หรือไม่ ถือเป็นการทำลายกลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานขึ้นในสังคมไทย เพราะการไม่ปฏิเสธและไม่ตอบโต้เท่ากับเป็นการยอมรับ ซึ่งอาจจะถูกนำมาสร้างเป็นบรรทัดฐานต่อไปได้"

(จากบทความ: ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กับอภิมหากาพย์มาตรา 68 (รธน.) โดยผู้เขียน เผยแพร่วันที่ 9 มิถุนายน 2555)

แม้เป็นที่ปรากฏชัดแล้วว่าจะไม่มีการลงมติพิจารณารับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ในสมัยการประชุมสภานิติบัญญัติสมัยนี้ด้วยการตรา พ.ร.ฎ.ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ 2555 ตั้งแต่วันที่ 19 มิถุนายน 2555 ตามพระบรมราชโองการลงวันที่ 15 มิถุนายน 2555 และมีการออกมายืนยันครั้งแล้วครั้งเล่าทั้งจากประธานสภาและพรรคเพื่อไทยว่าจะไม่มีการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณารับร่างฯวาระ 3 จนกว่าจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยหน้าในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 (ยังไม่มีการยืนยันว่าจะมีการลงมติรับร่างฯในการประชุมสภาสมัยดังกล่าว) ทั้งที่มีแรงสนับสนุนทั้งจากกลุ่มที่ชอบและไม่ชอบคุณทักษิณ แต่รัฐบาลและรัฐสภาเลือกที่จะถอย ด้วยเหตุผลกลใดคงเป็นสิ่งที่ผู้เขียนไม่อาจล่วงรู้ได้ เพียงแต่สัญนิษฐานได้ว่าการทำหน้าที่ของรัฐสภาเองหรือแม้แต่รัฐบาลเองไม่ได้อยู่ในกรอบหรือกระบวนการที่พึงจะกระทำได้ในระบบ/ระบอบปกติ ดังนั้นข้อเรียกร้องสุดท้ายที่พึงมีคือ เรียกร้องให้รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา “เพิกเฉย” ต่อคำสั่งดังกล่าว เพราะคำสั่งที่ออกโดยมิชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่มีผลผูกพันไม่ต้องปฏิบัติตาม ผู้เขียนขออธิบายโดยสังเขป ดังนี้

“การเพิกเฉย” หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "ignore" ปรากฎตามพจนานุกรมภาษาอังกฤษหมายถึง การปฏิเสธการรับทราบหรือการรับรู้ใดๆ เป็นการมองข้ามโดยมีเจตนา (refuse to take notice of or acknowledge; disregard intentionally) ซึ่งหากจะมองในบริบทกฎหมายเทียบเคียงได้ปรากฏตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 59 วรรคท้าย ได้แก่คำว่า "งดเว้น" ซึ่งมีความหมายเป็นหนึ่ง “การกระทำ” ตามประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติองค์ประกอบความผิดว่าจะต้องประกอบด้วย “การกระทำ” และ “เจตนา”

"มาตรา 59 วรรคท้าย การกระทำ ให้หมายรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย"

โดยหลักการ "การงดเว้น" ที่เป็นการกระทำที่จะเป็นความผิดได้นั้นจะต้องเป็นการงดเว้นการกระทำในสิ่งที่ตนมีหน้าที่จะต้องกระทำ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ตามกฎหมายตามสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ได้ กรณีที่ไม่มีสัญญา ตัวอย่างคลาสสิค เช่น มารดาที่จะต้องมีหน้าที่ให้นมแก่บุตรทารก การงดเว้นเป็นเหตุให้บุตรของตนเสียชีวิตย่อมเป็นความผิด “การงดเว้น” ตามมาตรา 59 จึงสอดคล้องกับมาตรา 57 ประมวลกฎหมายอาญาที่ใช้คำว่า "ละเว้น" ในการกระทำที่เป็นการกระทำของ “เจ้าพนักงาน”

"มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษ.."

ตามมาตรา 157 ระบุคำว่า “โดยมิชอบ” ซึ่งหมายถึงการไม่ทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และมี “เจตนาพิเศษ” คือ การกระทำที่มีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด กฎหมายระบุว่า การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จะต้องเป็นการละเว้นหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติตาม หากเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นย่อมไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้  ส่วน “โดยทุจริต”  หมายถึง การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา 1 ประกอบ มาตรา 157)

ดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีบุคคลทั่วไป "งดเว้น" (มาตรา 59) หรือเจ้าพนักงาน "ละเว้น" (มาตรา 157) การงดเว้น การละเว้น หรือการเพิกเฉยที่จะเป็นความผิดได้จะต้องเป็นการงดเว้น ละเว้น หรือเพิกเฉยในการที่ตนมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติเท่านั้น ดังนั้น การงดเว้น ละเว้น หรือเพิกเฉยในการใดๆ ที่ตนไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามย่อมไม่เป็นความผิด มิพักต้องพิจารณาว่าเป็นการละเว้นการกระทำที่ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือ โดยทุจริต ซึ่งผู้เขียนมองว่าห่างไกลจากความผิดตามมาตรานี้มาก หากแต่ไมนับว่ามีการกระทำซึ่งอาจจะก่อให้เกิดผลที่ตรงกันข้ามได้

ลองมาดูในรัฐธรรมนูญบ้าง มาตรา 74 และมาตรา 244 ได้ระบุคำว่า “ละเลย” โดยมาตรา 74 ระบุว่า บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม (วรรค 1) การละเลยหรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามหน้าที่ดังกล่าว ผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิขอให้บุคคลดังกล่าวหรือผู้บังคับบัญชาของบุคคลดังกล่าวชี้แจง แสดงเหตุผล และขอให้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติ.. (วรรคท้าย) มาตรา 244 ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย (1 (ข)) ตรวจสอบการละเลยการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและองค์กรในกระบวนการยุติธรรม.. (1 (ค))

สังเกตได้ว่าการ “ละเลย” ตามรัฐธรรมนูญก็ได้ระบุเช่นเดียวกันคือ จะต้องมี “หน้าที่” ที่จะต้องปฏิบัติ

มาถึงจุดนี้ ผู้เขียนขอสรุปแบบกระชับให้เป็นที่เข้าใจง่ายๆ ว่า การที่บุคคลที่ใช้อำนาจรัฐไม่ว่าจะเป็นผู้ออกคำสั่งหรือผู้ปฏิบัติตามคำสั่งจะต้องการทำตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติกฎหมายโดยสุจริตจึงจะเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตาม ขอย้ำให้ชัดอีกครั้งว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญกระทำการโดยไม่มีอำนาจแล้วจึงไม่สามารถก่อให้เกิดสิทธิตามมาตรา 213 รธน. ที่ระบุให้มีอำนาจเรียกเอกสารหรือหลักฐาน เรียกบุคคลมาให้ถ้อยคำ หรือให้ดำเนินการใดเพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณาคดีได้

การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องในครั้งนี้เป็นการรับคำร้องไว้โดยไม่มีอำนาจ ดังนั้นการออกคำสั่งให้รัฐสภาและคณะรัฐมนตรีดำเนินการทำหนังสือชี้แจงจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลคือไม่อาจก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายที่รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีจะต้องปฏิบัติตามแต่อย่างใด  อีกทั้งรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีไม่ใช่บุคคลหรือพรรคการเมืองตามมาตรา 68 รธน. โดย “รัฐสภา” เป็น “องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ” ตามรัฐธรรมนูญฯ หมวด 6 และ “คณะรัฐมนตรี” เป็น “องค์กรฝ่ายบริหาร” ตามรัฐธรรมนูญฯ หมวด 9 และการกระทำของทั้งสององค์กรเป็นการกระทำตาม "อำนาจหน้าที่" ที่บัญญัติให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การใช้สิทธิ (Rights) และเสรีภาพ (Liberties) ของประชาชนและพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

กระนั้น แม้แต่พรรคการเมือง หรือ ส.ส. ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาจะมีฐานะเป็นบุคคลหรือพรรคการเมืองตามมาตรา 68 ก็มิจำต้องยื่นหนังสือชี้แจงแต่ประการใด เนื่องจากการรับคำร้องเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่ก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายจึงไม่จำต้องปฏิบัติตาม กล่าวคือ การยื่นคำร้องขอเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการตามมาตรา 68 นั้น จะกระทำได้ก็โดย “อัยการสูงสุด” เท่านั้น เช่นเดียวกัน การทำหน้าที่ของพรรคการเมือง หรือ ส.ส. ส.ว. ตามที่ถูกกล่าวหาไม่เป็นการกระทำโดยใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนและพรรคการเมืองแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ตรงข้าม ศาลรัฐธรรมนูญเสียอีกที่กระทำการโดยที่ตนไม่มีอำนาจแต่ยังคงกล่าวอ้างอย่างเลอะเลือน

แต่เมื่อมีการยื่นหนังสือชี้แจงตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น การกระทำของ ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาย่อมถือเป็นการยอมรับอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการรับคำร้องว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเสียแล้ว เป็นการกระทำที่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่าการรับคำร้องโดยตรงจากบุคคลทั่วไปโดยไม่ต้องผ่านอัยการสูงสุดเป็นการกระทำที่ชอบตามรัฐธรรมนูญ เป็นการยอมรับการเข้ามาตรวจสอบการทำหน้าที่แก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา เป็นการยอมรับเขตอำนาจศาลที่ขยายขอบเขตอย่างไม่เหมาะสมที่ย่อมส่งผลเป็นการแทรกแซงการใช้อำนาจรัฐสภาในการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ เป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยตรง

นอกจากนี้ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งนัดคู่กรณีไต่สวนในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม 2555 ตั้งแต่เวลา 9.30 น. เป็นต้นไปนั้น ผู้เขียนขอเรียกร้องที่ผู้ถูกกล่าวหาทุกกลุ่มจะ “เพิกเฉย” ต่อคำสั่งดังกล่าว และปล่อยให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการตามทางพิจารณาตามกระบวนการไต่สวนของตนไปแต่ฝ่ายเดียวเพราะอำนาจการพิจารณาไต่สวนไม่ได้จำกัดให้ศาลพิจารณาวินิจฉัยจากข้อมูลที่คู่กรณีให้หรือไม่ให้ไว้เท่านั้น ที่สำคัญแม้ในอนาคตไม่ว่าจะมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องดังกล่าวออกมาไม่ว่าจะเป็นไปในทางบวกหรือลบ ผู้ถูกกล่าวหาทุกกลุ่มก็ไม่ควรถือเอามาเป็นสาระสำคัญในการทำหน้าที่ของตนอย่างเด็ดขาด เพราะจะถือเป็นการรับรองอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ขัดกับหลักการที่สำคัญในกลไกการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลักการแบ่งแยกอำนาจ และเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่บิดเบี้ยวขึ้นในสังคมไทยดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ส่วนการกระทำของประธานสภาผู้แทนราษฎร ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง และคณะรัฐมนตรี ที่ได้มีการยื่นหนังสือชี้แจงตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญไปแล้วนั้น หรืออาจจะมีการเข้าร่วมการไต่สวนตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 5 และ 6 กรกฎาคม 2555 ด้วยหรือไม่ ผู้เขียนในฐานะประชาชนคนหนึ่งผู้มีสิทธิเต็มปรากฏตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ขอคัดค้านการกระทำของ ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา อันเป็นการรับรองอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้ทั้งปวง และผู้เขียนขอเรียกร้องประชาชนชาวไทยที่จะแสดงความคิดเห็นต่อต้านการกระทำที่เป็นการรับรองอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เพื่อไม่ให้เป็นการรับรองว่าเป็นการกระทำของรัฐอย่างสมบูรณ์อันจะนำมาสู่การกล่าวอ้างถึงอำนาจที่ผิดเพี้ยนนี้อีกในอนาคต

ในท้ายนี้ ไม่ว่า ส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี รัฐสภา หรือแม้แต่รัฐบาลเองจะได้ยินเสียงเรียกร้องจากประชาชนตัวเล็กๆ เหล่านี้กันหรือไม่ ผู้เขียนก็จะขอประกาศอีกครั้งในฐานะประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิเต็มตามรัฐธรรมนูญฯ ว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ไม่ใช่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรืออำนาจอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ การสถาปนาและการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจเต็มของประชาชนซึ่งกระทำการผ่านรัฐสภา

ได้โปรดอย่าลิดรอนอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยอีก โปรดฟังอีกครั้ง mso-fareast-font-family:"Times New Roman";color:windowtext;mso-ansi-language:
#0400;mso-fareast-language:#0400">

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net