คุยกับคณะราษฎรที่ 2 พร้อมคลิปเปิดตัวกิจกรรมสัปดาห์คณะราษฎร คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ

นศ.จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ รวมตัวตั้งกลุ่ม คณะราษฎรที่ 2 จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สัปดาห์คณะราษฎร คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ภายใต้โจทย์หากคณะราษฎรยังอยู่เขาจะคิดอย่างไรกับการเมืองไทยในปัจจุบัน  

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา “คณะราษฎรที่ 2 ซึ่งประกอบด้วยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น กลุ่มสะพานสูง กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) และกลุ่มประชาคมจุฬาเพื่อประชาชน ( CCP ) ได้เผยแพร่วีดีโอคลิปแนะนำคณะราษฎรที่ 2 ลงใน Youtube โดย User LLTD2012 ซึ่งเป็นของกลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย 

 

คณะราษฎรที่ 2 ยื่นหนังสือเพื่อขอยืมยุทโธปกรณ์จากกองทัพบก ที่มาภาพ Suwanna Tallek https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2956365368437

วันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางคณะราษฎรที่ 2 ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อขอยืมยุทโธปกรณ์จากกองทัพบก ประกอบการแสดง รำลึกเนื่องในวันชาติ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งถือเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ที่หมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า  และวันถัดมา(19 มิ.ย.) กลุ่มดังกล่าวยังได้ไปทำกิจกรรมหน้ารัฐสภา พร้อมยืนหนังสือผ่านเจ้าหน้าที่สภาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อเหตุการณ์ความวุ่นวายในห้องประชุมสภาฯเมื่อปลายเดือนก่อน

ทั้งนี้จากกำหนดการกิจกรรมสัปดาห์คณะราษฎร คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ โดยคณะราษฎรที่สอง (ดู https://www.facebook.com/events/461759790520821/) ระบุถึงกิจกรรมของทางกลุ่มต่อจากนี้ว่า ในวันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน  เวลา 14.15 น. ณ งานสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “จาก 100 ปี ร.ศ.130 ถึง 80 ปี ประชาธิปไตย” ที่ห้อง 304 อาคารมหาจักรีสิรินธร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะราษฎรทื่สองจักร่วมรับฟังความคิดเห็นปัญหาชนชาวสยาม และร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นของคณะราษฎรที่สอง ต่อประชาธิปไตยและการอภิวัฒน์ในยุคปัจจุบัน ในหัวข้อ "อดีต และอนาคต จาก 80 ปีประชาธิปไตยไทย"

และวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน ที่หมุดคณะราษฎร ลานพระบรมรูปทรงม้า ร.5 เวลา 7.00 น. จะมีการอ่านแถลงการณ์คณะราษฎร์ ที่ 1 โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา เวลา 7.15 น. ปราศรัยเรื่องความล้มเหลวของประชาธิปไตย โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต่อด้วยเวลา 7.30 น. – 8.10 น. อ่านข้อเสนอหลัก 6 ประการคณะราษฎรที่สอง และในเวลา 19.00 น. ร่วม Talk Show กับเวทีกลุ่ม 24 มิถุนาฯ ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา

0000

 

เพื่อเป็นการทำความรู้จักคณะราษฎรที่ 2 มากขึ้นทางประชาไทจึงได้สัมภาษณ์ถึงที่มาเหตุผลและกิจกรรมของทางกลุ่มดังนี้

 

ประชาไท: คณะราษฎรที่ 2 คืออะไร มีวัตถุประสงค์อะไร ประกอบด้วยองค์กรอะไรบ้าง

คณะราษฎรที่ 2 : คณะราษฎรที่สองคือ การรวมกลุ่มกันชั่วคราวเพื่อเล่นเป็นคณะราษฎรของกลุ่มนักศึกษา สามกลุ่มคือ สะพานสูง LLTD และ CCP มีวัตถุประสงค์ เพื่อฟื้นฟูชีวิตของคณะราษฎรอีกครั้ง ผ่านการสวมบทบาทเป็นคณะราษฎร ที่นักแสดงที่เป็นนักศึกษาจะได้ศึกษาบทบาทของคณะราษฎรในอดีต และได้ระดมความเห็น หากคณะราษฎรยังอยู่ในปัจจุบันเขาจะมีความเห็นอย่างไรต่อการเมืองการปกครองในปัจจุบัน และจะมีข้อเสนออย่างไร และเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์งานรำลึก 24 มิถุนายน 2475 โดยตรงผ่านทางกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์

 

ประชาไท: ความสำคัญของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ของพวกคุณคืออะไร

คณะราษฎรที่ 2 : เป็นวันชาติเดิม เป็นวันที่ได้นำหลักคิดเรื่อง ประชาธิปไตยมาใช้ในการปกครองไทยอย่างใกล้เคียงความเต็มรูปแบบครั้งแรก

 

ประชาไท: คลิปเปิดตัว คณะราษฎรที่ 2 นี้ ต้องการสื่ออะไร 

คณะราษฎรที่ 2 : ประชาสัมพันธ์งานวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยตรง สื่อสารความคิดของกลุ่มที่ว่า หากคณะราษฎรเกิดใหม่ในยุคปัจจุบันจะรู้สึกอย่างไรต่อประชาธิปไตยไทย และเป็นการสื่อสารว่า คำพูดในประกาศคณะราษฎรฉบับแรก ปัจจุบันนำมากล่าวใหม่ก็ยังใช้ได้อยู่

 

ประชาไท: ไอเดียของการจัด"กิจกรรมสัปดาห์คณะราษฎร์ คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" โดยรวมคืออะไร

คณะราษฎรที่ 2 : แสดงเป็นคณะราษฎรเพื่อ สะท้อนสิ่งที่คณะราษฎรคิด แล้วนำหลักการดังกล่าวมาประยุกต์ใช้สือสารผ่านทางกิจกรรมเชิง "สัญลักษณ์" เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีความสนใจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 และส่งเสริมให้คนได้เข้าใจมุมมองของคณะราษฎรที่ถูกต้องตามประวัติศาสตร์มากขึ้น

 

ประชาไท: หลังจากเสร็จงาน กิจกรรมสัปดาห์คณะราษฎร์ คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ แล้วทางคณะฯ มีแผนจะทำกิจกรรมอื่นอีกหรือไม่ อย่างไร

คณะราษฎรที่ 2 : ยังไม่ได้คิดแผนไว้

 

ประชาไท: "คัดค้านอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ" ในความหมายของคุณคืออะไร แล้วจะคัดค้านได้อย่างไร

คณะราษฎรที่ 2 : หมายถึงคัดค้านอำนาจที่มาจากนอกรัฐธรรมนูญ และอำนาจที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ถูกต้องตามหลักการประชาธฺิปไตย แบบ คอนสติติวชั่น โมนาคี่ (กษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ)ผ่านกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ดังว่า


ประชาไท:  มีคนบอกว่าการอภิวัฒน์ 2475 เป็น "การชิงสุกก่อนห่าม" พวกคุณมองอย่างไรกับคำนี้

คณะราษฎรที่ 2 : ไม่เห็นด้วย เห็นว่าการปฏิวัตินั้นเหมาะสมกับสถานการณ์แล้ว ที่สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม อยู่ในช่วงเวลาตื่นตัว และเห็นว่า หากไม่มีการอภิวัฒน์จริงก็อาจไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ประชาธิปไตยไทยจะตั้งมั่นได้หรือไม่ (อ่านรายละเอียดในงานของ อ.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์)
 

ประชาไท: การแต่งตัวและตั้งชื่อเลียนแบบคณะราษฎรแบบนี้ ในขณะที่ดูเหมือนคณะราษฎรมีที่ทางในสังคมปัจจุบันนี้น้อยมาก ไม่คิดว่าเป็นการลดทอนความชอบธรรมของคณะราษฎรหรือไม่ (อย่างไร) 

คณะราษฎรที่ 2 : ไม่เลย ในทางตรงกันข้าม พวกเราต้องการสร้างภาพคณะราษฎรให้มีชีวิตชีวามากขึ้น ทันสมัย โดยผ่านกิจกรรมที่เราจะได้สื่อสารความคิดของเราว่าหากคณะราษฎร ยังอยู่จะแสดงความคิดอย่างไรต่อการเมือง ต่อประชาธิปไตยไทยปัจจุบัน โดยคณะผู้แสดงจะพยายามเตรียมทำการบ้านมาให้ดีที่สุดให้สมบทบาทในการเป็นคณะราษฎรที่ตนแสดงอยู่ เพื่อเสริมความเข้าใจบทบาทของคณะราษฎรให้ราษฎรด้วย


ประชาไท:  วันที่ 24 มิ.ย.แต่เดิมเคยเป็นวันชาติ ทางกลุ่มต้องการให้วันดังกล่าวเป็นวันชาติหรืออย่างน้อยเป็นวันหยุดหรือไม่ ถ้าอยากให้เป็นมีแนวทางผลักดันอย่างไร

คณะราษฎรที่ 2 :  เห็นว่าควรให้เป็นวันชาติ เพราะชาติย่อมหมายถึงประชาชน และคณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์นำอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชนในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 วันดังกล่าวจึงควรเป็นวันชาติ แต่จะมีแนวทางผลักดันอย่างไรทางกลุ่มยังไม่มีแผน และ เรื่องดังกล่าวมิได้อยู่ในเป้าวัตถุประสงค์ของกลุ่มที่ได้ปรึกษาหารือกันไว้

 

 

 

 

 

 

color:#252525;background:white">

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท