Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ณ ร้านหนังสือบูคู จังหวัดปัตตานี มีการจัดเสวนาปรัชญาในร้านหนังสือขึ้นเป็นครั้งแรก ในหัวข้อ “ปรัชญาในบทกวี : บทกวีกับปรัชญา” โดยได้รับเกียรติ ซะการีย์ยา อมตยา กวีเจ้าของรางวัลซีไรท์ปี 2553 และ ดร.อับดุลรอนิง สือแต จากวิทยาลัยอิสลามศึกษา มอ.ปัตตานี เป็นผู้นำการเสวนา และดำเนินรายการโดยอันธิฌา แสงชัย อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญาและศาสนา มอ.ปัตตานี การเสวนาเริ่มต้นด้วยการอ่านบทกวีภาษามลายูชื่อ Bahasa Ku (ภาษาของฉัน) ของ อัฮหมัด อับดุลกอดีรฺ โดย มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ จากบุหงารายานิวส์

 

เปิดประเด็น

อันธิฌา แสงชัย : ประเด็นในวันนี้เป็นหัวข้อที่ค่อนข้างมีความสำคัญในวงการศึกษาปรัชญา แต่อาจจะยังไม่ค่อยถูกพูดถึงนักในภาคภาษาไทย ขอยกตัวอย่างความคิดของนักปรัชญากรีกท่านหนึ่งคือเพลโต เพลโตไม่ให้ความสำคัญกับบทกวีหรือกวีนิพนธ์เท่าใดนักเนื่องจากในความคิดของเพลโตกวีนิพนธ์เป็นสิ่งที่กระตุ้นเร้าให้เกิดความรู้สึกที่รุนแรง ซึ่งลักษณะเช่นนั้นมันไปทำลายสิ่งที่เรียกว่าเหตุผล และเพลโตเชื่อว่ามีแต่เหตุผลที่ทำให้มนุษย์เข้าถึงความมีปัญญาหรือเข้าถึงความจริง ด้วยวิธีมองแบบนี้ทำให้กวีนิพนธ์เป็นเรื่องไม่มีคุณค่า ในทางตรงข้าม เพลโตให้ความสำคัญกับปรัชญาเพราะปรัชญาสามารถนำมนุษย์ไปสู่ความจริงบางอย่าง

แต่ขณะเดียวกันก็มีนักปรัชญาอื่นๆที่เห็นต่างจากเพลโต อย่างอริสโตเติล เขาเขียนงานชิ้นหนึ่งที่ชื่อว่า Poetry ในทัศนะของอริสโตเติล บทกวีเป็นสิ่งที่จำลองความจริง ถ่ายทอดความจริงออกมาผ่านภาษาและมนุษย์เข้าใจได้ และยังมีนักปรัชญาตะวันออกเช่นขงจื่อ ขงจื่อมองว่าบทกวีเป็นสิ่งที่สามารถกล่อมเกลาให้มนุษย์กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ บทกวีเป็นจุดเริ่มต้นการเรียนรู้ที่สำคัญของมนุษย์ด้วยซ้ำไป ในทัศนะของขงจื่อ ถึงขนาดกล่าวว่าใครที่ไม่ร่ำเรียนกวีนิพนธ์เป็นคนที่ไม่อาจเสวนาด้วยได้ จะเห็นได้ว่านักปรัชญามีข้อถกเถียงเกี่ยวกับบทกวีมากมาย

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งก็คือ หลายคนมองว่าปรัชญากับงานกวีนิพนธ์นั้นแท้จริงแล้วมีความคล้ายคลึงกันมาก เช่น ปรัชญาและกวีนิพนธ์ต่างสนใจความเป็นจริงบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต และมีเป้าหมายสูงสุดในงานสร้างสรรค์ของตัวเองคือการค้นพบความจริงบางอย่าง แต่อาจจะด้วยวิธีการที่แตกต่าง และนี่คือสองประเด็นที่เราจะพูดกันในวันนี้ ปรัชญาในบทกวี และ บทกวีกับปรัชญา

 

ซะการีย์ยา อมตยา

มีปรัชญาในบทกวีหรือไม่?

ซะการีย์ยา อมตยา : จริงๆผมไม่เคยมองว่างานผมเป็นงานที่มีปรัชญา แต่ว่าเป็นคนอื่นมองอีกทีหนึ่ง เวลาผมเขียนก็ไม่ได้คิดว่าจะต้องใส่ปรัชญา แต่พอบรรณาธิการได้อ่านงานผม ก็ได้เขียนคำตาม และได้ชี้ให้เห็นว่าในงานของผมมีปรัชญา ตอนที่ได้อ่านคำตาม ผมต้องกลับมาอ่านงานเขียนของผมใหม่ ผมไม่เคยรู้สึกว่าผมทำในสิ่งนี้ โดยมีปรัชญาอยู่ในหัว ผมกลับมาอ่านอีกรอบแล้วเห็นว่ามันจริงอย่างที่บรรณาธิการบอกไว้ จริงๆผมก็สนใจเรื่องพวกนี้อยู่ หมายถึงว่าเรื่องปรัชญา ศาสนาและเทววิทยา ผมคิดว่าไม่ใช่กวีทุกคนต้องเขียนงานที่มีปรัชญา บทกวีก็มีความหลากหลาย บางครั้งมันอาจจะไม่มีความเป็นปรัชญาเลยก็ได้ แต่ว่าถ้ามันมีปรัชญา อ่านแล้วก็อาจจะทำให้รู้สึกว่าบทกวีเป็นสิ่งที่ยาก ปรัชญาเป็นสิ่งที่ชวนให้ครุ่นคิดต่อ ชวนคิดให้มาก และบางทีมันไม่มีคำตอบ มันเป็นการแสวงหาคำตอบในคำถาม ซึ่งก็มีกวีระดับโลกหลายๆท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจเพราะเขามีความสนใจอยู่แล้วหรือต้องการค้นหาความหมายของบางอย่าง หรือรู้สึกว่าตัวเองยังไม่พบทางอะไรด้วย

อับดุลรอนิง สือแต : ผมคิดว่าปรัชญากับการมีชีวิตอยู่เป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออก เพียงแต่ว่าเรามองเห็นมันหรือไม่เท่านั้นเอง บางครั้งในบทกวี มันอยู่ที่ว่าคนเขียนเขาจับประเด็นอะไร ตัวประเด็นคือสิ่งที่ทำให้มันมีความลึกซึ้งหรือตื้น แต่ทีนี้เวลาเรากล่อมเกลามัน เรากล่อมเกลาด้วยความรู้สึก เราหลอมมันด้วยความรู้สึก บางทีหลักเหตุผลตรงๆนี่มันด้าน แต่ถ้าเรากล่อมเกลามันด้วยความรู้สึกด้วยอารมณ์จะทำให้มันมีความงดงามอยู่ในตัว มันมีพลัง มันตอบโจทย์ในสิ่งที่กวีเขียนได้ มันจึงอยู่ที่ว่าปรัชญานี่ใครจะคว้าหรือใครจะเขียนออกมาเท่านั้นเอง

อย่างที่กวีบอกว่าตัวเองไม่ได้นึกถึงปรัชญาเลยเวลาเขียน แต่ว่าในสิ่งที่เขาบรรยายที่เขาเขียนมันกำลังบอกถึงสิ่งที่เขาคิดและตั้งคำถามต่อสิ่งที่หลายๆคนก็รู้ว่ามันอยู่ในใจของเรา แต่เราไม่ตั้งคำถาม ตรงนี้เองเมื่ออ่านงานกวีมันจึงเป็นสิ่งที่ปิ๊งขึ้นมา

เวลาเราอ่านงานเชิงปรัชญาเราจึงรู้สึกได้ถึงความแตกต่าง เราอ่านงานของยิบราน ของฐากูร ของอิกบาน เราจะเห็นว่ามันพูดถึงความรักที่มีต่อมนุษย์ พูดถึงความรักที่เขามอบตัวเองให้กับพระผู้เป็นเจ้า ผมอ่านแล้วรู้สึกว่าเขากำลังบอกถึงปรัชญาของการเป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่เขาไม่ได้บอกตรงๆแบบการบรรยายว่าต้องอย่างนี้นะ ต้องอย่างนั้น โดยส่วนใหญ่คนเขียนงานทางปรัชญาจะไม่พูดว่าต้อง เขาจะใช้การกล่อมเกลาผ่านบทกวีนี่แหละ บทกวีจึงทำให้ปรัชญาซึมซาบเข้าไปในใจของเรา ดังนั้นผมจึงมองว่าบทกวีที่ไม่มีปรัชญามันจึงไม่มีสีสันและไม่มีประเด็นที่จะทำให้ถึงแก่นของมันจริงๆ เพราะฉะนั้นเวลาเราอ่านสิ่งที่กวีเขียนถึงบางสิ่งบางอย่าง อย่างความรัก คนทั่วไปก็เขียนถึงความรักเหมือนกัน แต่ทำไมความรักที่เขียนโดยกวีมันจึงมีคำตอบหลายทาง แล้วคนก็หามาอ่าน และนำไปจุดประกายต่อได้อีกจากสิ่งที่กวีเขียนเพียงสามสี่บรรทัด แต่คนเขียนต่อจากมุมมองเหล่านี้ได้อีกเป็นร้อยๆเล่มให้เราอ่าน ผมจึงมองว่าปรัชญาเหล่านี้เป็นสมบัติของพระผู้เป็นเจ้าที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่ในตัวแต่ว่าไม่ถูกนำออกมาถ่ายทอด 

แท้จริงแล้วตัวบทกวีเองก็คือการเขียนปรัชญาออกมาอย่างมีสุนทรียภาพ?

อับดุลรอนิง สือแต : ในทัศนะผม แน่นอนมันเป็นอย่างนั้น และมันทำให้รู้สึกว่าปรัชญาเป็นสิ่งหอมหวาน มันน่ารื่นรมย์ กับการที่เราอ่านปรัชญาตรงๆอย่างผมเป็นนักรัฐศาสตร์ ปรัชญาการเมืองแบบแห้งๆยิ่งตอนที่เป็นนักศึกษามันค่อนข้างที่จะน่าเบื่อชวนหลับ เพราะมันเป็นสิ่งที่ต้องคิด แต่ถ้าเรากล่อมเกลาด้วยบทกวี การถ่ายทอดของกวีมันเชื่อมกันด้วยความรู้สึก ด้วยคำที่มีความสละสลวย เชื่อมกับจินตนาการทำให้เราเกิดภาพในใจ มันสามารถสร้างภาพให้เกิดขึ้นกับคนที่อ่าน ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นงานของกวีจึงเป็นงานที่ค่อนข้างจะต้องสะสมทีละเล็กทีละน้อยแล้วก็มองผ่านช่องแว่นที่ละเอียด อย่างกล้องเดี๋ยวนี้มันยี่สิบล้านพิกเซลแต่สำหรับสายตาของกวีนี่มันต้องเป็นร้อย เขาละเอียดอ่อนมาก

 

อับดุลรอนิง สือแต

บทกวีกับปรัชญาเกี่ยวโยงกันอย่างไร?

อันธิฌา แสงชัย : ฟังแล้วก็เกิดคำถามขึ้นมาอันหนึ่ง ดูเหมือนงานของกวีนิพนธ์มันพ้นไปจากตัวอักษรนะคะ สุดท้ายแล้วพ้นไปจากตัวนักเขียน พ้นไปจากตัวบุคคลที่เป็นกวีเองด้วย เป็นไปได้ไหมว่าเป้าหมายสุดท้ายของการเขียนบทกวีคือการพยายามสื่อสารบางอย่างที่มันอาจจะเป็นเรื่องสากล อย่างเช่นเรื่องความรัก ความรักที่ไม่มีบริบทเฉพาะ คุณสามารถรับสารนี้ได้ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวัฒนธรรมไหน ภาษาอะไร ซึ่งมันอาจจะมีวิธีการบางอย่างที่สอดคล้องกับวิธีการของปรัชญา?

ซะการีย์ยา อมตยา : ผมคิดว่าบทกวีกับปรัชญากำลังแสวงหาบางอย่างที่เหมือนกันคือ “ความจริง“ แต่ว่าวิธีการของปรัชญาอาจจะไม่มีสุนทรียะเท่ากับบทกวี จริงๆในตอนต้นที่อาจารย์พูดถึงเพลโต้ ผมก็ได้เตรียมมา ผมขออ่านนิดนึงนะฮะ

มีปราชญ์ท่านหนึ่งกล่าวไว้ว่าบทกวีคือภาษาแม่ของมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่ว่าจะมีอารยธรรมสูงสุดหรือว่าเป็นเพียงชนเผ่าเล็กๆ ในดินแดนอันรกร้างห่างไกล ต่างก็มีบทกวีของตัวเอง ว่ากันว่าปรัชญาจากยุคโบราณที่มีความยากในการทำความเข้าใจมากที่สุดเป็นของปราชญ์เฮราคริตุส ความยากทั้งหมดไม่ได้มาจากถ้อยคำ เพราะถ้อยคำของเขาเป็นถ้อยคำสามัญ เช่น ไฟ น้ำ ธรรมชาติ หรือความรู้ หากความยากนั้นมาจากนัยที่เขาได้สอดแทรกไว้ในข้อเขียนของเขา ความหมายที่เคลื่อนไหวในปรัชญาของเฮราคริตุสก็เป็นดั่งไฟ อันเป็นธาตุที่เขาเชื่อว่าเป็นรากฐานของสรรพสิ่ง และเป็นดังบทกวีที่ทำให้เกิดนัยทับซ้อนเข้าไปในประโยคเดียวกัน นี่เป็นความหมายอีกด้านที่ทำให้กวีนิพนธ์ไม่เป็นเพียงการประชุมรวมถ้อยคำที่งดงามแต่เป็นแก่นแกนที่เชื่อมโยงระหว่างกวีนิพนธ์และปรัชญา ผมคิดว่าทุกท่านในที่นี้อาจจะเคยรู้จักหรือเคยได้อ่านงานของเพลโตที่ชื่อว่า Republic ซึ่งตำราปรัชญาเล่มนี้ได้อุทิศหน้ากระดาษจำนวนหนึ่งเพื่อวิเคราะห์บทบาทหน้าที่ของกวี ซึ่งก็เป็นอย่างที่ทุกท่านทราบกันดีว่าเพลโตนั้นไม่ค่อยนิยมในบทกวีหรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวกวีเอง ซึ่งความไม่นิยมดังกล่าวได้ถูกนำมาขยายและคลี่คลายอีกครั้งในงานเฟดรัส (Phaedrus) ซึ่งทำให้เราได้เข้าใจว่าเพลโตนั้นไม่เชื่อในการเขียนเพราะเขาไม่เชื่อว่ามันจะนำไปสู่ความจริงได้ ซ้ำร้ายข้อเขียนบางชิ้น หากตกอยู่ในมือของผู้อ่านบางคนเขาอาจถูกลวงให้หลงทางไปไกลยังโลกที่ไม่จริง ด้วยเหตุนี้เองกระมังที่ทำให้เพลโตจึงไม่ค่อยเชื่อในงานของเฮราคริตุส เพราะเฮราคริตุสเขียน ขณะที่โสเครติสไม่เคยเขียน

สำหรับกวีนิพนธ์แล้ว การเขียนเป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งในการถ่ายทอด และผมเคยพูดหลายครั้งในเวทีเสวนา ต่อให้เราไม่สามารถจะเขียนเราก็สามารถจะพูดบทกวีของเราออกมาได้ เพียงแต่ว่าความจริงของกวีไม่ได้ตั้งอยู่ที่ใดเป็นการเฉพาะหากมันมักไหลเลื่อนเคลื่อนไหวอยู่ในถ้อยคำ ในความคิดของกวี หรือในความตระหนักรู้ของผู้อ่าน และนี่คือข้อที่ทำให้กวีแตกต่างจากนักปรัชญา

ความจริงของบทกวีเป็นเช่นใด ผมอยากตอบโดยการยกเอาคำกล่าวของนักเขียนท่านหนึ่งมากล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า “เบื้องหน้าของคุณ คือความเท็จ แต่ผม คือความจริง เพราะผมยังมีชีวิต ผมเป็นคนเขียน”

อ.อับดุลรอนิง : ส่วนตัวผมคิดว่าปรัชญาเป็นวิธีการแสวงหาคำตอบสำหรับชีวิต คำถามของปรัชญาคือคำถามที่พยายามแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ของเราว่ามาจากไหน เมื่อไหร่ จะไปไหน ชีวิตเราในตอนนี้คือชีวิตที่จริง หรือหลังจากที่เราตายไปแล้วเราจึงจะมีชีวิตที่แท้จริง มันเป็นสิ่งที่เราต้องค้นหามัน แล้วคำตอบมันไม่ได้หาง่าย หลายคนพยายามหา ทำให้ศาสนาเองก็พยายามอธิบายสิ่งเหล่านี้แล้วทุกศาสนาก็พยายามจะอธิบายเช่นเดียวกัน บทกวีเองมันมีความคิดที่ไม่มีขอบเขตและก็แฝงอยู่ด้วยสิ่งที่สวยงาม ก็คือคำพูดที่สวยงามของกวี ตรงนี้ผมว่ามันสามารถตอบสิ่งที่ปรัชญาพยายามจะตอบด้วยวิธีการที่สวยงามกว่า

ตรงนี้ถ้าหากว่าเราไปดูคัมภีร์อัลกุรอานเอง ก็ถือว่าเป็นคัมภีร์ที่มีภาษาที่สละสลวยที่สุดแล้วก็อยู่ในยุคที่มีภาษาอาหรับที่ดีที่สุด ข้อพิสูจน์ก็คืออัลกุรอานยังถือว่าเป็นภาษากวีที่ดีที่สุดในกลุ่มของบทกวีที่ปรากฏอยู่ในยุคนั้น ในช่วงของบทกวีที่อัลกุรอานปรากฏนั้นเวลาเขาเขียนภาษาอาหรับนี่เจ้าสำบัดสำนวน เมื่อมีใครเขียนบทกวีสักบทหนึ่งเขาก็เอาไปแขวนไว้ที่กะบะห์ มีคนมาล้อมอ่าน ถ้าหากว่าบทกวีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับก็จะถูกทิ้งไป ถ้าบทกวีไหนที่คนอ่านแล้วชอบใจแล้วก็เห็นว่ามันดีก็จะถูกตั้งไว้ตรงนั้น เป็นที่รู้กันว่าอาหรับนี้ใช้อารมณ์ความรู้สึกแม้กับสัตว์เลี้ยง แม้กับอูฐที่เขาเลี้ยงไว้ เขาถ่ายทอดความรักที่มีต่ออูฐ แต่ด้วยความรักที่มีต่อผู้หญิงที่เขารัก เขายินดีที่จะเชือดอูฐตัวนั้นให้ผู้หญิงได้มีน้ำที่อยู่ในท้องของอูฐกินเพื่อที่จะรักษาตัวผู้หญิงเอาไว้ นี้คือสิ่งที่กวีเขียนไว้แล้วแขวนเอาไว้ที่กะบะห์ก่อนหน้าที่อัลกุรอานจะปรากฏด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้นตัวศาสนาเอง เช่นอิสลามถ้าเรามองที่ตัวคัมภีร์ก็จะเห็นว่าเป็นการถ่ายทอดบทกวีที่สวยงาม ภาษาที่ดีเยี่ยม ซึ่งสามารถตอบโจทย์คำถามที่มนุษย์สงสัยมาตลอด ดังนั้นผมจึงมองว่าทั้งปรัชญาและบทกวีก็คือความพยายามของมนุษย์ที่จะตอบโจทย์คำถามเกี่ยวกับชีวิต.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net