Skip to main content
sharethis

โดยนานาชาติห่วงการปิดพรมแดนจะทำให้ประชาชนที่หนีภัยความตายยิ่งเผชิญความเสี่ยง ขณะที่สถานการณ์จลาจลระหว่างชุมชนชาวโรฮิงยาและชาวอาระกันลามไปในหลายพื้นที่ทางตะวันตกของพม่า ยังคงมีการวางเพลิงบ้านเรือน และมีผู้เสียชีวิตรวมอย่างน้อย 21 คน 

สำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า หรือ ดีวีบี รายงานว่า เมื่อวานนี้ (13 มิ.ย.) ทางการบังกลาเทศได้ปฏิเสธการรับเรือของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาอย่างน้อย 3 ลำ ที่หนีเหตุขัดแย้งระหว่างชาวโรฮิงยาและชาวยะไข่ หรือชาวอาระกันในพม่า ขณะที่มีข้อเรียกร้องให้เปิดด่านบังกลาเทศด้วย

ทำให้นับตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นมา ยามฝั่งของบังกลาเทศได้ส่งกลับเรือจำนวน 16 ลำที่บรรทุกชาวโรฮิงยาจำนวน 660 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งพยายามเข้ามาจากพม่าโดยข้ามแม่น้ำนาฟ

ทั้งนี้รัฐบาลบังกลาเทศแถลงว่าจะไม่อนุญาตให้ผู้ลี้ภัยจากพม่าเข้ามา โดยบังกลาเทศในขณะนี้ก็รับภาระรับรองผู้ลี้ภัยแล้วกว่า 300,000 ราย ซึ่งเข้ามาพักพิงอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศมาหลายทศวรรษแล้ว

ขณะที่มีการเรียกร้องจากนานาชาติให้บังกลาเทศผ่อนคลายมาตรการควบคุมตามแนวชายแดน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตกาลด้านมนุษยธรรม โดยนายบิล เฟรลิค ผู้อำนวยการโครงการผู้ลี้ภัย ของฮิวแมนไรท์วอทซ์ กล่าวว่า "การที่บังกลาเทศปิดพรมแดน เมื่อความรุนแรงอยู่ในขีดที่ไม่สามารถควบคุมได้ เท่ากับบังกลาเทศทำให้ชีวิตต้องเผชิญความเสี่ยงอันใหญ่หลวง"

"บังกลาเทศอยู่ภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ที่จะต้องเปิดพรมแดนให้ประชาชนได้หนีภัยคุกคามต่อชีวิตและปกป้องพวกเขา"

ขณะเดียวกันสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ก็เตือนบังกลาเทศให้ส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาข้ามมาเช่นกัน

ขณะที่สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า นายข่ายน์ ปยี ซอ โฆษกพรรคชาติยะไข่เพื่อการพัฒนา (RNDP) กล่าวว่า ที่เมืองซิตตเหว่ เมืองหลวงของรัฐอาระกัน บ้านเรือนหลายหลังทั้งของชาวอาระกัน และชาวโรฮิงยาถูกเผา มีทหารและตำรวจราว 700 นาย ลาดตระเวนผ่านม่านควันอันมาจากจุดที่เกิดไฟไหม้ โดยชาวบ้านเรียกร้องให้เพิ่มกำลังความมั่นคงเพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้อาศัย

ทั้งนี้ที่โรงพยาบาลกลางในเมืองซิตตเหว่ มีข้อมูลว่ามีชาวอาระกัน 21 คน และชาวโรฮิงยา 6 คน เสียชีวิต ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งนี้นับตั้งแต่ประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันมีรายงานผู้เสียชีวิต 7 รายที่เมืองมงด่อว์ ขณะที่สถิติของทางการเมื่อวันอังคาร (12 มิ.ย.) จำนวนผู้เสียชีวิตยังคงอยู่ที่ 21 ราย

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวของอิระวดีที่เข้าไปรายงานสถานการณ์ที่ซิตตเหว่อ้างว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐบาลได้มุ่งไปที่เมืองจองจี นาร์ซิ และธันยาวดี และอีกหลายพื้นที่เมื่อวันอังคารนี้ เนื่องจากชาวโรฮิงยาทำการจุดไฟเผาบ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานกับอิระวดีว่า "ผมเห็นชาวโรฮิงยาซึ่งมีเด็กๆ อายุประมาณ 10 ปีอยู่ด้วยวางเพลิงใส่บ้าน พวกเขาเผาบ้านชาวอาระกันและเผาบ้านของพวกเขา" "มีฝูงชนราว 2,000 คน โดยชาวอาระกันได้หนีเข้าไปอยู่ในวัด โดยผมได้บันทึกภาพเหตุการณ์เป็นวิดีโอไว้ด้วย"

ขณะที่พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติเพื่อการพัฒนา (NDPD) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงชาวมุสลิมในพม่า อยู่ระหว่างการเฝ้าจับตาสถานการณ์ในพื้นที่ภูเขาของรัฐอาระกันและทำการเก็บข้อมูล กล่าวว่า โรฮิงยาเป็นเหยื่อความรุนแรง และมีผู้ถูกฆ่า นอกจากนี้ยังสูญเสียบ้านเรือน และจำนวนมากถูกบีบให้หลบซ่อน โดยนายจ่อ ขิ่น สมาชิกของคณะกรรมการกลางพรรค NDPD กล่าวกับอิระวดีว่าพรรคของเขาพบความยากลำบากในการเก็บสถิติชาวโรฮิงยาที่ไม่มีที่พักอาศัย และยังไม่สามารถทำบัญชีรายชื่อผู้ได้รับผลกระทบได้ โดยพรรคจะพยายามครวบรวมข้อมูลต่อไป

มีผู้อาศัยในเมืองซิตตเหว่ รายงานอิระวดีว่า มีชาวมุสลิมกลุ่มหนึ่งยิงปืนใส่กองกำลังของรัฐบาล โดยมีทหารรายหนึ่งถูกยิงที่ต้นขา จากนั้นก็ได้เข้าไปอยู่ในมัสยิดอ่องมิงกลาของเมือง พวกเขารายงานด้วยว่า ทหารที่ได้รับบาดเจ็บถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลกลางซิตตเหว่ ขณะที่ทหารพม่าไม่ได้ยิงปืนโต้

ความไม่สงบในรัฐอาระกันเริ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งมีกลุ่มมุสลิมแสวงบุญ 10 คนถูกชาวอาระกันตีจนเสียชีวิต ระหว่างเดินทางไปย่างกุ้ง โดยการโจมตีดังกล่าวเพื่อตอบโต้กับข้อกล่าวหาว่ามีสตรีอายุ 26 ปีรายหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าโดยชาวมุสลิมสามคนเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวแล้วและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ขณะที่เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่่ผ่านมา มีรายงานโดยสื่อพม่าว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้ฆ่าตัวตายในเรือนจำ

และสถานการณ์รุนแรงในรัฐอาระกันเริ่มขยายตัวมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุประท้วงเมื่อวันศุกร์ที่่่ผ่านมาโดยชาวโรฮิงยา โดยซึ่งได้เข้าโจมตีชุมชนชาวอาระกัน ในเมืองมงดอว์ รัฐอาระกัน โดยหลังเกิดเหตุ ทางการพม่าได้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ทันทีและห้ามประชาชนในพื้นที่ชุมนุมกันเกิน 5 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net