Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เห็นข่าวคราวความขัดแย้งทางศาสนา ระหว่างคนพุทธและมุสลิม ในแคว้นอาระกัน ประเทศเมียนมาร์ ก็ให้นึกเกร็ดความรู้ที่เคยอ่าน เคยฟัง เคยค้นเจอสมัยเตรียมตัวไปพม่าถึง 3 หน 3 ครา โดยจดบันทึกไว้เลยขอเอามาให้รู้จักกับแคว้นอาระกันครับ

(1) แคว้นอาระกัน หลายคนคงทราบหรืออาจไม่ทราบ ว่าดินแดนแห่งนี้ ก็คือ "เมืองยะไข่" ในประวัติศาสตร์และพงศาวดารทั้งไทยและพม่า (กระทั่งในนวนิยาย "ผู้ชนะสิบทิศ" ของ ยาขอบ)

(2) ดินแดนยะไข่ เดิมกว่านั้นในครั้งพุทธกาล คือ เมือง "เวสาลี" (มีโบราณสถานใน จ.ไวสาลี แคว้นอาระกัน) ที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาจำพรรษาสุดท้าย ณ ป่ามหาวัน และที่นี่เป็นสถานที่ผนวช "ภิกษุณี" เป็นครั้งแรก และหลังจากพระพุทธเจ้า เสด็จกลับจากเวสาลีผ่านเมืองปาวา ไปยังเมืองกุสินารา ทรงแวะสวนมะม่วงนายจุณฑะ เสวย "สุกรมัทวะ" กระทั่งประชวรและปรินิพพานในอีก 3 เดือนถัดมา

(3) เมืองยะไข่ มีชัยภูมิเป็นเมืองท่าตั้งอยู่ปากน้ำ "กาลาดาน" และปากน้ำ "อัคยับ" จึงเป็นชนชาติที่ชำนาญการเดินเรือ และสามารถรบทางเรือได้เก่งกาจ ชนชาติยะไข่จึงขึ้นชื่อ ในการเป็นโจรสลัดที่ชาวพม่าและอินเดียหวาดกลัว กระทั่งปัจจุบัน "โจรสลัดโรฮิงยา" ที่ก่อปัญหาในมหาสมุทรอินเดีย ณ ปัจจุบัน แม้ไม่ใช่ชนชาวยะไข่เดิม แต่ก็มีฐานกำลังอยู่ที่แคว้นนี้

(4) ดินแดนยะไข่ในอดีตเจริญรุ่งเรืองมาก ถึงขนาดเคยมีบันทึกของฝรั่งที่เข้ามาค้าขาย ว่าพระราชวังเมืองยะไข่ทำด้วยทองคำทั้งหลัง แม้กระทั่งพื้นก็ยังเป็นแผ่นทอง (ดังนั้น ทองคำที่พระเจดีย์ชเวย์ดากอง ก็อย่าทึกทักว่าเป็นทองของอยุธยาทั้งหมด-ฮา)

(5) สมัยพระนเรศวรฯ ซึ่งเป็นกษัตริย์ไทยเพียงพระองค์เดียว ที่สามารถบุกตีเข้าไปในดินแดนพม่า โดยเข้าไปล้อมกรุงหงสาวดีไว้ แต่ก็ยังไม่ทันกองทัพของแคว้นยะไข่ ที่เข้าไปกวาดต้อน ปล้นชิง และเผาเมืองหงสาวดี (พะโค) จนวอดวายก่อนทัพพระนเรศวรจะไปถึง มีนักประวัติศาสตร์ไทยและพม่า สันนิษฐานว่าอาจมีเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ของกรุงอยุธยาที่ถูกจับเป็นเชลยครั้งเสียกรุง ครั้งที่ 1 ได้ถูกกวาดต้อนไปยะไข่ด้วย

(6) มีหลักฐานทางพม่า ถึงขนาดกล่าวว่าทัพพระนเรศวร เคยเข้ารบกับทัพของยะไข่ แต่พลาดท่าเสียทีทำให้พระเอกาทศรถ ถูกทัพยะไข่จับกุมตัว ก่อนมีการเจรจายุติศึกและขอให้ปล่อยตัวประกัน

(7) ยะไข่มีแนวเขา "อะระกันโยมา" เป็นกำแพงธรรมชาติ และมีป้อมค่ายที่ถือเป็นป้อมค่ายอันแข็งแกร่ง กระทั่งกษัตริย์พม่าหลายพระองค์ ทั้ง ตะเบ็งชะเวตี, บุเรงนอง (ผู้นำศึกครั้งเสียกรุงอยุธยา ครั้งที่ 1), อลองพญา หรือ มังระ (ผู้นำศึกครั้งเสียกรุงอยุธยา ครั้งที่ 2) ก็มิอาจเข้าตียึดยะไข่ได้ มีเพียง "พระเจ้าปดุง" (ลูกชายคนที่ 5 ของพระเจ้าอลองพญา-น้องชายพระเจ้ามังระ ผู้นำศึกสงครามเก้าทัพกับไทย) เท่านั้นที่เข้าตียะไข่ได้สำเร็จ

(8) หลังเมืองยะไข่แตก ครั้งยุคพระเจ้าปดุง "พระมหามัยมุนี" (ในภาพ) พระพุทธรูปทองคำคู่บ้านคู่เมืองยะไข่ พระเจ้าปดุงได้อัญเชิญมาไว้กรุงอังวะ (เมืองหลวงพม่าขณะนั้น ซึ่งอยู่ติดกับเมืองมัณฑะเลย์ในปัจจุบัน) โดยตัดองค์พระเป็น 3 ท่อนเพื่อเคลื่อนย้าย

(9) ในปลายราชวงศ์คองบอง หรือ รางวงศ์อลองพญา สมัย "พระเจ้าจักกายแมง" (ต่อสมัยพระเจ้าปดุง) ได้ไปทำสงครามยึดแคว้นอัสสัมของอินเดีย ก่อให้เกิดสงครามระหว่างพม่า กับจักรวรรดิอังกฤษ (อังกฤษได้อินเดียเป็นอาณานิคมในขณะนั้น) เป็นครั้งแรก กินระยะเวลาถึง 2 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2367-2369 แต่สุดท้ายอังกฤษชนะ และได้มีการทำสัญญาชดใช้สินสงคราม ในชื่อ " สนธิสัญญายันดาโบ (Yandabo)" ซึ่งพม่าจำต้องยกเมืองที่สำคัญ เช่น ยะไข่ มณีปุระ ตะนาวศรี ให้กับอังกฤษ ดินแดนยะไข่จึงตกเป็นของจักรวรรดิอังกฤษ ไปโดยปริยาย แต่ไม่นานพม่าทั้งดินแดนตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ในสงครามพม่า-อังกฤษ ครั้งที่ 2 (พระเจ้ามินดง) และครั้งสุดท้าย ในยุคสมัยพระเจ้าสีป่อ

(10) ปี พ.ศ.2484-2486 นายพลอูอองซาน ได้ร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่น และรวบรวมชนชาติต่าง ๆ ในพม่าที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เข้าร่วมกันต่อสู้เพื่อประกาศอิสรภาพ โดยมี "สนธิสัญญาปางโหลง" เป็นเครื่องรับประกันในการได้รับชนชาติต่าง ๆ จะได้รับเอกราช หลังจากได้รับชัยชนะ และ "แคว้นยะไข่" ก็คือหนึ่งในชนชาติที่เข้าร่วมต่อสู้ เพื่อประกาศอิสรภาพของพม่าในครั้งนั้น 

กระทั่งวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 นายพลอองซาน ได้ถูกลอบสังหารพร้อมกับสมาชิกสภาอีก 6 คน โดยมิทันได้เห็นการประกาศเอกราชของพม่า ในวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 และ "สนธิสัญญาปางโหลง" ได้ถูกนายพลเนวิน ที่กระทำรัฐประหารฉีกข้อตกลงนี้ทิ้งไป ทำให้ดินแดนยะไข่ และดินแดนของชนชาติอื่น ๆ ในพม่ามิได้รับอิสรภาพอย่างแท้จริง

(11) แม้ว่าชาวยะไข่ จะมีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายเดียวกันกับชาวพม่า แต่คนพม่าก็ยังมองว่า พวกยะไข่มีนิสัยใจคอไปทางแขก ด้วยที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับประเทศบังกลาเทศ และประเทศอินเดีย คนพม่า (ที่ไม่ใช่คนยะไข่) จึงมักมีโวหารเปรียบเปรยว่า "หากสู้แขกไม่ไหว ให้ถามพวกยะไข่" ด้วยว่าชาวยะไข่นั้น ไม่ค่อยจะยอมอ่อนข้อให้ผู้อื่น และร้ายจนพวกแขกก็ไม่กล้ามาตอแยด้วย บ้างก็ว่ายะไข่มักรู้เห็นเป็นใจกับชาวมุสลิม ด้วยนิสัยของชาวยะไข่เช่นนี้ คนพม่าจึงมีโวหารอีกอย่างหนึ่ง เกี่ยวกับชาวยะไข่คือ "หากเจองูกับยะไข่ ให้ตียะไข่ก่อนตีงู"

(12) ความสัมพันธ์ที่เกิดปัญหารุนแรง ระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมในดินแดน อาระกัน หรือ ยะไข่ จะมีสาเหตุต้นตอมาจากที่ใด เรื่องนี้ท่าน ๆ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ครับ ผมคงไม่อาจก้าวล่วงหาข้อสรุป เพราะสติปัญญายังไม่ถึงหางอึ่ง จึงได้แต่นำเกล็ดโน่นนี่มาให้อ่านกัน ตามประสาเท่าทีเคยอ่าน เคยฟัง เคยค้นหาเรื่องราวเหล่านี้ครับ

แต่ยังไงก็ตามหวังว่าสันติสุข จะคืนกลับดินแดนแห่งนั้นในเร็ววัน...

หมายเหตุ: 1.สาระและภาพประกอบจาก Facebook ของ Nuk Chemchem
2. คำบรรยายภาพประกอบ: พระพุทธรูปมหามุนี ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า เดิมประดิษฐานอยู่ที่อาณาจักรธันยาวดี ในรัฐอาระกันปัจจุบัน ต่อมาในปี พ.ศ. 2328 ในสมัยพระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่าที่มัณฑะเลย์ ได้สั่งให้เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปมหามุนีมาประดิษฐานที่เมืองมัณฑะเลย์สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net