Skip to main content
sharethis

รัฐบาลพม่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ 4 ตำบลของรัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ นับตั้งแต่เกิดเหตุตึงเครียดทางเชื้อชาติ-ศาสนาระหว่างชาวอาระกัน กับชาวโรฮิงยาขึ้นในพื้นที่ จนนำไปสู่การจลาจล 

ภาพจาก Eleven Media Group ซึ่งเป็นสื่อในพม่า เผยแพร่ภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจพม่าซึ่งพกอาวุธปืน ระหว่างเข้าควบคุมสถานการณ์ที่เมืองมงด่อว์ (Muang Daw)  เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ขณะที่ล่าสุดประธานาธิบดีพม่าได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายพื้นที่ของรัฐยะไข่ หรือรัฐอาระกัน พร้อมแถลงว่ากระบวนการประชาธิปไตยอาจได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบดังกล่าว

 การแถลงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ MRTV ของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง

 

ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ประกาศภาวะฉุกเฉินหลายพื้นที่ในรัฐอาระกัน

ทั้งนี้เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้ประกาศเคอร์ฟิวส์ในยามวิกาลใน 4 ตำบลของรัฐอาระกัน หรือรัฐยะไข่ ซึ่งมีความตึงเครียดเกิดขึ้นนับตั้งแต่มีเหตุสังหารชาวมุสลิม 10 คนที่โดยสารรถประจำทางเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

โดยการปราศรัยทางโทรทัศน์ ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง กล่าวว่า ความรุนแรงถูกโหมกระพือโดยความเกลียดชังและการแก้แค้น "ถ้าเรามุ่งไปที่เรื่องเชื้อชาติและศาสนาเป็นประเด็นแรกสุด ถ้าเรามุ่งไปที่เรื่องความเกลียดชังที่ไม่มีวันสิ้นสุด ความต้องการมุ่งแก้แค้นและการกระทำที่ไม่มีขื่อไม่มีแป และถ้าพวกเราเริ่มต้นตอบโต้และก่อเหตุร้ายและฆ่าซึ่งกันและกัน ก็จะเกิดภัยอันตรายที่อาจเพิ่มทวีและกระจายไปนอกรัฐอาระกัน"

"ถ้าเกินสิ่งนั้นขึ้น สาธารณชนโปรดตระหนักว่าเสถียรภาพของประเทศ สันติภาพ กระบวนการประชาธิปไตย และการพัฒนา ซึ่งขณะนี้อยู่ในภาวะเปลี่ยนผ่าน อาจจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงและอาจสูญหาย"

โดยเต็ง เส่งกล่าวว่าคำสั่งสถานการณ์ฉุกเฉินจะบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีประกาศเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวการ์เดียน ของอังกฤษ ให้ข้อสังเกตุว่านับเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เต็ง เส่งเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดี ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งจะมีผลทันทีตามรัฐธรรมนูญพม่า ที่บัญญัติให้กองทัพสามารถเข้ามาใช้อำนาจบริหาร

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีเด็กหญิงอายุ 12 ปี ชื่อราเซ็น บีบี กล่าวเป็นรายที่ 8 ที่เสียชีวิตในเหตุไม่สงบดังกล่าว หลังมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงปืนภายนอกบ้านของเธอในเมืองมงด่อว์ ทั้งนี้ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเมืองดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนท้องถิ่นและองค์กรระหว่างประเทศซึ่งสังเกตการณ์สถานการณ์ในพม่าด้านตะวันตกอ้างว่าเขาเห็นตำรวจเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิต

ขณะที่ผู้นำฝ่ายค้านอย่างออง ซาน ซูจี ซึ่งมีกำหนดเยือนอังกฤษในเดือนนี้ยังคงไม่มีท่าทีต่อเหตุจลาจลที่เกิดขึ้น และยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าวจะกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางของเธอหรือไม่ และความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็จะดึงความสนใจไปจากการเดินทางของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเหมือนเป็นใบเสร็จแสดงความก้าวหน้าในประเทศของเธอ

ทั้งนี้ความไม่สงบในรัฐอาระกันเริ่มมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ซึ่งมีกลุ่มมุสลิมแสวงบุญ 10 คนถูกชาวอาระกันตีจนเสียชีวิต ระหว่างเดินทางไปย่างกุ้ง โดยการโจมตีดังกล่าวเพื่อตอบโต้กับข้อกล่าวหาว่ามีสตรีอายุ 26 ปีรายหนึ่งถูกข่มขืนและฆ่าโดยชาวมุสลิมสามคนเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวแล้วและอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ขณะที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่่ผ่านมา มีรายงานโดยสื่อพม่าว่า หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาได้ฆ่าตัวตายในเรือนจำ

ขณะที่สถานการณ์รุนแรงในรัฐอาระกันเริ่มขยายตัวมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุประท้วงเมื่อวันศุกร์ที่่่ผ่านมาโดยชาวมุสลิม โดยซึ่งได้เข้าโจมตีชุมชนชาวอาระกัน ซึ่งเป็นชาวพุทธในเมืองมงดอว์ รัฐอาระกัน โดยทางการพม่ารายงานเบื้องต้นว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 7 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 17 คน สื่อของรัฐบาลพม่ายังรายงานว่า มีบ้านเรือนถูกทำลายได้รับความเสียหาย 494 หลัง ร้านค้าอีก 19 แห่ง รวมถึงโรงแรมอีก 1 แห่ง ในจำนวนนี้พบมีบ้านเรือน 4 – 5 หลัง ถูกเผา ส่วนชาวอาระกันกว่า 300 คน ที่หนีไปอยู่ที่วัดได้รับความช่วยเหลือแล้ว โดยหลังเกิดเหตุ ทางการพม่าได้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ทันทีและห้ามประชาชนในพื้นที่ชุมนุมกันเกิน 5 คน มีรายงานว่า มีการประกาศเคอร์ฟิวในเมืองบูทีดองด้วย

ทั้งนี้ความตึงเครียดด้านเชื้อชาติและศาสนาไม่ใช่เรื่องใหม่ในรัฐอาระกัน ซึ่งมีพรมแดนติดกับบังกลาเทศซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของชาวมุสลิมสูงที่สุด อย่างไรก็ตามเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นนับเป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดในรอบสิบปีมานี้ ทั้งนี้สื่อของรัฐบาลพม่าได้เตือนไม่ให้มีการกระทำที่เป็นอนาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้

ขณะที่หม่อง ซาร์นี (Maung Zarni) นักวิจัยรับเชิญที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งเป็นเหตุอันน่าสลดใจมาก หากพิจารณาว่าคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายต่างก็เคยถูกข่มเหงมาก่อนจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่า เขากล่าวด้วยว่ารัฐบาลพลเรือนได้ประโยชน์จากเหตุไม่สงบอันนี้ เนื่องจากได้เบี่ยงเบนประเด็นความสนใจไปจากกรณีที่กองทัพพม่ายังคงดำเนินการโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ชาวมุสลิมในย่างกุ้งเข้าพบออง ซาน ซูจี 

ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะเกิดความรุนแรงระลอกใหม่ เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่่ผ่านมา สำนักข่าวอิระวดีรายงานว่าได้มีชาวมุสลิมในย่างกุ้งขอเข้าพบนางออง ซาน ซูจี ณ ที่ทำการพรรคเอ็นแอลดี "แม่ ได้โปรดทำอะไรบางอย่างเพื่อพวกเรา พวกเรากังวลมากว่าจะเกิดความรุนแรงซ้ำขึ้นมาอีก" ชายคนหนึ่งกล่าวกับนางออง ซาน ซูจี และมีผู้กล่าวกับซูจีอีกว่า "เพื่อนของเราถูกฆ่า พวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย พวกเขาเป็นผู้แสวงบุญ" "เราสามารถลงโทษ ผู้ก่อเหตุข่มขืนได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นชาวพุทธหรือชาวมุสลิมก็ตาม"

ทั้งนี้ซูจีพยายามปลอบใจชาวมุสลิมเหล่านี้ และกล่าวว่า เธอจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อความปลอดภัยของทุกคน แม้ว่าเธอจะไม่มีหน้าที่ก็ตาม "ฉันต้องการให้พม่าเป็นประเทศที่ประชาชนจากทุกเชื้อชาติ ศาสนา ได้รับหลักประกันความมั่นคง"

โมฮัมหมัด ฮาซาน กล่าวว่า ความกังวลใจของเขาถูกขจัดไปครึ่งหนึ่ง หลังจากพบกับนางออง ซาน ซูจี โดยเขามีความหวังว่าออง ซาน ซูจีจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น "เธอเป็นคนหนึ่งที่พวกเราทุกคนรัก และยังเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เธอน่าจะมีหนทางในการช่วยพวกเรา"

 

ภาวะสุดขั้วสังคมออนไลน์พม่า หลังเหตุไม่สงบในรัฐอาระกัน

เนชั่นแนลโพสต์ของแคนาดา เผยแพร่ภาพจากสำนักข่าวต่างประเทศ เป็นภาพพระสงฆ์ชาวพม่าออกมาชุมนุมที่เจดีย์ชเวดากอง ในย่างกุ้ง เมื่อ 10 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยถือป้ายเขียนว่า "ผู้ก่อการร้ายชาวเบงกาลี ศัตรูของรัฐ" ทั้งนี้เกิดภาวะสุดขั้วขึ้นในสังคมพม่าและลามไปถึงสังคมออนไลน์ด้วย นับตั้งแต่เกิดเหตุตึงเครียดทางเชื้่อชาติ-ศาสนาขึ้นในรัฐอาระกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในโลกออนไลน์ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในพม่า ก็อยู่ในภาวะสุดขั้วเช่นกัน โดยในเว็บไซต์ของสำนักข่าวพม่าพลัดถิ่น อย่างเช่น ท้ายข่าวของสำนักข่าวอิระวดี หรือเฟซบุคของสำนักข่าวพม่าในประเทศเองอย่าง Eleven Media Group ได้มีผู้แสดงความเห็นในเชิงเหยียดชาวโรฮิงยา โดยกล่าวหาว่าไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยในพม่า แต่เป็นผู้อพยพมาจากบังกลาเทศ โดยเรียกชาวโรฮิงยาว่าเป็น "ชาวเบงกาลี" ซึ่งหมายถึงชาวบังกลาเทศ และมีผู้โพสต์สนับสนุนให้ทหารใช้ "มาตรการที่มีประสิทธิภาพ" ต่อ "ผู้ก่อการร้าย" หรือ "ผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย"

แม้แต่โก โก ยี ซึ่งเป็นผู้นำนักศึกษา ในปี 1988 และเป็นอดีตนักโทษการเมือง ก็ออกมาแถลงข่าวว่า "ชาวเบงกาลี โรฮิงยา" ไม่ใช่เชื้่อชาติใดๆ ในพม่า และเตือนชาติตะวันตกไม่ให้เข้ามาข้องเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวทั้งที่มีความเข้าใจต่อเรื่องนี้เพียงน้อยนิด โดยการแถลงของเขาได้รับการเผยแพร่ในเว็บไซต์เสียงประชาธิปไตยพม่า หรือ ดีวีบี ด้วย (ชมคลิป)

ขณะที่เว็บไซต์ของสื่อพลัดถิ่นพม่าที่เป็นของชาวโรฮิงยาอย่าง กะลาดั่น (Kaladanpress) ก็นำเสนอข่าวอีกด้าน โดยให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุไม่สงบที่เมืองมงดอว์ถึง 100 คน และบาดเจ็บกว่า 500 คน เป็นต้น

ทั้งนี้ในการโพสต์แสดงความเห็นในเว็บเครือข่ายทางสังคมอย่างเฟซบุคขณะนี้ ชาวพม่าที่สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐและสนับสนุนชาวอาระกัน ก็จะโพสต์สนับสนุนปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐบาล และกล่าวโทษว่าชาวโรฮิงยา หรือที่พวกเขาเรียกว่า "เบงกาลี" ว่าเป็นต้นเหตุของความไม่สงบ เป็นผู้วางเพลิงสถานที่ต่างๆ และไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงยาเป็นพลเมืองของพม่า ขณะที่ฝ่ายผู้สนับสนุนชาวโรฮิงยา ก็จะกล่าวโทษว่าเจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมมือกับชาวอาระกัน เป็นต้นเหตุของความไม่สงบ และการวางเพลิงสถานที่ต่างๆ รวมทั้งทำให้ชาวโรฮิงยาต้องเสียชีวิตและอพยพออกจากถิ่นฐาน

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก

Suu Kyi Calls for Rule of Law, Compassion to End Religious Tensions, By HPYO WAI THA / THE IRRAWADDY| June 7, 2012 | http://www.irrawaddy.org/archives/6000

Burma clashes could put transition to democracy at risk, president says, Francis Wade in Myitkyina, Burma, guardian.co.uk, Sunday 10 June 2012 17.42 BST

Dozens killed, hundreds of buildings burnt down by Bengali Rohingya mobs in border town of Maungdaw, Reported by Eleven Media Group, 9 June 2012

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net