เปิดชีวิตสุดรันทดสาวโรงงาน ประกันสังคมยื้อรักษามะเร็ง

รพ.ประกันสังคมบ่ายเบี่ยงไม่รักษาผู้ประกันตน 47 รายที่ตรวจพบเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น แพทย์ชี้ระบบ  สปส.มีปัญหา รพ.หวังกำไรไม่ห่วงชีวิตคน แนะให้ สปสช.จัดการ

รพ.ประกันสังคมบ่ายเบี่ยงไม่รักษาผู้ประกันตน 47 รายที่ตรวจพบเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้น อ้างไม่ยอมรับผลตรวจ ถ้าอยากให้รักษาต้องตรวจใหม่ จ่ายเงินเอง รอผลอีก 1 เดือน เคราะห์ซ้ำติดน้ำท่วมรอ 8 เดือนกว่าจะส่งตัวรักษาได้ แพทย์ชี้ตรวจคัดกรองมะเร็งไร้ประโยชน์หากขั้นตอนรักษาไม่รองรับ เผยหญิงไทยตายเพราะมะเร็งปากมดลูกวันละ 15 คน ระบบ สปส.มีปัญหา คุ้มครอง รพ.มากกว่าแรงงาน รักษามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มต้นถูกรวมในงบรายหัว แต่ถ้าปล่อยให้เป็นระยะสองถึงเบิกเงินจาก สปส.ได้ ย้ำมีผู้ประกันตนถูกยื้อรักษามากแต่ไม่กล้าเปิดเผย เหตุกลัว  รพ.แกล้ง ชี้ สปส.ต้องยอมรับว่าทำเรื่องรักษาพยาบาลไม่ได้ ควรยกให้ สปสช.จัดการจะดีและถูกกว่า

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2555 ที่โรงแรมริชมอนด์ ในการเสวนาเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ซึ่งจัดโดยกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ นางสุวิษา แสงบุตร เจ้าหน้าที่โครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เปิดเผยว่า จากการไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ผู้ประกันตนหญิง 4,200 ราย ในนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง พบว่ามี 3 รายที่เป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น และ 44 ราย เป็นระยะที่กำลังจะเป็นมะเร็ง ทั้ง 47 รายนั้นมีสิทธิ์ประกันสังคมอยู่กับ รพ.เอกชน 6 แห่ง ทางโครงการตรวจเจอตั้งแต่ก.ค. 54 รายงานผลต้นก.ย.ถึงทุกคน หลังจากนั้นทีมแพทย์พยาบาลได้จัดกลุ่มให้คำปรึกษาทั้ง 47 คน ว่าขั้นตอน วิธีการรักษาจะทำได้ง่ายๆอย่างไร โดยแพทย์จะใช้กล้องส่องปากมดลูก และปาดผิวของปากมดลูกที่เป็นรอยโรคออก เรียกว่า LEEP รักษาแบบผู้ป่วยนอกได้ไม่ต้องนอน รพ. แต่ รพ. ทั้ง  6 แห่งไม่มีเครื่องมือนี้ ซึ่งตามขั้นตอน รพ.ต้องส่งต่อเพื่อไปรักษา แต่ รพ.ไม่ยอมรับผลตรวจคัดกรอง ถ้าอยากรักษาก็ต้องตรวจใหม่ และต้องจ่ายเอง เพราะผู้ประกันตนสงสัย ไม่ใช่หมอสงสัย ซึ่งผู้ประกันตนก็ยอมจ่ายเงินเอง700 บ. ใช้เวลาหนึ่งเดือนกว่าจะรู้ผล เท่ากับเสียเวลาไปอีก

นางสุวิษา กล่าวต่อว่า เมื่อตรวจซ้ำอีกและรู้ผลก็ยังรักษาไม่ได้ทันที ขอให้ส่งตัว ทาง รพ.บอกว่าจะส่งไปอีก รพ.หนึ่งที่ไกลมาก ซึ่งผู้ประกันตนก็ไป แต่ต้องรอคิวอีก 3 เดือน และมาเจอกับเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.ย.น้ำเริ่มมา ต้องสู้กับน้ำท่วมและขวนขวายทำการรักษาให้ได้ ซึ่งหลายคนกลัวมาก เพราะต้องลุยน้ำเน่าไปรับห่ออาหารทุกวัน กังวลว่าเชื้อโรคในน้ำจะมีผลทำให้มะเร็งลุกลามหรือไม่ สร้างความทุกข์ใจมาก เหตุการณ์นี้รันทดมาก รู้ว่าเป็นมะเร็งแต่ติดขัดที่การรักษา ทีมงานที่ตรวจคัดกรอง ได้เสนอปัญหาที่จะเกิดการล่าช้าให้กับ สปส. ตั้งแต่ กย.54 แต่พบว่ากลไกของ สปส.ไม่ขยับ ก็เลยต้องมาทำหน้าที่ ประสานงานไปมาระหว่าง รพ.ตามสิทธิ์ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จนถึงสปส.เขต

“ผ่านไปกว่าครึ่งปีถึงจะเริ่มได้รับการรักษาประมาณครึ่งหนึ่ง พอถึงเม.ย.เหลืออยู่ 4 รายที่ยังไม่ได้ทำ LEEP ซึ่งก็ต้องผลักดันกันต่อไป ก่อนหน้านี้ได้ประสานงานให้ผู้ประกันตนมาเล่าถึงวิบากกรรมที่ต้องเผชิญ แต่ผู้ประกันตนไม่กล้าเพราะกลัวจะไปสร้างปัญหาให้กับเพื่อนๆในโรงงานที่ขึ้นทะเบียนกับ รพ. จึงต้องออกมาเล่าเรื่องนี้เองเพราะอยากให้แก้ไขปัญหามาตรฐานการรักษานี้ ไม่ให้เกิดกับผู้ประกันตนรายอื่นๆ” นางสุวิษา กล่าว

นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย ซึ่งได้นำพยาบาลจากสถานีอนามัยใน 7 อำเภอไปตรวจในโครงการนี้ กล่าวว่า ปัจจุบันหญิงไทยวัยทำงานตายเพราะมะเร็งปากมดลูกวันละ 15 คน ระบบสปส.กำลังทำให้สถิตินี้เพิ่มขึ้น แม้ประกันสังคมกำหนดว่า รพ.เข้าร่วมต้องมีขนาด 100 ขึ้นไป แต่ก็เป็น 100 เตียงที่ไม่มีคุณภาพ ตัวอย่างครั้งนี้ชัดเจนมาก มีผู้ป่วยพร้อมกัน 47 ราย ทดสอบความสามารถของ 6 รพ. ก็ยังต้องใช้เวลานานกว่าจะฝ่าขั้นตอนวิบากกรรมการส่งตัวไปได้ ไม่รู้ว่าการประกาศเมื่อ 26 เม.ย. 54 ที่ สปส.ขึ้นค่ารักษาโรคมะเร็งจากเดิมเพดาน 50,000 บ. ขึ้นไปเป็น 272,100 บาท จะมีส่วนดีหรือเสียเมื่อพิจารณาจากพื้นฐานเหตุการณ์ในครั้งนี้ โรคมะเร็งนั้นเรารณรงค์ตรวจคัดกรองเพราะในระยะแรกรักษาหายขาด แต่ระบบไปให้รางวัลกับการรักษาระยะรุนแรงแล้ว เท่ากับจูงใจว่าถ้าเจอระยะแรกจะบอกว่ายังไม่เป็นอะไรมาก รอดูอาการก่อน พอเป็นระยะลุกลามต้องผ่าตัดมดลูกออกจึงทำการรักษาเพราะเบิกได้มากกว่า แบบนี้เท่ากับหวังกำไรมากกว่าห่วงชีวิตคน สปส.คุ้มครองผู้ใช้แรงงานหรือคุ้มครองใครกันแน่

“ผมงงมากว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการรักษาของ สปส. ถ้าปล่อยให้ผู้ประกันตนไปจัดการเองจะได้รักษาหรือไม่ เพราะมีอยู่ 1 คน ที่เคยตรวจเจอแล้วเมื่อ 2 ปีก่อนว่าจะเป็นมะเร็ง แต่ รพ.บอกว่ายังไม่ถึงเกณฑ์รักษา ถ้าจะรักษาต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เลยรอจนมาเข้าโครงการครั้งนี้จึงได้รักษาตามสิทธิ  ที่ผ่านมาต้องผลักดันออกแรงกันมาก กว่าที่ 47 คนนี้จะได้ทำการรักษาทันเวลา การตรวจคัดกรองเลยดูเหมือนไม่มีประโยชน์ แม้จะตรวจพบแต่ต้นแต่ก็ไม่ได้รักษาแถมถูกดึงเรื่องอีก แปลกประหลาดมาก สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลของสปส.มีปัญหา สปส.ตระหนักเรื่องนี้ดี ปีที่ผ่านมาสปส.ก็ถูกกระตุ้นอย่างหนักกว่าจะปรับสิทธิประโยชน์จนเท่ากับบัตรทอง สปส.ต้องยอมรับว่าทำได้ไม่ดี ควรเรียนรู้จาก สปสช. หรือยกให้เขาจัดการไปเลยจะดีกว่า ถูกกว่าด้วย และต้องไม่ลืมว่าผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่ยังต้องจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาลแถมได้รับบริการที่ไม่ดี”นพ.พูลชัยกล่าว

นพ.พูลชัย กล่าวว่า ตนรู้สึกว่าประกันสังคมเป็นมาเฟียมาก เหตุการณ์ที่ รพ.บ่ายเบี่ยงการรักษามีอยู่มาก แต่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำไม่กล้าออกมาเรียกร้องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ 47 คนนี้ ก็ยังไม่มีใครกล้าร้องเรียน  รพ.เพราะกลัวว่าเพื่อนๆผู้ประกันตนด้วยกันจะถูกกลั่นแกล้งจากทาง รพ. ในโอกาสที่รัฐบาลมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนสุขภาพ และกำลังจะขยายไปโรคเอดส์และโรคไต ตนสนับสนุนให้ดำเนินการโรคมะเร็งด้วย และควรทำเป็นนโยบายเร่งด่วน จะช่วยชีวิตคนได้อีกหลายคนที่ไม่ควรจะเสียไปเพราะความไร้ประสิทธิภาพของระบบ แบบที่ สปส.เป็นอยู่นี้  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท