หมอซินเธียชี้ "ออง ซาน ซูจี" เยือนไทยสำคัญ เพราะจะได้มาเห็นกับตา

ถึงสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย เชื่อแม้การเมืองพม่าจะดีขึ้น แต่สันติภาพของชนกลุ่มน้อยยังไม่แน่ชัด พร้อมเสนอแนะ 3 เรื่องเพื่อให้มีสันติภาพ กู้ระเบิด-มีข้อตกลงสันติภาพที่ได้รับการยอมรับ-พัฒนาด้านการศึกษา 

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ศูนย์การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยชาวกะเหรี่ยง พม่าและผู้หลบหนีภัยการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-พม่า คลีนิคแม่ตาว  อ.แม่สอด จ.ตาก พญ.ซินเธีย หม่อง เจ้าของคลีนิคแม่ตาวและเจ้าของราลวัลแม็กไซไซ แสดงความเห็นและวิเคราะห์สถานการณ์และทิศทางการเปลี่ยนแปลงของประเทศพม่า ภายหลังจากที่นางอองซาน  ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยประเทศพม่าได้มาเยี่ยมชาวพม่าในประเทศไทย

พญ.ซินเธีย กล่าวว่า การเข้ามาเยี่ยมชาวพม่าในประเทศไทยของนางอองซาน ซูจีครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญมาก เพราะแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศพม่า นางอองซานก็ต้องได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยว่าประสบปัญหาด้านการเข้าถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากน้อยแค่ไหนอย่างไรบ้าง ซึ่งนางอองซานก็ได้เห็นสภาพความเป็นจริงด้วยตนเองแล้ว เนื่องจากว่าแม้สถานการณ์การเมืองในฝั่งพม่าจะดีขึ้นแต่แนวโน้มของการเกิดสันติภาพอย่างแท้จริงของรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยที่มีอาณาเขตพื้นที่ติดกับชายแดนประเทศไทยก็ยังเป็นเพียงความหวังที่ไม่แน่ชัด โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารเองก็ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการทางด้านสาธารณสุขและระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น รวมทั้งเด็กที่ไร้สัญชาติและพลัดพรากจากครอบครัวเพราะการสู้รบที่ยืดเยื้อกว่าหกสิบปี

เจ้าของคลีนิคแม่ตาวและเจ้าของรางวัลแม็กไซไซกล่าวอีกว่า สิ่งที่จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าการเมืองในประเทศพม่านั้นมีการพัฒนาและมีความก้าวหน้าอย่างแท้จริงก็คือการให้บริการขั้นพื้นฐานให้กับประชาชนในประเทศ ทั้งในด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล และการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เรายังไม่เห็นสัญญานของการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลพม่าอย่างชัดเจน ถึงแม้รัฐบาลพม่าจะพยายามพัฒนาโรงพยาบาลในฝั่งจังหวัดเมียวดีให้ดีขึ้น แต่ประชาชนจำนวนมากของประเทศพม่าก็ยังไม่สามารถเข้าถึงการรับการบริการจากโรงพยาบาลของรัฐ

โดยสังเกตได้จากการที่ยังมีประชาชนพม่าเข้ามาใช้บริการกับแม่ตาวคลีนิคเป็นจำนวนมากอยู่ดี  ซึ่งจากสถิติการช่วยเหลือผู้คนจากประเทศพม่าตั้งแต่ปีพ.ศ. 2553 ถึงปีพ.ศ. 2554 แม่ตาวคลีนิคมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากถึง 5 เปอร์เซ็นต์ โดยในปี 2554 มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการในคลีนิคแม่ตาวเป็นจำนวนมากถึง 117,000 คน และในปีเดียวกันนี้มีเด็กเกิดที่แม่ตาวคลีนิคมากถึง 3 พันคนต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ ปี ในขณะที่โรงพยาบาลเมียวดีในฝั่งพม่านั้นมีเด็กเกิดเพียงแค่ 1,200 คนต่อปีเท่านั้น ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีที่จะสร้างพัฒนาให้ระบบสาธารณสุขและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในประเทศพม่าดีขึ้น

พญ.ซินเธียกล่าวว่า นอกจากปัญหาเรื่องระบบสาธารณสุขและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานแล้ว เรื่องของการจัดการศึกษาก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้เด็กในฝั่งพม่าจำนวนมากต้องอพยพเข้ามายังฝั่งไทย เพราะในประเทศพม่าเองไม่มีระบบในการจัดการศึกษาอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กต้องเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไป ก็ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนในฝั่งพม่าเป็นเงินจำนวนมาก   นอกจากนี้แล้วยังเกิดปรากฏการณ์เวนคืนที่ดิน โดยความไม่เต็มใจของชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ ทั้งนี้เกิดจากรัฐบาลพม่าเองต้องการพัฒนาทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในบริเวณพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธ์จำนวนมาก รัฐบาลจึงดำเนินการเข้าไปยึดที่ดิน ส่งผลให้เกิดการบังคับให้ชาวบ้านออกจากบริเวณที่ดินของตนเอง ทำให้ผู้คนจำนวนมากเหล่านี้ต้องข้ามมาอยู่ที่ชายแดนของประเทศไทย  ซึ่งความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลนั้นไม่ควรจะต้องผลักไสให้ประชาชนออกมาจากชุมชนที่เขาอยู่เพราะว่ามันเป็นการนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

“เราได้แต่หวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนของประเทศพม่าอย่างแท้จริง  และเราก็พร้อมจะให้ความช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสและคนที่ทุกข์ยากต่อไป  เพราะเราเชื่อว่าในหลายปีต่อจากนี้ก็จะยังมีความต้องการของประชาชนในประเทศพม่าที่อาศัยอยู่บริเวณตะเข็บชายแดนที่ยังต้องการการให้บริการทางการแพทย์หรือการดูแลเด็กๆ จากแม่ตาวคลีนิค เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแง่บวกนั้นยังเกิดขึ้นเฉพาะในทางตอนกลางของพม่าเท่านั้น แต่ต้องใช้เวลานานกว่าการปฏิรูปการเมืองจะเข้าถึงประชาชนบริเวณชายแดน และมันจะยิ่งใช้เวลานานมากกว่านั้นในการที่จะพัฒนาสาธารณูปโภคและกระจายลงไปสู่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างยืดเยื้อ แม่ตาวคลีนิคในฐานะที่เป็นองค์กรที่บริหารจัดการโดยคนที่มาจากชุมชนต่างๆ ของประเทศพม่า ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ให้แก่กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม ขณะเดียวกันหน้าที่ของรัฐบาลพม่าต่อจากนี้คือต้องสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่าเขาจะได้รับการบริการเหมือนกับที่มาใช้บริการจากคลีนิคแม่ตาวของเรา” เจ้าของคลีนิคแม่ตาวและเจ้าของรางวัลแม็กไซไซกล่าว

ทั้งนี้ พญ.ซินเธียยังได้นำเสนอแนวทางปฏิบัติที่รัฐบาลพม่าจะต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่สันติภาพของประเทศพม่าอย่างแท้จริงประกอบด้วย 1. รัฐบาลพม่าจะต้องมีการกู้และยุติการใช้กับระเบิดในบริเวณพื้นที่ชายแดนของตนเองเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ 2. ต้องมีข้อตกลงสันติภาพที่ได้รับความเคารพและยอมรับจากกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 3.จะต้องพัฒนาให้การศึกษาเข้าถึงเด็กทุกคน เพื่อที่จะไม่ให้เด็กๆ ในฝั่งพม่าต้องข้ามมาฝั่งไทยเพื่อมาเรียนหนังสือ และเด็กๆ ยังสามารถอยู่กับพ่อแม่ต่อไปในประเทศพม่าได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท