Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายหลังจากที่ตุลาการรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยคำร้องคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคำร้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา68 ไว้พิจารณาและคำสั่งให้รัฐสภาระงับการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้เขียนข้อความลงในสเตตัสส่วนตัวต่อเนื่องเพื่ออธิบายหลักกฎหมายและกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว และย้ำในที่สุดว่า ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องการละเมิดอำนาจนิติบัญญัติอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจกัน แต่เป้นการละเมิดอำนาจที่เหนือกว่านั้น คืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

ประชาไทได้รวบรวมข้อความที่นักวิชาการผู้นี้เสนอผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งเจ้าตัวอนุญาตให้นำเผยแพร่ และเรียบเรียงใหม่ เพื่อประกอบความเข้าใจในการติดตามข่าวดังกล่าว ดังนี้ (เน้นข้อความ และพาดหัวย่อยโดยประชาไท)

 

ข้อเท็จจริง

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม และกลุ่ม 40 ส.ว., นายวันธงชัย ชำนาญกิจ, นายวิรัตน์ กัลยาศิริ, นายวรินทร์ เทียมจรัส, นายบวร ยสินทร และคณะ ยื่นหนังสือให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐสภา พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา นายสุนัย จุลพงศธรและคณะ และนายภราดร ปริศนานันทกุล และคณะได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีผลทำให้เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

โดยคำร้องดังกล่าวขอให้ตุลาการวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่

1 มิ.ย. ตุลาการรัฐธรรมนูญ มีมติ 5 ต่อ 4 รับคำร้องพิจารณาว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังดำเนินนั้นมีลักษณะขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งยังมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำวินิจฉัยด้วย

โดยนายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะทีมโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายสมฤทธิ์ ไชยวงศ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ได้ร่วมกันแถลงว่า “เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรัฐสภาระงับการดำเนินเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนจนกว่าศาลมีคำวินิจฉัย นอกจากนี้ ให้ ครม. , รัฐสภา, พรรคเพื่อไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, นายสุนัย และนายภราดร มีหนังสือชี้แจงต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งสำเนาคำร้องและนัดคู่กรณีไต่สวนวันที่ 5-6 ก.ค.2555 เวลา 09.30 น. ซึ่งตุลาการจะเป็นการออกนั่งบัลลังก์ และหากไต่สวนได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนแล้ว คณะตุลาการก็อาจนัดวันฟังคำวินิจฉัยได้เลย แต่หากข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วนก็อาจไต่สวนเพิ่มเติมได้"

 

 

คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ ส่งผลสะเทือนต่อระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างไร?

1.) ต่อไปนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้กุมชะตากรรมของ "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ" ทุกครั้ง

2.) ลำดับชั้นของอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ จะเสียไปทั้งหมด

3.) การสั่งให้สภาระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราว ไม่มีรัฐธรรมนูญเขียนไว้เลย แต่ศาลรัฐธรรมนูญยังสามารถไปเอา วิ แพ่ง (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง- ประชาไท) มาใช้ นั่นหมายความว่า อนาคตอาจมีอีก (ไม่ต้องอ้างเยอรมันหรอกครับ ผมเอาไปสอนในชั้น ป โท เองแหละ เรื่องนี้ แต่ของเยอรมัน เขาเขียนให้อำนาจศาล รัฐธรรมนูญ ในการระงับการบังคับใช้รัฐบัญญัติได้ชั่วคราว ไมใช่เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ และอำนาจนี้ต้องเขียนไว้ใน รัฐธรรมนูญ ให้ชัด ของเราไม่มีเขียน แต่ลากเอา วิ แพ่งมาใช้)

ปัญหาอยู่ที่ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ กลับเป็นองค์กรที่ละเมิดรัฐธรรมนูญเอง แล้วจะทำอย่างไร?

 

มีองค์กรใดที่มีอำนาจตรวจสอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมได้หรือไม่?

ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญคงทราบดีว่าตนเองไม่มีอำนาจในการตรวจสอบว่าการแก้รัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ผมก็คาดเดา กังวลใจมาตลอดว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมาไม้ไหน

นึกไม่ถึงจริงๆว่าจะมามุขมาตรา 68 บวก วิ แพ่ง

นึกไม่ถึงว่าจะกล้าบอกว่า การแก้ รัฐธรรมนูญ เพื่อตั้ง สสร. จะเข้าข่ายการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย

 

รัฐประหารโดยตุลาการ เคารพตัวอักษร แต่ไม่เคารพเจตนารมณ์ของสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งวันนี้ (1 มิ.ย.) พอดีผมสนใจเรื่อง Judicial Coup, Judicialisation of politics, Juristrocracy, Fraude à la Constitution, Pouvoir constituant Pouvoir constituant dérivé Pouvoir constitué เสียด้วย เพื่อนๆผมก็สนใจ มีหลายคนเขียนเรื่องนี้ และกำลังค้นคว้าทำวิจัยเรื่องนี้ บางคนเตรียมทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้ บางคนสอนเรื่องนี้มาตลอด

หนังตัวอย่าง

Georges Liet Vaux เจ้าของทฤษฎี Fraude à la Constitution เสนอไว้ในบทความตีพิมพ์ลงในวารสาร Revue de Droit Public เมื่อปี 1943 เพื่อตอบโต้การกระทำของจอมพลเปแต็งในการสถาปนาระบอบวิชี่ ว่า Fraude à la Constitution คือ กระบวนการอันแปลกประหลาดที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการนั้นยังเคารพตัวบทตัวอักษรของรัฐธรรมนูญ ในขณะที่เจตนารมณ์ของสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญนั้นไม่ได้การเคารพ

Georges Burdeau ผู้เขียนตำรารัฐธรรมนูญและรัฐศาสตร์ซีรีส์ขนาดยาวในชื่อ Traité de Science Politique บอกว่า ความคิดทางกฎหมาย (Idée de droit) ใหม่ อำนาจการเมืองใหม่ ได้ถูกบรรจุเข้ามาในรัฐโดยเกฎหมายแห่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยปริยายหรือโดยชัดเจน

แน่นอน คำอธิบายของสองคนนี้มุ่งหมายไปที่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกระบวนการของพวกเผด็จการในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไปทำลายเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทำให้ในเวลาต่อมา หลายประเทศจึงเขียนรัฐธรรมนูญกำหนดว่า แก้ได้ทั้งหมด เว้นเรื่องใดบ้าง (เช่น รูปของรัฐ ประชาธิปไตย)

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่า คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อาจเข้าความหมายของ Fraude à la Constitution เช่นกัน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ แต่การมีคำสั่งโดยแปลความมาตรา 68 เช่นว่า ย่อมถือได้ว่า ใช้กระบวนการแปลกประหลาดที่ดูเหมือนว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ แต่จริงๆแล้วกลับไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

 

ศาลรัฐธรรมนูญเคยขยายความเรื่อง "อาจจะ" ตอนสมัยคดีพระวิหารมาแล้ว

ครั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญก็มาแปลความมาตรา 68 โดยตัดตอนอัยการสูงสุดออกไป และยังสร้างวิธีการชั่วคราวขึ้นมาเอง โดยเอาข้อกำหนดของศาล รัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าให้เอา วิ แพ่งมาใช้โดยอนุโลม การที่ข้อกำหนดให้เอาวิ แพ่ง มาใช้ นั้น ให้ใช้กับเรื่องที่ตนเองมีอำนาจอยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่มีข้อกำหนดเขียน เลยเอาวิแพ่งมาใช้ ไม่ใช่ ตนเองไม่มีอำนาจ เลยไปเอาวิแพ่งมาใช้เพื่อสร้างอำนาจให้ตนเอง

รัฐประหารในยุคสมัยใหม่ หรือร่วมสมัย อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่ง จงใจ "บิดผัน" รัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงและประจักษ์ชัด โดยที่ไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดตอบโต้ได้สำเร็จ และทำให้การบิดผันรัฐธรรมนูญนั้นมีผลทางกฎหมายและดำรงอยู่ต่อไปได้ อาจเรียกได้ว่าเป็น รัฐประหารในรัฐธรรมนูญ

 

อำนาจตอบโต้ตุลาการ

การใช้อำนาจตอบโต้องค์กรตุลาการเป็นเรื่องปกตินะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจตอบโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ ทำไมผมถึงกล่าวเช่นนี้

ลองมาดูที่ Troper อธิบายไว้

Troper (Michel Troper - http://fr.wikipedia.org/wiki/Michel_Troper) สร้างทฤษฎี Théorie réaliste de l'interprétation ขึ้นมา เพื่อบอกว่า ตัวบทที่ผลิตออกฎหมายาโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือผู้ร่าง รัฐธรรมนูญ นั้น เป็นเพียงตัวบทเท่านั้น แต่ตัวบทจะกลายเป็น Norme ทางกฎหมาย มีพลังทาง กฎหมาย ได้ ก็เพราะมีการตีความตัวบทนั้น ดังนั้น องค์กรผู้มีอำนาจตีความ กฎหมาย จึงเป็น คนกำหนด Norme คนร่าง กฎหมาย ไม่ได้เป็นคนกำหนด Norme

องค์กรผู้มีอำนาจตีความกฎหมายไม่จำเป็นต้องเป็นศาลเท่านั้น ประธานาธิบดีก็ตีความได้ นายกรัฐมนตรีก็ตีความได้ องค์กรผู้ใช้กฎหมายก็ตีความได้

ปัญหาตามมาคือ เราจะมีวิธีถ่วงดุลองค์กรผู้ตีความกฎหมายได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตีความรัฐธรรมนูญแล้วมีผลผูกพัน

นี่คือปัญหาพื้นฐานในการออกแบบโครงสร้างรัฐธรรมนูญเลย จะเห็นได้ว่า ประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ เขาจะตีกรอบเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ให้น้อย และกำหนดให้ชัดเจนมาก ศาลลงไปล้วงคดีมาตัดสินไม่ได้ ศาลรัฐธรรมนูญ จะแปลความ รัฐธรรมนูญ เพื่อขยายอำนาจตนเองออกไปไม่ได้

นอกจากนี้ด้วยหลักการแบ่งแยกอำนาจที่มีเสถียรภาพและสมดุล ฝ่ายการเมืองก็อาจโต้ศาล รัฐธรรมนูญ ได้ เช่น ศาล รัฐธรรมนูญ ตีความ มาตรา 190 เติมคำว่า "อาจจะ" รัฐสภาก็อาจแก้ไข รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นต้น

Troper บอกว่า ไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ยังต้องมี Théorie des contraintes juridiques ควบคู่ไปด้วย อันนี้เขาพึ่งคิดขึ้นมาใหม่ 10 กว่าปีได้

คือ เขาพยายามหาคำตอบว่า แล้วทำไม องค์กรผู้ตีความ กฎหมาย ถึงตีความไปในทางนี้

ปัจจัยหลายอย่างที่มีส่วนสร้าง contraintes มีทั้งปัจจัยที่ไม่ใช่ กฎหมาย เช่น อีดีโอโลจี้ การฝึกฝนการเรียนรู้ของผู้พิพากษาตั้งแต่วัยเยาว์ และปัจจัยทาง กฎหมาย เช่น การรักษาดุลยภาพของอำนาจ การจำกัดอำนาจการตีความของตนเอง

ทฤษฎี contraintes juridiques มุ่งสนใจแต่ส่วนหลัง เพราะ อยู่ในวงของวิชานิติศาสตร์

ส่วน contraintes ที่ไม่ใช่ทาง กฎหมาย นั้น สำนักกฎหมายเรียลิสม์ ของอเมริกาสนใจเป็นพิเศษ

ดังนั้น Troper จึงให้ความสำคัญกับการสร้างดุลยภาพระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย หัวใจสำคัญของรัฐธรรมนูญในความคิดของเขา คือ การแบ่งแยกอำนาจให้ได้ดุลยภาพ

การสอนกฎหมายในยุคสมัยนี้ยากลำบากพอสมควร เมื่อเราสอนตามหลักวิชา หนีไม่พ้นที่ต้องพูดเรื่ององค์กรตุลาการในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่เมื่อมองเข้าไปในสังคมไทย องค์กรตุลาการเป็นอย่างไร ก็เห็นกันอยู่

การสอนว่าศาลมีบทบาท มีอำนาจอะไรบ้าง นิติรัฐขาดศาลไม่ได้ เช่นนี้ จึงกลายเป็นว่าสนับสนุน เอนดอร์ส (endorse-รับรอง)ศาลแบบไทยๆไปโดยปริยาย

ดังนั้น ระหว่างการสอน ผมจึงจำเป็นต้องพูดอีกด้านหนึ่งกำกับไปด้วยเสมอ นั่นคือ เรื่องกฎหมายกับอุดมการณ์

ดังที่ผมนำมาเขียนในนิติราษฎร์ ฉบับที่ 4 (อาจอ่านยากสักหน่อย เลยไม่ค่อยแพร่หลาย

 

ทำไมผมถึงสนับสนุนให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญใช้อำนาจของตนตามรัฐธรรมนูญตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรตุลาการ?

สภาวการณ์ที่ "นิติรัฐแบบไทยๆ" ปกคลุมสังคมไทยมานับแต่รัฐธรรมนูญ 2540 ใช้บังคับ และหนักหน่วงมากยิ่งขึ้นภายหลังพระราชดำรัส 25 เมษายน 2549 และปรากฏการณ์ "ตุลาการภิวัตน์" นับแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิด "การเถลิงขึ้นสู่อำนาจ" ขององค์กรตุลาการอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

เพราะในนามของ "นิติรัฐ" จำต้องมีองค์กรตุลาการทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐเสมอ

หากองค์กรตุลาการมีความคิด-อุดมการณ์ที่เป็น "นิติรัฐ-ประชาธิปไตย" อย่างแท้จริง เขาย่อมเป็นกลไกสำคัญในการรักษา "นิติรัฐ-ประชาธิปไตย" ได้อย่างดียิ่ง ตรงกันข้าม หากองค์กรตุลาการดำเนินการไปโดยมีอุดมการณ์อันไม่เป็นประชาธิปไตยกำกับแล้วล่ะก็ เขาย่อมกลายเป็นอุปสรรคของ "นิติรัฐ-ประชาธิปไตย" เสียเอง

การยอมรับนับถือการตัดสินของศาล ต้องเกิดจากความสมเหตุสมผลของเหตุผลประกอบการตัดสินของศาล หาใช่เกิดจาก "อำนาจตามกฎหมาย" และ "อำนาจตามจารีต" ที่บังคับให้คนต้องเคารพการตัดสินของศาลไม่

ถ้าเราเห็นว่าการตัดสินของศาลนั้นไม่ถูกต้อง เราต้องคัดค้าน วิจารณ์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเห็นว่าการตัดสินของศาลนั้นละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างประจักษ์ชัด องค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆต้องใช้อำนาจที่ตนมีตอบโต้กลับไป

นี่เป็นเรื่องปกติในระบอบประชาธิปไตย

มิเช่นนั้น การจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งโดยศาล ก็จะส่งผลทางกฎหมาย

และยิ่งการกระทำนั้นเกิดขึ้นโดยฝีมือของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญและการตัดสินมีผลผูกพันทุกองค์กรแล้ว หากปราศจากการตอบโต้ การกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นถูกตามรัฐธรรมนูญ แปลงสภาพกลายเป็น แนวปฏิบัติ (Pratique) ซึ่งอาจมีค่าเสมือนรัฐธรรมนูญไป

หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ นั่นหมายความว่า "รัฐประหารในรัฐธรรมนูญ" ได้เกิดขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ การตอบโต้องค์กรตุลาการตามกรอบและขอบเขตอำนาจที่ตนมีนั้น ยังเป็นการลดทอนสภาวะ "ศาลเป็นใหญ่" ลดทอนสภาวะ "ศาล ละเมิดมิได้" ซึ่งปกคลุมสังคมไทยอีกด้วย

นี่ไม่ใช่การทำลายนิติรัฐ

นี่ไม่ใช่การทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ

นี่ไม่ใช่การแทรกแซงองค์กรตุลาการ

นี่ไม่ใช่การใช้เสียงข้างมากทำลายรัฐธรรมนูญ

การที่นิติรัฐที่ประทานความเป็นอิสระให้กับศาลนั้น เป็นการประทานให้กับศาลที่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

ต้องไม่ลืมว่า องค์กรตุลาการไม่ได้อยู่เหนือนิติรัฐ-ประชาธิปไตย แต่เป็นส่วนหนึ่งของนิติรัฐ-ประชาธิปไตยเช่นเดียวกันกับองค์กรอื่นๆ อำนาจและความอิสระที่นิติรัฐ-ประชาธิปไตยหยิบยื่นให้องค์กรตุลาการนั้น ก็เพื่อให้นำมาใช้ปกป้องนิติรัฐและประชาธิปไตยนั่นเอง หาใช่ให้เพื่อนำมาใช้ทำลายนิติรัฐและประชาธิปไตยไม่

ดังนั้น การตอบโต้องค์กรตุลาการที่จงใจละเมิดรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการรักษา "นิติรัฐ-ประชาธิปไตย"

 

ศาลรัฐธรรมนูญจงใจใช้อำนาจบิดผันรัฐธรรมนูญอย่างประจักษ์ชัด แล้วองค์กรตามรัฐธรรมนูญไม่ใช้อำนาจของตนตอบโต้กลับไป ผลที่ตามมา คืออะไร?

1.) การบิดผันรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่งผิดรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เช่น

ต่อไปนี้บุคคลทั่วไปก็ร้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรงตามมาตรา 68 เพื่อเชื่อมสะพานไปยุบพรรคก็ได้,

ต่อไปนี้เหตุแห่งการยุบพรรคตามมาตรา 68 จะขยายออกไปเรื่อยๆ (ก็ขนาดแก้รัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร ยังกลายเป็นเรื่องล้มล้างการปกครองฯได้)

ต่อไปนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีวิธีการชั่วคราวที่ศาลรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเอง นำไปใช้สั่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นๆให้ยุติการกระทำ

ต่อไปนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องถูกศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบทุกครั้ง

เป็นต้น

2.) ศาลรัฐธรรมนูญจะย่ามใจขยับแดนอำนาจของตนเองออกฎหมายาเรื่อยๆ เพราะ มั่นใจในพลานุภาพของตนเอง

3.) ศาลรัฐธรรมนูญจะแปลงร่างจากผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ กลายเป็น รัฐธรรมนูญ หรือ ซูเปอร์รัฐธรรมนูญเอง

นี่เป็นเรื่องระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญล้วนๆ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องกระทบกับการเมือง เพราะ กฎหมายรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายว่าด้วยอำนาจของสถาบันการเมืองอยู่แล้ว

ต้องไม่ลืมว่า สภาวการณ์ "ตลก ภิวัตน์" ที่ปกคลุมสังคมไทยนับแต่ 25 เมษายน 2549 จนทุกวันนี้ยังไม่จางหายไป และยากแก่การ "Dé-judicialisation of politics" มากขึ้นๆนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ-สถาบันการเมืองอื่น "เกรงกลัว" จนเกินไป ทั้งๆที่ตนเองมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญในการตอบโต้

ผมว่าน่าจะเลิกวิธีแบบนี้สักทีนะครับ คือ

องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น สภา มีอำนาจแต่ไม่ใช้ แล้วก็มาพึ่งประชาชนบุคคลทั่วไปแสดงปฏิกริยาทุกครั้งไป

กรณี 112 ก็ครั้งหนึ่ง คือ ไม่ทำอะไรเลย ให้ประชาชนทำ

มากรณีนี้อีก (นี่ไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับกษัตริย์แล้วนะ) หากไม่ทำ แล้วก็ไปให้ประชาชนเข้าชื่อถอดถอน แล้วก็ไปตกที่วุฒิอยู่ดี

ผมว่ามันไม่ค่อยดีนะครับ

 

รัฐประหารในรัฐธรรมนูญ

"รัฐประหารในรัฐธรรมนูญ" คือ องค์กรตามรัฐธรรมนูญองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นประมุขของรัฐ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรตุลาการ หรือรัฐสภา จงใจ "บิดผัน" รัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงและประจักษ์ชัด โดยที่ไม่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นตอบโต้การบิดผันรัฐธรรมนูญได้สำเร็จ และทำให้การบิดผันรัฐธรรมนูญนั้นมีผลทางกฎหมายและดำรงอยู่ต่อไปได้

ดังนั้น เมื่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นทราบถึงการบิดผันรัฐธรรมนูญเช่นว่า ย่อมชอบที่จะใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ตนมีตอบโต้การกระทำนั้นกลับไป

จะขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสกรณีหนึ่ง

ในปี 1989 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาโด่งดังในชื่อ Nicolo ว่า ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจตรวจสอบว่ารัฐบัญญัติขัดหรือแย้งกับข้อตกลงระหว่างประเทศหรือสนธิสัญญาระหว่างประเทศหรือไม่

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว เห็นได้ชัดแจ้งว่า เกินเขตอำนาจที่ศาลปกครองมี เพราะศาลปกครองพิจารณาเฉพาะความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ไปพิจารณารัฐบัญญัติไม่ได้

คำพิพากษานี้ ส่งผลในเวลาต่อมาให้ศาลปกครองได้ขยายเขตอำนาจตนเองออกไป ทั้งที่ตนเองไม่มีอำนาจ

Olivier Cayla เขียนบทความว่า นี่ถือเป็น รัฐประหารโดยกฎหมาย

อีกกรณีหนึ่ง เดอ โกลล์ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรง ในครั้งนั้นเดอ โกลล์ ประสบความยุ่งยากในการหาคะแนนเสียงจากทั้งสองสภาเพื่อสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อประเมินคะแนนนิยมของตนแล้ว เห็นว่าประชาชนยังนิยมตนเองสูงมาก เดอ โกลล์จึงหนีไปใช้ช่องทางตราเป็นร่างรัฐบัญญัติ แล้วให้ประชาชนออกเสียงประชามติในร่างรัฐบัญญัติแทน โดยอ้างว่ากรณีดังกล่าวเป็น “การจัดองค์กรขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 11 อนุญาตให้ออกเสียงประชามติได้ กรณีนี้ได้รับการวิจารณ์กันมาก

ข้อแรก เดอ โกลล์ไม่ให้ความเคารพต่อรัฐสภาซึ่งต้องเป็น “ด่านแรก” ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลายเป็นว่า ต่อไปหากประธานาธิบดีต้องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้วประเมินว่าเสียงในสภาไม่เพียงพอหรือไม่ต้องการเสียเวลา ก็หันไปใช้มาตรา 11 แทน

ข้อสอง หากประธานาธิบดีเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน ก็จะนําทุกเรื่องไปออกเสียงประชามติเพื่อหาความชอบธรรม และอาจเสี่ยงต่อการเผด็จอํานาจแบบที่นโปเลียน โบนาปาร์ต และหลุยส์ นโปเลียน ผู้เป็นหลานเคยทํามาแล้ว

ผลปรากฏว่าประชาชนให้ความเห็นชอบตามที่เดอ โกลล์เสนอ ก่อนประกาศใช้ ส.ส.บางส่วนจึงได้เข้าชื่อร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคําวินิจฉัยลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 1962 พิจารณาแล้ว “เพื่อรักษาดุลยภาพของอํานาจ รัฐบัญญัติที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้นั้น หมายถึง รัฐบัญญัติแบบที่รัฐสภาลงมติเท่านั้น ไม่รวมถึงรัฐบัญญัติแบบที่ประชาชนลงประชามติ เพราะถือเป็นการใช้อํานาจอธิปไตยของชาติโดยประชาชนทางตรง ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องให้ความเคารพ” จะเห็นได้ว่า กรณีนี้ทั้งๆ ที่เดอ โกลล์บิดผันรัฐธรรมนูญ แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ไม่กล้า “ชน” กับเดอ โกลล์ เพราะเรื่องที่เดอ โกลล์ต้องการแก้ไขนั้น ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว

กรณีการนำมาตรา 11 มาใช้อย่าง "บิดผัน" ของเดอ โกลล์ ก็คือ รัฐประหารในรัฐธรรมนูญ

 

ค่ายกลสู่ยุบพรรค

วันก่อน ผมโพสว่าผลของการปล่อยให้คำสั่งศาล รัฐธรรมนูญ อยู่ต่อไปโดยไม่มีการตอบโต้ ก็จะส่งผลให้รัฐประหารโดยรัฐธรรมนูญสำเร็จ แล้วก็อธิบายไปว่าผลทางกฎหมายรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นอย่างไร วันนี้จะลองมาดูผลทางการเมืองบ้าง

สมมตินะครับสมมติ สมมติว่ารัฐสภายอมปฏิบัติตตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ

คำร้องตามมาตรา 68 อยู่ในกระบวนพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป

สมมติว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว กล้าวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตั้ง สสร เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วล่ะก็...

ผลทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นตามมาเป็นลูกระนาด คือ...

ยุบพรรค

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ยกมือลงมติเห็นชอบกับร่างนี้ กลายเป็นบุคคลที่ล้มล้างการปกครอง นอกจากถูกเพิกถอนสิทธิ ยังอาจถูกร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีฐานกบฏ ตามมาตรา 113 ป.อาญา

นี่เป็นค่ายกลที่ถูกวางไว้, นี่เป็นหอกที่ปักเข้าไปที่นักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ไม่ให้ก้าวเดินได้โดยสะดวก หรือไม่ สุดแท้แต่พิจารณา

 

ละเมิดอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เพียงละเมิดอำนาจนิติบัญญัติ

ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซง ก้าวก่าย ไม่ใช่เข้ามาในแดนอำนาจนิติบัญญัติ แต่เข้ามาในแดนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า "Pouvoir constituant dérivé"

อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง ใหญ่กว่าอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ สามอำจาจหลังนี้ เป็นเพียงอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ

โปรดดูภาพ ลำดับชั้น ดังต่อไปนี้

1. อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ Pouvoir constituant

2. อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญที่ใช้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ Pouvoir constituant dérivé

3. อำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ Pouvoir constitué - ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ

ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้าแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ

แต่นี่คือ การเข้าแทรกแซงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ !!!!

ย้ำอีกทีนะครับ ต้องไม่พูดว่า "ศาลรัฐธรรมนูญแทรกแซงก้าวก่ายอำนาจนิติบัญญัติ" เพราะ ศาล รัฐธรรมนูญ ทำได้ ในกรณีตรวจสอบว่ากฎหมายที่รัฐสภาตราขึ้นนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ครั้งนี้เป็นกรณี "ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาล้ำแดนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ"

เห็นหลายท่านพูดกัน โดยเฉพาะ สส ท่านต้องรู้ว่า อำนาจที่ท่านใช้แก้ รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติ มันใหญ่กว่านั้นเยอะครับ มันเป็นอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอีกรูปแบบหนึ่ง

อำนาจที่สมาชิกรัฐสภาใช้ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญรูปแบบหนึ่ง เพื่อนำไปใช้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อำนาจนิติบัญญัติ สมาชิกรัฐสภาต้องตระหนักว่าอำนาจที่ตนใช้นั้นมีศักดิ์สูงกว่าอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ

ย้ำ.... "ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาล้ำแดนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ"

"ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาล้ำแดนอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net