เสวนา: พฤษภา 35 และ พฤษภา 53 สำรวจมรดกปัญหา และหนทางอนาคต

 

 

เมื่อวันที่ 20 พ.ค.55 ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ได้มีวงเสวนาในหัวข้อ "ฐานะทางการเมืองของพฤษภาทมิฬ 2535 และพฤษภาเลือด 2553 กับทางข้างหน้าของขบวนการประชาชน" โดยมีวิทยากรนำเสวนาประกอบด้วย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บก.เว็บไซต์ประชาไท ส.ส.สุนัย จุลพงศธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย  และจิตรา คชเดช ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ  ดำเนินรายการโดยอุทัย อัตถาพร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมฟังเสวนากว่า 80 คน โดยเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงาน "35-53" 2 ทศวรรษพฤษภาทมิฬ 2 ปีพฤษภาเลือด รำลึก ที่จัดโดย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เครือข่ายพิทักษ์เจตนารมณ์เดือนพฤษภา 2535 ฯลฯ นอกจากเสวนาดังกล่าวแล้ว ยังมีมีเวทีเสวนานักศึกษาตั้งแต่ช่วงสายของวันเดียวกัน รวมทั้ง การบรรยายพิเศษโดย ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย และการกล่าวเปิดงานโดยครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ปิดท้ายด้วยเวทีวัฒนธรรมในช่วงค่ำของวันนั้นด้วย

000

 

 

“หลังเหตุการณ์พฤษภา สิ่งที่เราได้มาเป็นมรดกบางประการคือ

กองทัพกลับเข้ากรมกอง ได้เสาหลักในเรื่องการเลือกตั้ง

ประชาชนผูกพันกับการเลือกตั้ง แล้วเราก็ได้การเติบโตของความหมายแบบหนึ่ง

ที่มันเป็นปัญหาต่อมาในอีก 18 ปีหลังจากตอนนั้นก็คือเรื่อง “คนดี””

 

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บก.สำนักข่าวออนไลน์ประชาไท

 

คิดว่า 20 ปีที่ผ่านมารวมทั้ง 2 ปีที่ผ่านมา อันดับแรกเลย ไม่ว่าจะอย่างไรเราเองควรจะได้ใช้โอกาสนี้รำลึกถึงการเสียชีวิตของผู้ที่เสียสละ มันไม่ควรมีใครตายเพื่อคนอื่น แต่การเสียชีวิตเพื่อคนอื่นของคนจำนวนมากเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมานี่มันเป็นเครื่องบงชี้ว่าเรื่องภาระทางสังคม เป็นเรื่องของพวกเราทุกคนและเขาได้ตายแทนเรา

นักศึกษาเริ่มตั้งแต่วันแรกของการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 โดยพลเอกสุจินดา คราประยูร คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. โดยเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก แล้วก็เป็นกระแสมาโดยตลอด ในปี 2534 วันที่ รสช.ยึดอำนาจ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นวันที่ดอกไม้เต็มบ้านหมดเลย ดอกไม้เต็มคณะ รสช.เลย คนไปมอบดอกไม้ ไม่ต่างจาปี 49 แต่เพียงปีเดียว ในปี 2535 มีการเริ่มต้นรณรงค์ของนักศึกษา เริ่มต้นแบบโดนด่าโดยตลอดว่าไอ้พวกนี้ทำอะไรป่วนบ้านป่วนเมือง ภายในปี 2535 ทาสแท้ของคณะรัฐประหารก็ออกมา

มันมีความหมายและความสำคัญอย่างไร 20 ปีที่แล้ว ผมคิดว่าชัยชนะของเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรมนี่ มันมาจากความสามัคคีของแนวคิดประชาธิปไตยที่เขาเชื่อกัน 2 แบบ 1 ก็คือประชาธิปไตยคุณธรรม 2 ก็คือประชาธิปไตยที่มาจากการเคารพเสียงประชาชนและเห็นว่าประชาชนเท่ากัน

มันมีอะไรบ้างที่บอกถึง 2 สิ่งนี้ เชื่อไหมว่า 1 ปีกว่าๆ หรือเกือบ 2 ปีที่นักศึกษารณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ประธานสภาต้องมาจาก ส.ส. ไม่มีใครสนใจเลย แม้กระทั่งคุณฉลาด(วรฉัตร) อดอาหารก็ไม่มีใครสนใจเท่าไร ความเติบโตของขบวนการต่อต้านคณะ รสช. เกิดขึ้นหลังจากพลตรี จำลอง ศรีเมือง ประกาศอดอาหาร หลังจากพลเอกสุจินดา ประกาศรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ความเคลื่อนไหวต่อต้านในทางการที่จะต้องเอาชนะ ถ้าเป็นแบบพันธมิตรฯ ก็คือสู้กันแบบครั้งสุดท้าย มันก็เกิดขึ้น ประเด็นเรื่องคุณธรรม จริยธรรม แล้วก็ใช้พลังของสันติอโศก ใช้พลังของคุณธรรมเคลื่อนไหว ตอนนั้นเราก็ไม่รู้อะไร เราก็รู้สึกว่ามันชนะแน่ เพราะพลตรีจำรองป๊อบมากตอนนั้น ได้เสียงจำนวนมากมายมหาศาล แล้วก็จริงๆ พาคนออกมาจำนวนมากภายใต้การนำของพลตรีจำลองซึ่งนำคนเดียว จนกระทั่งนักศึกษา อาจารย์โคทม อารียา กลุ่มสันติวิธีหรือว่ามูลนิธิดวงประทีปรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องนำคนเดียว ก็เกิดสมาพันธ์ประชาธิปไตยขึ้นพยายามจะคุมพลตรีจำลองให้ได้ว่าการนำต้องรวมหมู่ แต่ได้ผลหรือไม่ได้ผลประวัติศาสตร์มันฟ้องอยู่แล้ว          

ที่สุดแล้วพลตรีจำลองนำขบวนเคลื่อนภายใต้ประเด็นเรื่อง”นายกคุณธรรม” นักศึกษาปูกระแสไม่มีบทบาทเลยในการนำขบวนการในสถานการณ์สู้รบขณะนั้น จะบอกว่าไม่มีบทบาทเลยก็ไม่ได้ เขารณรงค์มาโดยตลอด กระแสถูกเลี้ยงโดยนักศึกษา ผมไม่คิดว่าภาพของนักศึกษาจะนำขบวนเคลื่อนไหวอย่าง 14 ตุลา แล้วเป็นพลังบริสุทธิ์ มันไม่ใช่ สำหรับผมคนเสื้อแดงก็บริสุทธิ์ คนที่เคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มีนายกรัฐมนตรีของเขา ภายใต้ระบบหัวคะแนนก็ตาม ภายใต้การเกณฑ์กันมาก็ตาม เป็นเรื่องบริสุทธิ์หมดเลยสำหรับผม ไม่จำเป็นต้องผูกขาดว่าจะต้องเป็นนักศึกษาเท่านั้น ผมคิดว่าทัศนะแบบนี้เป็นทัศนะคุณธรรมแบบหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาที่จะพูดต่อไป

ผลมันคืออะไร หลังวันที่ 20 พ.ค.ที่มีพระราชดำรัสออกมา เราได้นายกฯ กึ่งพระราชทาน คือคุณอานันท์ ปันยารชุน คือ 2 ปีที่ผ่านมาเรารณรงค์นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งไปหมดเลย และพอสุจินดามา เรารณรงค์นายกฯ มาจากการเลือกตั้งพ่วงไปกับประเด็นเรื่องคุณธรรม เสร็จพอวันที่ 20 มีพระราชดำรัสมา มีอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกฯ  ทุกคนเฮหมดเลย ชนะแล้ว โทษทีนะคุณอานันท์ ปันยารชุน ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนะ

คืออะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี ในทัศนะของชนชั้นนำและชนชั้นกลาง คือตอนนั้นมันไม่มีการอธิบายแบบนี้ นักศึกษาเองก็แผ่วพลังลงไป คุณอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วก็รู้สึกว่า โอเค คุณอานันท์ ปันยารชุน ได้สัญญาว่าไม่กี่เดือนจะทำการสอบสวนคณะ รสช. ทำการสอบสวนคณะที่ปราบปรามประชาชนในวันที่ 17-19 พ.ค.35 ปีถัดมาวาทกรรมเรื่องการปกครองโดยคนดี มันเริ่มออกมา ปี36 งาน 20 ปี 14 ตุลา ธีรยุทธ บุญมี แถลงข่าวชูประเด็นเรื่องธรรมรัฐ อันมีนัยของการตรวจสอบรัฐบาล ความเข้มแข็งในการตรวจสอบนักการเมือง พูดง่ายๆนักการเมืองมีแนวโน้มที่จะขี้ฉ้อ คอรัปชั่น เพราะฉะนั้นจึงเรียกร้องกระบวนการธรรมรัฐ

ในขณะเดียวกันกลุ่มนักศึกษาเอง กลุ่มภาคประชาสังคมบางส่วนก็เรียกร้องนายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง ผลก็คือหลังเหตุการณ์พฤษภา สิ่งที่เราได้มาเป็นมรดกบางประการคือ กองทัพกลับเข้ากรมกอง ได้เสาหลักในเรื่องการเลือกตั้ง ประชาชนผูกพันกับการเลือกตั้ง แล้วเราก็ได้การเติบโตของความหมายแบบหนึ่งที่มันเป็นปัญหาต่อมาในอีก 18 ปีหลังจากตอนนั้นก็คือเรื่อง “คนดี” เราหวังว่านักการเมืองจะเป็นคนดี ทุกอย่างมันเฉลยหมดเลยในวันที่พันธมิตรชูธงเรื่อง 70:30 และการเมืองใหม่ นักการเมืองมาจากการเลือกตั้งแค่ 30% ก็พอ อีก 70% มาจากคนดีและคนดีนั้นจะต้องมาจากชนชั้นนำ

ผมไม่เข้าใจเลยวาทกรรมเรื่องคนดีว่ามันมีใครไม่ดีด้วยหรือในประเทศนี้ คนมีพ่อมีแม่มีลูกมีญาติ แม้ใครไม่อาจจะดีได้ในสายตาคนอื่น ญาติเองก็ต้องมองว่าเขาดี คือทุกคนมันมีข้อดี ข้อเลวกันทุกๆ คน ข้อดีข้อเลวมันถูกสื่อหยิบมาใช้ การเมืองถูกอำนาจหยิบมาใช้ และแปะป้ายว่าเขาเลวทั้งหมด เขาดีทั้งหมด คนอย่างทักษิณ ชินวัตร จึงไม่มีที่ยืน ทำดีมา 8 เรื่อง ทำเลว 2 เรื่อง มันคือเลว ทำเลวมา 9 เรื่อง หล่ออยู่เรื่องเดียว มันดี มันเจ๋งหมด การเมืองแบบนี้มันไม่ถูก

แล้ววาทกรรมเอาคนดีมาปกครองบ้านเมืองเองก็ตามซึ่งถูกหยิบอ้าง อันที่จริงพระราชดำรัสก็มีพูดทุกเรื่อง แต่มันอยู่ที่คนมีอำนาจในยุคสมัยนั้นหยิบอะไรมาอ้าง ผมคิดว่ามันเป็นปัญหาและเหตุการณ์การไล่คุณทักษิณ การรัฐประหาร 19 ก.ย. ทั้งหมดล้วนมีภาพของนักการเมืองเลวอยู่ทั้งสิ้น

มันมีภาพของการต่อสู้ประชาธิปไตย 2 แบบ คือประชาธิปไตยที่เสียงข้างมากไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป และถ้าเสียงข้างน้อยที่เป็นคนดี ประชาธิปไตยก็จะไปได้ ผมไม่อาจจะชี้ได้ว่าอะไรผิดอะไรถูก แต่ผมคิดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจในยุคช่วง 20 ปี มันทำให้คนที่เคลื่อนไหวเมื่อ 20 ปีที่แล้วมีจำนวนมากและออกกระจายไปอยู่ชนบท ซึ่งคนชั้นกลางไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองที่ม๊อบกลางเดือน พ.ค.35 เท่านั้น แต่มันกระจายไปทั่วประเทศอันเนื่องมาจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นโยบายของทางรัฐบาลไทยรักไทยซึ่งเติบโตได้เร็วมาก คนเสื้อแดงซึ่งก็เป็นชนชั้นกลาง นักวิชาการบางคนบอกว่าคนจนไม่มีแล้ว บางคนบอกว่าชนชั้นล่างมีจำนวนน้อยมากแล้วที่เหลือเป็นชนชั้นกลางหมดแล้ว มันเติบโตขึ้นและคนเหล่านั้นผูกพันโดยตรงกับประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาธิปไตยแบบเขากินได้ เขาจึงหลุดพ้นวาทกรรมเรื่องคนดีได้อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่บ้านใกล้วัด

ผมคิดว่าฐานนะสำคัญของเหตุการณ์พฤษภามันมีความสำคัญตรงนี้ คือ มันเป็นความสามัคคีไม่เอาทหารของประชาธิปไตย 2 ขั้ว คือคนที่เชื่อเรื่องคุณธรรม ก็พูดไปได้ว่ามาจากสายท่านพุทธทาส ในทางปรัชญาคือผู้นำเผด็จการที่ดีก็มีอะไรแบบนี้ ฐานะทางประวัติศาสตร์ของพฤษภา 20 ปีวันนี้มันชัดมากว่าเป็นความสามัคคีไม่เอาทหารแล้วมันก็มีมรดกเกิดขึ้นตามมาก็คือทหารกลับเข้ากรมกอง มีรัฐธรรมนูญ 2540 และก็มีการเลือกตั้งที่ลงหลักปักฐานแข็งแรง ปี 53 มันเป็นการแตกกัน 2 ขั้วนี้ ระหว่างประชาธิปไตย 2 แบบอย่างชัดเจน

20 ปีที่ผ่านมานี้ ถ้าเรามองย้อนหลังไป มันสะท้อนว่าเราไม่สามารถสร้างโครงสร้างประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งได้ลงหลักปักฐานอย่างแข็งแรง เช่น คุณไม่เคยเปิดเรื่องเสรีภาพ ณ บัดนี้พุทธศาสนาก็ยังเป็นใจกลางของปัญหาอยู่ คือทำให้ทุกคนเชื่อโดยปราศจากการวิพากษ์วิจารณ์ อันนี้มันก็สะท้อนว่าเราเองไม่ได้ติดโครงสร้างพื้นฐานทางประชาธิปไตยให้กับพลเมืองในประเทศนี้เลย ในขณะที่อาจจะหลุดออกมาจากวาทกรรมคนดีได้ หรือการยึดถือสถาบันพระมหากษัตริย์แบบงมงาย ต่อให้เขาหลุดออกมาจากตรงนั้นได้ เขาก็ไม่หลุดออกจากศาสนาอยู่ดี ผมคิดว่าความสำคัญของเสรีภาพรวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทางประชาธิปไตย มันมีน้อยมากในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

 

“..การรัฐประหารโดยทหารมันจบอย่างสิ้นซากแล้วโดยพฤษภาทมิฬ

19 กันยา อันนี้ไม่ใช่

อันนี้เรียกว่าเป็นการรัฐประหารโดยระบบราชการทั้งระบบ..”

 

สุนัย จุลพงศธร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร

 

อยากให้มีการชำระประวัติศาสตร์ความคิดเสียที เพราะมันสับสนกันมาก ระหว่างคนที่เดินทางเมื่อ 14 ตุลา 16 จนถึงวันนี้ เรายังสับสนกับคำว่าเผด็จการ คำว่าเผด็จการมันฝังใจประชาชนมาก เผด็จการทหารมีปืนกำกับ แต่มันมีเผด็จการอันหนึ่งที่เราด่ากันได้หมด ไม่มีใครทำอะไร ที่เขาบอกเผด็จการนายทุนกับเผด็จการรัฐสภา

ผมก็มานั่งนึกตกลงเรายังมาอยู่กับวาทกรรมคำว่าเผด็จการอย่างไม่จำแนกได้หรือเปล่า ตกลงนี่นายทุนเป็นเผด็จการหรือ ทักษิณนี่เป็นนายทุนเผด็จการใช่ไหม เห็นด่าได้ทั้งเช้าทั้งเย็น คำว่าเผด็จการจริงๆ มันต้องหมายถึงอำนาจที่บีบบังคับให้คุณคิดหรือไม่ให้คุณแสดงออก ลองไปด่าถนอม กิตติขจรสิ เดี๋ยวหาเรื่องจับจนได้ แต่เผด็จการนายทุนนี่ด่าได้ด่าดี พันธมิตรฯ ไม่เห็นถูกเก็บสักที ด่าทักษิณทุกวัน โดยเฉพาะวัชระ เพชรทอง ด่ากลางรัฐสภาเลย  แล้วจะชื่อว่าเผด็จการรัฐสภายังไง

ถ้าเราจะพูดถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ผมอยากให้มองพัฒนาการทางการเมืองควบคู่ไปกับเหตุการณ์ทางการเมือง ซึ่งพฤษภาทมิฬเป็นรอยต่อหนึ่ง  14 ตุลา นั้นเป็นจุดปลายของเผด็จการทหาร คำว่าจุดปลายไม่ได้หมายความว่ามันตัดขาด สายน้ำไม่สามารถจะตัดขาดอย่างไร ยกตัวอย่างแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง ไหลมา พอมาเจอกับแม่น้ำน่านกว่ามันจะเจือสีมันจะค่อยๆ เจือ น้ำกว่าจะไหลไปแม่น้ำเจ้าพระยากว่าจะถึงทะเลกว่ามันจะเค็มมันต้องกร่อยก่อน ฉันใดก็ฉันนั้นการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เป็นเหมือนสายน้ำ 14 ตุลา 16 เป็นจุดสุดท้ายของเผด็จการทหาร ที่ก่อตัวเต็มรูปแบบเมื่อรัฐประหาร 8 พฤศจิกา 2490 ที่ล้มปรีดี พนมยงค์ แล้วก็เพาะตัวแล้วล้อมจอมพล ป. เข้าสู่สฤษดิ์ (ธนะรัชต์) ซึ่งเรียกได้ว่าเต็มรูปแบบ ตั้งแต่นั้นมานายกรัฐมนตรีต้องขึ้นต้นด้วยพลเอก กระทรวงต่างๆ นายพลทั้งนั้น สภามีแต่นายพลทั้งนั้น คล้ายๆ พม่าวันนี้ เห็นเปิดสภาพม่าแต่งชุดทหารนั่งเต็มสภาเลย นั่นเป็นรูปแบบเผด็จการทหารชัดเจนที่สุด

แต่สังคมไทยถูกครอบด้วยเผด็จการ 2 ชั้น ที่เรามองไม่เห็น เรายังไม่รู้ความจริงว่าเผด็จการลึกกว่าเผด็จการทหารคืออะไร เรารู้จักแต่เผด็จการทหาร ดังนั้นก่อน 14 ตุลา ท่านจะไม่เห็นนักการเมืองที่เป็นพลเรือนเลย เป็นพลเรือนมีเหมือนกัน ต้องอยู่หลังทหาร อาศัยบารมีจอมพลสั่งการให้เป็นรัฐมนตรีถึงจะได้ พอหลัง 14 ตุลา 16 แล้ว ถึงได้เป็นอาแป๊ะอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา ถึงได้เห็นคนที่ไม่มียศเลยเริ่มเกิดแล้ว เราพึ่งรู้จักนายสกุลศิลปอาชา พึ่งรู้จักนามสกุลลิปตพัลลภ พึ่งรู้จักนามสกุลคนที่ไม่มียศแล้วขึ้นมาทางการเมืองได้ แต่อิทธิเพลของเผด็จการขุนนางนี่มันก็เอาเรื่องนี้มาใส่ร้ายว่า ไอ้พวกนี้ไม่มีความรู้ไม่มีสกุลรุนชาติจะมาปกครองได้อย่างไร

หลังจาก 14 ตุลา 16 เกิด 6 ตุลา 19 จนกระทั่งทหารฟื้นอำนาจอีกครั้งหนึ่งในปี 35 เป็นกระบวนการฟื้นเพื่อฟุบอย่างถาวรของทหาร ทหารอยากจะขึ้นมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่งทำการรัฐประหารพลเอกชาติชาย พลเอกชาติชายเป็นปลา 2 น้ำนะ เพราะมียศถาบรรดาศักดิ์และมีทุนด้วย เป็นทุนขุนนางอย่างหนึ่ง พอล้มชาติชายได้ ทหารก็ขึ้นมา แต่แทนที่จะขึ้นมาเลย  ก็มีเผด็จการขุนนางเขาจับคุณอานันท์ ปันยารชุน มาเป็น เราก็หลง ไม่รู้เลยว่านั้นคือตัวแทนเผด็จการขุนนาง การที่สุจินดาขึ้นมาได้หลังจากอานันท์ ปันยารชุน ใครตั้งแท่นให้ คุณอานันท์ ปันยารชุน ตั้งแท่นให้เลย  ออกโครงการทหารเสือประชาธิปไตยส่งทหารเข้าทุกหมู่บ้านหมู่ละ 3 คน ไปหาเสียงให้เลย ล๊อคหัวคะแนนฝ่ายทุนเลย ทุนพลเรือนสู้ไม่ได้ พรรคสามัคคีธรรมขึ้นชนะ พรรคสามัคคีธรรมชนะได้อย่างไร คุณสุจินดาพึ่งเกิดพึงยึดอำนาจมาดังนั้นบารมีแท้ๆ มาจากปืน หลังจากคุณอานันท์ ปันยารชุน ขึ้นมา รุ่น 5 ก็ขึ้นมาเป็นแผง ความหวาดกลัวของทุนขุนนางที่จะเกิดแบบสมัยถนอม ประภาส เขาจึงตัดสินใจล้มไง

กระบวนการทิ่มแทงกลุ่มทุนก็เกิดขึ้นโดยกล่าวหาว่าเผด็จการทุนนิยม เผด็จการรัฐสภา พวกนี้โกง ไปดูการโกงสมัยสฤษดิ์มันหนักกว่านี้อีก พูดก็ตายเลย  อาจารย์ตามมหาวิทยาลัยได้สร้างจินตนาการประชาธิปไตยมารูปแบบหนึ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยแห่งคุณธรรม ผุดผ่องเหลือเกิน ไม่มีการใช้จ่ายเงินใดๆ เลย ถามว่ามันมีที่ไหน ช่วยหาระบบการเมืองในโลกนี้ว่ามีระบบการเมืองไหนที่ต้องการให้ประชาชนกับผู้ปกครองมีความสัมพันธ์ถึงกัน ให้ประชาชนมีส่วนเลือกผู้ปกครองแบบที่ไม่ต้องใช้สตางค์เลย มีไหมในโลก แค่จะประชาสัมพันธ์ว่าเลือกผม ว่าผมเป็นใคร ระบบปกครองที่ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกตัวแทน มันไม่มีหรอกในโลกที่ไม่ใช้สตางค์

การรัฐประหารโดยทหารมันจบอย่างสิ้นซากแล้วโดยพฤษภาทมิฬ 19 กันยา อันนี้ไม่ใช่ อันนี้เรียกว่าเป็นการรัฐประหารโดยระบบราชการทั้งระบบ

ไอ้คำว่าเผด็จการที่ใช้โดยเนื้อหามันเหมือนกันหรือเปล่า เผด็จการของทุนนี่ เมื่อก่อนฝ่ายซ้ายก็บอกว่าเผด็จการอเมริกาเป็นเผด็จการรูปแบบหนึ่งเป็นเผด็จการทุนนิยมแต่เห็นคุณภาพชีวิตคนมันดี ยุโรปเผด็จการทุนนิยมมันมีรัฐสวัสดิการ เผด็จการทหารพม่าไม่มีอะไรให้กินนะ เผด็จการขุนนางมีแต่ทำทางเท่านั้น ดังนั้นเผด็จการทุนนิยมที่ใครโจมตี ผมเองคิดว่าเราต้องกลับมาคิดใหม่ รัฐที่เราบอกว่าเป็นรัฐทุนนี่การบริการประชาชนเป็นภาระหน้าที่ของรัฐนะ คนอเมริกัน คนยุโรปยิ่งเห็นชัดลูกเมียช่างไม้ ลูกเมียชาวนา แม้กระทั่งคนไทยที่ไปเป็นเมียคนนอร์เวย์นี่มีสิทธิเท่าคนนอร์เวย์ที่จะได้รับบำนาญ แม้จะไม่ได้ทำงานก็รับกินบำนาญจากผัวได้ โดยมาจากกลไกภาษี ของไทยมีบำนาญก็เลี้ยงแต่ที่เป็นข้าราชการเท่านั้น ส่วนชาวบ้านก็แล้วแต่อยู่

ทักษิณแค่ออกลูก 30 บาท หาว่ามอมเมาประชาชน เป็นประชานิยม เป็นการใช้ภาษีมาหาเสียง ในแสกนดิเนเวียไม่ได้ออกลูกฟรี จ้างออกลูก คนไทยไปเป็นเมียนอร์เวย์นี่เขาจ่ายเงินเดือนให้ไปออกลูก ออกลูกเสร็จเขาจ้างเลี้ยงต่อ ไหนว่าเป็นเผด็จการไง เผด็จการแบบนี้ก็ดีเหมือนกันนะ สู้ประเทศคุณธรรมของเราไม่มีอะไรเลย

ผมเห็นนายเฉลียว เจ้าของกระทิงแดงตาย ข่าวหน้าหนึ่งไทยรัฐ บอกทิ้งสมบัติไว้ 1 แสน 5 หมื่นล้าน ข่าวหายไปเฉยๆ เลยไม่มีบอกภาษีมรดกเลย ฉะนั้นประเทศที่ก้าวหน้าเขาจึงสร้างระบบภาษีที่ก้าวหน้าขึ้น  แต่เราไม่พูดภาษีที่ก้าวหน้า พูดแต่เรื่องให้อยู่กินไปวันๆ พอแล้ว

ดังนั้นต้องมาทำความเข้าใจใหม่ เราไม่ทำความเข้าใจเรื่องทุน คำว่าเผด็จการ คำว่าทุนกับเผด็จการ ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจใหม่มันจะสับสนหมด เพื่อนเราจึงกลายไปเป็นคนที่เชียร์เผด็จการถึงทุกวันนี้ไง  ดังนั้นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายเมื่อ 19 กันยาจึงไม่ใช่การรัฐประหารโดยทหาร และวันนี้ประชาชนตาสว่างระดับหนึ่ง คือรู้แล้วการรัฐประหารไม่ถูกต้อง ยังไงก็ไม่ถูกต้อง และรู้ว่า 19 กันยา มาถึงทุกวันนี้เป็นความผิดพลาดของการรัฐประหารที่เลวร้าย เห็นชัดโดยการลงคะแนน 2 ครั้ง ประชาชนเขาพิพากษาโดยมหาประชาชนแล้วว่า 6 ปีมาแล้วทักษิณถูก จึงเลือกตั้งให้พรรคที่เกี่ยวข้องกับทักษิณชนะ 2 ครั้ง แล้ววันนี้พิพากษาแล้วว่าการรัฐประหารผิด พิสูจน์ได้ว่าไม่มีใครกล้าแสดงตัวเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้ว

 

 

“..การร่างรัฐธรรมนูญ 2540 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

มันไม่มีรัฐธรรมนูญในการควบคุมทหาร

พวกเราได้เห็นว่าทหารถูกควบคุมโดยมวลชน คิดว่าทหารไม่ออกมาอีกแล้ว

เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ไปแตะอำนาจทหาร

ซึ่งเราเห็นว่าผลพวงการที่เราไม่แตะอำนาจทหาร

ทหารก็ได้กลับมาอีกในปี 49..”

 

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

 

จากเหตุการณ์รัฐประหารปี 34 ถ้าจะไม่พูดถึงคุณทนง โพธิ์อ่าน คงเป็นไปไม่ได้ คุณทนง โพธิ์อ่าน เป็นคนหนึ่งที่ออกมาต่อต้านคณะ รสช. การรัฐประหาร วันที่ 23 กุมภา ปี 34 พอวันที่ 26 กุมภา นี่ พลเอกสุจินดา คาประยูร ก็เรียกผู้นำแรงงานทั่วประเทศเข้ารายงานตัว คือสมัยก่อนพอมีรัฐประหารก็เรียกผู้นำแรงงานเข้ารายงานตัว พอปี 49 ก็กังวลเหมือนกันว่าจะถูกเรียกรายงานตัวเหมือนกันแต่ก็ไม่เรียก ตอนที่เรียกรายงานตัวครั้งนั้นพลเอกสุจินดา พูดว่า “ทุกข์ของกรรมการถือเป็นทุกข์ของทหาร” สำหรับทนง โพธิ์อ่าน เขาถือว่าคำพูดเหล่านั้นเป็นเพียงลมปาก ไม่อาจเชื่อถือได้ จากนั้นเขาเรียกประชุมสภาแรงงานเพื่อตอบโต้รัฐประหาร

คณะ รสช. ก็มีประกาศแยกรัฐวิสาหกิจ คนงานรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน ซึ่งทางคุณทนงก็ได้มีคำพูดหนึ่งซึ่งเป็นที่ติดปากกันว่า “การแยก การยุบสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจและประกาศ รสช. ฉบับที่ 54 ขอฝากเตือนถึงบิ๊กจ๊อดอย่านึกว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินแล้วจะทำอะไรก็ได้ ต้องฟังเสียงประชาชนบ้าง เวลานี้ทหารทำให้กรรมกรทุกข์ ดังนั้นควรทำอะไรให้รอบคอบ วันนี้สามช่า วันหน้าอาจไม่มีแผ่นดินอยู่” อันนี้เป็นคำพูดของคุณทนง คุณสุจินดา คาประยูร กล่าวว่าถ้ามีการเคลื่อนไหวกรรมกรในการคัดค้านยุบสหภาพแรงงานนี่ ทหารมีแผนอยู่ตลอด

พอประกาศเลิกกฎอัยการศึกกรรมกรก็รวมตัวที่จะมีการประชุมใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีคำสั่งให้ทหารทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ คุณทนง เป็นผู้นำกรรมกรแล้วก็เป็นที่ยอมรับภายในและต่างประเทศ เป็นถึงตำแหน่งรองประธานสหภาพแรงงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกของสมาพันธ์เสรีแรงงานระหว่างประเทศ  วันที่ 19 มิถุนายน 2534 ทนง โพธิ์อ่านหายตัวไปที่สนามบิน  ไม่มีใครได้พบเขาอีกเลย ขบวนการกรรมกรได้มีการติดตามหาแต่ไม่ได้เจอ 

อยากจะพูดว่าการต่อสู้กับเผด็จการนี่ ไม่ได้มีเพียงแค่นักศึกษาหรือประชาชนที่ออกมา ในขบวนการกรรมกรนี่ แทบจะไม่มีใครพูดถึงว่ากรรมกรได้ออกมาต่อสู้ในเหตุการณ์ทุกยุคทุกสมัย

ใน รสช. ได้ทิ้งประกาศอันหนึ่งไว้แล้วมันก็เป็นผลพวงมาถึงทุกวันนี้ คือ ประกาศฉบับที่ 54 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ทำไมมันเป็นผลพวงมาถึงทุกวันนี้  ถ้าในอดีตจะเป็นที่รู้กันว่าในขบวนการแรงงานจะมีทั้งนักศึกษา ขบวนการฝ่ายซ้าย จะมีคนที่ออกมาจากป่า หรือว่าอดีต พคท.(พรรคคอมมิวนิสต์) ที่เข้าร่วมให้เป็นที่ปรึกษากับคนงาน ซึ่งทางทหารเองเห็นว่าคนกลุ่มนี้เข้ามาเขาอ้างว่าไปยุยงปลุกปั่นกรรมกร ก็ทำให้มีประกาศของคณะ รสช. ออกมาว่าการที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับกรรมกรได้ ต้องไปจดทะเบียนที่กระทรวงแรงงาน การจดทะเบียนที่กระทรวงแรงงานนี่ให้อำนาจอธิบดีเป็นผู้ออกบัตรที่ปรึกษา จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น เคยเข้าร่วมเจรจาต่อรองไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ต้องมีคุณสมบัติหลายอย่าง ที่กระทรวงแรงงานกำหนด

การเป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานโดยไม่มีบัตรที่ปรึกษา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประกาศฉบับนี้ก็ยังคงใช้อยู่ และผลพวงอีกอันหนึ่งคือถ้ากรรมกรจะนัดหยุดงาน สหภาพแรงงานจะนัดหยุดงานนี่จะต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดของสหภาพแรงงานแล้วต้องลงคะแนนเสียงเป็นทางลับ  รัฐประหารเข้ามาควบคุมกรรมกร การเข้าควบคุมคือการใช้กฎหมาย และกฎหมายนี่ยังอยู่มันไม่ถูกยกเลิกเลย

มันมีผลพวงอย่างไร 20 ปีมานี้ กรรมกรเหมือนถูกตัดตอน ถูกแยกออกจากรัฐวิสาหกิจ การต้านรัฐประหารครั้งนั้น หัวหอกสำคัญในการต้านรัฐประหารก็มีคนงานที่มาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ แล้วก็คนงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีสมศักดิ์ โกศัยสุข ร่วมอยู่ด้วย แต่ตอนนี้ไปอยู่พันธมิตรฯ แล้ว

กฎหมายตัวนี้ที่ออกมาทำให้กรรมกรถูกตัดขาดจากกลุ่มข้างนอก ด้วยโทษจำคุก การเข้าไปเป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานที่ถูกกีดกัน แล้วเอากรรมกรรัฐวิสาหกิจและกรรมกรเอกชนแยกออกจากกัน กฎหมายแรงงานของรัฐวิสาหกิจออกมา ตอนนั้นรัฐวิสาหกิจก็ถูกยุบสหภาพเป็นสมาคม สหภาพแรงงานก็มีกฎหมายห้ามข้องเกี่ยวกับการเมือง  และการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานนี่จะต้องกำหนดอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี ต้องมีสัญชาติไทย ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง แล้วก็ไม่เคยมีตำแหน่งในพรรคการเมือง อันนี้ก็ถูกระบุชัดเจน ก็ทำให้คนงานกลายเป็น 1 โรงงาน 1 สหภาพแรงงานไป  แล้วก็การไม่สัมพันธ์กับคนงานรัฐวิสาหกิจมันแยกออกจากกัน  เพราะว่าในอดีตความเข้มแข็งของคนงานเอกชนมันเกิดจากการหนุนช่วยของคนงานรัฐวิสาหกิจ  การตั้งสหภาพแรงงานในอดีตถูกตั้งโดยคนงานรัฐวิสาหกิจ  พอแยกออกจากกันทำให้ขบวนการแรงงานถูกแยก  คนงานเอกชนตั้งสหภาพแรงงานยากขึ้น แล้วก็ไม่มีทุน ไม่มีความรู้ความเข้าใจ การที่จะให้นักศึกษา กลุ่มคนที่มีความรู้เป็นที่ปรึกษาก็มีข้อกฎหมายจำกัดซึ่งมีโทษจำคุกด้วย

มันมีผลพวงตอนการเคลื่อนไหวในปี 53 ขบวนการคนเสื้อแดงถ้าแยกออกไปแล้วไม่ใช่มีเพียงชาวบ้านที่มาจากต่างจังหวัด มีคนงานมีกรรมกรที่อยู่ในเมืองออกมาร่วมด้วย  เพียงแต่ไม่ได้ออกมาในนามของสหภาพแรงงาน ไม่ได้ออกมาในนามขององค์กรจัดตั้งที่เป็นสหภาพแรงงาน เพราะว่าสหภาพแรงงานมันถูกปิดกั้นโดยกฎหมาย ไม่ให้แสดงตัวทางการเมือง  มันกลายเป็นว่ากรรมกรที่อยู่ในโรงงานออกมาเข้าร่วมตามจังหวัด อย่างเช่นมีเต้นท์ อุดร อุบล ขอนแก่น คนงานที่อยู่ในโรงงานตอนเย็นเลิกงานก็ไปอยู่ประจำเต้นท์ต่างจังหวัดบ้านเกิดตนเอง ก็เลยไม่มีภาพกรรมกรออกมาสู้  แต่มันมีคนงานในโรงงานที่เป็นคนเสื้อแดง บางคนก็มากับชุมชน ทำให้ข้อเรียกร้องหรือการตอบสนองความต้องการที่รัฐบาลส่งผ่านไปให้กับ นปช. ก็ไม่ผ่านให้กับกรรกร เป็นการส่งผ่านชุมชน ส่งผ่านเต้นท์ต่างจังหวัดต่างๆ

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เข้าร่วมในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬด้วย รวมถึงคนงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ คนงานในรัฐวิสาหกิจซึ่งก็คงสัมพันธ์กับ สนนท.(สหพันธ์นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย)ในยุคนั้น ก็จะมีคนงาน นักศึกษา ที่เข้าร่วมขบวน ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ อย่างที่บอกด้วยเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้คนงานไม่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ ก็อยากจะบอกให้ทุกคนเข้าใจว่าการที่ไม่ได้ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกรรมกรเข้าร่วม  ถ้าต้องการให้เข้าร่วมชัดเจนก็จะต้องแก้ข้อกฎหมาย อย่างเช่น ตอนต้านรัฐประหาร คนงานใช้ชื่อ สมัชชาแรงงาน 1550, กรรมกรปฏิรูป แต่มันไม่ได้ออกมาในชื่อของสหภาพแรงงาน

อยากจะมีข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะเรามีการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ อย่างไรก็ตาม เราไม่มีรัฐธรรมนูญในการควบคุมทหาร พวกเราได้เห็นว่าทหารถูกควบคุมโดยมวลชน คิดว่าทหารไม่ออกมาอีกแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ไปแตะอำนาจทหาร ซึ่งเราเห็นว่าผลพวงการที่เราไม่แตะอำนาจทหาร ทหารก็ได้กลับมาอีกในปี 49 ซึ่งอาจารย์สุนัยก็จะบอกว่าเป็นคนที่ใหญ่กว่าทหาร แต่เวลาส่งผ่านการใช้รถถังหรือให้อะไรนี่ มันก็ออกมาในรูปของทหาร เพราะฉะนั้นจะต้องมีรัฐธรรมนูญที่ควบคุมอำนาจทหาร ทหารเกณฑ์เราก็เกณฑ์คนเข้าไปเป็นทหาร เพราะฉะนั้นเราต้องยกเลิกระบบทหารเกณฑ์ เพราะทหารเกณฑ์ก็กลายเป็นฐานเสียงให้กับการเลือกตั้งทางการเมืองได้ด้วย เวลาทหารเกณฑ์เข้าสู่กรมกองแล้วนี่ เข้าก็มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ทหารที่เขาอยู่  ซึ่งมันต่างจากกรรมกรในโรงงาน ที่พอเข้าไปทำงานในโรงงานแล้ว ไม่มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ทำงาน แต่ทหารก็มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่ของทหาร

เพราะฉะนั้นคิดว่า 20 ปี จากพฤษภาทมิฬ 35 จนถึง พฤษภา 53 มันถึงได้เห็นว่ากลไกต่างๆ พยายามควบคุมอำนาจของคนงาน เพราะเขาเชื่อว่าคนงานสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ การหยุดงานของภาคชนบทเข้ามาชุมนุมในเมืองนี่มันไม่ได้สร้างผลสะเทือนทางเศรษฐกิจ  แต่ถ้าเมื่อไหร่คนงานในโรงงานหยุดทำการผลิต มันสร้างผลสะเทือนให้กับนายทุน สร้างผลสะเทือนทางเศรษฐกิจ คิดว่าตรงนี้สามารถสร้างอำนาจต่อรองได้ เพราะฉะนั้นกรรมกรถูกตัดตอนในข้อกฎหมาย ในเรื่องของการควบคุมกรรมกรในทุกรูปแบบ ถ้ามีการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้สิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการต้องได้ ถ้าไม่ได้ก็คือคนงานนั้นยังไม่มีสิทธิทางการเมืองต่อไป

 

คลิปเสวนาเต็ม

 คลิปรำลึกพฤษภาทมิฬ-พฤษภาเลือด โดย  prainn2011

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท