Skip to main content
sharethis

สำหรับคอกีฬา เราลองมารู้จักบางแง่มุมของ 16 ประเทศที่จะร่วมโม่แข้งในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปนอกเหนือจากเรื่องฟุตบอล โดยตอนแรกขอนำเสนอเกร็ดเล็กๆ ของประเทศในกลุ่ม A เจ้าภาพร่วมโปแลนด์, กรีซ, รัสเซีย และเช็ก

 

โปแลนด์ color:#0000CC">


ปัญหาการเหยียดผิว - ความกลัวเรื่องการเหยียดผิวในการแข่งขันครั้งนี้ที่โปแลนด์ก็มาจากฐานความจริงที่ในประเทศที่เคยเป็นสังคมนิยมนี้กลับสวิงมาเป็นชาติที่มีปัญหาความรุนแรงเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้อย่างสุดขั้ว โดยไม่นานมานี้สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษเพิ่งนำเสนอรายงานพิเศษเกี่ยวกับกลุ่มนิยมลัทธินาซีใหม่ (Neo-Nazism) ในยูเครนและโปแลนด์ซึ่งมักแสดงท่าทีหยามเหยียดนักเตะผิวสี รวมถึงเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์กรชาวยิวในโปแลนด์ ได้เปิดเผยว่าพวกหัวรุนแรงได้บุกทำลายสุสานชาวยิว ในเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของโปแลนด์ พร้อมมีการพ่นสีสเปรย์เป็นสัญลักษณ์สวัสดิกะบนหลุมศพ และบางข้อความเขียนว่า "ที่นี่คือโปแลนด์ ไม่ใช่อิสราเอล"

ฟุตบอลกับชาวสีรุ้ง - นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงกันในเรื่องการเมืองเกี่ยวกับเพศสภาพและเกมฟุตบอล โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2011 กลุ่มสิทธิเกย์และเลสเบียนกลุ่มหนึ่งในโปแลนด์บางกลุ่มได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้จัดการแข่งขัน จัดที่นั่งสำหรับกลุ่มเกย์และเลสเบี้ยน เพื่อป้องกันการถูกล่วงละเมิดและความรุนแรงจากแฟนบอลหัวรุนแรง แต่กระนั้นก็มีกลุ่มเกย์และเลสเบียนที่ไม่เห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ เนื่องจากว่าแนวคิดนี้สร้างความ “แปลกแยก” และ “แบ่งแยก” กลุ่มเกย์และเลสเบียนออกไปอย่างชัดเจนจนอาจเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายมากขึ้น และมีเกย์กับเลสเบียนอีกจำนวนมากในโปแลนด์ที่ก็ไม่ต้องการให้เรียกร้องความสนใจในตัวพวกเขาด้วยวิธีการแบบนี้

ในขณะที่สนามแข่งขันบางสนามยังปฏิเสธที่จะแบ่งพื้นที่สำหรับกลุ่มรักร่วมเพศโดยเฉพาะด้วย โดยให้เหตุผลว่าอาจเป็นการล่อเป้ามากเกินไป โดยสนามแข่งแห่งหนึ่งในเมือง Gdansk ได้ปฏิเสธคำร้องของกลุ่มดังกล่าวแล้ว โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินการดังกล่าวน่าจะเป็นประทับตราความเป็นเกย์-เลสเบี้ยนพวกเขา

อนึ่งเมื่อปี 2011 ที่ผ่านมา โปแลนด์ก็มี ส.ส. ที่ผ่าตัดแปลงเพศคนแรกของประเทศ คือ Anna Grodzka วัย 57 ปี เธอได้รับการผ่าตัดแปลงเพศในประเทศไทย จากนั้นจึงลงเลือกตั้งและได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคม 2011 โดยเธอสาบานตนเข้ารับตำแหน่งพร้อมกับ  Robert Biedron ซึ่งเป็น ส.ส. คนแรกของโปแลนด์ที่เปิดเผยตนเองต่อสาธารณะชนว่าตนเองเป็นเกย์

ประเด็นรุมกระหน่ำยูเครน – แม้จะเป็นเจ้าภาพร่วมและเป็นมิตรประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับยูเครน แต่โปแลนด์ก็อดไม่ได้ที่จะเล่นการเมืองระหว่างประเทศถล่มยูเครนที่กำลังติดหล่มเรื่องการละเมิดสิทธิของนาง Yulia Tymochenko อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของยูเครน (ซึ่งจะขออภิปรายถึงกรณียูเครนต่อไปในกลุ่ม D)

ประธานาธิบดี Bronisław Komorowski ของโปแลนด์ เป็นหนึ่งในผู้นำประเทศในยุโรปที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยูเครน ยอมผ่อนปรนปรับเปลี่ยนกฎหมายบางมาตราเพื่อเป็นการคำนึงถึงสภาพร่างกาย และให้มีการรักษาอาการป่วย และบาดเจ็บที่เกิดจากการอดอาหารประท้วง ของนาง Tymochenko อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของยูเครน ที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก 7 ปี ในข้อหาใช้อำนาจในทางมิชอบขณะดำรงตำแหน่ง แต่กระนั้น Komorowski  ก็มิได้เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (ยูโร 2012) ครั้งนี้ แต่เขาหวังว่าการแข่งขันฟุตบอลยูโร 2012 น่าจะเป็นสื่อกลางช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับประเทศต่างๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรปได้

ป้องกันเอดส์ช่วงบอลยูโร - กระทรวงสาธารณสุขของโปแลนด์ มีนโยบายแจกถุงยางอนามัยให้กับแฟนบอลหลายแสนคนที่เดินทางเข้ามาชมยูโร 2012 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย โดยจะมีการแจกถุงยางอนามัยจำนวน 150,000 ชุด และใบปลิวต่างๆ ในบริเวณแฟนโซน

 

กรีซ color:#0000CC">


คนป่วย (หนัก) แห่งยุโรป – ในประเทศที่ซึ่งเภสัชกรกินเงินบำนาญยังต้องฆ่าตัวตาย หญิงมีครรภ์ไม่มีค่าทำคลอดบุตร และอีกสาระพันปัญหาที่รุมเร้า กรีซอาจจะเป็นประเทศที่กำลังย่ำแย่หนักที่สุดของยุโรปในขณะนี้

วิกฤตการเงินของกรีซเริ่มจากการที่รัฐบาลขาดวินัยการคลังประกอบกับวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลสูงถึง 14.5% ของมูลค่าเศรษฐกิจ (GDP) และมีหนี้สาธารณะสูงมากถึง 113% ของ GDP ตั้งแต่ในปี 2009 ได้ส่งผลต่อเนื่องมาให้รัฐบาลต้องพยุงเศรษฐกิจของประเทศด้วยนโยบายรัดเข็มขัด ตัดสวัสดิการต่างๆ ของประชาชน อันทำให้เกิดการประท้วงเรื่อยมาทั้งจากประชาชนทั่วไปและองค์กรสหภาพแรงงาน

และกรีซก็ไม่สามารถพลิกฟื้นแก้ปัญหาได้ถึงแม้จะมีการการอัดฉีดเม็ดเงินกู้จากต่างประเทศ ทั้งนี้มีความกลัวที่ว่ากรีซอาจจะต้องถอนตัวออกจากการใช้ค่าเงินยูโร ที่อาจจะฉุดยุโรปทั้งทวีป โดยความเสี่ยงที่กรีซจะกลับไปใช้สกุลเงิน Drachma มีสูงขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ เมื่อสถานการณ์การเมืองในประเทศถึงทางตัน เพราะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้ หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพิ่มความกังวลว่าวิกฤตหนี้สาธารณะอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในยูโรโซน

นอกจากนี้กรีซยังประสบกับปัญหาจำนวนคนว่างงานโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 15-24 ปี ที่มีสูงเป็นอันดับสองในประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันครั้งนี้ (ดู: ยูโร 2012: ว่าด้วยเกร็ดตัวเลขนอกเหนือเรื่องฟุตบอลของทั้ง 16 ทีม) รวมถึงจำนวนคนที่คิดจะฆ่าตัวตายที่พุ่งสูงกว่าเดิมถึง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ โดยจากข้อมูลขององค์กรสายด่วนรับฟังปัญหาเพื่อป้องกันคนฆ่าตัวตายแห่งหนึ่งในกรีซ พบว่าจำนวนคนที่โทรเข้ามาขอรับคำปรึกษา มีมากกว่า 100 สายต่อวัน และในสัดส่วน 3 ใน 4 พบว่ามีความเครียดจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

ขาดแคลนยา - ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ การตัดลดสวัสดิการ ส่งผลทำให้กรีซขาดแคลนยา 250 ชนิด รัฐบาลกรีซเป็นผู้กำหนดราคายาโดยสำนักงานประกันสังคมของรัฐดูแลค่าใช้จ่ายเกือบทั้งหมดของใบเรียกเก็บเงินที่ออกโดยบริษัทผู้ผลิตยาและผู้ค้าส่งที่ส่งยาให้กับโรงพยาบาลและร้านขายยา วิกฤตเศรษฐกิจทำให้เกิดการตัดลดสวัสดิการในกรีซ ในช่วงครึ่งปีของปี 2011 รัฐบาลกรีซที่สามารถกำหนดราคายาได้ได้ลดราคายาลงเพื่อหวังที่จะลดรายจ่ายด้านสวัสดิการสุขภาพของประเทศ ที่มีมูลค่ารวมในปี 2010 มากกว่า 1.3 หมื่นล้านยูโร (5% ของ GDP) แต่ผลที่ตามมาก็คือการผ่องถ่ายผลิตภัณฑ์ยาจากบริษัทยาจากกรีซสู่ที่อื่นๆ มีมากขึ้น

 

รัสเซีย color:#0000CC">


เสียอำนาจในภูมิภาค – รัสเซียซึ่งเคยเป็นมหาอำนาจในแถบยุโรปตะวันออก ต้องโคจรมาอยู่กลุ่มเดียวกับโปแลนด์และเช็ก ซึ่งทั้งสามประเทศนี้เคยจะมีข้อขัดแย้งกันเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีสหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งตัวชูโรง เมื่อปี 2008 นาง Condoleezza Rice อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้ลงนามและ NATO ได้ให้การรับรองแผนการติดตั้งสถานีเรดาร์ในเช็ก และติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธทางตอนเหนือของโปแลนด์ในปีเดียวกัน โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะสกัดการโจมตีด้วยจรวดจากประเทศที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐ โดยครั้งนั้นได้สร้างความไม่พอใจและเกิดการจุดกระแสการประท้วง อันได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับระหว่างทั้งโปแลนด์และเช็กกับรัสเซียมีปัญหาขึ้น เพราะว่าข้อตกลงนี้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซียโดยตรง แต่ในปี 2009 หลังเปลี่ยนรัฐบาล ทางสหรัฐก็ได้มีการการยกเลิกโครงการนี้ไป

ประท้วงเลือกตั้ง – ในต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Vladimir Putin แห่งพรรค United Russia ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุนอันท่วมท้นถึง 63.60% ตามมาด้วย Gennady Zyuganov จากพรรค Communist ได้คะแนนเสียง 17.18% และผู้สมัครอิสระอย่าง Mikhail Prokhorov ที่ได้คะแนนเสียง 7.98%  

อย่างไรก็ดีหลังจากที่ Putin ชนะเลือกตั้ง ก็ต้องเจอการประท้วงจากกลุ่ม “ขาประจำ” นั่นคือกลุ่มชนชั้นกลางที่เริ่มมองว่าความจริงแล้ว Putin นั้นเป็นอุปสรรคของการพัฒนาหลังการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน กลุ่มนักเคลื่อนไหว ศิลปิน ผู้สื่อข่าวและบล็อคเกอร์ ฯลฯ โดยข้อกล่าวหาคลาสสิคก็คือ Putin ทุจริตในการเลือกตั้ง และมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเป็นแค่พิธีการสืบทอดเก้าอี้กันระหว่าง Dmitry Medvedev สลับสู่ Putin อีกครั้งเท่านั้น

เศรษฐกิจนอกระบบใหญ่ที่สุดในโลก – ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีมาเฟียยุบยับแห่งนี้ จากข้อมูลของ Bloomberg Businessweek พบว่ามูลค่าของเศรษฐกิจนอกระบบที่ไม่จ่ายภาษีให้แก่รัฐในรัสเซียนั้นเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยคิดเป็น 44% ต่อสัดส่วนของ GDP เลยทีเดียว (อันดับ 2 ได้แก่บราซิล 39% อันดับ 3 ปากีสถาน 36% อันดับ 4 อียิปต์ 35% และอันดับ 5 คือตุรกี 31%)

 

เช็ก

ผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจ – ถึงแม้จะไม่มีอะไรให้พูดถึงเช็กมากนัก แต่เช็กเองก็หนีไม่พ้นปัญหาเกี่ยวเนื่องจากการติดหล่มของยุโรปและส่งผลถึงเสถียรภาพของรัฐบาล โดยเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมารัฐบาลเช็กก็ถูกรัฐสภาเปิดการอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ก็สามารถได้รับความไว้วางใจด้วยคะแนนเฉียดฉิว 105 ต่อ 93 หลังการอภิปราย 9 ชั่วโมง โดยนายกรัฐมนตรี Petr Nečas ประกาศจะเดินหน้าปฏิรูปและตัดลดค่าใช้จ่ายต่อไป หลังที่ชาวเช็กราว 100,000 คนชุมนุมประท้วงในกรุงปรากเมื่อกลางเดือนเมษายนเรียกร้องให้รัฐบาลลาออก เพราะไม่พอใจที่ขึ้นภาษีรายได้อีก 7% ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรคประกาศถอนตัวจากรัฐบาลผสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net