Skip to main content
sharethis

 

 

28 พ.ค. 55 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และองค์กรต่างๆ ด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคมอีก 8 องค์กร ร่วมกันจัดงานสัมมนา “ล่าสุด FTA: ตรวจสอบความพร้อมประเทศไทยในยุคสมัย "สู่ประชาคมอาเซียน" ที่โรงแรมเดอะทวินน์ ทาวเวอร์

โดยผู้จัดได้ระบุถึงเหตุผลในการจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ว่า ท่ามกลางกระแสอันเกรียวกราวเกี่ยวกับการมุ่งหน้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในวันที่ 1 มกราคม 2558 (AEC: ASEAN Economic Community) ซึ่งหมายถึง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนจะถูกทำให้กลายเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว มีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน บริการ การลงทุน และแรงงานฝีมืออย่างเสรีมากขึ้น อาเซียนจะ เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดถึง 600 ล้านคน ที่เหล่าสมาชิกคาดหวังว่าตนจะกลายเป็นสาวหนุ่มเนื้อหอมสำหรับนักลงทุน

หน่วยงานรัฐต่าง ๆ พากันออกมายืนยันความพร้อมของประเทศไทย พร้อมทั้งชี้ผลได้ต่าง ๆ นานา จากการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจดังกล่าว ขณะที่หลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคแรงงาน และประชาสังคมต่างก็แสดงความกังวลใจ และคาดการณ์แนวโน้มผลได้และผลเสียในหลายทิศทาง

นอกเหนือจากเขตการค้าเสรีอาเซียน และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว รัฐบาลยังได้เริ่มขยับตัวจะเปิดการเจรจากับสหภาพยุโรปหลังจากหยุดชะงักไปจากความไม่เสถียรทางการเมือง และแสดงความกระตือรือล้นอย่างยิ่งยวดที่จะเข้าร่วมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership Agreemen: TPPA) ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพใหญ่ อาจกล่าวได้ว่าTPPA เป็นเสมือนเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐในการต้านทานจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่ในภูมิภาคนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรป และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกมีข้อเรียกร้องชัดเจนเรื่องการคุ้มครองสิทธิบัตรในระดับที่สูงกว่าข้อผูกพันภายใต้องค์การการค้าโลกอย่างมาก จึงจะสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการกำหนดนโยบายสาธารณสุขและการเข้าถึงยา ตลอดจนการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศดังกล่าวมีความสำคัญ และจะสร้างผลกระทบแง่มุมต่าง ๆ ต่อประชาชนอย่างกว้างขวาง และในหลายกรณีจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่การทำมาหากินของประชาชนหลายกลุ่มอาชีพอย่างรุนแรง แต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนยังไม่เพียงพอ

 

สถานการณ์และแนวโน้ม FTA ภายใต้บริบท AEC

การหวนคืนสู่เอเชียของสหรัฐฯ, การคงอยู่ของจีนและญี่ปุ่น

รศ.ดร.กุลลดา เกษบุญชู มี้ด ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าที่จริงแล้วพลังเบื้องหลังการก่อตั้งอาเซียน ไม่ได้มาจากผู้นำอาเซียน แต่มาจากญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาที่ต้องการเข้ามาแสวงหาประโยชน์ในอาเซียน สหรัฐเป็นผู้สร้างวาทกรรมการพัฒนาและชักชวนประเทศต่างๆ ให้เข้าสู่การพัฒนา แต่ที่จริงคือการเปิดพื้นที่ให้ทุนนิยมสามารถเข้ามาทำงานได้ ในช่วงสงครามเย็น สิ่งที่สหรัฐทำคือ การชักชวนญี่ปุ่นให้ก่อตั้งอาเซียน ญี่ปุ่นทำสำเร็จในทศวรรษ 1980 เมื่อญี่ปุ่นจัดการให้ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคมีหน้าที่แตกต่างกันในการผลิตสินค้าแต่ละชนิด สินค้าจะไหลมาประกอบรวมกันในประเทศใดประเทศหนึ่ง เช่น มาประกอบผลิตภัณฑ์ SONY ในมาเลเซีย แล้วส่งต่อให้สหรัฐฯ

ต้นทศวรรษ 1980 อานันท์ ปันยารชุน เสนอการรวมเขตการค้าเสรีอาเซียน AFTA ซึ่งเป็นความต้องการของญี่ปุ่นที่ต้องการให้สินค้าไหลไปได้ อาเซียนคือกลไกที่จะทำให้ทุนนิยมในภูมิภาคโดยเฉพาะญี่ปุ่นทำงานได้ราบรื่น หลังประสบความสำเร็จในการสร้างฐานผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ญี่ปุ่นก็เน้นการผลิตรถยนต์โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เกิดข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ตามมา สรุปแล้วอาเซียนไม่ใช่เจตจำนงของคนในภูมิภาค คนเข้าใจผิด

บทบาทของญี่ปุ่นในภูมิภาคแม่น้ำโขงมีสูง เมื่อญี่ปุ่นทำสำเร็จในการผลักดันอาเซียน สิ่งที่ญี่ปุ่นมองออกมาคืออินโดจีน ญี่ปุ่นพยายามขยายฐานสินค้าและการผลิตออกมายังอินโดจีน และมองจีนตอนใต้ว่าเป็นพื้นที่ที่รุกเข้าไปได้ แต่จีนกลับรุกเข้ามาในแถบนี้ได้เสียก่อนเพราะจีนมีอิทธิพลในแถบนี้ ช่วงทศวรรษ 1980-1990 สหรัฐเชิดชูนโยบายเสรีนิยมใหม่ ชูวาทกรรมโลกาภิวัตน์ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เบื้องหลังคือการขยายทุนนิยมของอเมริกาในรูปการเปิดเสรีทางการเงิน เราเจอพิษของการเปิดเสรีทางการเงินมาแล้วคือ ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 จากที่เคยทำวิจัยมาแล้ว บอกได้ว่าสหรัฐฯอยู่เบื้องหลัง

ภายหลังจีนเข้ามามีบทบาทมากในภูมิภาคนี้ จีนให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ประเทศแถบอินโดจีนเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา จีนเพิ่มความมั่นคงโดยขายอาวุธ ฝึกทหารร่วม กองทัพเรือจีนขยายตัว ดุลแห่งอำนาจในภูมิภาคนี้เปลี่ยนไปสู่จีนมากขึ้น

ประเทศในภูมิภาคนี้มองว่าจีนเป็นเพื่อนบ้านที่น่าสนใจ ให้ผลประโยชน์ทั้งด้านการค้าและความช่วยเหลือ จีนจะมามีบทบาทสำคัญในการเงินภูมิภาค ทั้งที่ตระหนักได้ว่าอำนาจจีนกำลังมากขึ้น แต่ประเทศในภูมิภาคนี้ก็มองว่าการที่จีนเข้ามามีอิทธิพล จะทำให้มหาอำนาจอื่นให้ความสำคัญกับอาเซียนมากขึ้น

ประเด็นใหญ่ของการค้าเสรี คือการเข้ามาของระบบทุนนิยม เวลาเราตื่นเต้นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานของทุนนิยม เป้าหมายต่างชาติคือบริการทุนนิยม แต่เราตกร่องทางการเมืองมา 5 ปี เราเสียเปรียบตรงนี้ มีการรัฐประหาร ตอนนี้ยิ่งลักษณ์พยายามตะกายขึ้นขบวนรถไฟอีกครั้ง เดินหน้าการทำงานต่อ จะเห็นว่าเมื่อยิ่งลักษณ์ไปประเทศต่างๆ จะพ่วงนักธุรกิจไปด้วย ผู้นำสหรัฐหลังจากที่ไม่ได้สนใจภูมิภาคนี้เท่าไร เพราะไปสนใจอัฟกานิสถาน อิรัก แต่ก็ยังมีประเด็นที่ยังตกค้างคือ จะทำอย่างไรกับจีน โอบามาตระหนักถึงความสำคัญของจีนในภูมิภาคอาเซียน สหรัฐต้องหาทางกลับเข้ามาในภูมิภาคนี้ ให้ได้ โครงการเล็กที่คลินตันเคยเสนอคือ สหรัฐขอเข้ามาดูแลพื้นที่ในลุ่มแม่น้ำโขงโดยใช้โมเดลแบบแม่น้ำมิสซิสซิปปีมาจัดการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ การศึกษา แต่ยังไม่เป็นประเด็นทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

หากถามว่าสหรัฐมีผลประโยชน์อะไรในภูมิภาคนี้ เห็นได้ว่ามีอยู่แล้วในช่วงสงครามเย็น ในไทยชัดเจนมาก ข้อตกลงความร่วมมือความมั่นคงไม่เป็นที่รับรู้แก่สาธารณชน มีหลักฐานว่าเครื่องบินสหรัฐใช้สนามบินอู่ตะเภานับครั้งไม่ถ้วนจากวิกิลีกส์ สิ่งที่สหรัฐทำในรัฐบาลคลินตัน คือเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ APEC (ASEAN Economic Community) แต่ไม่สามารถผลักดันเขตการค้าเสรีได้ จึงมีข้อตกลงใหม่ที่กำลังตื่นเต้นกัน คือ TPPA (Trans-Pacific Partnership Agreement) เป็นความพยายามของสหรัฐอีกครั้ง ถ้าทำสำเร็จ จะสามารถขยายไปยังข้อตกลง APEC ได้ ทั้งนี้ล้วนเกิดจากการตระหนักถึงความเติบโตของจีน การเข้าใจว่าสหรัฐกลัวจีน เป็นความเข้าใจแบบเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงคือ ปัจจุบันจีนใช้ soft power มากขึ้น ยื่นผลประโยชน์ความช่วยเหลือในอาเซียน และเมื่อต้นเดือนมีการเจรจาระหว่างฮิลลารีกับตัวแทนจีน มีการร่วมมือกันด้านพลังงานด้วย และอย่าลืมว่า จีนเป็นผู้ใช้พลังงานที่ใหญ่สุดในโลกนี้

 

จีนมองภูมิภาคอาเซียนอย่างไร และความไม่ธรรมดาของ “ยักษ์ใหญ่”

อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการสถาบันจีนศึกษา สถาบันเอเชีย จุฬาฯ กล่าวว่าเจตจำนงที่ญี่ปุ่นเข้ามาในแถบนี้ คือเพื่อจะเข้าไปยังจีนตอนใต้ แต่จีนกลับเป็นฝ่ายรุกมา ในช่วงทศวรรษ 70 จีนยังปิดประเทศและมีความสัมพันธ์กับไทยแค่ฝ่ายซ้ายในไทยที่ร่วมอุดมการณ์มาร์กซิสม์ ตอนนั้นจีนยังซ้ายจัด แต่ภายหลังจีนได้ละทิ้งอุดมการณ์ซ้ายจัด ใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ ทำให้จีนสามารถเป็นมิตรกับทุกประเทศโดยไม่ยึดเอาอุดมการณ์การเมืองที่ต่างกันเป็นเงื่อนไขในการคบหา เติ้งเสี่ยวผิงมักยกคำว่า “ไม่ว่าแมวขาวแมวเหลือง ถ้าจับหนูได้ย่อมเป็นแมวดีทั้งนั้น” ไม่สนใจว่าต้องเป็นสังคมนิยม ขอให้ปฏิรูปเศรษฐกิจจีนได้ เราเข้าใจว่าเดี๋ยวนี้จีนเป็นทุนนิยม แต่ที่จริงเป็นการสร้างภาพเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสร้างอำนาจให้ลัทธิสังคมนิยมแบบจีน ช่วงเปิดประเทศใหม่ๆ จีนกวักมือให้ต่างชาติไปลงทุนกับตัวเอง แต่ตอนนี้ จีนมีบรรษัทข้ามชาติ จีนลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น มีบทบาทไม่ต่างกับทุนสหรัฐยุโรป

ทุนจีนเป็นผลจากการปฏิรูปเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ช่วงปี 1998 มันเป็นแผนของจีนอยู่แล้ว วิสาหกิจของรัฐใดที่ขาดทุน จีนจะขายให้เอกชน แต่ถ้าวิสาหกิจที่ทรงตัวพออยู่ได้ก็ขายให้เอกชนแต่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ส่วนวิสาหกิจที่ได้กำไรตลอดรัฐยังคงเป็นเจ้าของ ทุนจำนวนมากที่เข้ามาในไทยเป็นทุนของรัฐบาลจีน ไม่เหมือนทุนตะวันตกที่เป็นทุนของเอกชน นัยยะสำคัญคือ เวลาจีนมาลงทุน ทุกอย่างเข้ารัฐบาล ไม่ใช่เอกชน เวลามีประมูลอะไรก็ตาม สหรัฐจะพยายามขัดขวางจีน เพราะรู้ว่ารัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเป็นเจ้าของทุกอย่าง นัยยะนี้สำคัญมาก

ตั้งแต่จีนใช้นโยบายเปิดประเทศ จีนพยายามเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งแต่ปี 1985 และสำเร็จภายหลัง ใช้เวลาสิบกว่าปี ในปี 2001 ประเด็นสำคัญที่จีนต่อสู้คือเวลานั้นคือจีนยังเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ต้องพยายามเป็นเสรี จึงจะมาเป็นสมาชิก WTO ได้ จีนพยายามเจรจากับสหรัฐมาเป็นลำดับจนสหรัฐยอม โดยมีเงื่อนไขว่า จีนต้องเปิดเสรีทันทีที่ได้เป็นสมาชิก เช่น ลดภาษีศุลกากรเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์ นั่นทำให้จีนรับความเสี่ยงคือ ถ้าทีวีของจีนแข่งสู้ตลาดทีวีต่างชาติไม่ได้ วิสาหกิจจีนจะพังทันที แต่ปรากฏว่าจีนกลับสู้ได้ เห็นได้จากคัตเอาท์สินค้าจากบริษัทจีนแผ่นเบ้อเร่อในไทย รถยนต์จีนขายดี ยังมีเงื่อนไข WTO อีกอย่างคือ จีนต้องมีเสรีทางการเงิน ซึ่งเรืองนี้จีนก็ค่อนข้างเปิดเสรีแล้ว เห็นแบงค์ต่างชาติไปเปิดในจีนเป็นปกติ จีนต้องมั่นใจมากถึงได้กล้าลงมาร่วมการค้าเสรี

จีนเตรียมความพร้อมเรื่องเศรษฐกิจใน มณฑลยูนาน ละมณฑลกวางสี มาระยะใหญ่เพื่อบุกอาเซียน ถ้าไปดูท่าเรือกวางสีจะเห็นว่าขนาดใหญ่สัก 10-20 เท่าของท่าเรือแหลมฉบัง ไม่นับโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ จีนเขาพร้อม หลังๆ มักจะได้ยินนักวิชาการโอดครวญว่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา กำลังจะก้าวหน้ากว่าไทย ไม่อยากให้คิดแบบนั้น เพราะถ้าต้องการให้ไทยทำอะไรได้ แปลว่าเราต้องเป็นเผด็จการ จีนทำได้เพราะเป็นเผด็จการ ไม่ทราบว่าประชาธิปไตยดีหรือไม่ดี แต่หมั่นไส้พวกชอบเปรียบเทียบ นั่นเพราะเขามีพรรคการเมืองพรรคเดียว บ้านเรามีหลายเวทีแบบนี้ดีกว่าเยอะ

จีนรุกเข้ามา ไม่ใช่รุกแบบธรรมดา เราได้แต่ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมลาวจึงยอมจีนหลายเรื่อง เช่น ให้ตั้งบ่อนกาสิโน มีแรงงานจีนในลาวถูกกฎหมายสักห้าแสนคน อยู่กันเป็นนิคม คนลาวก็ไม่สบายใจ ผลทางเศรษฐกิจที่กระทบกับไทยคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าจากยูนาน โรงงานโนเนม เช่น หลอดไฟถูกๆ ใช้แปบเดียวหลอดขาด เข้ามาในลาว แต่คนลาวซื้อแบบนั้นแทนหลอดไฟจากไทย เพราะมันถูก แม้คุณภาพต่ำ จีนเคยตกลงกับลาวเรื่องสร้างรถไฟความเร็วสูง แต่ลาวปฏิเสธเพราะจีนเรียกร้องมาก เช่น ขอเอาครอบครัวจีนมาเป็นหมื่นเป็นแสนมาอาศัยอยู่ข้างทางรถไฟ สงสัยว่า จีนอาจกำลังระบายประชากรตัวเอง แล้วเอาสินค้าราคาถูกเข้ามา

 

พม่าในยุคตื่นทอง จะเลือกอยู่ข้างใคร จีน VS สหรัฐฯ

มีผู้ถามถึงประเทศพม่าว่า พม่าเหมือนอยู่ในยุคตื่นทอง องค์กรต่างประเทศต่างเร่งเข้าสู่พม่า พม่ากำลังเข้าสู่เสรีนิยมอย่างรวดเร็ว ในการเยือนต่างประเทศของอองซานซูจี เธอก็มาประเทศไทย จุดสำคัญคือมางาน World Economic Forum ซึ่งเป็นวาระขับเคลื่อนทุนนิยมสากลให้เดินไปได้ มันจะนำพาอะไรมา

วรศักดิ์ กล่าวว่าตนยังไม่แน่ว่ารัฐพม่าเป็นเสรีนิยมใหม่จริงไหม แต่วัดได้จากท่าทีของสหรัฐและอียูที่ยังไม่ไว้ใจพม่า 100% พม่ารู้สึกว่าจีนผูกขาดความสัมพันธ์พม่ามานาน มีปัญหาคาราคาซังเรื่องค้ายาเสพติด ชนกลุ่มน้อย ผูกขาดท่าเรือน้ำลึก เรื่องสร้างเขื่อน ตอนหลังๆ พม่าปฏิเสธจีน เหตุผลคือผู้นำพม่าบอกว่าเป็นเสียงของประชาชน ซึ่งแปลกมาก ปกติจะไม่ได้ยินผู้นำพม่าพูดแบบนี้ สิ่งที่พม่าวิตกเรื่องจีน ไม่เหมือนที่พม่าวิตกเรื่องฝรั่ง เมืองมัณฑะเลย์ทุกที่มีภาษาจีนหมด ทุกที่มีคนจีน จนแทบกลายเป็นเมืองจีน หลายพื้นที่เหมือนเป็นนิคมที่ขาดแค่คำว่า “อาณา” ข้างหน้าแค่นั้น จีนกังวลมากกับบทบาทสหรัฐกับอียูที่จะเข้ามาในพม่า

เมื่อปี 2001 เกิดเหตุการณ์ 11 กันยา ถ้าย้อนไปก่อหนน้านั้นจะพบปัญหาความสัมพันธ์จีน-สหรัฐ ตึงเครียดมาก สหรัฐประกาศรื้อฟื้นโครงการพัฒนาขีปนาวุธ เวลาผู้นำจีนเวลาไปเยือนต่างประเทศก็บอกว่าจะต่อต้านโครงการนี้ นายกฯจีนเคยมาเยือนไทยและพูดกับนักการทูตว่า จีนยอมรับว่าเทคโนโลยีการทหารของตนสู้สหรัฐไมได้ แต่ถ้าสหรัฐฯจะทำให้เกิดสงคราม จีนพร้อมทำสงครามกับสหรัฐ

รศ.ดร.กุลลดา กล่าวว่าสหรัฐต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในนามของสิทธิมนุษยชน แต่สิ่งที่สหรัฐต่อต้านจริงๆ อาจเป็นการที่รัฐบาลพม่าไม่เปิดพื้นที่ให้ธุรกิจของสหรัฐฯเข้าไป การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกะทันหันนี้มีผู้เสนอว่า รัฐบาลพม่าจะต้องไม่ยอมให้จีนเข้ามาผูกขาดเศรษฐกิจพม่า การปฏิรูปทางการเมืองกะทันทันสะท้อนทิศทางเศรษฐกิจด้วย พม่ากำลังเปิดเศรษฐกิจให้สหรัฐ ถ้าพูดถึงลาว ลาวก็เป็นสังคมนิยมแต่เพียงในนาม แต่ที่จริงเปิดประเทศเต็มที่ ส่วนประเทศไทย ยิ่งลักษณ์ได้ตั้งเป้าเหมายว่าจะเพิ่มการค้าไทย-จีนให้เป็นสิบเท่าในเวลาไม่ช้านี้ ตอนนี้จีนนำหน้าสหรัฐแล้ว เป็นประเทศคู่ค้าอันดับสอง ถ้าเพิ่มการค้าสิบเท่าจะเป็นอย่างไร และคำถามคือ มันเป็นประโยชน์ต่อจีนหรือไทย?

 

ข้อท้าทายและภัยซ่อนรูปว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา

เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นำเสนอเรื่องผลกระทบของข้อตกลงเอฟทีเอ ต่อการเข้าถึงยาจำเป็นในราคาที่เป็นธรรม โดยชี้ว่าข้อตกลงเอฟทีเอ ไทย-ยุโรป จะส่งผลให้ยามีราคาแพงขึ้น เฉลิมศักดิ์เท้าความถึงสิทธิบัตรยาว่า ปัจจุบัน ยาตัวใหม่ที่คิดค้นขึ้นและจดสิทธิบัตร(เรียกว่า ยาต้นแบบ) จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรเป็นเวลา 20 ปี ซึ่งให้ประโยชน์ทางการค้าแก่บริษัทผู้คิดค้นยา ตามข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ที่เรียกสั้นๆว่า ทริปส์ (Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights, TRIPS) ขององค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อยาหมดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรแล้ว บริษัทผลิตยาอื่นๆ จึงจะสามารถผลิตยาที่มีสรรพคุณเหมือนกันออกจำหน่ายได้ (เรียกว่า ยาชื่อสามัญ) ยาชนิดนั้นจะมีราคาถูกลงมาเพราะหลายบริษัทผลิตยาชนิดเดียวกันมาแข่งขันในตลาดได้

เฉลิมศักดิ์ อธิบายว่าสหภาพยุโรปต้องการให้มีการผูกขาดทางการค้ายาเพิ่มขึ้นและขยายอายุสิทธิบัตรยามากกว่า 20 ปีตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงทริปส์ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าสูงสุดของยุโรป จากการที่มีบริษัทที่คิดค้นยาเป็นจำนวนมาก โดยแทรกกลวิธีต่างๆ ไว้ในข้อตกลงเอฟทีเอ ไทย-ยุโรป เช่น ขยายขอบเขตการจดสิทธิบัตรโดยอนุญาตให้จดสิทธิบัตรแบบไม่มีวันสิ้นอายุ (รูปแบบยา วิธีใช้) ขยายอายุคุ้มครองสิทธิบัตรเพื่อชดเชยระยะเวลาที่ล่าช้าในกระบวนการจดสิทธิบัตร และผูกขาดข้อมูลทางยาเพื่อสกัดยาชื่อสามัญไม่ให้เข้ามาแข่งในตลาด โดยห้ามยาชื่อสามัญขึ้นทะเบียนยาโดยใช้ข้อมูลการทดลองของบริษัทต้นตำรับ หมายความว่าให้ไปทดลองใหม่เองซึ่งใช้ทุนและเวลามาก และยังผิดจริยธรรมที่ต้องเอาคนมาเสี่ยงทดลองยาอีกครั้งโดยไม่จำเป็น

ยังมีมาตรการอื่นๆ เข้ามาควบคุมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเข้มงวด เช่นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรตามชายแดนสามารถตรวจยึดยาที่สงสัยว่าเป็นยาละเมิดสิทธิบัตร ทั้งที่การจะตรวจเรื่องนี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ และไม่สามารถตรวจได้ด้วยตาเปล่าเพราะการตรวจยาต้องผ่านกรรมวิธีซับซ้อน หรือการเอาผิดผู้ผลิตวัตถุดิบในข้อหาปลอมแปลงสินค้าถ้าวัตถุดิบนั้นถูกนำไปใช้ผลิตสินค้าปลอม และให้มีการลงโทษทางอาญากับผู้ละเมิดสิทธิบัตร จากเดิมที่เป็นคดีแพ่งระหว่างบริษัทเท่านั้น นี่จะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดส่งยาไม่กล้าทำธุรกิจเกี่ยวกับยาชื่อสามัญ เฉลิมศักดิ์มองว่าสังคมควรปฏิเสธ “สิทธิบัตรไม่มีสิ้นสุดอายุ” แต่ชูประเด็น “นวัตกรรมต่อยอด”

งานวิจัยชี้ชัด ไม่ยอมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เจรจาเรื่อง “ยา”

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รวบรวมรายงานการวิจัยที่ศึกษาเรื่องผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากข้อตกลง FTA มาเสนอเกี่ยวกับมุมมองและข้อเสนอ มีรายงาน 2 ฉบับที่วิจัยเรื่องข้อตกลง FTA ไทย-สหรัฐอเมริกา (เริ่มเจรจาเมื่อปี 2547 แต่สหรัฐฯก็ยุติการเจรจาในปี 2549 เพราะเกิดรัฐประหารในไทย) นุศราพรออธิบายข้อตกลง FTA ไทย-สหรัฐ ว่าคล้ายกับ FTA ไทย-ยุโรป ตรงที่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่เรียกว่า “ทริปส์พลัส” ซึ่งเป็นการเพิ่มการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มากกว่าเงื่อนไข “ทริปส์” ของ WTO “ทริปส์พลัส” ของสหรัฐเสนอสิ่งที่คล้ายกับ FTA ไทย-ยุโรป เช่น ให้ขยายเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 20 ปีเป็น 25 ปี เสนอการให้สิทธิผูกขาดข้อมูล 5 ปีสำหรับยา ให้ อย. ทำหน้าที่ตำรวจทรัพย์สินทางปัญญา แต่ FTA ไทย-ยุโรป มีข้อเสนอที่อันตรายมากกว่าของสหรัฐ

รายงานการวิจัยของ ภญ.ชุติมา อรรคลีพันธ์ และคณะ ซึ่งศึกษาผลกระทบของ FTA ไทย-สหรัฐ เชิงปริมาณเมื่อปี 2548 ระบุว่า ถ้ามีการขยายระยะเวลาสิทธิบัตรยาเพิ่ม 1 ปี ประเทศจะเสียหาย 257-2,637 ล้านบาทต่อปี หากขยายเวลาสิทธิบัตรยา 10 ปี ประเทศจะเสียหาย 33,467-216,457 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่รายงานการวิจัยของ รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ และคณะ เมื่อปี 2551 ซึ่งศึกษาผลกระทบของ FTA ไทย-สหรัฐ เช่นกันระบุว่า ถ้าไทยยอมรับข้อเสนอของสหรัฐฯทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องขยายเวลาสิทธิบัตร ผูกขาดข้อมูลยา อย.เป็นตำรวจทรัพย์สินทางปัญญา ฯลฯ ในปี 2570 ไทยจะต้องเสียค่ายาเพิ่ม 799,887 ล้านบาท ชุติมา และจิราพร มีข้อเสนอตรงกันสองข้อคือ ไม่ควรนำเรื่องยาขึ้นโต๊ะเจรจา และไม่ยอมรับข้อเสนอทริปส์พลัส

ส่วนรายงานที่วิจัยเกี่ยวกับ FTA ไทย-ยุโรป มีการเสนอ 2 เล่ม รายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ปี 52 เสนอว่า ไม่ควรรับข้อเรียกร้องเรื่องการขยายระยะเวลาในการคุ้มครอง และการผูกขาดข้อมูลยา ส่วนสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ปี 54 เสนอว่า ไม่ควรรับข้อเรียกร้องเรื่องการขยายระยะเวลาคุ้มครอง และการผูกขาดข้อมูลยา ไม่ยอมให้การคุ้มครองมากกว่า WTO

รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ กล่าวว่าทุกรายงานการวิจัยตั้งแต่ปี 2548 กระทั่งฉบับล่าสุดในปี 2554 รวมทั้งข้อเสนอจากเวทีประชาพิจารณ์ที่ยังรอการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีพูดเหมือนกัน คือไม่ยอมให้มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินเลยมากกว่าทริปส์ ไม่ยอมรับการขยายระยะเวลาในการคุ้มครองสิทธิบัตร ไม่ยอมรับการผูกขาดข้อมูลยา ทุกการวิจัยพูดตรงกัน และตนจะคอยดูว่าถ้ามีการเจรจาจริง ผู้แทนการเจรจาจะว่าอย่างไร

 

ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะ เมื่อก้าวเข้าสู่อาเซียน

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวถึงผลกระทบด้านเกษตรที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมประชาคมอาเซียนของไทยว่า รัฐบาลไทยที่มองว่าไทยมีความได้เปรียบด้านสินค้าเกษตรมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านจึงไม่ได้กำหนดชนิดสินค้าเกษตรที่มีความอ่อนไหวสูง เหมือนประเทศเพื่อบ้านทำให้เกษตรรายย่อยมีความสุ่มเสียงสูงต่อความเสียเปรียบหากมีการเปิดการค้าเสรี ขณะที่สินค้า 2 รายการคือข้าวโพดถั่วเหลืองที่กำหนดไว้ก็โน้มเอียงไปเพื่อผลประโยชน์ของ บริษัทอาหารสัตว์มากกว่าเกษตรกรรายย่อย ขณะที่ผลกระทบการเพาะขยายพันธุ์พืชจะส่งผลให้บริษัทข้ามชาติเข้ามาผูกขาดเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นฐานรากระบบเกษตรและอาหาร บรรษัทข้ามชาติสามารถเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย

"สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรายย่อยไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างพอเพียง ไทยไม่ควรเปิดเสรีการลงทุนดังกล่าว รัฐควรประเมินผลของการส่งเสริมการลงทุนที่ผ่านมาในสาขาเกษตรว่าทำให้มีผล กระทบอย่างไรบ้าง อีกทั้งการเปิดเสรีต้องรับฟังความเห็นของประชาชนทุกฝ่าย และจัดให้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องของการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนการแข่งขันของผู้ประการรายย่อยและวิสาหกิจชุมชนให้ได้ประโยชน์จาก การเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศ และสร้างความร่วมมือในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความมั่นคงทางอาหาร"ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าว

ประนม สมวงศ์ กลุ่มอาเซียนวอทช์ กล่าวว่า ปัญหาแรงงานข้างชาติเป็นกลุ่มที่ยังน่าเป็นห่วง เพราะแรงงานปัจจุบันไม่ได้อยู่ใน 7 สาขาที่จะเปิดเสรี คือ วิศวกรรม พยาบาล สถาปัตยกรรม การสำรวจ แพทย์ ทันตแทพย์และบัญชี พวกเขาเหล่านี้จะไม่ที่ยืนหรือไม่ก็จะได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในกลุ่มงานก่อสร้าง อุตสาหกรรมประมง เกษตรกรรม งานปลูกพืชสวน งานในฟาร์มเลี้ยงหมู เป็ด ไก่ ทำงานในบ้าน งานโรงงาน งานในสถานบันเทิง งานบริการ งานในเหมือง งานเก็บขยะ ร้านอาหาร ขณะที่งานไม่มีสถานะทางกฎหมาย ข้อมูลเมื่อเดือนธันวาคม 2554 คาดว่ามีแรงงานไม่น้อยกว่า 1.5-2.0 ล้านคนไม่มีเอกสารทางกฎหมายและเป็นกลุ่มแรงงานที่อยู่อย่างถาวรที่สุด

ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานไม่ได้กำหนดมาตรฐานแรงงานขั้นต่ำ ครอบคลุมเพียงแรงงานถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่มีความแตกต่างกันสิ้นเชิงเพราะแรงงานถูกกฎหมายก็ไม่มีหลักประกันจะได้รับค่าแรงขั้นต่ำด้วย แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินการตามปฏิญญาเมื่อปี 2550 แต่ยังตกลงกันไม่ได้ที่จะส่งเสริมคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างไร ข้อห่วงใยล่าสุดในภูมิภาค กรณีนักลงทุนต่างเข้าไปลงทุนในพม่า รวมทั้งประเทศที่คว่ำบาตรพม่าก็ยกเลิกหรือกำจัดมาตรการดังกล่าว เพราะเห็นว่าแรงงานพม่าราคาถูก ซึ่งอาจจะนำไปสู่การกดขี่ข่มเหง การกดค่าแรง มีการเอารัดเอาเปรียบแรงงาน ไม่มีการคุ้มครองทางกฎหมาย

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผู้บริโภคถูกนำไปเป็นข้ออ้างว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ทั้งที่ในความเป็นจริงผู้บริโภคจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกเสมอ การเข้าร่วมประชาคมอาเซียนมีข้อน่าเป็นห่วงถึงผลกระทบ ด้วยเหตุนี้จึงมีการสร้างกลไกขึ้นมาคุ้มครองผู้บริโภคในอาเซียน โดยการตั้งคณะ กรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอาเซียน ซึ่งมีสมาชิกจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจากทุกประเทศ ปัจจุบันประเทศฟิลิปปินส์ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ โดยมีหน่วยแข่งขันทางการค้า กรมคุ้มครองผู้บริโภคและกรมทรัพย์สินทาของเลขาธิการอาเซียนเป็นสำนักงาน เลขานุการ ทำหน้าที่สร้างระบบเตือน การเรียกคืนสินค้าและสินค้าอันตราย สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาเยียวยาผู้บริโภค สร้างความเข้มแข็งของกลไก สร้างความตื่นตัวและพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังมีกลไกสภาผู้บริโภคอาเซียน ก่อตั้งที่เมืองบาหลี อินโดนีเซีย เมื่อปี 2549 โดยสมาชิกก่อตั้งจากบรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทยและเวียดนาม โดยการสนับสนุนของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียน
 
"สภาผู้บริโภคจะ เข้าไปให้ช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียนที่ยังไม่มีองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ด้านกฎหมายและการตั้งองค์กรคือพม่าและกัมพูชา พร้อมทังปรับปรุงกลไกให้เข้มแข็งสนับสนุนให้องค์กรมีคามเป็นอิสระ โดยให้แต่ละประเทศให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยในอาหาร การเข้าถึงห้องทดลอง พัฒนาระบบเรียกคืนสินค้า ยกเลิกการใช้สินค้าที่อันตรายการปรับแบบลงโทษผู้ผลิตสินค้าอันตราย ประสานงานให้เกิดการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้ บริโภค กล่าว

 

 

ที่มาบางส่วน : เว็บไซต์ข่าวสำนักข่าวอิศรา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net