สายชล สัตยานุรักษ์: ประวัติศาสตร์แบบนิธิ เอียวศรีวงศ์ฯ

วงเสวนา “พลังความรู้แบบนิธิ” ในโอกาสครบรอบ 72 ปีของนิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ มช. “สายชล สัตยานุรักษ์” ชี้วิธีศึกษาและการสร้างองค์ความรู้แบบนิธิ โดยมุ่งรื้อถอนการครอบงำทางความคิด และสร้างอัตลักษณ์ใหม่ให้ “ชาติไทย” “สังคมไทย” และผู้คนชนชั้นต่างๆ นับเป็นความหมายที่สำคัญที่สุดในงาน “ประวัติศาสตร์แบบนิธิ”

มื่อวันที่ 28 พ.ค.55 ที่ห้อง HB 5200 คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้จัดเสวนาในโอกาสครบรอบ 72 ปีศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในหัวข้อ “พลังความรู้แบบนิธิ” โดยมี ศ.ดร.สายชล สัตยานุรักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอในหัวข้อ “ประวัติศาสตร์แบบนิธิ เอียวศรีวงศ์: องค์ความรู้ใหม่และความหมายทางการเมือง”

สายชล สัตยานุรักษ์ ในการนำเสนอหัวข้อ "ประวัติศาสตร์แบบนิธิ เอียวศรีวงศ์: องค์ความรู้ใหม่และความหมายทางการเมือง"

สายชลเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงปี 2543 ซึ่งนิธิ เอียวศรีวงศ์อายุครบ 60 ปี สถาบันจักรวาลวิทยา ที่นิธิมีส่วนร่วมตั้งและรวมนักวิชาการหลายสาขาวิชา ได้มีการจัดประชุมและเสนอบทความเกี่ยวกับผลงานของนิธิกับสังคมไทย ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงในวันนั้นคือ ประวัติศาสตร์แบบนิธิเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักหรือกระแสรอง อาจารย์บางท่านคิดว่าประวัติศาสตร์แบบนิธิเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลักไปแล้ว แต่อีกหลายคนเห็นว่าไม่ใช่กระแสหลัก ผ่านมา 12 ปีจากงานนั้น เมื่อสองสามวันที่แล้ว ดิฉันไปหาหมอฟัน หมอฟันพูดว่าดิฉันคงจำเก่งมากเพราะสอนประวัติศาสตร์ ดิฉันบอกหมอฟันว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องความคิด ไม่ใช่เรื่องความจำ หมอฟันก็เงียบ เลิกคุยไปเลย ดิฉันคิดว่าในวงวิชาการประวัติศาสตร์-มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์แบบนิธิน่าจะกลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว แต่ในสังคมไทยโดยรวม เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์กระแสหลัก เราไม่ได้นึกถึงประวัติศาสตร์แบบนิธิ

สายชลเห็นว่าความสนใจของนิธิกว้างขวางมาก สนใจประวัติศาสตร์ในหลายภูมิภาคทั่วโลก รวมทั้งมีความสนใจสาขาวิชาอื่นๆ กว้างขวางด้วย เช่น วรรณคดี ปรัชญา ดนตรี และมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมไม่น้อย แต่การศึกษาที่ทำอย่างจริงจังและต่อเนื่องจนสร้างองค์ความรู้ไว้อย่างไพศาลคือประวัติศาสตร์ไทย

สายชลเสนอว่าความหมายทางการเมืองที่สำคัญที่สุดในงานประวัติศาสตร์ของนิธิมี 2 ประการ คือ หนึ่ง การรื้อถอนการครอบงำทางความคิด ให้คนไทยไม่ถูกจูงจมูกอย่างเซื่องๆ แต่ให้มีวิธีคิดหรือวิสัยทัศน์ใหม่ ซึ่งจะทำให้มีเสรีภาพและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพสูงในระบอบประชาธิปไตย รู้เท่าทันความซับซ้อนของความเป็นไปต่างๆ สามารถตัดสินใจได้ดี ไม่ใช่ให้อำนาจในการตัดสินใจอยู่ในมือผู้นำ แต่คนทุกท้องถิ่น ทุกชาติพันธุ์ทุกสถานภาพมีความสำคัญ มีบทบาท มีส่วนร่วมในสังคมการเมือง และสอง คือการสร้างอัตลักษณ์ใหม่แก่ “ชาติไทย” “สังคมไทย” และสร้างอัตลักษณ์ใหม่แก่คนชั้นต่างๆ

งานของนิธิต่างจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เน้นความสำคัญของผู้นำ ไม่ว่าผู้นำในระบอบราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย ต่างจากประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ ที่เน้นให้เข้าใจวิวัฒนาการทางสังคม เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีในการปฏิวัติ และต่างจากประวัติศาสตร์แบบวัฒนธรรมชุมชน ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ ของสังคม หรือเน้นความไม่เปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การรักษาและรื้อฟื้น “ความเป็นชุมชน” แบบไทย จุดมุ่งหมายในงานของนิธิต่างจากประวัติศาสตร์ทั้งสามแบบ

ตัวอย่างเช่นใน “การเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์” ที่ให้ภาพของประชาชนที่ถูกปลุกเร้าให้ถืออาวุธออกมาต่อต้านฝรั่งเศสและฟอนคอน จนการรัฐประหารที่นำโดยพระเพทราชาประสบความสำเร็จ นิธิยังแสดงให้เห็นว่าหลังจากพระเพทราชาใช้อำนาจประชาชนเป็นเครื่องมือยึดอำนาจเรียบร้อยแล้ว ได้เกิดกบฏไพร่ขึ้นกว้างขวางมาก และกบฏไพร่นี้ได้ถูกพระเพทราชาปราบปรามลง นิธิคิดว่ากบฎไพร่น่าจะเป็นผลมาจากการปลุกระดมการรัฐประหารในตอนปลายพระนารายณ์และทำให้พระเพทราชาขึ้นมา การปลุกระดมในตอนนั้นส่งผลมาถึงกบฏไพร่ในยุคที่พระเพทราชาขึ้นมามีอำนาจ แล้วถูกปราบปรามลง นิธิตั้งคำถามว่ามีอะไรเกิดขึ้นที่ทำให้การปราบปรามความเคลื่อนไหวเหล่านี้ หรือจะเรียกว่าการหักหลังก็ได้นี้ ประสบความสำเร็จอย่างไม่ยากเย็น เป็นสิ่งที่รอการศึกษาอยู่ต่อไป

เราอ่านแล้วก็สงสัยว่านิธิกำลังเขียนเรื่องการเมืองสมัยพระนารายณ์ปี 2331 หรือการเมือง 2555 นิธิเขียนการเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ตั้งแต่ 2523 ข่าวที่สมบัติ บุญงามอนงค์ พูดถึงการปราศรัยของทักษิณในโอกาสครบรอบสองปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง สมบัติกล่าวว่า “สิ่งที่คนเสื้อแดงยังขาดอยู่คือวัฒนธรรมการวิจารณ์ตัวเอง และขยายความว่า หากคนเสื้อแดงวิพากษ์วิจารณ์กันเองบ้าง ก็จะเป็นสิ่งที่ดี จะทำให้เกิดการปรับตัว” (มติชนรายวัน 23 พ.ค.55) นิธิต้องการเช่นเดียวกับคุณสมบัติ แต่ไม่ใช่เฉพาะคนเสื้อแดง แต่คือคนไทยทุกคน อาจจะเสื้อเหลืองยิ่งกว่าด้วยซ้ำ ที่จะรู้จักตัวเอง รู้จักสังคมไทย และวิจารณ์ตัวเอง วิจารณ์สังคม วิจารณ์ความรู้ และวิจารณ์ข้อมูลข่าวสาร นี่คือความพยายามของนิธิตลอดเวลาที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าความหมายทางการเมืองของประวัติศาสตร์แบบนิธิประการหนึ่ง จึงคืออย่าตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร

แต่ไม่ใช่เฉพาะประวัติศาสตร์การเมืองเท่านั้นที่มีความหมายทางการเมือง ประวัติศาสตร์ทุกเรื่อง ทุกแบบ ล้วนมีความหมายทางการเมือง ทั้งในแง่ที่ทำให้คนอ่านได้เรียนรู้วิธีคิดเกี่ยวกับชีวิตและสังคมในแบบที่ผู้เขียนประวัติศาสตร์เสนอไว้ ซึ่งมีผลไปถึงจุดยืนและพฤติกรรมทางการเมืองของคน คนเขียนประวัติศาสตร์ทุกคนต้องการทำให้คนที่อ่านหรือรับรู้งาน มีวิธีคิดหรือโลกทัศน์ในแบบที่เขาต้องการ งานทุกชิ้นจึงมีความหมายทางการเมือง นอกจากนี้ในแง่ที่ประวัติศาสตร์ทำให้เกิดความทรงจำร่วมของคนในสังคม ซึ่งมีผลต่ออัตลักษณ์ของคนชั้นต่างๆ ชาติพันธุ์ต่างๆ เพศต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นชาติและสังคม

สายชลแบ่งการวิเคราะห์ความหมายทางการเมืองในประวัติศาสตร์แบบนิธิเป็นสองส่วน คือด้านวิธีคิดทางประวัติศาสตร์ และด้านเนื้อหาประวัติศาสตร์ ซึ่งทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์กัน

ความหมายทางการเมืองในด้านวิธีคิด นิธินำเอาวิธีคิดทางประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญแก่มิติทางเวลาหรือบริบท มันมีเงื่อนไขแวดล้อมในสังคมตอนนั้นอย่างไรที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หรือปัญหานั้นขึ้น นิธินำวิธีคิดนี้มาใช้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2520 ซึ่งช่วงนั้นมีประวัติศาสตร์ 2 แบบที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย คือแบบ “กระแสหลัก” และแบบ “เศรษฐศาสตร์การเมือง” ซึ่งนิธินำประวัติศาสตร์แบบที่ต่างไปจากสองแบบนั้นเข้ามาทำให้มีพลังในวงวิชาการไทย

วิธีคิดทางประวัติศาสตร์แบบนิธิช่วยให้เราเข้าใจปัญหา และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ อย่างซับซ้อน และตระหนักในความแตกต่างหลากหลายในสังคมไทย ในรัฐไทย ในวัฒนธรรมไทย ในท้องถิ่นไทย จะแก้ปัญหาต้องเข้าใจความซับซ้อน ต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะ ไม่ใช่มองไปที่ผู้นำเป็นผู้กำหนดวิถีประวัติศาสตร์ ไม่ใช่วิธีคิดที่นำไปสู่การปฏิวัติหรือการทำสงครามครั้งสุดท้าย

ในช่วงแรกๆ นิธิให้ความสำคัญกับบริบทเงื่อนไขทางการเมือง โดยที่ยังไม่สนใจเรื่องเศรษฐกิจ จนกระทั่งเขียน “วัฒนธรรมกระฎุมพีกับวรรณกรรมต้นรัตนโกสินทร์” (2525) จึงเริ่มสนใจบริบททางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง และเน้นความเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายในเป็นหลัก ถึงแม้ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจะมาจากการขยายตัวทางการค้าของจีน ของอังกฤษ แต่นิธิจะเน้นเสมอว่าอิทธิพลฝรั่งมันไปทุกแห่ง แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมันไม่เหมือนกันไม่เท่ากัน จะเป็นอย่างไรขึ้นกับปัจจัยภายในเป็นหลัก

ปี 2520 นิธิแปลงาน แฮนรี่ เจ. เบนด้า “โครงสร้างประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์” ซึ่งปฏิเสธมโนทัศน์ฝรั่งที่เปลี่ยนสังคมเป็นสมัยใหม่แถบนี้ แต่ให้เน้นปัจจัยภายในอย่างมาก ซึ่งสัมพันธ์กับลักษณะเฉพาะของแต่ละสังคม ไม่ใช่ลักษณะร่วมไม่สำคัญ แต่นิธิคิดว่าจะเข้าใจคนใดคนหนึ่ง สถาบันใดสถาบันหนึ่ง ยุคสมัยใดสมัยหนึ่ง เราต้องมองเห็นลักษณะเฉพาะ ฉะนั้นนิธิจึงไม่มีกรอบคิดตายตัว หรือไม่มีทฤษฎีใดที่เป็นทฤษฎีหลัก (Grand Theory) และข้อสรุปทั้งหลายต้องมาจากการศึกษาหลักฐานชั้นต้น และต้องเป็นหลักฐานที่ผ่านวิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เกิดทัศนวิพากษ์ หรือความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เข้ามา

นิธิเน้นการมองอะไรที่ลื่นไหล และเปลี่ยนแปลงไปตามบริบท คำว่ากษัตริย์คำเดียว ความหมายไม่เหมือนกัน ในยุคหนึ่งก็อย่างหนึ่ง อีกยุคก็อีกอย่าง นิธิเริ่มใช้คำว่า “จลภาพ” แทนความหมาย Dynamism ในงานเรื่องพระนารายณ์ ตอนนั้นยังไม่มีคำว่า “พลวัตร” ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในช่วงต่างๆ ของการเมืองในสมัยพระนารายณ์ บริบทที่เลื่อนไหลและเปลี่ยนแปลง ทำให้พระนารายณ์ต้องตอบสนองต่อเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงจริงๆ

วิธีคิดที่เน้นปัจจัยภายในและบริบท ทำให้เกิดความหมายทางการเมืองคือ หนึ่ง ทำลายการครอบงำของการศึกษาที่เห็นตะวันตกเป็นศูนย์กลาง (Western-centrism) มันคือการทำลายลัทธิบูชาฝรั่ง ทำให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายมันมาจากสังคมและคนไทยเราเอง นิธิเสนอประวัติศาสตร์แบบนี้ในยุคที่เราสมาทานการพัฒนาแบบตะวันตก ยุคเราพยายามจะเป็นฝรั่ง นอกจากนี้ยังทำลายการครอบงำทางความคิดสำคัญๆ ไม่ต่างจากการวิพากษ์ความรู้ของนักคิดหลังสมัยใหม่ หรือหลังอาณานิคม ซึ่งนิธิทำมานานแล้ว เช่น เวลาพูดว่าชีวิตที่ดี นิธิจะถามว่าชีวิตที่ดีแบบไหน มันไม่เหมือนกันชีวิตที่ดีของแต่ละคนแต่ละสังคม ความหมายของทุกสิ่งมันต่างกัน เมื่อใช้โดยคนต่างกัน ต่างสมัยกัน ต่างบริบทกัน

แต่นิธิไม่ได้เชื่อว่าความจริงเข้าถึงไม่ได้ อย่างเป็นเรื่องของมุมมองล้วนๆ แต่พยายามศึกษาประวัติศาสตร์อย่าง “เป็นกลาง” พยายามตระหนักในอคติของตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ และพยายามควบคุมอคติของตนเองให้เหลือน้อยและรู้จักตัวเองให้มากพอ ไม่ให้เรามองประวัติศาสตร์ไปตามอคติของเรา นิธิเคยเขียนว่า “นักประวัติศาสตร์รักชาติ แต่นักประวัติศาสตร์ต้องไม่มีชาติ”

สอง นิธิทำให้เห็นว่าหนทางการแก้ปัญหาและการพัฒนาทั้งระดับท้องถิ่นและประเทศ เราจะเลียนแบบคนอื่นไม่ได้ แต่ต้องรู้จักสังคมของตนเองมากพอ ที่จะหาทางพัฒนาให้สอดคล้องกับสังคมของเราเอง ตัวอย่างเช่นนิธิยกย่องคานธีมาก เพราะคานธีเลือกวิธีการแก้ปัญหาของอินเดีย จากความเข้าใจสังคมอินเดียและคนอินเดียอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจสังคมและคนอังกฤษอย่างลึกซึ้งด้วย และไม่ได้ยกย่องคานธีในความหมายของศาสดา แต่นิธิมองคานธีในบริบทของคานธี มองคานธีเป็นนักการเมือง และชื่นชมคานธีในการเลือกวิธีเคลื่อนไหวให้อินเดียได้เอกราช เช่น การเลือกการอดอาหาร การทำเกลือ การทอผ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในวิถีชีวิตคนอินเดีย

พลังของประวัติศาสตร์จึงอยู่ที่การสร้างความเข้าใจ สร้างความรู้ที่จะทำให้รู้จักตนเอง รู้จุดแข็งจุดอ่อน รู้พลังของตัวเราเอง รู้เงื่อนไขแวดล้อมของตัวเองและของคนอื่นด้วย เพื่อสามารถเลือกทางเลือกที่เหมาะสมสอดคล้องในบริบทหนึ่งๆ หรือเมื่อบริบทเปลี่ยนก็สามารถปรับเปลี่ยนทางเลือกได้

สาม วิธีคิดแบบนิธิต้องพิจารณาบริบททางเศรษฐกิจสังคมการเมืองวัฒนธรรมที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อน ทำให้ตระหนักว่าอย่าเชื่อเจ้าลัทธิ หรือแกนนำผู้นำใดๆ ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่งที่จะกำหนดความเป็นไปทั้งหลายได้ ขณะเดียวกันก็ทำให้เราต้องคิดกับทุกเรื่อง ไม่ปักใจเชื่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างสุดโต่ง แต่ต้องสงสัยไว้ก่อน เพราะมีความซับซ้อนของเงื่อนไขแวดล้อมที่ทำให้เกิดการตัดสินใจแบบใดแบบหนึ่งขึ้นมา และมันทำให้เราคิดถึงการแก้ปัญหาทั้งระบบ แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง แทนที่จะฝากความหวังไว้กับบุคคล

สี่ ประวัติศาสตร์แบบนิธิให้อำนาจแก่เราที่จะกำหนดชีวิตหรือทางเลือกของเราเอง เพราะเมื่อเราเข้าใจบริบทเราก็สามารถเลือกได้ดีกว่า และมันทำลายอำนาจของผู้นำ และเพิ่มอำนาจให้ประชาชน

สรุปความหมายในแง่วิธิคิด ประวัติศาสตร์แบบนิธิเป็นทั้งสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ วิธีคิดแบบนี้มองปรากฏการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงต่างๆ โดยพิจารณาปฏิสัมพันธ์อย่างซับซ้อนระหว่างมนุษย์กับสังคม และเป้าหมายก็เพื่อเข้าใจมนุษย์กับสังคมอย่างซับซ้อน ซึ่งช่วยให้จัดความสัมพันธ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม อีกทั้งการพัฒนาและแก้ปัญหามาจากสังคมไทยไม่ใช่รัฐไทย ไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา รัฐบาล หรือรัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การเสริมพลังของสังคมในทุกด้าน ซึ่งการเปลี่ยนความรู้และวิธีคิดของคนไทย จะเป็นการเสริมพลังของสังคมอย่างสำคัญ

ในด้านเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ งานเขียนสำคัญๆ ของนิธิเกิดขึ้นช่วงทศวรรษ 2520 ครอบคลุมช่วงเวลาสมัยอยุธยาตอนต้นถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นิธิสนใจประวัติศาสตร์ความคิดและประวัติศาสตร์การเมืองเป็นพิเศษ

ประวัติศาสตร์แบบนิธิมีลักษณะสำคัญหลายอย่าง หนึ่งคือ เป็นประวัติศาสตร์ความคิดและประวัติศาสตร์การเมืองที่แสดงความเปลี่ยนแปลง หรือแสดงลักษณะพลวัตของความคิดและการเมืองที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับบริบททางสังคม สอง เป็นประวัติศาสตร์ที่คนหลายกลุ่มมีบทบาท ในแง่ชนชั้นก็มีหลายชนชั้น ในแง่ชาติพันธุ์ก็มีหลายชาติพันธุ์ ในแง่ท้องถิ่นก็ศึกษาหลายท้องถิ่น และในแง่เพศภาวะก็เขียนเรื่องความหมายของผู้หญิงและเพศที่สาม

งานเขียนส่วนใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ชนชั้นนำ นิธิเชี่ยวชาญการวิเคราะห์หลักฐานลายลักษณ์อักษร โดยลงภาคสนามไม่เก่ง ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่นิธิเขียนก็เป็นประวัติศาสตร์ชนชั้นนำ วิเคราะห์การเมืองในกลุ่มชนชั้นนำ หรือเชื่อมเข้ากับเศรษฐกิจด้วย แต่นิธิเสนอภาพชนชั้นนำในบริบท เพื่อสร้างความทรงจำเกี่ยวกับชนชั้นนำที่ต่างไปจากภาพเดิม ไม่ใช่ชนชั้นที่ทำให้เมืองไทยนี่ดี และไม่ใช่ชนชั้นนำที่เอาแต่กดขี่ขูดรีด

นิธิเขียนประวัติศาสตร์ชนชั้นกลางค่อนข้างน้อย ไม่ค่อยได้เขียนประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ และเขียนประวัติศาสตร์ “ประชาชน” น้อยเช่นกัน แต่ก็มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทางความคิดของประชาชน เช่น “งานแห่นางแมวกับวิกฤตในวัฒนธรรมชาวนา” และ “คติเกี่ยวกับรัฐของประชาชนจากวรรณกรรมปักษ์ใต้” และประวัติศาสตร์ประชาชนในยุคพัฒนาประเทศเรื่อง “บนหนทางสู่อนาคต” นิธิเขียนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไว้มาก โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางความคิด เรื่องเด่นคือเรื่องความคิดทางการเมืองและความคิดทางพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังเขียนถึงวัฒนธรรมประชาชนด้วย

นิธิเชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมเป็นพิเศษ ทั้งที่ไม่ใช่นักมานุษยวิทยา นิธิมีบทบาทสำคัญมากในการมองเรื่องการเมืองและปัญหาทางเศรษฐกิจจากมิติทางวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมความจน รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม นิธิสร้างความรู้อย่างไม่มีพรมแดน ทั้งนักรัฐศาสตร์ นักมานุษยวิทยาจะทึ่งกับความคิดที่นิธิสร้าง นิธิมองวัฒนธรรมอย่างเป็นเรื่องที่ทำให้เราแปลกใจเหมือนกัน เช่น ความรักก็เป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่สัญชาตญาณ หรือจริยธรรมก็เป็นวัฒนธรรม ไม่ใช่จริยธรรมตายตัวแบบที่เชื่อกัน เมื่อบริบทเปลี่ยน จริยธรรมก็ต้องถูกประยุกต์ให้สอดคล้องกับบริบท และที่สำคัญคือนิธิให้ความสำคัญกับบรมธรรม ซึ่งไม่ได้หมายถึงศาสนธรรมอย่างเดียว แม้แต่คนที่ไม่มีศาสนาก็มีบรมธรรมได้

สายชลเสนอต่อว่าเนื้อหาประวัติศาสตร์แบบนิธิมีความหมายทางการเมืองในลักษณะที่ช่วยเปลี่ยนตาข่ายแห่งความทรงจำ เพื่อสถาปนาความทรงจำร่วมชุดใหม่ให้กับสังคมไทย นิธิเขียนไว้ว่า “การเปลี่ยนตาข่ายแห่งความทรงจำเป็นความเจ็บปวดในทุกสังคม” เพราะความทรงจำไม่ได้หมายถึงเรื่องอดีต แต่มันหมายถึงความเข้าใจของเราต่อปัจจุบัน และหมายถึงการคาดหมายของเราต่ออนาคต ประวัติศาสตร์เรื่องหนึ่งๆ เป็นเหมือนปมๆ หนึ่งในตาข่ายแห่งความทรงจำ ถ้าเรารื้อปมๆ หนึ่งมันกระทบปมอื่นๆ ไปหมด ถ้าเรารื้อความทรงจำต่ออดีตของเราเรื่องหนึ่ง มันกระเทือนความทรงจำอื่นๆ เกี่ยวกับอดีตของเรา กระเทือนความเข้าใจของเราเกี่ยวกับปัจจุบัน และกระเทือนความคาดหมายของเราต่ออนาคต ว่าจะเราจะเดินไปสู่อะไร ไปอย่างไร ไปเพื่ออะไร การเปลี่ยนตาข่ายแห่งความทรงจำ จึงเป็นความเจ็บปวดในทุกสังคม นิธิคิดว่าตนเองยังไม่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนตาข่ายแห่งความทรงจำ

การเปลี่ยนตาข่ายนี้เชื่อมโยงไปถึงการเปลี่ยนอัตลักษณ์ของชาติไทย และสังคมไทย และอัตลักษณ์ของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคมไทย นิธิทำให้เห็นว่าชาติไทยประกอบด้วยคนหลายกลุ่ม หลายชนชั้น หลายเพศ และไม่มีวีรบุรุษวีรสตรีที่ปกป้องเอกราชของชาติในงานนิธิเลย เช่น ให้ภาพชาวบ้านบางระจัน เป็นการรวมตัวปกป้องชีวิตทรัพย์สินของตน หรือเป็นกบฏชาวนาไม่ใช่วีรชนกู้ชาติ หรือท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทรไม่ใช่วีรสตรีที่ต่อสู้เพื่อปกป้องชาติ แต่ต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตระกูล

นอกจากนี้นิธิยังเสนอความเห็นโดยตรงด้วย เช่น การวิพากษ์ประวัติศาสตร์สกุลดำรงราชานุภาพ โดยมองว่ารัฐชาติมันเข้มแข็งแล้ว ไม่จำเป็นต้องเขียนประวัติศาสตร์เพื่อความมั่นคงของชาติอีกต่อไป นิธิจึงเสนอโครงเรื่อง “ประวัติศาสตร์แห่งชาติใหม่” เพื่อนิยามความหมายแห่งชาติขึ้นมาใหม่ ครอบคลุมทุกท้องถิ่น มองเมืองไทยที่เชื่อมโยงกับโลกภายนอก และประชาชนมีบทบาทที่มากกว่าการเสียสละเพื่อชาติ นิธิเสนอให้เราเลิกใช้การเอารัฐและผู้นำเป็นศูนย์กลาง เพื่อจะอัตลักษณ์ใหม่ของชาติไทย

นอกจากนั้นนิธิยังเปลี่ยนอัตลักษณ์กษัตริย์ ประวัติศาสตร์กระแสหลักของกรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทำให้กษัตริย์บางพระองค์กลายเป็นกษัตริย์ในอุดมคติของไทย เช่น พระปิยมหาราช แต่นิธิทำให้กษัตริย์เป็นมนุษย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับคนกลุ่มต่างๆ ในบริบทที่เปลี่ยนแปลง เช่น กษัตริย์เป็นพ่อค้า แทนภาพกษัตริย์กระแสหลักที่เป็นนักรบ หรือกษัตริย์ในฐานะนักการเมือง มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ต่อสู้ ต่อรองเพื่อรักษาและเพิ่มพูนอำนาจตามเงื่อนไขแวดล้อมของกษัตริย์แต่ละองค์ กษัตริย์ในงานของนิธิยังมีวัฒนธรรมทางความคิดเหมือนคนอื่น ไม่ใช่พระราชดำริลอยๆ

ในทศวรรษ 2520 ที่ราชาชาตินิยมมีพลังสูงขึ้น นิธิแสดงให้เห็นว่าพงศาวดารไม่ใช่ศักดิ์สิทธิ์ มันถูกชำระเพื่อเปลี่ยนความจริงเกี่ยวกับอดีต นิธิทำให้เห็นว่าไม่มีใครยิ่งใหญ่จนมีพลังพ้นไปจากบริบท เช่น บริบทของพระนารายณ์ คือระบบราชการที่ซับซ้อนและมีเอกภาพมากขึ้น ความขัดแย้งกับชาวอิหร่าน หรือการเข้ามาของฝรั่งเศส หรือบริบทของพระเจ้ากรุงธนบุรี คือมีภูมิหลังของที่ทำให้เลือกนโยบายการเมืองแบบชุมนุม ปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจการเมือง การรวมกลุ่มของผู้ดีที่มีอุดมการณ์แบบราชอาณาจักร

นิธิยังเปลี่ยนอัตลักษณ์จีนอย่างสำคัญ ใน “วัฒนธรรมกระฎุมพี” เน้นว่าจีนเป็นปัจจัยสำคัญของความเปลี่ยนแปลง และขี้ว่าชนชั้นสูงไทยสมัยนั้นรับวัฒนธรรมจีนชั้นต่ำ หรือให้ความหมายเจ๊กใหม่โดยตรงผ่านบทบาทพระเจ้ากรุงธนบุรี การนิยามใหม่เช่นนี้เกิดขึ้นพร้อมกับการประกาศให้คนไทยยอมรับว่า “สังคมที่มีพลังคือสังคมที่ปล่อยให้มีความหลากหลายในวัฒนธรรม ความแตกต่างของวิธีคิดและค่านิยม” “รสนิยมของ ‘เจ๊ก’ คือความมั่งคั่งในทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคมไทย เหมือนความแตกต่างที่เราพบได้ในหมู่ชาวเขา ชาวมอญ ชาวญวน ฯลฯ”

นิธิเปลี่ยนอัตลักษณ์ชาวบ้าน ชาวบ้านไม่ใช่คนที่ “โง่จนเจ็บ” ขณะนิธิก็ดูหมิ่นชนชั้นกลางไทยไว้อย่างมาก เช่น งานแห่นางแมวเปลี่ยนภาพชาวบ้านที่โง่งมงาย เป็นชาวบ้านผู้มีภูมิปัญญา รวมทั้งนิธิต่อสู้กับพุทธแบบที่รัฐเน้น ชี้ให้เห็นว่าไสยศาสตร์แบบชาวบ้านไม่ใช่อะไรที่โง่งมงาย แต่รัฐต่างหากที่ทำให้ไสยศาสตร์เป็นเรื่องโง่ เดิมนั้นพุทธกับไสยไม่ได้แยกจากกัน แต่ไสยศาสตร์ในอดีตมีศีลธรรมของพุทธกำกับอยู่

ประเด็นสุดท้ายคือความรู้ประวัติศาสตร์กับชีวิตและบรมธรรม นิธิเขียนว่า “ความรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงอาจก่อให้เกิดแบบแผนความประพฤติอันเหมาะสมได้ชุดหนึ่ง แต่ความรู้เท่าทันธรรมดาโลกก่อให้เกิดความสงบสุขในจิตใจที่จะเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนั่นได้” ความรู้เท่าทันธรรมดาโลกนี่แหละที่นิธิเห็นว่าเป็นผลจากบรมธรรม และ “ปราศจากความรู้เท่าทันธรรมดาโลก การปรับจริยธรรมเพื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจสังคมใหม่ก็จะเท่ากับการลอยตามกระแสโดยขาดความเป็นตัวของตัวเอง พร้อมจะตกไปอยู่ในวังวนของการเอารัดเอาเปรียบกันเองและความร้อนรนจากความโลภในวัตถุ การมีบรมธรรมเป็นรากฐานของจริยธรรมจึงสำคัญ เพื่อ...เป็นจริยธรรมที่กำกับด้วยคุณธรรม ไม่ใช่จริยธรรมที่จะเอาตัวรอดในโลกสมัยใหม่เท่านั้น”

อีกทั้ง “แท้ที่จริงแล้วการศึกษาวิทยาการเพื่อรู้ความจริงย่อมประกอบด้วยศีลธรรม และแนวคิดที่จินตนาการขึ้นเกี่ยวกับความเป็นจริงของโลกและชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้...หากการศึกษาวิทยาการถูกเปลี่ยนแปลงให้ลงสู่ระดับลึกขึ้นคือการแสวงหาความจริง ไม่ใช่การแสวงหาประโยชน์ใช้สอยจากความรู้เพียงอย่างเดียว การศึกษาวิทยาการก็เป็นทางนำไปสู่ความเข้าถึงบรมธรรมได้เช่นกัน” (2536 สภาพเศรษฐกิจสังคมไทยยุคใหม่ จริยธรรมในการศึกษาสำหรับอนาคต)

สายชลสรุปว่าสำหรับนิธิ เสรีภาพจึงสำคัญมาก เสรีภาพในการศึกษาประวัติศาสตร์โดยหลุดพ้นจากกระบวนทัศน์ครอบงำ ทำให้แต่ละคนสามารถแสวงหา “ความจริง” หรือ “สัจจะ” ตามที่ตนมองเห็น ซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ประวัติศาสตร์แบบนิธิทำให้เราเข้าถึงสัจจะ ทั้งในแง่การรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของชีวิตและสังคม และถ้าเราศึกษาอย่างจริงจัง มันก็เป็นทางนำไปสู่บรมธรรมได้ในที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท