ความเหงาที่ไม่รู้ตัวของอดัม สมิท กับฤดูที่เปลี่ยนแปลง (Economics of Loneliness)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพจาก ~aglayan-agac

ความเหงาไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะจากการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของความเหงาพบว่าปี ค.ศ. 2010 ประชากรที่อายุมากกว่า 45 ปีมีอาการเหงาอย่างรุนแรงอยู่ถึงราว 35% ตัวเลขนี้สูงขึ้นจากปี 2000 ที่มีอยู่ราว 20% เท่านั้น (ดู Stephen Marche, 2012) [1] ความเหงากำลังเกาะกุมโลกใบนี้และก่อให้เกิดต้นทุนแก่สังคมมากมาย หลายประเทศต้องมีการลงทุนมหาศาลกับการรับมือความเหงา เช่น อเมริกาต้องมีการเพิ่มคลินิกนักจิตวิทยาจาก 2,500 แห่งและผู้ให้บริการจาก 30,000 คนทั่วประเทศช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1940 มาสู่คลินิก 77,000 แห่งและผู้ให้บริการที่ทั้งมีใบอนุญาตทางคลินิกและไม่มีรวมแล้วราว 600,000 คนในปี ค.ศ. 2010 เพื่อรองรับผู้ใช้บริการอันเนื่องมาจากความซึมเศร้าเงียบเหงาทางจิตใจที่เพิ่มขึ้น [2]

ในปี ค.ศ. 2009 EDWARD L. GLAESER ศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาด ได้เขียนบทความเรื่อง เศรษฐศาสตร์ของความเหงา (Economics of Loneliness) ลง Economix คอลัมน์ดังของ The New York Times โดยเขาได้ชี้ชวนให้เห็นว่ามีนักหลายนักในโลกนี้ที่ให้เครดิตกับความเหงา ในฐานะเป็นบ่อเกิดของประโยชน์ทางสังคมจำนวนมาก เช่น การเกิดสัญญาประชาคมของฮอบส์นั้นก็มีประเด็นพื้นฐานมาจากการที่มนุษย์ไม่ต้องการอยู่แยกกันอย่างโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาและรุนแรงถึงตายจึงมาทำสัญญาประชาคม ที่จะอยู่ร่วมกันภายใต้รัฐ ในทางกลับกัน เศรษฐศาสตร์เป็นหนึ่งในสาขาที่ปฏิเสธความดีงามของความเหงา (virtue of loneliness) เพราะนักเศรษฐศาสตร์นับตั้งแต่บิดาอย่างอดัม สมิท เชื่อในการร่วมมือกันทำงาน

ข้อสังเกตก็คือ การร่วมมือกันทำงานโดยการแบ่งงานกันทำของสมิทซึ่งแรกเริ่มนั้นถูกมองในลักษณะ normative คือเป็นการมุ่งแนะนำว่าควรจะร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่ผลิตภาพทางการผลิตที่ดีขึ้น ได้ถูกส่งทอดต่อมาและในท้ายสุดได้กลายเป็นมุมมองแบบ positivism คือเกิดวิธีคิดที่มองไปว่า “มนุษยชาตินั้นมีธรรมชาติที่จะร่วมมือกัน - social nature of humanity” อยู่แล้ว การมองไม่เห็นว่าการร่วมมือกันทำงานตามที่สมิทได้กล่าวเอาไว้ใน The Wealth of Nations นั้นเป็นเรื่องที่ “ถูกสร้างขึ้น” แต่มองเป็นเรื่องธรรมชาตินี้ได้นำมาสู่วิธีคิดที่ปฏิเสธบทบาทของรัฐที่เป็นอำนาจสมบูรณ์แบบฮอบส์ (Hobbesian Absolutism) แต่หันไปมองรัฐในแบบเสรีนิยมแทน (เน้นรัฐเป็นเพียงคนสร้างและความคุมกติกาหลักๆ เช่น ความมั่นคงในทรัพย์เอกชน) โดย GLAESER ได้ให้ข้อสนับสนุนในบทความของเขาด้วยการอ้างงานของ John T. Cacioppo ที่ว่าการเกิดขึ้นของ “เมือง” ต่างๆ นั้นเองคือสัญลักษณ์ของธรรมชาติที่มนุษย์ต้องการจะอยู่ร่วมกัน

แต่ทว่า... ในความเห็นของ Mad Economist แล้วมุมมองแบบร่วมมือแบ่งงานกันทำ (collaborative specialization) อย่างที่สมิทเสนอสืบทอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ไม่ได้ทำให้ความเปลี่ยวเหงาหายไป หากทำให้คนในสังคมนี้เหงามากยิ่งขึ้นและเป็น “ความเหงาท่ามกลางผู้คนมากมาย (lonesome among the crowd)” เพราะแม้เราจะถูกจับมาผูกโยงสัมพันธ์กันเป็นส่วนหนึ่งของระบบอันไพศาล หากเราไม่ได้เชื่อมต่อกันด้วยความสัมพันธ์ของคนต่อคน เราถูกเชื่อมร้อยกันด้วยความสัมพันธ์ทางการผลิต ความสัมพันธ์ทางการผลิตที่ว่าได้ห่างไกลจากความสัมพันธ์ทางการผลิตในสมัยก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างมาก

ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี การร่วมมือกันทำงาน แบบแบ่งหน้าที่หรือการทำงานไม่ใช่เรื่องที่ชัดเจน และในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษยชาติ แต่อาจกล่าวได้ว่าเป็นธรรมชาติของยุคสมัย เช่น เทคโนโลยีที่ยังไม่ก้าวหน้าทำให้ผลิตภาพทางการผลิตโดยเฉพาะสินค้าที่ต้องกินต้องใช้ยังต่ำ การดำนาคนเดียวอาจให้ผลผลิตไม่เพียงพอจะเลี้ยงดูครอบครัวก็ต้องไปเกณฑ์แรงงาน จากคนในชุมชนมาช่วยกันทำ การหุงหาอาหารก็ไม่สามารถที่จะทำได้โดยอัตโนมัติแต่ต้องช่วยกันหุง น้ำเดือนพัดไฟตรวจความสุกเติมฟืน เหล่านี้ต้องทำพร้อมๆ กันเกินกว่าขีดความสามารถของคนเพียงคนเดียวจะทำให้บรรลุไปได้ ดังนั้นคนจึงต้องร่วมมือกัน (แต่ย้ำว่ามันอยู่บนเงื่อนไขของเทคโนโลยีแบบหนึ่งเท่านั้นซึ่งไม่สามารถตีความ presume ได้ว่าการร่วมมือเป็นธรรมชาติของมนุษยชาติแต่อย่างไร) กิจกรรมเหล่านี้แม้จะร่วมมือแต่ก็ไม่ได้แบ่งงานกันทำในแบบที่สมิทเสนอ

เมื่อสมิทเสนอว่าต้องแบ่งงานกันทำ การแบ่งงานแม้จะช่วยดึงเอาคนจำนวนมากซึ่งไม่เคยสัมพันธ์กันมาผูกสัมพันธ์กัน ในทางการผลิต ความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่ได้สร้างสายสัมพันธ์ (related without relationship) เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่มีคนอยู่ภายในนั้น-จะมีก็แต่ปัจจัยการผลิต (inputs) เป็นความสัมพันธ์ที่เน้นขอบเขตแน่นอน (discipline) อย่างมีวัยและอย่างต่อเนื่อง (discipline) ความสัมพันธ์เช่นนี้แม้จะทำงานอยู่ข้างเคียงกันก็ยังมีความห่างไกลกัน เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวไม่เคยนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่จะใช้เวลาร่วมกัน หากเป็นความมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงผลิตภาพสูงสุดซึ่งเป็นความมุ่งหมายของ “ตลาด” นัยนี้ คนในระบบร่วมมือเพื่อแบ่งงานกันทำจึงใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้นแต่ห่างไกลกันในทางความรู้สึกและสมควรที่จะเหงามากยิ่งขึ้นด้วย

น่าสงสัยว่าข้อสมมติฐานดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ จึงลองเข้าไปดูอันดับของดัชนีความเหงา (ไม่น่าจะรัดกุมนักแต่ไม่มีข้อมูลอื่นที่ดีมากกว่าในขณะนี้ครับ) ซึ่งวัดโดยการพิจารณาว่าคนในแต่ละเมืองค้นหาคำว่า “lonely” มากน้อยเพียงใดในระบบค้นหาของ google ผลพบว่าอันดับที่ได้คือเมืองใน ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, อินเดีย, แคนาดา, อังกฤษ และ อเมริกา เป็นเมือง (ในประเทศต่างๆ เหล่านี้) ที่มีการค้นหาความเหงามากที่สุดในโลก 10 อันดับแรกโดยทั้งหมดใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและมีการแบ่งงานกันทำอย่างเข้มข้น แน่นอนว่ามีข้อโต้แย้งได้มากมายจากการใช้ข้อมูลข้างต้นในการวินิจฉัย ดังนั้นผมก็ไม่ขอสรุปว่าข้อมูลข้างต้นจะให้คำตอบที่รัดกุม หากก็เป็นสัญญาที่บวกต่อข้อสันนิษฐานที่ว่าการแบ่งงานกันทำและระบบทุนนิยมมีผลต่อความเหงามากกว่ากว่าที่จะสร้างให้เกิดความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น (ป.ล. อาจถกเถียงได้ว่าประเทศที่ไม่แบ่งงานกันทำและผลิตภาพต่ำ ทำให้ยากจนไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากมายนัก ทำให้ไม่ติดอันดับ แต่เราจะอธิบายอย่างไรกับการที่ไม่มีประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่มยุโรปหรือโลก อาหรับติดเข้ามาสู่รายการข้างต้นเลย?)

ผลพลอยได้จากการศึกษาเศรษฐศาสตร์ความเหงา ทำให้ผมสนใจต่อไปว่า การแพร่กระจายความเหงามีรูปแบบอย่างไร? มีการกล่าวกันมากว่าความเหงามีฤดูกาลของมัน โดยเฉพาะหน้าหนาวหรือฝนมักจะถูกจัดอยู่กลุ่ม “ฤดูเหงา” เป็นพิเศษ ดังนั้นเราควรจะตั้งต้นที่ว่า... หรือความเหงาความเหงาแพร่กระจายได้ในอากาศเย็นมากกว่าอากาศร้อน??? ผลของดัชนีความเหงาที่จัดอันดับ 10 ประเทศซึ่งมีการค้นหาความเหงามากที่สุดในโลกนั้น ให้หลักฐาน (แบบ weak มากๆ) อีกชิ้นหนึ่งนั้นก็คือในบรรดาเมืองต่างๆ มีเพียง 1 เมืองเท่านั้นที่มาจากเขตเส้นศูนย์สูตรหรือเขตร้อน นั่นคือเมืองนิวเดลี ของอินเดีย นอกนั้นอยู่ในพื้นที่เขตหนาวทั้งสิ้น การกล่าวว่าความเหงามีฤดูกาลของมัน ไม่แน่ อาจจะจริงก็เป็นได้นะครับ

เพื่อคลายข้อข้องใจเพิ่มเติม การสำรวจงานวิจัยที่รัดกุมยิ่งขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ งานเรื่อง Cold and Lonely: Does Social Exclusion Literally Feel Cold? ของ Chen-Bo Zhong และ Geoffrey J. Leonardelli นั่นให้แง่มุมที่น่าสนใจทีเดียวครับ ทั้งสองชี้ว่า... แค่ได้อ่านคำเขียนที่พูดถึงการถูกทอดทิ้งการกีดกันออกไปก็นำมาสู่การรับรู้ อุณหภูมิที่เย็นลงกว่าปรกติแล้ว ดังนั้นไม่ได้แค่ความหนาวทำให้เหงา แต่งานชิ้นนี้ชี้ว่า ความเหงา(การถูกกันออกไปจากสังคม) ก็ก่อให้เกิดความหนาวได้เช่นเดียวกัน คนเหงาจึงหนาวง่ายและเมื่อหนาวก็ก่อกลับมาสร้างความเหงา กลายเป็นวัฏจักรสีหม่นๆ ที่นำไปสู่ปัญหาการใช้ความรุนแรง การฆ่าตัวตาย หรือการเฉื่อยชาต่อการทำงาน [3] ซึ่งอาจจะนำมาสู่การขายผลิตภาพการผลิตและทำให้ถูกเร่งรัดให้แบ่งงานกันทำ หรือทำงานมากขึ้นซึ่งก็จะกลับมาทำลายความสัมพันธ์ทางสังคมและก่อให้เกิดความ เหงาที่มากขึ้น

นอกจากมิติทางอุณหภูมิแล้ว ความเหงายังเคลื่อนที่ผ่าน platform ของการสื่อสารเทคโนโลยีและสายสัมพันธ์ได้ด้วย งานเรื่อง Alone in the Crowd: The Structure and Spread of Loneliness in a Large Social Network ของ John T. Cacioppo และ James H. Fowler ชี้ว่า 1. ความเหงาเคลื่อนที่บนอินเทอร์เน็ตผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมลักษณะอื่นๆ 2. ความเหงาแพร่ผ่านทางเพื่อนได้ง่ายกว่าครอบครัว และ 3. ความเหงากระจายตัวผ่านเพศหญิงได้ดีกว่าเพศชาย

ทั้งนี้ เพื่อการอ่านงานอย่างรัดกุม Mad Economist เสนอว่าต้องระมัดระวังในการตีความข้อสรุป เนื่องจากการที่ความเหงากระจายตัวผ่านเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย ไม่ได้หมายความว่าเพศหญิงมีความเหงามากกว่าเพศชาย ทั้งนี้เพราะฝ่ายชายซึ่งอยู่ในภาคการผลิตมากกว่าฝ่ายหญิงเผชิญกับการถูกทำให้แปลกแยกโดยความสัมพันธ์ทางการผลิตมากกว่าฝ่ายหญิงอาจจะเหงามากกว่าแต่พฤติกรรมทางสังคมไม่เอื้ออำนวยให้เพศชายปรับทุกกันในเรื่องความเหงา ความเหงาของฝ่ายชายจึงหยุดนิ่ง เป็นความเหงาที่จะจมดิ่งลงไปในความรู้สึกของตนเองนั่นอาจเป็นสาเหตุของ รายงานมากมายที่ชี้ว่า โดยทั่วไปแล้วประเทศต่างๆ เพศชายมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าฝ่ายหญิง [4] และการที่เพศหญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น “อาจ!!!” เป็นปัจจัยที่มีนัยสำคัญ ในการทำให้เพศหญิงเริ่มมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับฝ่ายชายก็เป็นได้


เชิงอรรถเพิ่มเติม

[0] http://aglayan-agac.deviantart.com/art/timeless-loneliness-59879310
[1] Stephen Marche (2012). Is Facebook Making Us Lonely? The Atlantic.
[2] http://conservativehome.blogs.com/the-deep-end/2012/04/the-economic-cost-of-loneliness.html
[3] Louise C. Hawkley, Ronald A. Thisted, & John T. Cacioppo (ไม่ปรากฏปี). Loneliness predicts reduced physical activity: Cross-sectional & longitudinal analyses. National Institute of Aging Program
[4] KEITH HAWTON (2012). Sex and suicide Gender differences in suicidal behavior. BJPsych.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท