Skip to main content
sharethis

กลุ่มแสงเสรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ออกแถลงการณ์ “ค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก”

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555 เวลาประมาณ 15.00 น. นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กลุ่มแสงเสรี ได้ออกติดแถลงการณ์ “คัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก” ตามคณะต่างๆ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการรับน้องด้วยระบบนี้ ระหว่างติดแถลงการณ์ ก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี มีอาจารย์เข้ามาสอบถามด้วยความห่วงใย และในขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาบางกลุ่มมีท่าทีที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการออกแถลงการณ์ในครั้งนี้ เนื่องด้วยอยู่ในช่วงเวลาของการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการออกแถลงการณ์ ทางกลุ่มแสงเสรี จะขอเข้าพบ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อมอบแถลงการณ์นี้ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

แถลงการณ์
“คัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้ากในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”

แถลงการณ์ฉบับนี้ ได้รับการร่างโดยกลุ่มแสงเสรี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการก่อตั้งโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจำนวนหนึ่ง ที่มีแนวความคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแนวความคิดที่เชื่อว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน มีความเท่าเทียมกัน อีกทั้งกลุ่มแสงเสรียังเป็นกลุ่มที่เชื่อมั่นและยึดถือในหลักการแห่ง สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค อันเป็นหัวใจของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ดังนั้น กลุ่มแสงเสรี จึงขอออกแถลงการณ์นี้เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยและคัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก ในแนวทางสันติวิธี และได้ใช้สิทธิอันชอบธรรมในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวนี้ ตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ 7.2 โดยมีเหตุผลในการคัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก ดังต่อไปนี้

  1. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากขัดต่อหลักปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน ข้อ 1, 2, 3 และ 4
  2. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 28, 29, 30, 32 และ 52
  3. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากขัดต่อข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ7.1
  4. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากขัดต่อหลักการแห่งสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค อันเป็นหัวใจของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
  5. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากไม่ได้จัดขึ้นหรือมีขึ้น เพื่อส่งเสริมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ในทางกลับกัน กลับส่งเสริมระบอบเผด็จการอำนาจนิยมในหมู่นักศึกษา ซึ่งระบอบเผด็จการอำนาจนิยม เป็นระบอบที่ไม่เชื่อว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน มีความเท่าเทียมกัน อาทิเช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรุ่นน้อง ไม่เท่าเทียมกันกับรุ่นพี่ เป็นต้น
  6. การประชุมเชียร์ด้วยการว้ากส่งเสริมให้นักศึกษาคุ้นชินกับการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และคุ้นชินกับการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพจากผู้อื่น
  7. ความสามัคคีที่ได้มาจากการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก เป็นความสามัคคีที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 28, 29, 30, 32, และ 52 อีกทั้งยังขัดต่อข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ7.1

ในการนี้ กลุ่มแสงเสรี จึงขอออกแถลงการณ์นี้ เพื่อคัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้าก ในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

โดยได้แนบรายละเอียด หลักปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537 ที่ได้อ้างอิงในแถลงการณ์ฉบับนี้ ไว้ในเอกสารแนบท้ายแถลงการณ์ด้วย

22 พฤษภาคม 2555
กลุ่มแสงเสรี

 

เอกสารแนบท้าย
แถลงการณ์ “คัดค้านการประชุมเชียร์ด้วยการว้ากในรั้วมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี”

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

1.1 มาตรา 28 บุคคลย่อมอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือใช้สิทธิและเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้เพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ บุคคลย่อมสามารถใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ได้โดยตรง หากการใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องใดมีกฎหมายบัญญัติรายละเอียดแห่งการใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้แล้ว ให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในเรื่องนั้นเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการส่งเสริม สนับสนุน และช่วยเหลือจากรัฐ ในการใช้สิทธิตามความในหมวดนี้

1.2 มาตรา 29 การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้ กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปและไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง ทั้งต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นด้วย บทบัญญัติในวรรคหนึ่งและวรรคสองให้นำมาใช้บังคับกับกฎที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายด้วย โดยอนุโลม

1.3 มาตรา 30 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรมหรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมตามวรรคสาม

1.4 มาตรา 32 บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรม จะกระทำมิได้ แต่การลงโทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไม่ถือว่าเป็นการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้ายหรือไร้มนุษยธรรมตามความในวรรคนี้ การจับและการคุมขังบุคคล จะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามกฎหมายบัญญัติ การค้นตัวบุคคลหรือการกระทำใดอันกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้

เว้นแต่มีเหตุตามที่กฎหมายบัญญัติ ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหาย พนักงานอัยการ หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหาย มีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับ

หรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควรหรือการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้

1.5 มาตรา 52 เด็กและเยาวชน มีสิทธิในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาด้านร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาตามศักยภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ เด็กและเยาวชน สตรีและบุคคลในครอบครัว มีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้ปราศจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมทั้งมีสิทธิได้รับการบำบัดฟื้นฟูในกรณีที่มีเหตุดังกล่าว การแทรกแซงและการจำกัดสิทธิเด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อสงวนและรักษาไว้ซึ่งสถานะของครอบครัวหรือประโยชน์สูงสุดของบุคคลนั้น เด็กและเยาวชนซึ่งไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมที่เหมาะสมจากรัฐ

2. ข้อบังคับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ว่าด้วยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พุทธศักราช 2537

2.1 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ 7.1 นักศึกษาย่อมมีความเสมอภาคกันและอยู่ในความคุ้มครองแห่งข้อบังคับนี้เสมอกัน ขั้นหรือระดับการศึกษาไม่ก่อให้เกิดเอกสิทธิ์แต่อย่างใด

2.2 หมวดที่ 2 สิทธิ์เสรีภาพและหน้าที่ของนักศึกษา ข้อ 7.2 นักศึกษาย่อมมีเสรีภาพในการพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการชุมนุมเพื่อวิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นอันก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเปิดเผยภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

3. หลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

ข้อ1
มนุษย์ทั้งหลายเกิดมามีอิสระ เสรี เท่าเทียมกันทั้งศักดิ์ศรีและสิทธิ ทุกคนได้รับการประสิทธิ์ประสาทเหตุผลและมโนธรรมและควรปฏิบัติต่อกันอย่างฉันพี่น้อง

ข้อ2
บุคคลชอบที่จะมี สิทธิและเสรีภาพตามที่ระบุไว้ในปฏิญญานี้ ทั้งนี้โดยไม่มีการจำแนกความแตกต่างในเรื่องใดๆ เช่น เชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความเห็นทางการเมือง หรือทางอื่นใด ชาติหรือสังคมอันเป็นที่มาเดิม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นใด นอกจากนี้การจำแนกข้อแตกต่าง โดยอาศัยมูลฐานแห่งสถานะทางการเมือง ทางดุลอาณาหรือทางเรื่องระหว่างประเทศของประเทศ หรือดินแดนซึ่งบุคคลสังกัดจะทำมิได้ ทั้งนี้ไม่ว่าดินแดนดังกล่าวจะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเอง หรืออยู่ภายใต้การจำกัดแห่งอธิปไตยอื่นใด

ข้อ3
บุคคลมีสิทธิในการดำเนินชีวิตในเสรีธรรมและในความมั่นคงแห่งร่างกาย

ข้อ4
บุคคลใดจะถูกบังคับให้เป็นทาส หรืออยู่ในภาวะจำยอมใดๆมิได้ การเป็นทาสและการค้าทาสจะมีไม่ได้ทุกรูปแบบ

 

เอกสารอ้างอิง

  • หนังสือวิพากษ์ว้าก SOTUS โดย นายชาติสังคม
  • คู่มือการใช้ชีวิตนักศึกษา ระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
  • http://arin-article.blogspot.com/2010/06/blog-post_7522.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net