Skip to main content
sharethis

เจรจาสันติภาพรอบล่าสุดที่เชียงตุง รัฐบาลพม่าเห็นชอบเบื้องต้นให้กองทัพรัฐฉานเปิดสำนักงานกลางที่เมืองหัวเมือง และเมืองทา รวมถึงเรื่องปล่อยตัวนักโทษการเมือง ให้สื่อมวลชนชาวไทใหญ่รายงานข่าวได้อย่างเสรีและตั้งสำนักงาน รวมถึงเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ ปราบปรามยาเสพย์ติด แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้เรื่องพื้นที่ปกครองของกองทัพรัฐฉาน

พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน ระหว่างการสวนสนามเนื่องในวันปฏิวัติประชาชนรัฐฉาน เมื่อ 21 พ.ค. 2553 ทั้งนี้เมื่อวันเสาร์ทีผ่านมา พล.ท.เจ้ายอดศึกและเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้เจรจากับผู้แทนฝ่ายรัฐบาลพม่านำโดยนายอ่อง มิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการรถไฟ ที่เมืองเชียงตุง ถือเป็นการเจรจาระดับสหภาพเป็นครั้งที่ 2 โดยมีข้อตกลงร่วมกัน 11 ข้อ รวมทั้งเรื่องปล่อยนักโทษการเมือง การปราบปรามยาเสพติด และพัฒนาเศรษฐกิจ แต่เรื่องสำคัญอย่างพื้นที่ปกครองของกองทัพรัฐฉานยังไม่สามารถตกลงกันได้ และคาดว่าจะมีการเจรจาในรอบต่อไปอีกในอนาคต (ที่มา: แฟ้มภาพ/ประชาไท)

 

ตามที่คณะเจรจาสันติภาพของสภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) และกองทัพรัฐฉาน (SSA) นำโดย พล.ท.เจ้ายอดศึก ประธานสภากอบกู้รัฐฉาน เดินทางไปเชียงตุงเพื่อเจรจาระดับสหภาพรอบ 2 กับรัฐบาลพม่าที่นำโดยนายอ่อง มิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการการรถไฟ และ พล.อ.โซ วิน รองผู้บัญชาการกองทัพพม่า และรองประธานคณะทำงานเพื่อเสริมสร้างสันติภาพ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. นั้น ล่าสุด สำนักข่าวฉาน (S.H.A.N.) รายงานผลการเจรจาซึ่งทั้งสองฝ่ายบรรลุข้อตกลงได้ 11 ข้อดังนี้

1. ปราบปรามยาเสพติด
2. ตั้งสำนักงานหลักของกองทัพรัฐฉานที่หัวเมือง ภาคใต้ของรัฐฉาน และที่เมืองทา ภาคตะวันออกของรัฐฉาน
3. ตั้งคณะกรรมการสังเกตการณ์กระบวนการสันติภาพ
4. ปล่อยนักโทษการเมือง
5. อนุญาตให้สื่อมวลชนชาวไทใหญ่สามารถรายงานข่าวได้อย่างเสรีและตั้งสำนักงานในประเทศได้
6. ให้ทำงานร่วมกับองค์กรนอกภาครัฐบาล หรือเอ็นจีโอ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
7. เปิดด่านด้านชายแดนไทยพม่า 3 จุดในพื้นที่รัฐฉาน
8. อนุญาตให้สมาชิก สภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน สามารถติดอาวุธได้อย่างเสรี และสามารถเคลื่อนไหวในพื้นที่ยึดครอง
9. อนุญาตให้ดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น การค้า และธุรกิจกับประชาชน เพื่อสนับสนุนสมาชิกของ สภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน และสมาชิกครอบครัว
10. อนุญาตให้มีการเพาะปลูกในพื้นที่รอบๆ แม่น้ำฉ่วยลี (แม่น้ำมาว)
11. จัดลงทะเบียนบัตรประชาชนสำหรับสมาชิกสภากอบกู้รัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ (IDP) และผู้ลี้ภัย

อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถตกลงได้ในเรื่องพื้นที่ปกครองของกองทัพรัฐฉาน แต่จะมีการกำหนดรายละเอียดกันอีกครั้ง

โดยนับตั้งแต่ทั้งสองฝ่ายเจรจาหยุดยิงเมื่อ 19 พ.ย. และมีการเจรจาที่เมืองตองจี เมื่อ 2 ธ.ค. ปีที่แล้ว เพื่อตั้งคณะทำงานสำหรับการเจรจาสันติภาพร่วมกันนั้น พล.ท.เจ้ายอดศึก ระบุกับสำนักข่าวฉานว่าได้เกิดการปะทะกันขึ้น 17 ครั้งแล้ว แม้จะมีการเจรจาหยุดยิงกันมาตั้งแต่ 2 ธ.ค. และหากการปะทะกันเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป น่าจะส่งผลด้านลบต่อสิ่งที่ประธานาธิบดีเต็ง เส่ง มุ่งหวังว่าจะสามารถสร้างสันติภาพกับกลุ่มติดอาวุธได้ภายในปี 2556 นอกจากนี้รัฐบาลพม่าจะเผชิญกับความยากลำบากต่อเป้าหมายการเป็นประธานอาเซียนในปี  2557 เนื่้องจากรัฐบาลจะสูญเสียความน่าเชื่อถือจากประชาคมนานาชาติ แต่หากกองทัพรัฐฉานสามารถบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ได้ ก็จะเป็นหมุดหมายสำคัญต่อประวัติศาสตร์พม่า

ขณะเดียวกับที่มีการเจรจาระหว่างกองทัพรัฐฉานกับรัฐบาลที่เชียงตุงเมื่อ 19 พ.ค. นั้น ในวันเดียวกัน หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ของรัฐบาลพม่า ได้เผยแพร่คำกล่าวของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ที่เตือนให้กองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมาย และตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงรับสมัครการเลือกตั้ง เขากล่าวด้วยว่า กองทัพของกลุ่มชาติพันธุ์สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีเหมือนกับประชาชนอื่นๆ ใต้รัฐธรรมนูญปี 2551

 

ที่มา: แปลและเรียบเรียงจาก RCSS/SSA and Naypyitaw have agreed on 11 points on peace talks, S.H.A.N., 20 May 2012.

หมายเหตุเพิ่มเติม [24 พ.ค. 55]: ผลการเจรจาโดยละเอียดใน  เปิดข้อตกลง 12 ข้อหลังเจรจากองทัพรัฐฉาน - รัฐบาลพม่าที่เชียงตุง, ประชาไท, 24 พ.ค. 55

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net