Skip to main content
sharethis
ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ทางการในย่างกุ้งเปิดเผยว่า ติ่น อ่อง มิ้น อู ซึ่งลาออกจากตำแหน่งรองประธานาธิบดีเมื่อเร็วๆนี้ ขณะนี้พบว่าได้บวชเป็นพระที่วัดในเมืองมอว์บี เขตย่างกุ้งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา
 
แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีแถลงการณ์ยืนยันใดๆจากทางการพม่า ขณะที่เกิดข่าวลือที่กรุงเนปีดอว์ว่า สาเหตุการลาออกจากตำแหน่งของติ่น อ่อง มิ้น อู เป็นเพราะเขาป่วยเป็นมะเร็งในลำคอ อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า ติ่น อ่อง มิ้น อู นั้นก้าวลงจากอำนาจในทางการเมืองแล้ว
 
ผู้สื่อข่าวในกรุงย่างกุ้งให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิรวดีว่า ติ่น อ่อง มิ้น อู นั้นไม่มีความสนใจที่จะกลับเข้ามาร่วมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทางการพม่าเองก็ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ขณะนี้ อดีตรองประธานาธิบดีผู้นี้ได้ตัดสินใจบวชเป็นพระแล้ว และไม่สามารถระบุได้ว่า ติ่น อ่อง มิ้น อูนั้นจะบวชเป็นพระเป็นระยะเวลานานแค่ไหน
 
อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีการยืนยันชัดเจนว่า รองประธานาธิบดีผู้นี้ได้ตัดสินใจลาออกในช่วงต้นเดือนนี้ แต่ก็มีรายงานว่า ติ่น อ่อง มิ้น อู ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมนัดสำคัญต่างๆเหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา และเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แหล่งข่าวรายงานว่า ภรรยาของนายติ่น อ่อง มิ้น อู ได้เข้ามาเก็บข้าวของและแฟ้มงานที่โต๊ะทำงานของเขากลับไปหมดแล้ว อีกด้านหนึ่ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคนรู้สึกผิดหวังที่นายติ่น อ่อง มิ้น อู ได้หายออกไปจากตำแหน่งอย่างฉับพลัน
 
อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์มองว่า การลาออกของติ่น อ่อง มิ้น อู อาจเป็นการเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้มีการปฏิรูปภายในคณะรัฐบาลมากขึ้น และทำให้นโยบายปฏิรูปประเทศของประธานาธิบดีเต็งเส่งดูมีผลขึ้น ทั้งนี้ ติ่น อ่อง มิ้น อูนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในบรรดานายพลพม่าที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และเป็นที่รู้จักในฐานะนายพลหัวอนุรักษ์นิยมและเป็นลูกน้องคนสนิทของตานฉ่วย
 
ขณะที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งกลับเป็นที่รู้จักและเคารพในฐานะนายพลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตน้อยที่สุดในบรรดาอดีตนายพม่า ขณะที่เมื่อเร็วๆนี้ ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้กล่าวว่า “ในระหว่างที่ประเทศกำลังก้าวไปสู่เส้นทางการเปลี่ยนแปลง กลุ่มคนที่เป็นหัวอนุรักษษ์นิยมที่ไม่ได้มีความคิดที่จะปฏิรูปจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง”
 
แปลและเรียบเรียงจาก Irrawaddy 18 พฤษภาคม 55
 
รัฐบาลพม่าอนุญาตให้จัดงานวันเกย์เป็นครั้งแรกในพม่า
 
รัฐบาลพม่าอนุญาตให้กลุ่มคนรักร่วมเพศในประเทศสามารถจัดงานฉลองวันยุติการรังเกียจคนรักร่วมเพศ และคนข้ามเพศสากลเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ (17 พฤษภาคม) โดยมีการจัดงานใน 4 เมืองใหญ่ๆเช่นในกรุงย่างกุ้งและมัณฑะเลย์เป็นต้น ขณะที่การจัดงานในกรุงย่างมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 400 คน
 
“เราตื่นเต้นมากที่สามารถจัดงานซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของคนรักร่วมเพศนี้ได้ ถึงแม้ว่าตอนนี้เรายังไม่สามารถเดินออกไปตามท้องถนนเหมือนประเทศอื่นๆก็ตาม ” อ่องเมียวมิน จากสถาบันการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชนแห่งพม่า (Human Rights Education Institute of Burma) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทยกล่าว โดยอ่องเมียวมินเปิดเผยว่า การจัดงานจะเน้นไปที่การจัดคอนเสิร์ตและเปิดเวทีหารือเรื่องสิทธิคนรักร่วมเพศ แต่จะไม่มีการเดินขบวนไปตามท้องถนน พร้อมระบุอีกว่า ขณะนี้คนรักร่วมเพศในพม่ามีความกล้าที่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้น
 
แต่อย่างไรก็ตาม อ่องเมียวมินเปิดเผยว่า ในอดีตไม่มีการอนุญาตให้จัดงานในลักษณะนี้ เพราะการรวมตัวของผู้คนเป็นจำนวนมาก มักเข้าข่ายการเดินประท้วงต่อต้านรัฐบาล อ่องเมียวมินยังยอมรับ ผู้คนทั่วไปและกฎหมายพม่ายังคงเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงต่อต้านคนรักร่วมเพศ “แม้หลายคนจะเปิดเผยตัวตนมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่สามารถบอกได้ว่า เราจะไม่ถูกต่อต้านด้วยการเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตชนบทที่ประชาชนยังขาดความรู้ การเลือกปฏิบัติก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป” เขากล่าว
 
ทั้งนี้ กฎหมายพม่าได้ระบุว่า บุคคลใดที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศอาจถูกลงโทษจำคุกนานถึง 10 ปี โดยอ่องเมียวมินมองว่ากฎหมายนี้ควรที่จะถูกยกเลิกไป เพราะเห็นว่าเป็นกฎหมายที่ล้าสมัย โดยเปรียบเทียบว่า แม้แต่ประเทศอินเดียที่เป็นประเทศเคร่งครัดก็ยังยกเลิกกฎหมายในลักษณะนี้ไปแล้ว
 
อีกด้านหนึ่ง เมียตโน ผู้จัดงานในครั้งนี้แสดงความคิดเห็นว่า การจัดงานของกลุ่มคนรักร่วมเพศมักถูกมองในด้านลบ เช่นการจัดงานในครั้งนี้ “ผู้คนทั่วไปเชื่อว่า กลุ่มคนรักร่วมเพศทั้งหมดเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี และการจัดกิจกรรมก็เพื่อขอโอกาสและเรียกร้องความสนใจจากสังคม ” แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มคนรักร่วมเพศพม่าเห็นตรงกันก็คือ พวกเขากล้าที่จะพูดออกมาเพื่อให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น หลังจากที่มีการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่
 
แปลและเรียบเรียง Irrawadd /AFP 18 พฤษภาคม 55
 
ชาวบ้านในรัฐอาระกันไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องเงินชดเชยจากโครงการฉ่วยก๊าซ
 
อูจ่อ ลวิน ส.ส.จากรัฐอาระกันเปิดเผยว่า การจัดการที่ไม่ดีของเจ้าหน้าที่ เกี่ยวการจ่ายเงินชดเชยให้กับชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินให้กับโครงการฉ่วยก๊าซ(Shwe Gas) กำลังทำให้เกิดปัญหาด้านสังคม และความแตกแยกในหมู่ชาวบ้านในเมืองเคาก์พรู รัฐอาระกัน
 
“เกิดปัญหาในหมู่บ้านที่ท่อส่งก๊าซพาดผ่าน โดยเฉพาะในหมู่บ้านกะเป่งเชา เคาก์กาหม่อง และหมู่บ้านราตานา ตอนนี้เราได้รับจดหมายร้องเรียนเป็นจำนวนมากจากชาวบ้าน ซึ่งการร้องเรียนส่วนใหญ่เกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม ให้กับชาวบ้านที่ต้องสูญเสียที่ดินไปให้กับโครงการท่อส่งก๊าซ ”
 
อูจ่อ ลวินเปิดเผยเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ว่าเจ้าของที่ดินตัวจริงไม่ได้รับเงินชดเชย เนื่องจากถูกบุคคลอื่นสวมสิทธิ์แทนหรือไม่ได้รับเงินชดเชย ซึ่งปัญหานี้กำลังเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะในหมู่บ้านกะเป่งเชา ที่มีชาวบ้านจำนวน 160 คน ที่ต้องได้รับเงินชดเชยจากการถูกยึดที่ดิน แต่มีชาวบ้านเพียง 57 คนเท่านั้นที่ได้รับเงินชดเชย สร้างความไม่พอให้กับชาวบ้านที่เหลือและสร้างความแตกแยกในหมู่ชาวบ้านที่ได้รับเงินชดเชยและไม่ได้เงินชดเชย
 
ส่วนสาเหต อูจ่อ ลวินกล่าวว่า มาจากการจัดการที่ไม่ดีและการทุตจริตของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ โดยเขาได้ส่งเรื่องนี้ไปยังเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐให้ดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ต่อไป ทั้งนี้ โครงการท่อส่งก๊าซฉ่วยก๊าซเป็นความร่วมมือระหว่างบรรษัทการปิโตรเลียมแห่งชาติของจีน (CNPC) บริษัทแดวูของเกาหลีใต้ บริษัทเมียนมาร์ออยล์แอนด์ก๊าซ เอ็นเตอร์ไพรซ์ (MOGE) ของพม่า บริษัท โอเอ็นจีซี วิเทศ และบริษัทก๊าซ ออร์ธอริตี้ ออฟ อินเดีย (GAIL) ของอินเดีย
 
โครงการฉ่วยก๊าซถือเป็นโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของพม่า โดยจะมีการสร้างท่อส่งก๊าซระบบท่อคู่จากแหล่งก๊าซฉ่วยในอ่าวเบงกอลพาดผ่านไปยังรัฐอาระกันไปจนถึงทางตอนบนของรัฐฉาน รัฐคะฉิ่น และผ่านไปยังมณฑลยูนานของจีนรวมระยะทางประมาณ 800 กิโลเมตร มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการคาดกันว่ารัฐบาลพม่าจะมีรายได้จากการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่จีนเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2 หมื่น 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 30 ปี อย่างไรก็ตาม โครงการนี้กำลังสร้างปัญหาทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม การละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายรัฐชนกลุ่มน้อย
 
ที่มา สำนักข่าวอาระกัน www.narinjara.com 16 พฤษภาคม 55
 
ทหารพม่าและทหารคะฉิ่น KIA ปะทะกันใกล้โครงการเขื่อนมิตซง
 
เกิดเหตุปะทะกันระหว่างทหารพม่าและทหารกองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA (Kachin Independence Army) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาใกล้กับบริเวณเขตโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซง เป็นเหตุให้แรงงานในเขตก่อสร้างเขื่อนและแรงงานในเหมืองแร่ทองซึ่งอยู่ใกล้จุดปะทะต้องอพยพออกจากพื้นที่ ขณะที่มีรายงานทหารพม่าเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บอีก 4 นาย
 
ชาวบ้านในพื้นที่เปิดเผยว่า เหตุปะทะเกิดขึ้นในเขตรอบนอกหมู่บ้านตางปรี ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซง ในรัฐคะฉิ่น เหตุปะทะกันได้ทำให้แรงงานในเขตก่อสร้างเขื่อนมิตซงต้องหนีตายกันวุ่น ขณะที่คาดมีแรงงานอยู่ในพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนราว 200 คน ซึ่งโครงการก่อสร้างเขื่อนมิตซงเป็นโครงการภายใต้บริษัทพลังงานของจีน (China Power Investment – CPI)
 
อีกด้านหนึ่งเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า ทหาร KIA สามารถยึดฐานที่มั่นสำคัญของทหารพม่าในหมู่บ้านคา การาน ยัง ซึ่งตั้งอยู่บนถนนที่เชื่อมต่อไปเมืองปูเตา โอ่ ทางภาคเหนือของรัฐคะฉิ่น นอกจากนี้ ทหารคะฉิ่น KIA ได้สร้างฐานที่มั่นใหม่ใกล้กับเมืองปางวา ซึ่ง KIA สามารถยึดได้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเมืองปางวาเคยเป็นที่ตั้งกองบัญชาการใหญ่ของกองกำลังประชาธิปไตยแนวใหม่คะฉิ่น (New Democratic Army-Kachin) ซึ่งกองกำลังนี้ได้แปรสภาพไปเป็นกองกำลังรักษาชายแดน(Border Guard Force) ภายใต้กองทัพพม่าไปแล้วเมื่อปี 2552
 
แปลและเรียบเรียงจาก สำนักข่าวคะฉิ่น KNG 16 พฤษภาคม 55

แปลและเรียบเรียงโดย สาละวินโพสต์ "สื่อทางเลือกเพื่อแบ่งปันความเข้าใจสู่เพื่อนบ้าน"อ่านข่าวและบท ความอื่นๆ อีกมากมายได้ที่เว็บไซต์ www.salweennews.org เฟซบุ๊คhttp://www.facebook.com/Salweenpost ทวิตเตอร์ http://twitter.com/salweenpost  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net