Skip to main content
sharethis

 

เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนหนึ่งที่ต้องถูกกล่าวถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะเป็นทั้งเดือนเกิดและเดือนถึงแก่อสัญกรรมของ นายปรีดี พนมยงค์ (11 พ.ค. 2433 -  2 พ.ค. 2526) ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ปีนี้ยังเป็นปีที่ครบรอบ 8 ทศวรรษการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เวลานี้จึงช่างดูประจวบเหมาะกับการที่ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” ถูกกล่าวขานมากเป็นพิเศษบน social network แต่ตลกร้ายตรงที่มันไม่ใช่เพราะมี “วันปรีดี” หรือ “วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง” ระบุไว้ในปฏิทินตามบ้าน แต่เป็นเพราะ “ดราม่า” นักศึกษาใหม่โพสต์ท่าโหนรูปปั้นนายปรีดีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากวันครบรอบชาตกาล 112 ปี ปรีดี พยมยงค์ เพิ่งผ่านไปไม่นาน ชาวธรรมศาสตร์ได้นำมาภาพนี้มาประณาม วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และมีการแชร์ต่อกันมากกว่า 600 ครั้งจากแหล่งเดียวกัน บางคนเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาจัดการ ขณะที่บางส่วนมองว่าการประณามดังกล่าวเป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล

เพียงสองวันหลังเกิดกระแสดังกล่าว กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ได้จัดกิจกรรม จากดราม่า "น้องอั้ม" ถึง "รูปปั้นอ.ปรีดี"  เมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา ณ ห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ชั้น 2 ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเป็นการพาผู้ร่วมงานทัวร์ห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของรูปปั้นนายปรีดีในภาพที่กลายเป็นดราม่า เพื่อให้ทราบถึงประวัติและแนวคิดของนายปรีดี พนมยงค์

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คิดว่าน่าจะมีการพูดถึงอาจารย์ปรีดีมากกว่าเดิม เราจะไม่เข้าใจเจตนาในการถ่ายภาพของอั้มจริงๆ ถ้าเกิดไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดีก่อน” ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย เท้าความถึงที่มาของกิจกรรมนี้

 

 

ปราบ เลาหะโรจนพันธ์ นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย หนึ่งในผู้จัดกิจกรรม

 

ปราบเล่าถึงสาเหตุการถ่ายรูปของ อั้ม เนโกะ ซึ่งเป็นนักศึกษารุ่นน้อง ว่ามาจากการที่อั้มเกิดคำถามในวันแรกพบของนักศึกษาใหม่ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดอาจารย์ปรีดี ว่าทำไมจึงมีแต่กิจกรรมเคารพสักการะบูชารูปปั้นอาจารย์ปรีดีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รุ่นน้องทุกคนจะถูกรุ่นพี่ปลูกฝังให้ไหว้ “พ่อปรีดี” ทั้งที่ความจริงแล้วอาจารย์ปรีดีมีเรื่องราวมากมายที่ถูกลืมและสังคมต้องรู้ แต่ไม่มีการพูดถึงเลย รวมทั้งเห็นระบบโซตัสแล้วมองว่านักศึกษาควรจะมีความเท่าเทียมกันตามเจตนารมณ์ อุดมการณ์ ของอาจารย์ปรีดี ซึ่งต้องศึกษาและเรียนรู้เรื่องราวของอาจารย์ปรีดีจึงจะเข้าใจ

ปราบ กล่าวว่า อั้มถ่ายภาพดังกล่าวเพื่อท้าทายสังคมหรือคนที่รักอาจารย์ปรีดีให้ตั้งคำถามกับตนเองว่า เราควรจะรักและเคารพแบบใด การเคารพอาจารย์ปรีดีแบบบูชารูปปั้น เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ “ล่วงละเมิดมิได้” มันจะนำไปสู่การเคารพแบบไม่คิด เคารพเพราะเห็นเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทุกคนต้องบูชา ไม่ศึกษาเรื่องราวและแนวคิดของเขาให้ดีก่อนที่จะเคารพ ซึ่งมันไม่ได้ประโยชน์อะไร การเคารพอาจารย์ปรีดีในทางที่ดีที่สุดคือการนำเรื่องราวของอาจารย์ปรีดีไปเรียนรู้และไปกระจายให้มากที่สุด ไม่ใช่การออกมาปกป้องรูปปั้น

“คุณดุษฎี พนมยงค์ บุตรสาวของอาจารย์ปรีดีก็มาบอกว่าภาพนั้นอาจจะไม่เหมาะสม แต่ไม่ผิด เพราะเป็นตามอุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดีที่ว่าเรากับเขาต้องเท่ากัน ผู้จัดการสถาบันปรีดีพนมยงค์ก็ออกมาให้กำลังใจน้องอั้ม ว่ามันเป็นการท้าทายให้คนที่รักอาจารย์ปรีดีอย่างไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ให้รักอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น คือต้องเรียนรู้ และเข้าใจ ก็เลยจัดงานนี้ขึ้นมาเพื่อเชิญสื่อมวลชนและผู้ที่สนใจในประเด็นดังกล่าว มารับข้อมูลเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีมากขึ้นมาใช้ประกอบการพิจารณา”

“จริงๆแล้วนักศึกษาธรรมศาสตร์รู้เรื่องราวเกี่ยวกับอาจารย์ปรีดีน้อยมาก พอเข้ามาก็แทบไม่ได้เรียนรู้อาจารย์ปรีดีเลยนอกจากว่าเป็นผู้ก่อตั้งมหาลัย มันจึงมีเหตุการณ์ที่ว่านักศึกษาธรรมศาสตร์กล่าวหานักศึกษาธรรมศาสตร์ด้วยกันเองว่าเป็นพวกล้มเจ้า หรือมีบัณฑิตธรรมศาสตร์ออกมาขับไล่นิติราษฎร์ให้ออกจากมหาวิทยาลัย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันสะท้อนว่าสังคมไทยหรือบัณฑิตธรรมศาสตร์ ไม่เคยเรียนรู้เรื่องอะไรจากอาจารย์ปรีดีเลย อาจารย์ปรีดีทำไมต้องถูกขับไล่ออกนอกประเทศ และไปเสียชีวิตต่างประเทศ ด้วยข้อหาล้มเจ้า ข้อหาคอมมิวนิสต์ สิ่งเหล่านี้มันยังเกิดขึ้นในสังคมไทยจนทุกวันนี้ นั่นหมายความว่า เราเรียนรู้อะไรบ้าง หรือว่าเราแค่รู้จักอาจารย์ปรีดีและเคารพเหมือนทวยเทพ เหมือนเครื่องสักการะบูชาที่ไร้ความหมาย นักศึกษาธรรมศาสตร์จะเรียกอาจารย์ปรีดีว่าพ่อ อย่าลืมไหว้พ่อนะ เอาพวงมาลัยไปไหว้ อย่าลืมไปจุดธูปบูชา ขอเกรดดีๆ  นั่นไม่ใช่วิทยาศาสตร์ และไม่ใช่อุดมการณ์ของอาจารย์ปรีดี”

ส่วนกรณีที่นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สั่งให้ตรวจสอบเรื่องนี้ ปราบเห็นว่าเป็นหน้าที่ของเขาที่จะต้องออกมาดูแล แต่ต้องดูว่าเป็นการดูแลแบบสนับสนุนคนที่พยายามจะล่าแม่มดหรือไม่ วิธีการที่ดีที่สุดคือผู้บริหารควรจะเผยแพร่เรื่องราวของอาจารย์ปรีดีมากๆ ไม่ควรจะทำหน้าที่เพียงการออกมาปกป้องรูปปั้นเท่านั้น

 

น้องอั้ม นักศึกษาชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่โพสท่าถ่ายรูปกับรูปปั้นปรีดีที่เป็นข่าว

อั้ม เนโกะ สาวประเภทสองซึ่งเป็นผู้โพสท่าโหนรูปปั้นนายปรีดี เป็นผู้หนึ่งที่มาร่วมกิจกรรม ผู้สื่อข่าวจึงถามถึงความรู้สึกต่อกระแสสังคมที่โจมตีอย่างรุนแรง เธอกล่าวว่า การประณามหรือการวิพากษ์วิจารณ์ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะว่าตัวเองยอมรับแล้วว่าต้องมีกระแสที่ไม่ชอบอย่างมาก พร้อมรับการวิจารณ์ แต่สำหรับคนบางกลุ่มที่ต้องการจะคุกคามหรือใช้ความรุนแรงในการจัดการความคิดที่ต่างนั้น ตนมองว่าไม่ต่างอะไรกับช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่พอใจนักศึกษาใช้ข้ออ้างต่างๆนานาเพื่อคุกคามและเข่นฆ่าคนที่คิดต่างจากตน การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสิ่งที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตย

“อาจารย์ปรีดีพยายามทำให้สังคมไทยมีสิทธิเสรีภาพ มีการเคารพซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย และเปิดธรรมศาสตร์ให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งองค์ความรู้เก่า และการคิดแบบใหม่ที่แตกต่างสร้างสรรค์ยิ่งขึ้น แต่ทุกวันนี้การศึกษาไทยไม่ได้สอนให้เด็กเข้าใจการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างบ้างเลย ไม่ได้สอนให้เคารพถึงสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น กลับเป็นการสนับสนุนประชาชนที่เห็นต่างถูกทำร้าย ถูกฆ่า ถูกไล่ออกจากประเทศ ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย ถูกไล่ออกจากสังคมโดยรวมโดยที่ไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้แก่คนที่คิดต่าง เมื่อคุณมีพื้นที่ที่จะเชื่อแล้ว คุณก็ต้องมีพื้นที่ให้กับคนที่ไม่เชื่อได้วิพากษ์วิจารณ์อย่างสันติ อย่างมีเหตุผลซึ่งกันและกัน จึงจะนำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตยที่คณะราษฎร์และอาจารย์ปรีดีได้วางรากฐานเอาไว้”

อั้มยังกล่าวว่าแม้การกระทำของตนจะทำให้หลายคนรู้สึกกระทบกระเทือนใจ แต่ตัวเองไม่ได้มีเจตนาลบหลู่หรือดูหมิ่นอาจารย์ปรีดีแต่อย่างใด สิ่งที่ตนต้องการจะสื่อแก่สังคมนั้นมีอะไรมากกว่าการแสดงออกที่เห็นภายนอก ต้องการให้เห็นว่านักศึกษากับอาจารย์ปรีดีนั้นเปรียบเสมือนเพื่อนใหม่ที่มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน อาจารย์ปรีดีไม่ต้องการให้มนุษย์มีการแบ่งสูงแบ่งต่ำ ในงานรับเพื่อน (การรับน้องของธรรมศาสตร์) รุ่นพี่สั่งให้รุ่นน้องลงไปกราบอาจารย์ปรีดี แต่ตอนไหว้ไม่ได้สอนให้รุ่นน้องตระหนักถึงสิ่งที่อาจารย์ปรีดีต้องการสื่อถึงสังคม หรือจุดยืนทางการเมืองของธรรมศาสตร์ตอนที่ก่อตั้งเลยแม้แต่นิดเดียว รู้เพียงว่าอาจารย์ปรีดีเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ปรีดีต้องการให้ตัวเองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นเทพเจ้าที่ต้องมาบนขอเกรดเอ ขอให้ได้งานทำดีๆ หรือไม่ และเราจะให้ความสำคัญกับสิ่งๆไหนระหว่างลัทธิบูชารูปปั้น หรือการนับถือที่แนวคิดและการกระทำของอาจารย์ปรีดี

 

ภาพกิจกรรม จากดราม่า "น้องอั้ม" ถึง "รูปปั้นอ.ปรีดี"

 

 

นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย พาชมห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ ซึ่งแสดงชีวประวัติและแนวคิดของนายปรีดี ในแต่ละจุดจะมีการสอดแทรกสัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว

 

 

เสาที่สูงเหลื่อมล้ำกันนี้แสดงถึงสภาพสังคมในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีความเหลื่อมล้ำ ภาพส่วนบนของเสาแสดงชีวิตที่หรูหราฟุ่มเฟือยของเจ้านาย ภาพส่วนล่างแสดงความแร้นแค้นของสามัญชน

 

 

แผนการอภิวัฒน์สยามเป็นแผนการที่ลับมาก ผู้ชมต้องโค้งจ้องถ้ำมองเพื่ออ่านแผนการลับหลังภาพพระที่นั่งอนันตสมาคม

 

เสา 6 ต้นแสดงถึงหลัก 6 ประการ หลักการสำคัญของคณะราษฎรในการอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน 2475 เสาทุกต้นมีความสูงเท่ากัน ต่างกับเสาที่สูงเหลื่อมล้ำกันในพื้นที่ที่กล่าวถึงยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 

แผนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นความลับจนทำให้นายปรีดียังต้องโกหกภรรยาว่าไปอยุธยาในช่วงที่เริ่มปฏิบัติการ แต่ได้เขียนจดหมายมาขอโทษที่ตนโกหกในภายหลัง

 

 

 

พื้นที่สีแดง ลวดหนามรายล้อม แสดงมรสุมชีวิตของนายปรีดีที่ถูกกลุ่มอำนาจเก่าและศัตรูทางการเมืองโจมตีอย่างหนักทั้งการกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มเจ้า และกล่าวหาอยู่เบื้องหลังการสวรรคตรัชกาลที่ 8 กระทั่งถูกรัฐประหาร ทำให้นายปรีดีหมดอำนาจ และต้องหนีออกนอกประเทศในภายหลัง ประชาธิปไตยของไทยถูกบิดเบือนความหมายนับแต่นั้นมา

 

ส่วนนี้กล่าวถึงการอสัญกรรมอย่างสงบของนายปรีดีที่กรุงปารีสในปี 2526 โดยไม่มีการส่งพวงหรีดจากรัฐบาลไทยในสมัยนั้น (รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์)

 

ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ปี 2526 นักศึกษาธรรมศาสตร์นำถ้อยคำนี้ไปขึ้นภาพแปรอักษรเพื่อระลึกถึงนายปรีดี

 

ห้องโถงกลางมีจุดเด่นอยู่ที่รูปปั้นนายปรีดี ด้านหลังมีแท่งประติมากรรมแสดงหลักการสำคัญ 5 ประการของแนวคิด “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ที่เกิดจากการตกผลึกความรู้และประสบการณ์ที่สังคมมายาวนานของนายปรีดี ได้แก่ 1.เอกราช 2.อธิปไตย 3.สันติภาพ 4.ความเป็นกลาง 5.ความไพบูลย์และประชาธิปไตย โครงสร้างเสาที่ยังไม่สมบูรณ์เปรียบเช่นแนวคิดของนายปรีดีที่ยังไม่บังเกิดผล ผู้นำชมยังกล่าวว่าความต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่แนวทางใหม่ทำให้นายปรีดีถูกกำจัดกระทั่งไม่สามารถกลับมาเหยียบแผ่นดินแม่ได้ นั่นทำให้รูปปั้นนายปรีดีไม่มีขา

 

หมายเหตุ: ห้องอนุสรณ์สถานปรีดี พนมยงค์ และหอประวัติศาสตร์เกียรติยศแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อยู่ที่อาคารโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เปิดให้เข้าชมในวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-15.30น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net