Skip to main content
sharethis

ลดจากปี 55 ก่อนปรับลดช่วยน้ำท่วมซึ่งตั้งไว้ที่ 2895.60 บาทต่อคน หรือลดลงร้อยละ 4.9 รพ.ร้องสวนทางนโยบายเพิ่มคุณภาพบัตรทองของรัฐบาล

ครม.มีมติเมื่อวันที่ 14 พค. ที่ผ่านมารับร่าง พรบ.งบประมาณปี 56 ในวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยตั้งงบเหมาจ่ายรายหัว สปสช. อยู่ที่ 2,755.60 บาทต่อคน ลดจากปี 55 ก่อนปรับลดช่วยน้ำท่วมซึ่งตั้งไว้ที่ 2895.60 บาทต่อคน หรือลดลงร้อยละ 4.9 และมีการปรับลดหรือตัดงบชดเชยบริการด้านอื่นๆ อีก เช่น งบค่าบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงของโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ได้รับ 410.0 ล้านบาทลดลงจากปี55 ร้อยละ 6.35 และตัดงบควบคุมป้องกันปอดอุดตันเรื้อรังที่ตั้งไว้ 99.5 ล้านบาท งบบริการผู้ติดยาเสพติดที่ตั้งไว้ 195.2 ล้านบาทและงบบริการจิตเวชจำนวน 142.1 ล้านบาท ทั้งสามรายการถูกตัดงบออกหมด

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่า จากเอกสารงบประมาณที่สำนักงบประมาณเตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรที่จะประชุมในระหว่างวันที่ 21-23 พค. นี้งบเหมาจ่ายรายหัว สปสช. ได้รับอนุมัติ 2,755.60 บาทต่อคนเป็นเงินหลังหักเงินเดือนหน่วยบริการของรัฐแล้วเหลือ 100,699 ล้านบาทดูแลประชากรบัตรทอง 48.44 ล้านคน หรือคิดเป็น 2,078.83 บาทต่อคน ขณะที่ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ปี 55 นี้ รัฐบาลตั้งงบกลางไว้ให้ 66,000 ล้านบาท ดูแลข้าราชการและครอบครัวประมาณ6 ล้านคน หรือเฉลี่ยคนละ 11,000 บาท คิดเป็น 5 เท่าของเงินที่รัฐบาลจัดสรรดูแลประชาชนทั่วไปในระบบบัตรทอง เป็นการเพิ่มความ เหลื่อมล้ำแตกต่างในเรื่องสิทธิประโยชน์และการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของประชาชนมากขึ้นและทำให้ระบบบัตรทองเหมือนระบบอนาถาในอดีตสวนทางกับนโยบายรัฐบาลที่สัญญาว่าจะเพิ่มคุณภาพของระบบบัตรทองและสร้างความเท่าเทียมของสามกองทุน

“การปรับลดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว สปสช.ปี 56 ของรัฐบาลนับเป็นครั้งแรกในรอบสิบปีนับแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นต้นมาและเกิดขึ้นพร้อมกับที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบายจะเก็บเงินสามสิบบาทอีกครั้งหนึ่งรวมทั้งสัญญาว่าจะเพิ่มคุณภาพการเข้าถึงบริการของระบบบัตรทองให้เท่าเทียมระบบสวัสดิการข้าราชการ ลดความเหลื่อมล้ำแตกต่างระหว่างสามกองทุนประกันสุขภาพของรัฐ ทำให้เกิดความแคลงใจว่า การที่รัฐบาลลดงบระบบบัตรทองและเพิ่มงบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้มากขึ้น ทำให้เกิดความแตกต่างกันมากกว่าห้าเท่า จะทำให้เกิดความเท่าเทียมของประชาชนในการเข้าถึงคุณภาพบริการได้อย่างไรและการลดงบประมาณเหมาจ่ายขณะที่ภาวะเงินเฟ้อและการขึ้นค่าแรง ค่าครองชีพสูงขึ้น จะกระทบต่อฐานะการเงินของรพ.ในระบบ สปสช. ในปีหน้าอย่างหนัก โดยเฉพาะรพ.ของรัฐขนาดเล็กที่อยู่ตามอำเภอต่างๆ หลายร้อยแห่งส่วนรพ.ขนาดใหญ่ของรัฐและรพ.เอกชนจะหนีไปให้บริการข้าราชการและชาวต่างประเทศตามนโยบาย medical hub ของรัฐบาลมากกว่า ซึ่งตอนนั้นระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคก็จะเป็นระบบอนาถาสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ จะโยนบาปว่าเป็นเรื่องการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพของรพ.ของรัฐหรือของ สปสช.ไม่ได้” ประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าวย้ำ

นพ.อารักษ์  วงศ์วรชาติ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทเปิดเผยว่า ชมรมแพทย์ชนบทเป็นห่วงถึงนโยบายฉุกเฉินไปที่ไหนก็ได้แต่เป็นห่วงว่าแง่ปฏิบัติจริงแล้วรัฐบาลให้ความจริงใจแค่ไหนหรือเป็นเพียงการหาเสียงเพราะมีความพยายามจะจำกัดให้เฉพาะผู้ป่วยฉุกเฉินที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตไปที่ไหนก็ได้เท่านั้น ส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นอื่นๆ อีกจำนวนมากจะไม่ได้รับสิทธิและมีแนวโน้มว่ากระทรวงสาธารณสุขรวมทั้งกรมบัญชีกลางจะยอมขึ้นค่าชดเชยให้เอกชนมากกว่า 10,500 บาทต่อหนึ่งน้ำหนัก DRG ตามแรงบีบของสมาคม รพ.เอกชน รวมทั้งมีประเด็นทางกฎหมายว่าการที่ คณะกก.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติชุดใหม่ มีมติออกประกาศให้ใช้เงินจากกองทุน สปสช.ไปจ่ายชดเชยค่าบริการฉุกเฉินให้กับระบบประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการก่อนเป็นการดำเนินการที่ขัดต่อกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือไม่ เพราะกฎหมายกำหนดให้เงินกองทุน สปสช. ใช้ชดเชยให้ได้เฉพาะผู้ป่วยในระบบ สปสช.เท่านั้น

“รมว.สาธารณสุขควรจะเสนอตั้งงบประมาณจากรัฐบาลเป็นกองทุนฉุกเฉินเพิ่มเติมสำหรับนโยบายนี้โดยเฉพาะและมอบให้ สปสช.เป็น Clearing house ไม่ใช่ให้ใช้เงินจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสำรองจ่ายแทนกองทุนอื่นไปก่อนซึ่งกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้ทำได้” อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบทกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net