Skip to main content
sharethis

ฉีกทิ้งพื้นที่สงวนแร่ ป่าไม้ ลุ่มน้ำ อวยเอกชนเข้าประมูลสำรวจแร่ ตัดขั้นตอนขอประทานบัตรสำรวจแร่ หวังปิดช่องทำอีไอเอผลกระทบสิ่งแวดล้อม เอื้อผลประโยชน์ต่างตอบแทนรัฐเอกชน ไฟเขียวสัมปทานเหมืองไม่ต้องผ่านมติ ครม.

(15 พ.ค.55) นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่ กล่าวแสดงความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... ฉบับใหม่ ซึ่งในวันที่ 16 พ.ค.55 ที่โรงแรมสยามรอยัล ซิตี้ ธนบุรี กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นเป็นครั้งแรก ต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว 

นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจต่อร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.... ฉบับใหม่ อยู่ที่การเข้าไปเอาแร่ในพื้นที่ป่าไม้มาใช้ พร้อมให้ข้อมูลว่า หลังจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในสมัยนาย ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ เป็น รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือขอถอน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยแร่ พ.ศ. .... ออกจาก ครม. โดย ครม. มีมติให้ถอนร่างฯ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.53 เพื่อนำกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่ โดยให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายว่าด้วยแร่ฉบับดังกล่าวมีเนื้อหาที่ขัดรัฐธรรมนูญหลายประเด็นในเรื่องสิทธิชุมชนซึ่งถือว่าเป็นประเด็นโต้แย้งที่สำคัญ อาทิ กำหนดว่าแร่เป็นของรัฐ และมีข้อบกพร่องในเรื่องหลักการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย เป็นต้น 

ต่อมา กพร. ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีอาจารย์อำนาจ วงศ์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ จัดทำโครงการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสมในการพัฒนาและยกร่างกฎหมายว่าด้วยแร่ โดยจัดเวทีระดมความคิดเห็น 3 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ เมื่อต้นปี 2555 ที่ผ่านมา

หลังจากนั้นคณะผู้ศึกษาวิจัยจะดำเนินการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ขึ้นมาใหม่ แล้วจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็น 4 ครั้ง โดยให้ครอบคลุมพื้นที่ 4 ภาค ซึ่งขณะนี้ คณะผู้ศึกษาวิจัยฯ และ กพร.ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. .... ขึ้นมาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างกำลังประสานงานเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเวที ที่จะจัดที่โรงแรมสยามรอยัลซิตี้ ธนบุรีเป็นเวทีแรกที่จะมีขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังการจัดเวทีครบทั้ง 4 ภาค ก็จะนำร่างฯ ที่อาจจะปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือไม่ก็ตามเสนอ ครม.อนุมัติ เพื่อเข้าสภาพิจารณาต่อไป
 
นายเลิศศักดิ์ ระบุว่า ร่างกฎหมายแร่ฉบับใหม่นี้ มีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ ต้องการเข้าไปเอาแร่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ทั้งที่มีกฎหมายเฉพาะหรือไม่เฉพาะในเรื่องห้ามการเข้าใช้ประโยชน์ใดๆ ออกมาให้เอกชนประมูลเพื่อการสำรวจและทำเหมืองแร่ได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม ปรากฏอยู่ในมาตรา 80 - 82 ของร่างฯ นี้ คือ มาตรา 80 เพื่อประโยชน์แก่การบริหารจัดการแร่ด้านเศรษฐกิจของประเทศและการได้มาซึ่งทรัพยากรแร่อันมีค่า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดพื้นที่ใดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้ามหรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้ต้องเป็นพื้นที่ดังต่อไปนี้ (1) มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง (2) มิใช่พื้นที่ตามกฎหมายเฉพาะเรื่องห้ามการเข้าประโยชน์ใดๆ โดยเด็ดขาด รวมถึงพื้นที่ตามกฎหมายว่าด้วยเขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ

“เรื่องสำคัญคือประเด็นในมาตรา 80 ต้องการประกาศกำหนดให้แร่ที่อยู่ในพื้นที่ป่าไม้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอับดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม ซึ่งในมาตรา 80 ร่างฯ ใหม่ ตัดคำว่า “ที่มิใช่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม” ออกไปจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ก็เท่ากับว่า ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใดก็ตามในพื้นที่ป่าไม้ถึงแม้จะเป็นแหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึมก็สามารถนำแร่ที่อยู่ในพื้นที่เหล่านั้้นมาประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวนหวงห้าม ซึ่งในมาตรา 81 หลังจากประกาศเขตแหล่งแร่ตามมาตรา 80 แล้ว ก็จะทำการประกาศให้เอกชนมาประมูลเขตแหล่งแร่ตามมาตรา 80 เพื่อขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ต่อไปได้” นายเลิศศักดิ์ กล่าว
 
ผู้ประสานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะทรัพยากรแร่ กล่าวต่อว่า ไม่เพียงเท่านั้น ในมาตรา 82 มาตรานี้ยังเปิดโอกาสให้เอกชนที่ชนะการประมูลสำรวจและทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ตามมาตรา 80 ไม่ต้องขออนุญาตหรือสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ (อาชญาบัตรและประทานบัตร) ตามกฎหมายแร่ได้อีกด้วย รวมทั้ง หากไม่ต้องขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่แล้ว นั่นก็หมายความว่าไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือตาม 67 วรรคสองด้วย เพราะว่าในมาตรา 81 ได้เปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนทำสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกัน จนเป็นเหตุจูงใจให้รัฐสามารถออกประกาศกระทรวงเพื่อกำหนดให้แร่บางชนิด/ประเภท และการทำเหมืองบางขนาดไม่ต้องขออนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ตามกฎหมายแร่ได้ ขึ้นอยู่กับคนออกประกาศกระทรวงคือรัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการแร่ที่สัดส่วนส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกือบทั้งหมด
 
สุดท้ายในมาตรา 82 ยังทำการลดขั้นตอนในการขออนุญาตสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ได้อีกด้วย เนื่องจากว่าโดยปกติ ตามกฎหมายแร่ 2510 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน การเข้าไปขอสัมปทานแร่ในเขตพื้นที่ป่าไม้ หากติดเงื่อนไขว่าพื้นที่ป่าอยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 เอ หรือบี บางภาค เช่น ภาคเหนือ ก็ห้ามนำพื้นที่ป่าไม้ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำดังกล่าวมาใช้ประโยชน์หรือทำกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่บางภาค ก็สามารถนำมาใช้ประโยชน์หรือทำกิจกรรมใดๆ ได้ แต่ต้องผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เป็นรายๆ ไป ซึ่งจะทำให้มีขั้นตอนและระยะเวลาเพิ่มเติมจากคำขอสัมปทานสำรวจหรือทำเหมืองแร่ปกติ แต่มาตรา 82 นี้ สามารถนำแร่ในพื้นที่ป่าไม้ที่อยู่ในชั้นคุณภาพลุ่มน้ำที่หวงห้ามไว้ออกมาให้สัมปทานได้โดยไม่ต้องผ่านมติ ครม.อีกต่อไป และสามารถเปลี่ยนแปลงมติ ครม.เดิมที่เคยระบุไว้ว่าพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำหวงห้ามบางภาค เช่น ภาคเหนือ ที่มิให้ใช้ประโยชน์หรือทำกิจกรรมใดโดยเด็ดขาด สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการขอสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net