Skip to main content
sharethis

งานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษารัฐบาลสหรัฐชี้ประชาชนเกาหลีเหนือสามารถเข้าถึงวิทยุ โทรทัศน์ และดีวีดีจากต่างประเทศได้มากขึ้น และ "ซีรีย์เกาหลีใต้" ก็เป็นที่นิยม แม้ต้องดูอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ส่งผลให้เริ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ ขณะที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมข่าวสารได้เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยที่สั่งจัดทำโดยรัฐบาลสหรัฐเปิดเผยว่า ประชาชนชาวเกาหลีเหนือ สามารถเข้าถึงสื่อชนิดต่างๆ จากต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อจากเกาหลีใต้และและจีน ด้วยตัวกลางชนิดต่างๆ เช่น ดีวีดี โทรทัศน์และวิทยุ ส่งผลให้เกิดความเข้าใจในหมู่ประชาชนถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอกมากขึ้น 

ตารางจากรายงานวิจัย A Quiet Opening: North Koreans in a Changing Media Environment แสดงแหล่งข้อมูลของสื่อที่ชาวเกาหลีเหนือเข้าถึง โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยและนักเดินทางชาวเกาหลีเหนือในปี 2553 โดยกว่าร้อยละ 79 มาจากการบอกปากต่อปาก รองลงมาคือดีวีดี โทรทัศน์ในประเทศ วิทยุเกาหลีใต้ วิทยุจากต่างประเทศที่ออกอากาศเป็นภาษาเกาหลี

ตารางจากรายงานวิจัย A Quiet Opening: North Koreans in a Changing Media Environment แสดงอุปกรณ์ในการรับข่าวสารของชาวเกาหลีเหนือ โดยชาวเกาหลีเหนือเข้าถึงทีวีกว่าร้อยละ 74 เครื่องเล่นดีวีดีร้อยละ 46 นอกจากนี้มีผู้เข้าถึงคอมพิวเตอร์ร้อยละ 16 โทรศัพท์มือถือร้อยละ 14 เครื่องเล่นเอ็มพี 3 หรือเอ็มพี 4 ร้อยละ 8 ขณะที่ในการสำรวจยังไม่มีผู้เข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต และทีวีดาวเทียม

ตารางจากรายงานวิจัย A Quiet Opening: North Koreans in a Changing Media Environment แสดงปีที่อุปกรณ์รับสื่อชนิดต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในเกาหลีเหนือ โดยในช่วงปีที่เกาหลีเหนือประสบความอดอยากในปี 2540 วิทยุก็เป็นสิ่งที่มีทั่วไปแล้ว และต่อมาโทรทัศน์ก็เป็นสิ่งที่พบได้ทั่วไปในปี 2543 ต่อมาแผ่นดีวีดีและโทรศัพท์มือถือก็พบได้ทั่วไปในปี 2547 คอมพิวเตอร์แลบท็อปพบได้ทั่วไปในปี 2551 ขณะที่หน่วยเก็บความจำขนาดเล็กอย่างยูเอสบี พบได้ทั่วไปในปี 2554

 

รายงานที่ชื่อ A Quiet Opening: North Koreans in a Changing Media Environment ซึ่งจัดทำโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านสื่อ Intermedia โดยการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐ พบว่า ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา การเสพสื่อต่างประเทศในชาวเกาหลีเหนือนั้นมีเพิ่มขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลให้ประชาชนชาวเกาหลีเหนือ เกิดการเปรียบเทียบชีวิตภายในประเทศและภายนอก โดยเฉพาะเกาหลีใต้ และเริ่มทำให้ชาวโสมแดงมองผู้ปกครองตนเองด้วยสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น

รายงานระบุว่า การรับชมดีวีดีจากต่างประเทศเป็นไปเพิ่มสูงขึ้นมากในหมู่ชาวเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะละครจากเกาหลีใต้ ซึ่งถูกลักลอบผ่านมาทางประเทศจีน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดบทลงโทษไว้อย่างรุนแรงก็ตาม

"เมื่อคุณได้รับชมละครเกาหลีใต้ที่ผลิตอย่างดีและบันเทิงใจ มันป็นอะไรที่มีพลังมากทีเดียว มันเป็นภาพที่คุณรู้สึกสนใจมาตลอดชีวิตเพราะว่าคุณได้รับรู้เกี่ยวกับมันมากจากโฆษณาชวนเชื่อในเกาหลีเหนือ" แนต เกรทชัน หนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าว

"ฉันคิดว่าละครเกาหลีใต้ค่อนข้างเหมือนจริงมาก เกาหลีเหนือนั้นโชว์แต่ภาพที่สวยงาม แต่ในละครเกาหลีใต้ มันมีการทะเลาะต่อยตีกัน ซึ่งฉันว่ามันเหมือนความจริง นอกจากนี้มันก็มีความยากจนให้เห็น ต่างจากในเกาหลีเหนือที่เขาแสดงแต่สิ่งที่ดีๆ ให้ดูเท่านั้น มันจึงไม่เหมือนจริงเลย" ผู้ถูกสำรวจหญิงชาวเกาหลีเหนือวัย 26 กล่าว 

 

ชี้โสมแดงรับสื่อต่างชาติทางดีวีดีมากสุด 

รายงานนี้ได้ทำการสำรวจชาวเกาหลีเหนือจำนวน 250 คน โดยการสัมภาษณ์ในระยะเวลาสองปี พบว่า กว่าครึ่งของกลุ่มสำรวจเคยชมดีวีดีจากต่างประเทศ ในขณะที่คนส่วนใหญ่ ใช้วิธีรับรู้ข่าวสารอย่างไม่เป็นทางการด้วยการบอกต่อกันมากที่สุด 

ทั้งนี้ รายงานของฟรีดอมเฮาส์และผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน ระบุว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อน้อยที่สุดในโลก โดยรัฐบาลมีกฎหมายที่กำหนดให้การใช้สื่อทุกชนิดต้องมีการจดทะเบียน และหากพบว่ามีการใช้สื่อที่ไม่มีการจดทะเบียน การเข้าถึงสื่อจากประเทศเกาหลีใต้ การเผยเเพร่ข้อมูลที่กระทบกระเทือนต่อระเบียบสังคม จะต้องถูกลงโทษโดยการถูกส่งไปยังค่ายกักกันแรงงานระหว่างสามเดือนจนถึงสองปีหรือมากกว่า 

นอกจากดีวีดีและวิธีการบอกต่อ การสำรวจพบว่า ยังมีการชมโทรทัศน์จากจีนและเกาหลีใต้จำนวนมากโดยเฉพาะประชาชนที่อยู่บริเวณชายแดนของสองประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ การฟังวิทยุก็เป็นสื่อที่สำคัญเช่นกันในการรับข่าวสารจากโลกภายนอก โดยเฉพาะข่าวสารทันเวลาและอ่อนไหว

ส่วนกลุ่มชนชั้นนำในประเทศ ซึ่งมีอิทธิพลและความสามารถด้านการเงินมากกว่า จะสามารถเข้าถึงข่าวสารได้มากกว่าคนทั่วไป รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เช่นคอมพิวเตอร์ ยูเอสบีไดรฟ์ และโทรศัพท์ผิดกฎหมายจากจีน

 

คนกลัวรัฐน้อยลงในการเสพข้อมูลจากภายนอก

งานวิจัยยังชี้ว่า ถึงแม้ว่าคนเกาหลีเหนือส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถเข้าถึงสื่อจากต่างประเทศได้โดยตรง แต่กลุ่มคนที่สามารถเข้าถึงได้นั้นมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และยังเกรงกลัวในการแชร์ช้อมูลน้อยลงอีกด้วย

การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารภายนอก จะทำให้ชาวเกาหลีเหนือมองรัฐบาลตนเองด้วยสายตาที่แยบคายมากขึ้น รายงานดังกล่าวระบุ

"ในขณะที่แรงกดดันระยะสั้นที่มาจากด้านล่างต่อระบอบอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ประชาชนหลายคนในเกาหลีเหนือ ก็เริ่มที่จะมองโครงสร้างและนโยบายทางการเมืองเบื้องต้นของประเทศตนเองด้วยสายตาที่วิพากษ์วิจารณ์เพิ่มขึ้น"  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net