Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วันที่ ๕ พฤษภาคม ที่ผ่านมานี้ ถือได้ว่าเป็นวันระลึกจิตร ภูมิศักดิ์ ครบรอบ ๔๖ ปี

ในประวัติศาตร์ที่ผ่านมา ต้องถือว่า จิตรเป็นนักคิด นักเขียน ของฝ่ายประชาชนที่มีความโดดเด่นที่สุด เรื่องของจิตรกลายเป็นตำนานเล่าขานของแทบทุกฝ่ายหลายสี และเพลงของจิตรที่สร้างแรงบันดาลใจแก่นักต่อสู้รุ่นหลัง โดยเฉพาะเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ก็ยังเป็นที่ขับร้องกันต่อมา แต่ในที่นี้จะเล่าถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะ ๑ ในนักโทษการเมืองของยุตสมัย และจะสะท้อนให้เห็นว่า ตราบเท่าที่สังคมไทย ยังคงมีนักโทษการเมือง สังคมไทยไม่สามารถที่จะเข้าถึงเสรีภาพและประชาธิปไตยอันแท้จริงได้

จิตร ภูมิศักดิ์ เดิมชื่อ สมจิตร เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๗๓ บิดาเป็นนายตรวจกรมสรรพสามิต ซึ่งต่อมา ใน พ.ศ.๒๔๘๔ ได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดพระตะบอง ซึ่งขณะนั้น เป็นดินแดนที่ไทยได้รับคืนมาจากฝรั่งเศส เด็กชายสมจิตรจึงได้ย้ายไปอยู่พระตะบองด้วย ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขให้จิตรรู้ภาษาเขมรเป็นอย่างดี และในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงครามนี้เอง ที่รณรงค์ให้มีการเปลี่ยนชื่อให้ผู้ชายต้องมีชื่อแบบผู้ชาย สมจิตร จึงต้องเปลี่ยนชื่อเป็น จิตร ภูมิศักดิ์ ต่อมา เมื่อสงครามโลกยุติลง ไทยต้องคืนดินแดนพระตะบอง บิดาของจิตรไปมีครอบครัวใหม่ หลังจากนี้ นางแสงเงิน ผู้มารดา เป็นผู้เดียวที่ทำงาน ทั้งขายของและเย็บผ้าเพื่อนำเงินมาเลี้ยงดูส่งเสีย พี่สาวของจิตร ที่ชื่อ ภิรมย์ และ จิตรเอง จนกระทั่งจบการศึกษา จิตรจึงมีความเห็นใจและผูกพันกับมารดาอย่างมาก

จิตรเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดเบจมบพิตร ต่อมา ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และเข้าเรียนที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๓ ในขณะนั้น ได้มีกระแสการรณรงค์เรื่องสันติภาพ ซึ่งทำให้จิตรตื่นตัวขึ้นแล้วสนใจปัญหาบ้านเมือง กรณีสันติภาพเริ่มจากการที่สหรัฐฯส่งทหารเข้ารุกรานเกาหลี ในข้ออ้างว่าเพื่อป้องกันคอมมิวนิสต์ ในที่สุดเหตุการณ์ในเกาหลีได้ขยายตัวเป็นสงครามระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะเป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ ประเด็นคือ รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นว่า สหรัฐฯเป็นมหามิตร และหวังในความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการทหาร จึงได้ส่งกองทัพไทยไปเข้าร่วมรบสนับสนุสหรัฐฯในสงครามครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ปัญญาชนไทยที่ก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง มีความไม่เห็นพ้องต่อนโยบายเช่นนี้ โดยเสนอว่า รัฐบาลไทยไม่ควรส่งทหารชั้นผู้น้อยไปรบและตายในสงครามที่ไทยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังเสนอให้มหาประเทศแก้ปัญหาเกาหลีด้วยสันติวิธีและสันติภาพ เลิกใช้สงครามเป็นทางออก การรณรงค์ในลักษณะเช่นนี้ รัฐบาลไทยไม่อาจยอมรับได้ ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๕ รัฐบาลจึงจับกุมกลุ่มฝ่ายค้าน และปัญญาชนนับร้อยคนเข้าคุก ด้วยข้อหากบฏ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกในโลก ที่มีการจับกุมผู้เรียกร้องสันติภาพเป็นกบฎ กลุ่มกบฏสันติภาพถูกคุมขังเป็นนักโทษการเมืองราว ๕ ปีก็ถูกปล่อยตัว เพราะได้รับการนิรโทษกรรมในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐

เมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ สนใจปัญหาบ้านเมือง และมึความตื่นตัวเขาได้เสนอแนวคิดที่ก้าวหน้าในหนังสือ ๒๓ ตุลา ซึ่งเป็นหนังสือประจำปีของมหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ แต่กลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมในมหาวิทยาลัยที่มีความคิดคับแคบไม่ยอมรับ จึงจับจิตร ภูมิศักดิ์ โยนบก คือ โยนลงจากเวทีหอประชุม จนจิตรได้รับบาดเจ็บ แต่แทนที่ฝ่ายที่คุกคามจิตรด้วยกำลังอันป่าเถือนเช่นนั้นจะถูกลงโทษ กลายเป็นว่า มหาวิทยาลัยลงโทษจิตรด้วยการพักการศึกษาเป็นเวลา ๒ ปี จิตรต้องออกไปทำงานประกอบอาชีพระยะหนึ่ง แล้วจึงกลับมาเรียนจนจบการศึกษา

ในทางวิชาการ จิตร ภูมิศักดิ์ ให้ความสำคัญแก่การค้นคว้าเพื่ออธิบายปัญหา กรณีหนึ่งที่จิตรเห็นว่าเป็นปัญหาอันร้ายแรง คือ ระบอยศักดินาที่กดขี่และมอมเมาความคิดของประชาชน ให้งมงายและมีความคิดแบบด้านเดียว เขาได้เขียนหนังสือ ชื่อ โฉมหน้าศักดินาไทย พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ เป็นงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นความเป็นมาและลักษณะพิเศษอันไม่เป็นธรรมของระบอบศักดินาในสังคมไทย หนังสือเล่มนี้กลับมาตีพิมพ์ และกลายเป็นหนังสือขายดีหลังกรณี ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖

นอกจากนี้ จิตรยังเขียนงานวิชาการไว้อีกหลายเรื่อง เช่น งานด้านวรรณคดี จิตรเป็นหนึ่งในคนแรกๆ ที่เสนอแนวทางวิพากษ์วรรณคดี ที่ชี้ให้เห็นว่า วรรณคดีเหล่านี้ สะท้อนแต่ชีวิตและความคิดของชนชั้นศักดินา ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน และยังมิเนื้อหาอันมอมเมาเหลวไหล กดขี่สตรี เพราะงานวรรณคดีเหล่านี้ ไม่เคยที่จะพิจารณาสตรีในฐานะมนุษย์ แต่เห็นสตรีเป็นเพียงวัตถุทางเพศ เพื่อบำเรอชายชนชั้นศักดินา จากทัศนะของจิตรที่ชิงชังการกดขี่ทางเพศของชนชั้นศักดินา ทำให้จิตรกลายเป็นนักบุกเบิกรุ่นแรกของขบวนการสตรีนิยมฝ่ายก้าวหน้าในสังคมไทย ที่ก่อกระแสการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีต่อมา

แต่งานวิชาการชิ้นเอกของจิตร คืองานด้านภาษาศาสตร์ เรื่อง ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และ ขอมและลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ซึ่งจิตรค้นคว้ามาเป็นอย่างดี ทั้งที่มีความจำกัดในด้านการค้นหลักฐาน จิตรอธิบายที่มาของตำว่า สยาม ไทย ลาวและ ขอม อย่างละเอียดและรอบด้าน โดยมีเป้าหมายการเสนอเพื่อคัดค้านแนวคิดชาตินิยมคับแคบ ที่ยืนอยู่กับแนวคิดครองความเป็นใหญ่ของเชื้อชาติไทย ซึ่งเป็นแนวทางการรณรงค์ชาตินิยม ในแบบจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ด้วยการเป็นนักคิด นักเขียนอิสระ และเสนอแนวทางในเชิงวิพากษ์สังคม บทบาทของเขาจึงไม่เป็นที่พอใจของกลุ่มชนชั้นนำ ดังนั้น เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ทำการรัฐประหารเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๐๑ จอมพลสฤษดิ์ได้ล้มเลิกประชาธิปไตย ปิดรัฐสภา เลิกรัฐธรรมนูญ แล้วบริหารประเทศแบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ เขาต้องการสร้างประเทศที่มีประชาชนว่านอนสอนง่าย เชื่อฟังและปฏิบัติตามรัฐ โดยไม่มีฝ่ายค้าน ดังนั้น จึงใช้อำนาจคณะปฏิวัติ ทำการจับกุมกลุ่มฝ่ายค้าน พวกสังคมนิยม นักหนังสือพิมพ์ นักคิดนักเขียนอิสระเข้าคุกเป็นจำนวนมาก จิตรเป็นคนหนึ่งที่ถูกจับเข้าคุกในครั้งนี้ด้วย เขาจึงกลายเป็นนักโทษการเมือง ที่คิดคุกโดยไม่มีความผิดอะไรเลย ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ มีนักโทษในลักษณะนี้มากกว่า ๕๐๐ คน ซึ่งส่วนหนึ่งต่อมาก็ถูกฟ้องด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์ แต่หลายคนก็ถูกปล่อยตัว ยุคจอมพลสฤษดิ์จึงเป็นยุคมืดทางปัญญา ยุคแห่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน ยุคแห่งอำนาจบาดใหญ่ของกองทัพ จอมพลสฤษดิ์ถึงแก่กรรมในตำแหน่งเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๖ จากนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร มาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน และใช้นโยบายผ่อนปรน ปล่อยตัวนักโทษการเมือง จิตรจึงถูกปล่อยจากคุกใน พ.ศ.๒๖๐๗ ซึ่งเท่ากับติดคุกโดยปราศจากความผิดถึง ๖ ปี

แม้ว่าจิตรจะได้รับการปล่อยตัว แต่บ้านเมืองยังอยู่ในยุคเผด็จการ ไม่มีประชาธิปไตย จิตรต้องการจะต่อสู้ต่อไป เขาจึงตัดสินใจเดินทางสู่เขตป่าเขาเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ เพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อสู้เพื่อเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยและสังคมนิยม วันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๙ จิตรเสียสละชีวิตที่ชายป่าบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร แม้ว่าเขาจะล่วงลับไปแล้ว แต่ผลงานและการต่อสู้ของเขา ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นหลัง ที่จะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในสังคมต่อไป และตำแหน่งที่เขาถูกยิงเสียชีวิต ในปัจจุบันก็มีการสร้างเป็นอนุสาวรีย์ไว้ เพื่อให้คนรำลึกถึง

ในบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตย และมีความเจริญในทางวัฒนธรรมความคิด เขาย่อมปล่อยให้ประชาชนมีเสรีภาพทางความคิด และจะไม่มีการจับกุมคุมขังประชาชนเป็นนักโทษการเมือง เราจึงพบว่า ประเทศเช่น สวิทเซอร์แลนด์ สวีเด็น ฟินแลนด์ หรือประเทศแทบทั้งหมดในยุโรป จะไม่มีนักโทษการเมืองเลย แต่ในประเทศเผด็จการ ไม่มีประชาธิปไตย เช่นในพม่า และหลายประเทศแทบแอฟริกากลาง จะมีการจับกุมปัญญาชนที่คิดต่างจำนวนมากเป็นนักโทษการเมือง โดยเข้าใจว่า วิธีการคุกคามเช่นนี้ จะรักษาเสถียรภาพทางการเมืองของตนไว้ได้ เป็นที่น่าเสียใจว่า ประเทศไทยนั้นอ้างคนเป็นประเทศประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีการจับคุมคุมขังนักโทษการเมืองเอาไว้จำนวนมาก นี่จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ยุคสมัยเผด็จการที่จิตร ภูมิศักดิ์ เผชิญผ่านมาแล้ว ๔๖ ปี จึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศควรจะเข้าสู่ยุคประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ และยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชน การปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดจึงเป็นขั้นตอนสำคัญ ที่จะทำประเทศไปสู่ความก้าวหน้าเช่นนั้น โดยเฉพาะการปล่อยนักโทษกรณี ๑๑๒ ซึ่งเป็นนักโทษทางความคิดอย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net