สัมภาษณ์ : ‘Jan Krogsgaard’ คนเขียนบทหนังสารคดี Burma VJ “สื่อที่อยู่ในมือเรานั้นมีพลังทำให้เปลี่ยนแปลงได้”

Jan Krogsgaard ผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นคนเดินทางเก็บข้อมูลในพื้นที่มายาวนาน ก่อนจะมาเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์สารคดี Burma VJ จนโด่งดังไปทั่วโลก      

    


 

 

ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง เบอร์ม่า วีเจ’ (Burma VJ) เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับอาชีพนักข่าวในพม่า รวมถึงการปราบปรามกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนพม่าที่ออกมาประท้วงใหญ่เมื่อเดือนกันยายน ปี 2550 ที่ผ่านมา แน่นอน นอกจากภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้จะได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปี 2553 แล้ว เบอร์ม่า วีเจ ยังกวาดรางวัลมาแล้วกว่า 50 รางวัลจากเทศกาลหนังทั่วโลก อาทิ รางวัล World Cinema Documentary Film Editing Award รางวัล Golden Gate Persistence of Vision Award รวมทั้งยังถูกเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลประเภทหนังสารคดีในการประกาศผลรางวัลหนังยุโรป (European Film Academy Documentaire 2009 - Prix Arte) ด้วย

นั่นทำให้ MR.JAN KROGSGAARD ชาวเดนมาร์กคนนี้กลายเป็นผู้โดดเด่นขึ้นมาทันใด เนื่องจากเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง เป็นคนเดินทางเก็บข้อมูลในพื้นที่มายาวนาน ก่อนจะมาเป็นคนเขียนบทภาพยนตร์สารคดี Burma VJ จนโด่งดังไปทั่วโลก                  

ทำไมคุณถึงมาสนใจเรื่องพม่า?

ที่ผ่านมา ผมสนใจเรื่องราวของเอเชียอยู่แล้ว เพียงแต่ช่วงแรกๆ นั้นผมอยากทำเรื่องราวเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม นั่นทำให้ผมตัดสินใจเดินทางออกจากเดนมาร์ก ตั้งแต่ปี 1995 ด้วยประเด็นที่อยากรู้ อยากเข้าไปตรงนั้น แต่ว่าการเดินทางครั้งนั้นของผม ผมเริ่มจากบินมาเมืองไทยก่อน หลังจากนั้น จึงออกเดินทางไปลาว ไปอยู่ที่ลาวก่อน ยอมรับว่าลาวเป็นเมืองที่สวย แต่มันยังไม่มีประเด็นที่จะนำมาเป็นหนังสารคดีได้เลย                  

ระหว่างนั้น ผมก็เทียวไปเทียวมาระหว่างลาวกับไทย ก็ได้เจอผู้คนในในเชียงใหม่ และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกันในเรื่องพม่า แล้วเรื่องพม่าก็เริ่มเข้ามาอยู่ในหัวผมตลอดเลย จากเดิมตั้งใจไปอยู่ ไปดูเวียดนามกับลาว ก็เลยบวกเพิ่มพม่าอีกประเทศหนึ่ง ตอนนั้นจังหวะประจวบเหมาะกับปัญหาในพม่ามันรุนแรงมากขึ้น หลังจากเกิดเหตุการณ์ปี 1988 ปัญหามันก็เยอะขึ้น ผมจึงตัดสินใจไปเที่ยวพม่าสองเดือน พอไปถึงพม่าปุ๊บ ก็ได้เห็นเรื่องราว จากความตั้งใจเดิมคือเรื่องเวียดนามก็กลับมาเป็นเรื่องของพม่า แล้วผมก็มีความฝันว่าทำอย่างไรถึงจะทำเป็นหนังสารคดีให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในพม่าได้

ตอนที่คุณไปพม่าครั้งแรก คุณไปด้วยสายตานักท่องเที่ยวหรือในมุมมองของสื่อ?                              

ผมเดินทางไปพม่า ในปี 2002 ตอนนั้นผมตัดสินใจไปเพราะว่าอยากทำสารคดี อยากจะไปค้นหาข้อมูลเพื่อหาประเด็นมาทำหนังสารคดีก็เลยเริ่มเดินทาง ผมเริ่มไปเยือนเมืองทางตอนเหนือของพม่า พอออกจากเมืองมัณฑะเลย์ ก็จะเข้าที่รัฐฉาน แล้วก็จะมีเมืองที่เป็นทางผ่าน ซึ่งเมืองเหล่านั้นก็จะมีกองกำลังทหารอยู่เต็มไปหมด ผมก็เข้าไปแอบถ่ายวิดีโอ ตอนนั้นก็รู้สึกกลัวเหมือนกันนะ แต่จะซ่อนกล้องเล็กๆ ไป จ้างรถให้ไปส่ง แล้วรถก็พาผมเข้าไปในค่ายทหาร ผมก็ซ่อนกล้องเอาไว้ถ่ายด้วย                                   

เหมือนว่าคนที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่ายังต้องอยู่กับหวาดหวั่น?

ผมก็รู้สึกว่าชาวบ้านนั้นน่าสงสาร รู้สึกหดหู่ใจ แม้แต่ในบรรยากาศก็สัมผัสได้ว่ามันหดหู่ มันเศร้า มันมีบรรยากาศที่ไม่ค่อยดี พอได้ไปเจอและได้สัมผัสความรู้สึกเอง คิดว่าความรู้สึกนั้นมันหนักหน่วงมากสำหรับชาวบ้าน ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าอยากทำสารคดีมากขึ้น

หลังจากนั้นคุณใช้วิธีเก็บข้อมูลอย่างไรบ้าง นอกจากใช้กล้องวีดีโอซ่อนแอบถ่ายแบบนั้น?

ก็เก็บข้อมูลจากการเดินทาง ไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แล้วก็คุยผ่านล่าม หลังจากนั้นผมก็กลับมาสัมภาษณ์นักข่าวและองค์กรต่างๆ ที่แม่สอด ซึ่งผมก็สัมภาษณ์คนหลายๆ คนในแม่สอด อย่างคนแรกที่ผมไปเจอ ก็คือผู้ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี ร่วมกับอองซาน ซูจี ชื่อ วิน แคะ ตอนนี้อายุก็ค่อนข้างเยอะแล้ว รวมไปถึงนายพลของทหารกะเหรี่ยง ผู้ลี้ภัย นอกจากนั้นยังมีอดีตทหารพม่า คนที่เคยเป็นทหารที่อยู่กับกองทัพของพม่าแล้วลี้ภัยเข้าไปอยู่แถวแม่สอด รวมไปถึงกลุ่มรัฐบาลพลัดถิ่น และพูดกับอีกหลายๆ คน

ใช้เวลานานไหมในการเก็บข้อมูลทั้งหมดนี้?

ก็เก็บข้อมูลอยู่แถวแม่สอดประมาณ 3 เดือน พอเก็บข้อมูลได้แล้ว ผมก็คิดว่าจะทำสารคดีสักเรื่องหนึ่ง คือความจริงผมมีเพื่อนร่วมงานอยู่แล้ว แต่พอเก็บข้อมูลมาได้แล้ว ปรากฏว่าคุยกันไม่ลง ว่าจะออกมาในรูปแบบไหน ก็เลยหยุด แล้วผมก็ให้งานให้ข้อมูลเหล่านี้กับเพื่อนไปเลย ส่วนผมก็พักไปสักช่วงหนึ่ง แล้วก็เริ่มกลับมาพัฒนาใหม่จนกลายมาเป็น เบอร์ม่า วีเจ

ตอนแรกคุณตั้งใจทำเป็นรูปแบบสารคดี แล้วทำไมถึงปรับกลายมาเป็นภาพยนตร์สารคดี เบอร์ม่าวีเจ ได้ยังไง?

คือความจริงแล้วก่อนหน้านั้นผมอยากทำรูปแบบสารคดีนะ แต่พอจะลงมือทำจริงๆ ก็เลยอยากจะทดลองพยายามหาวิธีเล่าเรื่องใหม่ๆ เพราะว่าเรารู้มีคนทำสารคดีเกี่ยวกับพม่าเยอะเหมือนกัน ผมก็เลยคิดว่าน่าจะมีกลวิธีใหม่ๆ ในการเล่าเรื่องแบบนี้บ้าง

รวมไปถึงเป็นการง่ายต่อการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อผลิตงานชิ้นนี้ด้วย?           

ใช่ เพราะว่าเวลาเราจะไปหาเงินทุน มันจะมีหัวข้อเรื่องพม่าอยู่แล้ว ทีนี้ส่วนใหญ่เรื่องเล่า วิธีการนำเสนอ วิธีการมันค่อนข้างคล้ายๆ กัน เวลาไปคุยกับโปรดิวเซอร์ ผมก็เลยนำเสนอเรื่องใหม่ แล้วก่อนหน้านั้น การที่ผมเข้าไปคุยกับคนนั้นคนนี้เพื่อหาข้อมูล ก็ได้ไปรู้จักองค์กรสื่อ DVB(สำนักข่าวเสียงประชาธิปไตยแห่งพม่า) จึงหยิบมานำถ่ายทอดเรื่องราวข่าวและสารคดีทุกอย่างผ่านสื่อตรงนี้ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่า เราน่าจะเล่าเรื่องโดยคนพม่าที่อยากจะมาถ่ายทอดเรื่องราวของประเทศพม่า                                                     

พอผมเริ่มรู้แล้วว่า ทิศทางมันจะไปทางไหน ก็เลยไปหาโปรดิวเซอร์  แล้วอยากหาผู้กำกับสักคนหนึ่งเพื่อทำให้เรื่องนี้มันไปได้ต่อ พอรอคำตอบได้แล้ว ก็เริ่มมีเงินเข้ามาในโปรเจ็กต์ ผมก็เลยกลับเข้ามาเชียงใหม่อีกรอบ และก็ได้คุณแซม สิทธิพงษ์ กลยาณี ช่างภาพสารคดี ผู้ร่วมก่อตั้ง "เอเชียทัศน์" "Times New Roman"">มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยโปรดิวเซอร์พื้นที่ หลังจากนั้น จึงเริ่มหาข้อมูลเพื่อจะพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ เบอร์ม่าวีเจ เมื่อปี 2005

คุณมารู้จักกับคุณแซม หรือสิทธิพงษ์ กลยาณี ได้ยังไง?

คือตอนที่ผมไปเชียงใหม่ ตอนนั้นมีโครงการอยู่แล้วว่าอยากทำเรื่องราวเกี่ยวกับพม่า เพราะว่าช่วงนั้นคนที่จะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับพม่ามันมีน้อยมาก ท้ายที่สุดมาก็มาเจอคุณแซม เราเจอกันเมื่อปี 2002 ประมาณ 10 ปีที่แล้ว ก็เลยได้พูดคุยกัน แต่เจอครั้งแรกก็ไม่ได้คุยอะไรกันมาก คุณแซมก็จะให้ดูวีดีโอเก่าๆ ของคนนั้นคนนี้ที่มันเกี่ยวกับพม่า ผมก็เกิดนึกอยากไปถ่ายบ้าง คุณแซมก็เลยให้ยืมขาตั้งกล้องก็บอกว่า เอาไปเลยสามเดือนสี่เดือนก็ไม่เป็นไร ก็เลยรู้สึกว่าเริ่มคุ้นเคยและสนิทกับคุณแซมมากยิ่งขึ้น พอมาตอนหลัง ผมอยากทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องเบอร์ม่าวีเจ ผมก็รู้เลยว่าโปรเจ็กต์นี้จะขาดคุณแซมไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นผู้กว้างขวาง เขารู้จักหลายๆ คนในพื้นที่                                                                    

ใช้เวลาในการทำโปรเจ็กต์นี้นานเท่าไหร่?

ถ้าจะให้เริ่มต้นเบอร์ม่าวีเจ จริงๆ นี่ผมขอย้อนไปตั้งแต่ปี 2002 เลยนะ ที่ไปหาข้อมูลมาแล้วปรากฏว่ามันพลิกล็อกกับเพื่อน พอถึงปลายปี 2004 ก็เริ่มได้คุยกับทีมใหม่ และเริ่มหาเงินกัน เริ่มโครงการจริงๆ ตอนปี 2005 แล้วก็หาข้อมูลอีก 6 สัปดาห์ จากนั้นก็เริ่มวางแผนว่าจะถ่ายทำเมื่อไหร่ แล้วก็ไปเจอผู้กำกับกับตากล้อง ก็เลยไปชวนเขามาเก็บข้อมูลครั้งแรกที่เชียงใหม่ และไปถ่ายทำที่แม่สอด หลังจากนั้นก็กลับมาทำอีกในปี 2008 แล้วก็เอาไปตัดต่ออีก กว่าจะทำอะไรจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก็ประมาณปี 2008 ซึ่งถือว่าใช้เวลานานมาก

หลังจากเบอร์ม่า วีเจออกฉาย ได้มีการพูดถึงมากขึ้น มีกระแสตอบรับในแต่ละประเทศอย่างไรบ้าง?

ถ้าในประเทศพม่า ส่วนใหญ่แล้วเขาไม่ค่อยรู้จักเบอร์ม่า วีเจ กันเท่าไหร่นะ แต่จะรู้จักแค่เฉพาะอองซานซูจี แต่สำหรับคนที่เป็นนักข่าวอาสาสมัครจะมีผลค่อนข้างเยอะมาก เพราะว่าสื่อมันสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายอย่าง และวิธีการทำงานมันค่อนข้างมีการตอบรับที่ดีขึ้น แต่พอเรื่องนี้ออกไปฉายทั่วโลก คนก็ไม่ได้คิดว่าประเทศพม่ามีแค่อองซานซูจีเท่านั้น และคนก็ยังรู้ว่ามันก็ยังมีนักข่าวที่พยายามทำหน้าที่นี้อยู่ คนก็เริ่มรู้จักว่า ยังมีอะไรอีกเยอะที่อยู่ข้างหลังประเทศนี้อีก มีคนดูหนังเรื่องนี้สามสิบกว่าล้านคน ส่วนใหญ่นอกจากไปตามโรงหนัง ก็จะเห็นในทีวีช่อง HBO ด้วย ผมก็ได้ไปเป็นตัวแทนของหนังเรื่องนี้ที่จัดฉายให้กับกลุ่ม ส.ส.ของญี่ปุ่น บางคนดูแล้วก็ถึงกับน้ำตาไหลออกมาเลย

มาถึงตอนนี้ เบอร์ม่า วีเจได้รับกี่รางวัล?   

51 รางวัล ล่าสุดนี่ได้รางวัลของ PUMA เขาก็จะเลือกให้กับหนังหรือว่ากิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมันเกิดผลกระทบของคนในสังคม ซึ่งรางวัลต่างๆ ที่ได้มาเป็นตัวเงินนั้น บริษัทที่ทำหนังก็ได้อยู่แล้วส่วนหนึ่ง ส่วนที่สองก็คือ เรามอบให้กับองค์กรสื่อของดีวีบี ส่วนที่สามก็ให้กับเบอร์ม่า วีเจ หรือนักข่าวในพม่าที่อยู่ในสังกัดเพื่อเป็นทุน เป็นขวัญกำลังใจในการทำงานกันต่อไป

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ มันสะเทือนไปถึงรัฐบาลทหารพม่าบ้างไหม?

ตอนแรกๆ ที่หนังเรื่องนี้เผยแพร่ออกไป เขาก็โกรธอยู่แล้ว แต่ว่าช่วงนั้น ทางรัฐบาลเขาก็จะมีข้อกำหนดที่ว่า ถ้าไปค้นบ้านไหนแล้วเจอดีวีดีเรื่องนี้ครอบครอง หรือว่าคนนั่งดูอยู่ ก็จะโดนจับเข้าไปจำคุกหนึ่งเดือน สองเดือน หนึ่งปีก็แล้วแต่ แล้วมันก็ยังส่งผลต่อนักข่าวที่ทำงานให้กับสำนักข่าวท้องถิ่นในย่างกุ้งด้วย ก็จะถูกจำกัดสิทธิ ถ้ารู้ก็จะโดนเข้าไปอยู่ในคุก

ตอนนี้กระแสของรัฐบาลพม่าเริ่มเปลี่ยนไป คุณมีมุมมองตรงนี้อย่างไร ในขณะที่นักข่าวพม่าหลายคนยังคงถูกจับอยู่?

ตอนนี้นักข่าวที่ถูกจับเข้าคุกได้รับการปล่อยตัวบ้างแล้ว แต่ยังไม่หมด แต่ว่าก็ค่อยๆ ปล่อยมาเรื่อยๆ เดี๋ยวนี้ไม่มีการเซ็นเซอร์แล้ว สถานการณ์มันก็ดีขึ้นนะ อย่างเรื่องสื่อ ล่าสุดปีที่แล้วยังมีการจัดเทศกาลหนังที่พม่าเป็นครั้งแรก แล้วก็ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ หนังอะไรออกมาหรือว่าข่าวอะไรออกมาจะจับเซ็นเซอร์เหมือนเมื่อก่อนหมด แต่อาจจะมีขั้นตอนบ้าง แต่ก็ค่อนข้างดีขึ้นนะ

ในอนาคตถ้าพม่าเปิดประเทศเสรีมากขึ้น โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ นั่นอาจทำให้ทั้งอาเซียน ทั้งตะวันตก กระหายและเตรียมพุ่งเข้าไปมากขึ้น คุณคิดว่ามันจะส่งผลอย่างไรต่อประชาชนพม่า?

คิดว่าทุกคนทุกฝ่ายก็คงอยากจะเข้าไปกอบโกยเอาผลประโยชน์นั่นแหละ แต่จะให้รัฐบาลทหารพม่านั้นกลับไปเป็นเหมือนเดิมอย่างเก่าก็คงค่อนข้างยาก อาจจะค่อยๆ เปลี่ยน แต่ว่าก็สามารถทำได้ ถ้าต้องการ แต่ว่าถ้าทำแล้วก็อาจจะเกิดปัญหา ยกตัวอย่างเช่น หลังจากเหตุการณ์ปี 88 แล้วมีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1991 สุดท้ายรัฐบาลทหารพม่าก็ยังกลับลำได้ ล้มการเลือกตั้งได้ เพราะฉะนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรต่อไป ก็ไม่แน่ใจนะว่าหลังเลือกตั้งเดือนเมษายน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า และผมคิดว่ามันน่าจะส่งผลในช่วงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

คิดว่าในอนาคตข้างหน้าไปจะก้าวไปบนหนทางสันติสุขหรือขัดแย้งมากขึ้น?

ถ้าเราไปประเทศพม่า เราไม่สามารถเดาอะไรได้เลย แต่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่าครั้งนี้ มันอาจไม่ได้เกิดขึ้น หรือส่งผลกับรัฐที่อยู่รอบๆ นอกอย่างกลุ่ม คะฉิ่น กะเหรี่ยง ถ้าเป็นแบบนี้ข้างในมันน่าจะเหมือนดูดีเฉพาะในเมืองย่างกุ้ง ในเนปิดอว์ เท่านั้น แต่เมืองที่อยู่รอบนอก อย่างกลุ่มคนมอญ คนกะเหรี่ยงก็ยังมีปัญหาขัดแย้งกันอยู่ ผมคิดว่าถ้าผมเป็นคนพม่าที่อยู่ในเมืองย่างกุ้ง หรือเมืองมัณฑเลย์ ผมคิดว่าผมก็คงไม่มั่นใจว่าจะเกิดอะไรขึ้น รัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงจริงหรือ                            

คุณคิดว่าประชาชนชาวพม่าจะมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไหม?

อาจจะค่อยๆ ดีขึ้น และผมคิดว่าน่าจะมีเงินไหลเข้าไปในพม่ามากขึ้น อย่างตอนนี้ก็จะมีรัฐบาลหลายๆ ประเทศ อยากจะสนับสนุนองค์กรต่างๆ แต่ว่าต้องเป็นอยู่ประเทศพม่าไม่ใช่เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องอยู่ฝั่งไทย แต่ว่าส่วนใหญ่ที่เขาให้ก็จะมุ่งไปที่การศึกษาความเป็นอยู่เบื้องต้น

หลังจากทำเบอร์ม่าวีเจ สำเร็จแล้ว คุณอยากทำอะไรเกี่ยวกับพม่าอีกหรือไม่?

ยังไม่รู้เลย แต่ก็อยากกลับเข้าไปพม่าอีกรอบ แล้วเที่ยวให้รอบพม่า ผมคิดว่ามันน่าจะมีอะไรอีกเยอะ

คุณอยากสื่อไปยังเบอร์ม่าวีเจ หรือนักข่าวชาวบ้านในฝั่งพม่าอย่างไรบ้าง? 

ผมเชื่อว่าสื่อที่เรามีอยู่ในมือนั้นมีพลังที่เปลี่ยนอะไรก็ได้ ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นเหมือนบทพิสูจน์ว่าเกมอำนาจของรัฐบาลทหารเหมือนกันว่าจะทำยังไงต่อไป เพราะตอนนี้เรามีเครดิตอยู่ในมืออยู่แล้ว จะทำยังไงให้มันเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แล้วก็เกิดการเปลี่ยนแปลงของพม่า แน่นอนว่า ถ้าไม่มีนักข่าวเหล่านี้จะเป็นไปไม่ได้เลย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท