“เราคืออากง” และ “กรรมการสิทธิฯ ก็คืออากง”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เป็นเรื่อง “ช็อก” วงการสิทธิมนุษยชนโลกไปแล้ว เมื่อคุณหมอนิรันดร์กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถูกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นำทีมพนักงาน พร้อมชาวบ้านกว่า 100 คน บุกโรงพักแจ้ง “ข้อหาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์” เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยข้อกล่าวหานั้นมีว่า

 
color:blue">“หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ โดยไม่ให้การเคารพน้อมนำพระราชดำริพระราชกระแส และพระราชเสาวนีย์ โดยมีการมีมติยกเลิกโครงการปลูกพืชอาหารช้างเพื่อเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของช้าง...” (ดู ASTV ผู้จัดการออนไลน์)
 
เห็นได้ชัดว่า โดยนิยามคำว่า “หมิ่นสถาบัน” ที่ตีความกันไปได้อย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต หรือ “ครอบจักรวาล” และใครๆ ก็แจ้งความเอาผิดตามมาตรา 112 ได้นั้น ทำให้ใครก็ตามในประเทศนี้อาจกลายเป็น “อากง” คนต่อๆ ไปได้ทั้งนั้น แม้แต่กรรมการสิทธิฯเอง
 
ข้อโต้แย้งที่ว่า “กฎหมายมันอยู่เฉยๆ ถ้าคนไม่ทำผิด ก็ไม่ต้องเดือดร้อน” นั้น เป็นข้อโต้แย้งที่ “เลื่อนลอย” อย่างยิ่ง
 
ถามว่าในกรณีถ้าคุณหมอนิรันดร์ต้องเสียเวลา ค่าใช้จ่าย ในการเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา หรือกระทั่งเสียเงินเสียทองขึ้นโรงขึ้นศาล แม้ผลสุดท้ายศาลอาจตัดสินว่า “ไม่ผิด” มันมีความหมายเท่ากับเขา “ไม่เดือดร้อน” หรือ เท่ากับสิทธิมนุษยชนของเขาไม่ได้ถูกละเมิดไปแล้วหรือ? การที่กฎหมายเปิดช่องให้ถูกนำมาใช้ได้ในลักษณะนี้เท่ากับกฎหมายโดยตัวมันเองไม่มีปัญหาอะไรเลยจริงๆ หรือ?
 
บางคนอาจโต้แย้งอีกว่า “นั่นมันเป็นปัญหาของการใช้กฎหมาย ไม่ใช่ปัญหาของตัวกฎหมาย” ถ้าอย่างนั้นขอให้ดูตัวอย่างของจริงเลยก็ได้คือ กรณีคำพิพากษา “คดีอากง SMS” ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.3111/2554 คดีหมายเลขแดงที่ อ.4726/2554
 
 
color:blue">ศาลพิพากษาว่า “จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๒), (๓) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี กับความผิดฐานนำเข้าสู่ข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ และความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุกกระทงละห้าปี รวมสี่กระทง เป็นจำคุกยี่สิบปี”
 
คำพิพากษาดังกล่าถูกตั้งคำถามใน 2-3 ประเด็นสำคัญเป็นอย่างน้อย คือ
 
1. ไม่ได้อ้างอิงประจักษ์พยานว่า “อากงเป็นผู้ส่งข้อความ 4 ข้อความจริง” แต่เพียง “อาศัยเหตุผลจากพยานพฤติเหตุแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบเป็นเครื่องชี้วัดให้เห็นถึงการกระทำและเจตนาซึ่งอยู่ภายใน...” จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่า การพิพากษาคดีอาญาที่มีโทษจำคุกสูงมากถึง 20 ปี โดย “ไม่มีประจักษ์พยานเป็นเหตุให้สิ้นสงสัย” ว่า จำเลยเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดจริงนั้น เป็นคำพิพากษาที่ยุติธรรมหรือไม่
 
2. การอ้าง “เหตุผลวิบัติ” (fallacy) กล่าวคือ คำพิพากษาอ้างว่า “...ซึ่งข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรชาวไทย...”
 
จะเห็นว่า ข้อสรุปที่ว่า“ข้อความดังกล่าวล้วนไม่เป็นความจริง”ไม่ได้มาจากการนำสืบ หรือแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์จนประจักษ์ชัดว่า ข้อความดังกล่าวนั้น “ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง” อย่างไร แต่เป็นข้อสรุปที่มาจากข้ออ้างที่ว่า “เพราะข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั้งประเทศว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทั้งสองพระองค์ ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า และทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรชาวไทย...” ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เกี่ยวกับการพิสูจน์ “เนื้อหา” ของข้อความที่อ้างว่าจำเลยเป็นผู้ส่งแต่อย่างใด
 
การอ้างเหตุผลดังกล่าวจึง “ไม่สมเหตุสมผล” (invalid) หรือเป็น “เหตุผลวิบัติ” เนื่องจากข้ออ้างกับข้อสรุปไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน หรือ “เป็นคนละเรื่องกัน” เพราะแม้ข้อความที่ศาลอ้างจะเป็นจริง แต่มันก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่า “ข้อความ 4 ข้อความ” นั้นเป็นเท็จ การพิสูจน์ว่าข้อความ 4 ข้อความเป็นเท็จ ต้องพิสูจน์จากการให้แสดงพยานหลักฐานทุกอย่างที่ข้อความนั้นระบุถึง
 
เหมือนเรากล่าวว่า “ข้อความว่าอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชนเป็นเท็จ เพราะอภิสิทธิ์เป็นคนดี” จะเห็นว่าข้ออ้าง “เพราะอภิสิทธิ์เป็นคนดี” ไม่ได้มีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลกับข้อสรุปว่า “ข้อความว่าอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชนเป็นเท็จ” เนื่องจากการจะพิสูจน์ได้ว่าข้อความนี้จริงหรือไม่ ต้องให้นำพยานหลักฐานมายืนยัน ไม่ใช่อ้าง “ความเป็นคนดี” ของผู้ถูกกล่าวหามายืนยันหักล้าง
 
3. กรณีที่ 1 สะท้อนปัญหาของ “มาตรฐานความยุติธรรม” เรื่องการยึดการพิสูจน์ประจักษ์พยานจนเป็นเหตุให้สิ้นสงสัยในการตัดสินคดีอาญาตามมาตรา 112 กรณีที่ 2 สะท้อนปัญหาความไม่สมเหตุสมผลในการตัดสินคดีอาญาตามมาตรา 112 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่กฎหมายมาตรานี้ไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงพยานหลักฐานว่า ข้อความของตน (ที่ถูกตัดสินว่าเป็นเท็จ) นั้นเป็น “ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ” หรือไม่
 
4. การที่มาตรา 112 ไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงพยานหลักฐานว่า ข้อความของตน (ที่ถูกตัดสินว่าเป็นเท็จ) นั้นเป็น “ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ” หรือไม่ สะท้อนปัญหาของ “ตัวกฎหมาย” โดยตรงว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรม คือถ้าเป็นกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาจำเลยย่อมได้รับสิทธิเสรีภาพในเรื่องดังกล่าว
 
การไม่ให้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวย่อมเป็นการ “ลดทอนความเป็นมนุษย์” มากอยู่แล้ว เพราะเท่ากับไม่ให้จำเลยมีเสรีภาพที่จะ “พูดความจริง” เพื่อปกป้อง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของตนเอง ทว่าการไม่ให้ประกันตัวในกรณีของอากงทั้งที่ยืนประกันตัวถึง 8 ครั้ง โดยอ้างปัญหาความชราและอาการป่วยด้วยโรคร้ายแรงนั้น ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า อย่าว่าแต่ร้องขอ “ความยุติธรรม” แล้วจะไม่ได้รับเลย แม้แต่ร้องขอ “ชีวิต” ระบบยุติธรรมไทยที่ยืนยัน “ความยุติธรรมภายใต้มาตรา 112” ก็ไม่อาจให้ได้
 
ฉะนั้น ในประเทศนี้ “เราคืออากง” ใครๆ ก็อาจมีชะตากรรมแบบอากงได้ แม้แต่ “คุณตั๊ก บงกช” เองก็อาจอาจตกเป็นอากงคนต่อไปได้ถ้ามีใครไปแจ้งความว่า ที่คุณพูดว่า “...ครอบครัวของพ่อฉัน” นั้น เป็นการแสดงตนเป็นคนในครอบครัวของพ่อหรือ “ตีตนเสมอเจ้า” หรือไม่
 
และเวลานี้แม้แต่กรรมการสิทธิฯ เองก็ตกเป็น “เหยื่อ 112” หรือเป็น “อากง” รายล่าสุด เกิดอะไรขึ้นกับสังคมนี้ เมื่อกรรมการสิทธิฯก็ปกป้องตนเองจากการใช้มาตรา 112 ไม่ได้ ที่กรรมการสิทธิ์ไม่มี “ท่าทีที่ชัดเจน” เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 จนกระทั่ง “นิ่งเฉย” กับกรณี “อากงตายในคุก” ก็เป็นเรื่องน่าอัปยศอดสูในบทบาทการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนในชาติมากเหลือเกินแล้ว
 
หากกรรมการสิทธิฯชุดนี้ ยังขาด “จิตวิญญาณปกป้องสิทธิมนุษยชน” ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะยอมรับปัญหาของมาตรา 112 อย่างตรงไปตรงมา และออกมาสนับสนุนให้มีการแก้ไข ก็ “ควรลาออกทั้งคณะ” ได้แล้ว เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมนี้มี “ลมหายใจแห่งสิทธิความเป็นมนุษย์” ได้บ้าง!
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท