Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปรีดี พนมยงค์ เกิดเมื่อ 11 พฤษภาคม 2443 และตายไปเมื่อ 2 พฤษภาคม 2526 ปัจจุบันชื่อเสียงของท่านเป็นที่รับรู้ในการเมืองและสังคมไทยหลากหลายมิติ แน่นอนว่า ท่านกลายเป็นบุคคลสำคัญของโลกโดยยูเนสโก บางคนรู้จักในฐานะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นสมาชิกคณะราษฎร (อ่านว่า คะ-นะ-ราด-สะ-ดอน) เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก เป็นเลขาธิการรัฐสภาคนแรก เป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศนี้จึงไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7 และเป็นผู้พยายามก่อรัฐประหารไปสู่ประชาธิปไตยแต่ล้มเหลว และท้ายที่สุดได้รับการยกย่องให้เป็นรัฐบุรุษอาวุโสของประเทศนี้

ผมจึงตั้งคำถามเพื่อนำเสนอประเด็นต่อไปนี้ ให้สังคมได้ร่วมกันพิจารณา ในโอกาสเฉลิมฉลองวันคล้ายวันเกิดปีที่ 112 ของ ปรีดี พนมยงค์ วันศุกร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2555

ประเด็นแรก โดยทั่วไป เมื่อมีการกล่าวยกย่องบุคคล ในสังคมไทยมักอ้างถึงบรรดาตำแหน่งหน้าที่การงานในระบบราชการ ซึ่งมีลำดับชั้นความสำเร็จขึ้นอยู่กับอำนาจ วาสนา และบารมี ดังนั้น ข้าพเจ้าขอยกย่อง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนักปรัชญาทางการเมืองที่เสนอแนวคิดเรื่อง สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism) เพราะไม่ว่าแนวความคิดนี้จะมีสถานะเช่นไรในปัจจุบัน มันก็ไม่ได้ถูกนำมาขยายผลมากไปกว่าหน้ากระดาษหนังสือในห้องสมุด

บางตอนจากคำสัมภาษณ์ที่ ปรีดี พนมยงค์ ตอบนายแอนโทนี่ พอล ผู้สื่อข่าวเอเชียวีค ประจำกรุงปารีส เกี่ยวกับปรัชญาทางการเมืองของท่านว่า “ข้าพเจ้าจะตอบคำถามของท่านจากจุดยืนของผู้รักชาติ ตามหลักห้าประการของสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย กล่าวคือ, เอกราชของชาติ อธิปไตยของชาติ สันติภาพ ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ของประชาชนพร้อมด้วยประชาธิปไตยของประชาชน” (จาก “Pridi Through a looking glass” ใน Asiaweek. 28 Dec.1979 – 4 Jan. 1980, อ่านเพิ่มเติมได้จาก http://www.pridi-phoonsuk.org/wp-content/uploads/2010/01/111.pdf)

ประเด็นที่สอง จากประสบการณ์ของผมที่ทั้งศึกษาและทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอาเข้าจริงความเป็น “ปรีดี พนมยงค์” ดูเหมือนจะได้รับการกล่าวถึงมากมายมหาศาล ปรากฏอยู่ตามบรรดาอาคารสถานที่ และส่วนจัดแสดงนิทรรศการเพื่ออวดอ้างเกียรติประวัติของมหาวิทยาลัยที่เขาเป็นผู้ให้กำเนิด ด้วยความสัตย์จริงแล้ว ผมรู้จัก ปรีดี พนมยงค์ เป็นครั้งแรกในฐานะชื่อของ “ลานคอนกรีตหน้าตึกโดมริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ซึ่งเป็นสถานที่นัดพบระหว่างรุ่นพี่กับเพื่อนใหม่ และหลังจากนั้นชื่อของ  ปรีดี พนมยงค์ ในความรับรู้ของผมจึงค่อยๆ เข้าสู่ความคุ้นชินในฐานะอะไรต่อมิอะไรมากมายมหาศาลภายในกรอบรั้วธรรมศาสตร์

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยจะกำหนดให้มีการจัดงานวันปรีดี พนมยงค์ 11 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งจะเป็นวาระที่บรรดาผู้คนในสังคมที่ยังนับถือและระลึกถึงท่าน มีโอกาสมาวางพานพุ่มเพื่อสักการะอนุสาวรีย์ของท่านที่ “ลานคอนกรีตหน้าตึกโดมริมแม่น้ำเจ้าพระยา” ผมเองมาร่วมงานนี้ทุกปี ตั้งแต่เดินทางจากบ้านนอกเข้ามาชุบตัวในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2544

สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากที่สุดในปีนี้ คือ บทบาทของผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ที่ต้องคอยยกย่อง ปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ประศาสน์การ เห็นได้จากครั้งนี้ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งถึงกับกล่าวในที่ประชุมกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยว่า “งานปรีดีนี้ถือเป็นงานรูทีน (Routine) ช่วยกันทำๆ ไปก็แล้วกัน”

ประเด็นสุดท้าย ผมขอบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรทางประวัติศาสตร์เอาไว้ว่า เมื่อผมติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่ในประเทศนี้ (เมษายน พ.ศ.2555) เพื่อขอเชิญตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในพิธีเปิด วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ในฐานะที่เป็นสถาบันไม่กี่แห่งในประเทศนี้ที่มีชื่อของปรีดี พนมยงค์ เป็นสัญลักษณ์ นอกจากสถาบันและมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ แล้ว

คำรับปากของผู้ใหญ่ที่ผมติดต่อไปนั้น ให้ความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรี ทราบเรื่องและรับปากแล้ว ทำให้ผู้ประสานงานการจัดงานในพิธีดังกล่าวต้องปะทะกับต้นสังกัดและผู้บริหารบางคนที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเชิญนายกรัฐมนตรีท่านนี้มาเป็นประธาน และเกิดคำถามประเภทว่า “ทำไมเชิญแค่ระดับนายกรัฐมนตรี ในเมื่อท่านปรีดี พนมยงค์ เคยเป็นถึงผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ...”

ผมฟังแล้วก็อึ้งไปเลย ตกลงประเทศนี้มีการปกครองระบอบอะไรกันหรือ ในเมื่อสิ่งที่ ปรีดี พนมยงค์ กล่าวเสมอว่า ระบอบการปกครองที่ท่านหมายถึงคือ “ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันท่อนท้ายไม่ได้มีความหมายอีกต่อไป ในเมื่อตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลประชาธิปไตยที่ปรีดี พนมยงค์ เคยเป็นนั้น ถูกผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการศึกษาเข้าใจว่า “เล็กกว่า” ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ท้ายที่สุด ก่อนวันงาน 1 วัน ก็มีคำตอบจากหน้าห้องนายกรัฐมนตรีว่า “นายกรัฐมนตรีจะไม่มาร่วมงาน เพราะติดภารกิจอื่น” ส่วนตัวผมเองก็ไม่ประหลาดใจ เพราะมีใครหลายท่านทำนายไว้แล้วว่า “ในบรรยากาศของความปรองดองเช่นนี้ การมาร่วมงานพิธีเกี่ยวกับ ปรีดี พนมยงค์ อาจไม่ก่อให้เกิดผลดีกับตัวนายกรัฐมนตรี” 

ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่ได้มีเจตนาที่จะกล่าวถึงตัวบุคคล แต่กรณีนี้ทำให้ผมเห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ปรีดี พนมยงค์ ตายไปแล้วอย่างสมบูรณ์จากการเมืองและสังคมไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net