สรุป 19 ปีไฟไหม้เคเดอร์ ยังไม่มีอะไรดีขึ้น คนงานยังไม่ได้รับการดูแล-ชดเชยโรคจากการทำงาน

(10 พ.ค.55) ในโอกาสครบ 19 ปีไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 ซึ่งมีการกำหนดให้วันที่ 10 พ.ค.ของทุกปีเป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเจ็บป่วยของคนงานในแต่ละพื้นที่ว่า ปัจจุบัน ในระยอง ชลบุรี ส่วนมากเป็นอันตรายจากการทำงาน หรือเสียชีวิตจากอุตสาหกรรมหนัก โดยมีผู้นำแรงงานช่วยเจรจาต่อรองให้คนงานได้สิทธินอกเหนือจาก พ.ร.บ.เงินทดแทน 2537 ซึ่งเป็นกฎหมายขั้นต่ำและเก่าแก่17-18 ปีแล้ว หากเจรจาไม่ได้ ก็จะใช้วิธีฟ้องศาล ซึ่งขณะนี้มีหลายคดี 

ขณะที่ในนครปฐม คนงานจำนวนมากเป็นโรคฝุ่นฝ้าย ฝุ่นจากใยสงเคราะห์ โรคซิลิโคสิส (โรคปอดฝุ่นหินทราย) จากเซรามิก โดยคนงานไม่ได้รับการส่งต่อไปคลินิกโรคจากการทำงาน และส่วนใหญ่ไปใช้สิทธิประกันสังคม ทำให้ถูกวินิจฉัยว่าไม่ได้เป็นโรคจากการทำงาน ทำให้คนงานเสียสิทธิ ส่วนที่อยุธยา อ่างทอง โรคสูงสุดที่เป็นคือโรคเกี่ยวกับโครงสร้างกระดูก กระดูกทับเส้น
 

กองทุนเงินทดแทน มาจากการสมทบของนายจ้าง เพื่อคุ้มครองการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน ขณะที่กองทุน ประกันสังคม มาจากการสมทบ 3 ฝ่ายได้แก่ รัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง เพื่อคุ้มครองการประสบอันตรายไม่เนื่องจากการทำงาน โดยลูกจ้างสามารถใช้สิทธิได้ตามความจริงเพียงกองทุนใดกองทุนหนึ่งเท่านั้น   (อ้างอิง: เว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม)

สมบุญ ยกตัวอย่างกรณีหนึ่งในโคราชว่า คนงานผ่าตัดไปแล้ว 4 ครั้งโดยใช้สิทธิประกันสังคม เมื่อทราบว่า สามารถขอสิทธิจากกองทุนเงินทดแทนได้ จึงอยากใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน แต่เจ้าหน้าที่กองทุนเงินทดแทนกลับบอกว่าถ้าจะใช้สิทธิตรงนี้ ต้องเอาค่าผ่าตัดมาคืนกองทุนประกันสังคม ซึ่งสมบุญมองว่า ทำเช่นนี้ไม่ถูก เพราะกองทุนทั้งสองอยู่ในกรมกองเดียวกันน่าจะถ่ายเทกันได้ ทั้งนี้ หากคนงานไม่ได้สิทธิกองทุนเงินทดแทนจะทำให้ไม่ได้ค่าสูญเสียอวัยวะ 10 ปี ซึ่งคนงานส่วนใหญ่ขาดความรู้ กรณีแบบนี้นายจ้างจะไม่ปฏิบัติ เธอก็ไม่ว่าอะไร แต่หน่วยงานของรัฐน่าจะเฉลียวใจและคุ้มครองคนมากกว่านี้ 

สมบุญกล่าวถึงปัญหาการกรอกเอกสารยื่นต่อคณะกรรมการแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า นายจ้างมักนำเอกสารไปเขียนแทน โดยที่ลูกจ้างก็ไม่ทราบรายละเอียดว่าต้องเขียนอย่างไร ก็เซ็นชื่อยอมรับไป สุดท้าย คณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทนวินิจฉัยว่าไม่ใช่โรคจากการทำงาน ซึ่งเมื่อคนงานนำเรื่องกลับมาร้องต่อสภาเครือข่ายฯ พบว่าปัญหาเกิดจากการกรอกข้อเท็จจริงที่ต้องการรายละเอียดตั้งแต่กระบวนการผลิต สารเคมีที่ใช้ 

สำหรับข้อเสนอ สมบุญ กล่าวว่า ได้คุยกับเลขาธิการกองทุนประสังคมว่าน่าจะมีหลักสูตรให้คนงานเข้าถึงสิทธิ ให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่ประกันสังคมฝ่ายกองทุนเงินทดแทนในพื้นที่ทุกคน เพราะเจ้าหน้าที่ยังไม่มีความรู้ ไม่สามารถสอบประวัติคนไข้ได้ และไม่เคยมีประสบการณ์ในการเข้าในไปโรงงานเลย เพราะฉะนั้น 19 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีอะไรดีขึ้น กองทุนฯ เอาเงินไปให้กระทรวงสาธารณสุข ปีละ1-2 แสนบาท ซึ่งส่วนตัวมองว่า นโยบายการเมืองน่าจะลงมาทีเดียวเลย มีงบประมาณ มีสาขาอาชีวเวชศาสตร์ลงมาอย่างจริงจัง โดยหวังว่า เมื่อมีสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จะผลิตคน ผลิตพยาบาล สร้างมาตรฐาน มีศูนย์รับรื่องราวร้องทุกข์ แก้ปัญหาต้นเหตุ ทำงานวิจัยเชิงลึกได้

"ในปัจจุบัน แพทย์ที่เชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ถึง 30 คน แถมกระจุกตัวในกรุงเทพฯ อีก 75 จังหวัดไม่มีเลย ตรงนี้เป็นปัญหาว่า ถ้าคนงานได้รับการส่งไปคลินิกโรคจากการทำงาน ที่ประจำในเขตนั้น แล้วแพทย์ไม่รู้ วินิจฉัยว่าไม่เนื่อง[จากการทำงาน] เท่ากับคนงานถูกตัดสิทธิ" สมบุญกล่าวและว่า จริงๆ แล้ว คนงานอาจยื่นเรื่องเข้ากองทุนเงินทดแทน เพื่อให้คณะกรรมการแพทย์วินิจฉัยได้ แต่คนงานไม่รู้ พอรู้ว่าไม่เนื่องจากการทำงาน ก็ไม่ได้ยื่นเรื่องต่อ

ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 ระบุว่า กระทรวงแรงงานต้องตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ภายใน 1 ปีคือวันที่ 14 ก.ค.นี้ สมบุญกล่าวว่า ตอนนี้ไม่มั่นใจว่าจะเกิดสถาบันได้ทัน โดยก่อนหน้านี้ ได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งเป็นวิทยากรบนเวทีเสวนาที่อ้อมน้อย บอกกับเธอว่าไม่ทัน ซึ่งเธอตั้งคำถามว่า ทำไมจึงติดปัญหามากมาย ต้องส่งเวียนแต่ละกระทรวง ทั้งที่ข้อเรียกร้องเหล่านี้เกิดจากการที่คนงานและภาคประชาชนจัดเวทีและเรียกร้องกันมา 19 ปี  น่าจะยอมรับได้แล้ว แต่ก็น่าเสียใจที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เข้ามาเซ็นผ่านร่างของราชการไปแล้ว ทั้งที่ผู้ใช้แรงงานมีความหวังกับรัฐบาลชุดนี้

นอกจากปัญหาเรื่องการรักษาและชดเชยแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบสถานประกอบการด้วย โดยสมบุญกล่าวว่า คนที่มาทำงานกระทรวงแรงงาน ส่วนใหญ่มาจากกระทรวงมหาดไทย จบกฎหมาย จบปริญญาตรี ไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่สามารถตรวจสอบโรงงานได้ อีกทั้งตำแหน่งประจำในกระทรวงแรงงานยังไม่เพียงพอ มองว่าควรเพิ่มตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ด้านอาชีวอนามัยและแพทย์ พยาบาล โดยชี้ว่าที่ผ่านมา โรงงาน 107,000 โรง ปีหนึ่งกลับตรวจได้เพียง 1,000 โรง โดยที่เหลือ เป็นการตรวจโดยให้กรอกแบบฟอร์มส่งมาเท่านั้น ซึ่งไม่ปลอดภัย
 

10 พ.ค.2536 เกิดเหตุการณ์โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม ไฟไหม้และตึกถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย จากนั้นจึงมีการผลักดันให้วันที่ 10 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ โดยมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 ส.ค.40 เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความสำคัญในเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน และมีการผลักดันจนเกิด พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท