Skip to main content
sharethis

คำถามสั้นๆถึง “คนดี”ในระบอบตุลาการทั้งหลาย จะต้องให้มีคนตายในนาม “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ"- อันมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก - อีกกี่ศพ จึงจะเลิกเฉไฉ/ บิดเบือนและหันมายึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างที่มักอ้างกันเสียที?!!

ตั้งแต่วันที่อากงถูกตัดสินด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) จนกระทั่งวันที่จากลาโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ บรรดาชนชั้นนำในระบอบตุลาการ -- หรือมนุษย์ที่ใครพากันเรียกว่าเป็น “คนดี” – ยังพากันเฉไฉ/ บิดเบือนข้อเท็จจริงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เริ่มจากการที่โฆษกศาลยุติธรรมเขียนบทความในนสพ.ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2554 พาดหัวว่า "อากงปลงไม่ตก: เปิดคำเฉลย!ที่มาแห่งคดี"[i] โดยมีใจความว่าในการตัดสินคดีอากงนั้น ศาลไทยเคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามที่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศระบุไว้ โดยเฉพาะกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง (ICPR) ข้อ 19 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งโฆษกศาลฯกล่าวอย่างถูกต้องว่าขอบเขตในการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวตามที่กำหนดใน ICCPR ต้องไม่ก้าวล้ำชื่อเสียงของบุคคล หรือกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือศีลธรรมอันดี

แต่สิ่งที่โฆษกศาลฯพูดไม่หมดคือ แม้ ICCPRจะให้ความคุ้มครองชื่อเสียงของบุคคล แต่กระนั้นมีข้อยกเว้น 2 ประการคือ 1. บุคคลสาธารณะย่อมต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และ 2. ต้องมีการละเว้นโทษหากพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นเป็นจริง หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หากใครได้อ่านคำพิพากษาจะทราบว่าในการตัดสินของศาล ไม่มีแม้แต่การแยกแยะลักษณะของข้อความ SMSทั้ง 4 ข้อความที่อากงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ส่ง ซ้ำยังเหมารวมและอาศัยเพียงความเชื่อและความคิดเห็นของผู้พิพากษาว่าทั้ง 4 ข้อความนั้นเป็นเท็จโดยไม่มีการพิสูจน์แต่ประการใด ตามที่ระบุว่า "ข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ทรงห่วงใยประชาชนทุกหมู่เหล่า ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อปวงชนชาวไทย"  

นอกจากนั้นในการอ้างเหตุความมั่นคงของชาติ สิ่งที่โฆษกศาลฯไม่ได้พูดคือผู้ตรวจการพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเคยกล่าวไว้ชัดเจนว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยถูกตีความกว้างเกินไป และโทษ (ที่โฆษกศาลฯกล่าวเสมือนว่ากระทงละ 5 ปีที่อากงได้รับนั้น ศาลมีความปรานีแล้ว) มีความรุนแรงและไม่ได้สัดส่วนกับการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์หรือความมั่นคงของชาติ[ii] ในขณะที่หลักโจฮานเนสเบิร์กว่าด้วยความมั่นคงของชาติ สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการเข้าถึงข้อมูล (The Johannesburg Principles on National Security, Freedom of Expression and Access to Information) ยังระบุว่า “[การที่รัฐจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน] จำเป็นต้องพิจารณาจากเจตนารมณ์และผลลัพธ์ของการนำกฎหมายนั้นมาบังคับใช้ว่าเป็นไปเพื่อปกป้องความอยู่รอดของชาติหรือไม่ แต่จะไม่เข้าข่ายเมื่อนำมาใช้โดยไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ เช่น เพื่อปกป้องรัฐบาลจากความอับอายขายหน้า หรือเปิดโปงการกระทำผิด หรือปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของสถาบันทางสังคมต่างๆ หรือปลูกฝังอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ เป็นต้น” [iii] การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์หรือบุคคลในสถาบันฯจึงไม่ได้ส่งผลให้ประเทศชาติต้องล่มสลายแต่อย่างใด อีกทั้งกฎหมายหมิ่นฯต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังอุดมการณ์ของรัฐ  

ส่วนเรื่องศีลธรรมอันดีนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ให้ข้อคิดเห็นเพื่อเป็นบรรทัดฐานสำหรับการตีความไว้ว่า ศีลธรรมถูกกำหนดโดยหลักปรัชญาและวัฒนธรรม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอคือภายในสังคมนั้นๆย่อมมีวัฒนธรรมและหลักเกณฑ์คุณค่าที่แตกต่างหลากหลาย[iv] ไม่เพียงโฆษกศาลฯจะไม่ได้เน้นย้ำตามนี้แล้ว กลับยังอ้าง"ความเป็นไทย"เพื่อกีดกันความแตกต่างในสังคมเสมือนเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ต้องกำจัดให้สิ้นซากโดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมใดๆ  

นอกจากนั้นโฆษกศาลยังลืมไปว่าเจตจำนงของหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศต้องสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย -- ประชาธิปไตยที่ไม่ต้องมีลักษณะเฉพาะใดๆพ่วงท้าย  

ท้ายสุด ถึงแม้โฆษกศาลยุติธรรมจะกล่าวว่าอากงได้รับสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด แต่สิ่งที่โฆษกศาลยุติธรรมพูดไม่หมดคือสำหรับคดีอากง ภาระในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์กลับตกอยู่ที่จำเลย ซึ่งถือเป็นการละเมิด ICCPR ข้อ 14 ว่าด้วยสิทธิอันชอบด้วยกฎหมาย (due process rights) อย่างร้ายแรง ในขณะที่สิทธิดังกล่าวตามอนุสัญญาแห่งทวีปอเมริกาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (American Convention on Human Rights)ถือเป็นสิทธิที่รัฐไม่สามารถลิดรอนได้แม้ในภาวะฉุกเฉิน

อากง – เหยื่อ112ของประเทศประชาธิปไตยแบบไทยๆ -- จึงต้องดิ้นรนหาหนทางต่อสู้เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้ตนเองต่อไปก่อนเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555หลังเกิดอาการปวดท้องและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลราชทัณฑ์ การเสียชีวิตอย่างกะทันหันของอากงจุดกระแสการประท้วงกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างกว้างขวาง เป็นเหตุให้ล่าสุดอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาต้องออกมาชี้แจงต่อสาธารณชนประหนึ่งว่าการเสียชีวิตของอากงไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง โดยระบุว่า “จำเลยได้ยื่นประกันตัวชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอาญาจึงส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง แต่ระหว่างการพิจารณาชั้นอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยได้ขอถอนอุทธรณ์ประมาณเดือนมีนาคม 2555 โดยตนทราบจากข่าวว่า จำเลยโดยทนายความประสงค์จะใช้สิทธิ์ยื่นถวายฎีกา...”[v]

สิ่งที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากล่าวมานั้นเป็นความจริง แต่เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะความจริงอีกครึ่งคืออากงยืนยันในความบริสุทธิ์ของตนเองมาโดยตลอด ทีมทนายของอากงได้ยื่นเรื่องขอประกันตัวเพื่อขอให้อากงได้ออกมาสู้คดีและรักษาอาการเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งได้อย่างเต็มที่ แต่กลับถูกศาลปฏิเสธมาโดยตลอดเช่นกันรวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดศาลให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี และเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว เห็นว่า เป็นเรื่องร้ายแรงประกอบกับศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยถึง ๒๐ ปี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ส่วนที่จำเลยอ้างความป่วยเจ็บนั้นเห็นว่า จำเลยมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพยาบาลโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวชอบแล้ว ยกคำร้อง"[vi]  

กลุ่มแพทย์ที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ชันสูตรพลิกศพยืนยันว่าอากงเสียชีวิตตามธรรมชาติจากอาการป่วยด้วยโรคมะเร็งตับ แต่จากการตรวจพบก้อนมะเร็งในศพซึ่งยาวกว่า 7 เซนติเมตร หมายความว่าเนื้อร้ายได้ก่อตัวมาแล้วกว่า 6 เดือนและอยู่ในขั้นลุกลาม การดูแลรักษาของเรือนจำด้วยการให้ยาแก้ท้องอืดหลังจากที่อากงมีอาการปวดท้องครั้งแล้วครั้งเล่าย่อมไม่เพียงพอและเหมาะสม อีกทั้งตามสภาพศพไม่มีร่องรอยของการช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อยื้อยุดชีวิตของอากงเอาไว้แต่อย่างใด   คำถามสั้นๆถึง “คนดี”ในระบอบตุลาการทั้งหลาย จะต้องให้มีคนตายในนาม “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ"- อันมีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนใครในโลก - อีกกี่ศพ จึงจะเลิกเฉไฉ/ บิดเบือนและหันมายึดมั่นในหลักนิติธรรมอย่างที่มักอ้างกันเสียที?!!


[i]“อากงปลงไม่ตก'เปิดคำเฉลย!ที่มาแห่งคดีโดยโฆษกศาล” กรุงเทพธุรกิจ 14 ธันวาคม 2554

[ii]“UN rights official urges lese majeste law reform”เดอะเนชั่น11 ตุลาคม 2554  http://www.nationmultimedia.com/new/politics/UN-rights-official-urges-lese-majeste-law-reform-30167320.html  

[iii] ดู The Johannesburg Principles on National Security, Freedom of Expression and Access to Information, Freedom of Expression and Acess to Information, U.N. Doc. E/CN.4/1996/39 (1996) (Principle 6 : Expression that may threaten national security).  

[iv] ดูข้อ 32 ใน General Comment No. 34 , Human Rights Committee, One hundread and second session, Geneva, 11 – 29 July 2011 http://www2.ohchr.org/english/bodies/hrc/docs/gc34.pdf  

[v] “อากงถวายฎีกา ถอนอุทธรณ์ ไม่อาจยื่นประกัน” ไทยรัฐ 10 พฤษภาคม 2555 http://www.thairath.co.th/content/pol/259012  

[vi] “ศาลฎีกาไม่ให้ประกันอากง” ประชาไท 16 มีนาคม 2555 http://www.prachatai3.info/journal/2012/03/39683

  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net