Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเสียชีวิตของอากง มันหนักหนาเหลือเกิน และยากที่ผมจะทำใจได้ – นี่คือข้อความที่ผมลงในเฟซบุ๊คส่วนตัวหนึ่งวันหลังจากที่ทราบข่าวว่าอากงได้สิ้นชีวิตแล้ว สิ้นชีวิตเยี่ยงนักโทษที่ต้องถูกกักขังด้วยความผิดที่ตัวเองไม่ได้ก่อ ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องหันมามองปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ไปในทางที่ผิด ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมามองระบบยุติธรรมของไทยที่ยังคงรับใช้ระบบเจ้าขุนมูลนาย และถึงเวลาแล้วที่เราไม่อาจเพิกเฉยต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน คนไทยทุกคนควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่ากัน แต่ที่ผ่านมา คนจนและไร้ฐานันดรกลับถูกปฏิบัติเยี่ยงสัตว์เดรัจฉาน ถึงเวลาแล้วที่เราต้องแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ผมเคยมองว่า การประนีประนอมและการเปิดช่องทางของการสื่อสารกับผู้ใหญ่ในสังคมนี้ยังเป็นไปได้ แต่คดีแล้วคดีเล่า โดยเฉพาะคดีที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ช่องทางการเจรจาไม่เคยเปิด ผู้มีอำนาจปฏิเสธที่จะค้นหาความเป็นจริงบนพื้นฐานของการยึดมั่นในหลักยุติธรรม แต่กลับใช้อำนาจตัวเองที่มีอยู่ในการปกป้องเชิดชูสถาบันกษัตริย์อย่างหลับหูหลับตา และละเลยความรับผิดชอบในการปกป้องสถาบันประชาชน เราเดินมาถึงทางตัน ทางตันที่บอกกับเราว่า ต่อไปนี้ การเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากสังคมคงไม่สามารถทำได้แค่เพียงลมปาก แต่เราต้องส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในเชิงรูปธรรม จนกว่าสังคมจะได้รับความยุติธรรมคืน ผมจะไม่ปล่อยให้อากงเสียชีวิตโดยเปล่าประโยชน์

ดังนั้น ผมมีความเห็นว่า การยกเลิกกฏหมายมาตรา 112 เท่านั้น (ไม่ใช่เพียงแค่แก้ไขดังที่ผมเคยเสนอก่อนหน้านี้) ที่จะเป็นทางออกเดียวของการสร้างความยุติธรรมและความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงของสังคม การยกเลิกกฏหมายนี้จะเป็นช่องทางเดียวที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิแสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองอย่างตรงไปตรงมาโดยไม่หวาดเกรงต่ออิทธิพลใดๆ นอกจากนี้ จะยังเป็นทางออกเดียวที่คนไทยทุกคนจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ไม่มีใครมีความเป็นเดรัจฉานหรือความมีอารยะมากหรือน้อยไปกว่ากัน ประเทศนี้ไม่ได้ปกครองด้วยระบบเจ้า เราไม่ได้อยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ถ้าหากกลุ่มที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์มีความรักและความเคารพต่อสถาบันจริงดังที่มักกล่าวอ้างเช่นนั้น กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดจากกรณีการเสียชีวิตของอากง และกรณีนักโทษการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เอง พวกเค้าต้องเข้าใจว่า การกักขังอากง คนแก่ที่มีโรคประจำตัวโดยไม่ได้รับอนุญาติให้ประกันตัว เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ นี่ยังไม่รวมถึงการลงโทษอากงเป็นเวลาถึง 20 ปีจากความผิดที่อากงไม่ได้ก่อ การลงโทษที่โหดเหี้ยมเช่นนี้ เป็นการสร้างกำแพงกั้นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับกลุ่มที่มองเห็นว่าความยุติธรรมกำลังสลายสูญหายไป นำไปสู่ความคิดและความรู้สึกรักและเคารพในสถาบันต้องลดน้อยลง นำไปสู่การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของสถาบันกษัตริย์ โดยเปลี่ยนแปลงจากสถาบันที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาและการให้อภัย ไปสู่การเป็นสถาบันที่เป็นสัญลักษณ์ของความเกลียดชัง การลงโทษ และการโดดเดี่ยวผู้ที่มีความเชื่อต่างจากไปตัวเอง

การเสียชีวิตของอากงได้รับความสนใจอย่างมากจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ขณะที่สื่อมวลชนกระแสหลักของไทยส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะเสนอข่าวนี้ การเสนอข่าวของสื่อต่างประเทศมักพุ่งไปที่สองสามประเด็นหลัก ได้แก่ ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมของไทย ปัญหาที่เกิดจากการใช้มาตรา 112 ไปในทางที่ผิด และประเด็นเกี่ยวกับสถานะของสถาบันกษัตริย์ในยุคปัจจุบัน ที่กล่าวมาทั้งหมด ไม่มีประเด็นใดเลยที่จะส่งผลดีต่อสถาบันในสายตาต่างประเทศ การยืนกรานไม่อนุญาตให้อากงได้รับการประกันตัว จนในที่สุดต้องจบชีวิตลงด้วยวิธีที่น่าเวทนาเช่นนี้ ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ตกต่ำลงอย่างมาก ไทยไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวในประชาคมโลก การโต้แย้งว่าความเห็นหรือมุมมองของต่างชาตินั้นไม่มีความสำคัญจึงเป็นข้อโต้แย้งที่ไม่เป็นความจริง ยิ่งเกิดกรณีการจับกุมผู้ต้องหามากขึ้นโดยใช้มาตรา 112 ยิ่งทำให้สถาบันตกอยู่ในกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เพราะในที่สุดแล้ว ตามหลักปฏิบัติสากล คงไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการปกป้องสิทธิพื้นฐานของความเป็นคน ความโหดร้ายของผู้พิพากษาที่ออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์โดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม ถือเป็นรอยด่างในกระบวนการยุติธรรมของไทย

ผมยังไม่รู้จะคิดหรือเริ่มโครงการอะไรต่อไปที่จะเป็นแรงผลักดันให้นักโทษทางการเมืองได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมมากขึ้น แต่หวังว่า อากงคงจะเป็นเหยื่อรายสุดท้ายของความป่าเถื่อนที่ได้รับจากสังคมนี้ ผมแทบไม่อยากจะเชื่อว่า ยังมีเพื่อนร่วมชาติอีกมากที่สะใจต่อการเสียชีวิตของอากง นักแสดงบางคนออกมาเสนอหน้าด่าประจานอากงว่าสมควรตายและไปใช้โทษต่อในนรก ผมก็เพียงแต่ถามตัวเองว่า สังคมไทยเป็นสังคมพุทธไม่ใช่หรือ ไม่มีการอโหสิกรรมให้กันหรือ แต่ความจริงก็ปรากฏให้เห็นว่า เราอยู่กับความหลอกลวงมาตลอด ทั้งหลอกตัวเองและหลอกเพื่อนร่วมชาติ เรายังจะพอใจที่ตกอยู่ในสภาพนี้อีกหรือ

ในที่สุด ผมเห็นว่า มาตรา 112 ต้องได้รับการยกเลิกในที่สุด การเสียชีวิตของอากงจะจุดประกายให้คนรักประชาธิปไตยและความยุติธรรมอีกมากออกมาค้นหาความถูกต้องในสังคมไทย หากกลุ่มรักเจ้าและคลั่งเจ้าต้องการให้เพื่อนร่วมชาติหันมาให้ความรักและความเคารพต่อพระมหากษัตริย์ วิธีที่พวกเขาทำอยู่นั้น เป็นวิธีที่ผิด พวกเขาต่างหากที่กำลังผลักดันสังคมให้ออกห่างจากสถาบันกษัตริย์มากยิ่งขึ้น

ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์
มหาวิทยาลัยเกียวโต
10 พฤษภาคม 2555

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net