Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การควบคุมการเผยแพร่ความรู้เป็นสิ่งที่อำนาจให้ความสนใจมาช้านาน หลังการปฏิวัติการพิมพ์ในสังคมศักดินายุโรปส่วนใหญ่การจะตีพิมพ์สิ่งใดในรัฐหนึ่งๆ ก็จะต้องผ่านการอนุมัติจากทางราชสำนักก่อนเสมอ ราชสำนักที่ครองอำนาจอยู่จะต้องควบคุมความรู้ (หรือให้ตรงกว่านั้นก็คือความคิดที่อันตราย) ให้ได้ มิเช่นนั้นก็ไม่สามารถรักษาอำนาจไว้ได้แต่นอนว่าถึงที่สุดราชสำนักยุโรปก็ไม่สามารถทัดทานการเผยแพร่ความคิดใหม่ๆ จากสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยมและสภาวะสมัยใหม่ได้และก็ต้องผ่านการปฏิวัติและปฏิรูปกันไป นี่ทำให้สิ่งพิมพ์เป็นอิสระจากราชสำนักแต่มาตกอยู่ใต้การกำกับของทุนนิยมแทน นี่คือยุคที่ราวกับว่าจะมีเสรีภาพในการเผยแพร่ความรู้ที่เรารู้จักกันในศตวรรษที่ 19 และ 20

แต่ความรู้ที่เผยแพร่ได้อย่างเป็นเสรีในยุคนี้แท้จริงแล้วมันก็ไม่ได้เป็นอะไรไปมากกว่าการที่ผู้คนจะสามารถตีพิมพ์อะไรก็ได้ออกมาในท้องตลาดโดยไม่ละเมิดผู้อื่น กล่าวคือเพดานของเสรีภาพของความรู้คือเสรีภาพในการไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น เราจะเห็นได้กว่าเงื่อนไขของเสรีภาพในการเผยแพร่ความรู้ในปัจจุบันถูกผูกติดกับแนวคิดการผูกขาดการเผยแพร่ความรู้ที่เรียกว่า “ลิขสิทธิ์” อันเป็นสิทธิของเจ้าของความรู้ในการจัดการผู้ละเมิดการผูกขาดความรู้และมันก็ดำรงอยู่ได้อย่างราบรื่นตราบที่ไม่มีผู้ใดลุกขึ้นมาท้าทายมัน

เสรีภาพในทางพิมพ์ดำรงอยู่ในระบบทุนนิยมคู่กับอุตสาหกรรมการพิมพ์อย่างค่อนข้างราบรื่นในศตวรรษที่ 20 เพราะมันเอื้อหนุนกันและกัน กล่าวคือตราบที่ทุนนิยมยังขูดรีดและหากำไรจากการใช้เสรีภาพของผู้คนได้ทุนนิยมก็จะไม่มีปัญหาอะไรกับเสรีภาพเหล่านั้น อย่างไรก็ดีในศตวรรษที่ 21 ในยุคอินเตอร์เน็ตที่สิ่งพิมพ์สามารถถูกเผยแพร่ได้ด้วยต้นทุนต่ำในแบบดิจิตัล ทุนนิยมก็เริ่มจะไม่สามารถหาผลกำไรจากการใช้เสรีภาพในการเผยแพร่ความรู้อย่างไร้ขีดจำกัดของผู้คนอีกต่อไป และปัญหาจึงบังเกิด

นักอ่านหลายๆ คงเคยได้ยินชื่อเว็บไซต์ www.gigapedia.com หรือที่รู้จักกันในนาม Gigapedia มาบ้างและหลายๆ คนก็คงเคยเข้าไปแวะเวียนในเว็บไซต์นี้มาบ้าง ก่อนที่มันจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น library.nu และปิดตัวลงไปในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2012 ที่ผ่านมาในที่สุด ถ้าจะกล่าวแนะนำอย่างสั้นๆ แล้ว เว็บไซต์นี้น่าจะเป็นห้องสมุดออนไลน์ที่คนสามารถดาวน์โหลดหนังสืดได้โดยเสรีที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้นมา หรือให้ตรงกว่านั้นมันก็คือแหล่งรวมลิงค์โหลดหนังสือที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา (เพราะทางเว็บไซต์ไม่ได้โฮสต์หนังสือแม้แต่เล่มเดียว) งานส่วนใหญ่ที่เว็บไซต์นำเสนอลิงค์จะเป็นหนังสือวิชาการจากโลกภาษาอังกฤษจากสารพัดสาขาวิชา แต่ลิงค์หนังสือประเภทอื่นๆ ก็ปรากฏในเว็บไซต์เช่นกัน อาทิ วรรณกรรมคลาสสิก นวนิยายร่วมสมัย หนังสือชีวประวัติ หนังสือคู่มือต่างๆ ไปจนถึงนิตยสารปลุกใจเสือป่า และสิ่งที่น่าทึ่งของเว็บไซต์ก็คือปริมาณลิงก์หนังสือที่ทางเว็บไซต์นำเสนออันมีมหาศาลมาก แทบจะเรียกได้ว่านักอ่านแทบทุกคนที่เข้าไปท้าทายความหลากหลายของหนังสือในเว็ปไซต์นี้ด้วยการไปค้นหนังสือแปลกๆ ดูว่าจะเจอหรือไม่ก็มักจะไปจบกับการติดพันนั่งโหลดหนังสือจากทางเว็บไซต์เป็นเวลาหลายชั่วโมง ก่อนที่จะไปแนะนำเพื่อนนักอ่านคนอื่นๆ ให้เข้าไปใช้เว็บไซต์นี้อีกทอดหนึ่ง

ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า Gigapedia ได้ปรากฏขึ้นในโลกออนไลน์เมื่อใด แต่มันก็น่าจะปรากฏมาอย่างต่ำๆ ตั้งแต่ราวๆ กลางปี 2009 แล้ว [1] ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นที่อยู่มาเป็น ebooksclub.org และมาจบลงที่ library.nu ไม่มีการประเมินชัดเจนว่าในช่วงเวลาที่ทางเว็บปิดตัวลงทางเว็บมีลิงค์ไปสู่หนังสือทั้งหมดที่เล่ม แต่เบื้องต้นแล้วก็มีรายงานมาว่าทางเว็บน่าจะมีหนังสืออยู่ทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 400,000 เล่ม

การที่เว็บปิดตัวลงไปเฉยๆ ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์สร้างความประหลาดใจให้กับนักโหลดหนังสือบรรดาขาประจำของเว็บจากทั่วโลกมาก เท่าที่ผู้เขียนได้ยินก็มีความเชื่อต่างๆ นาๆ ว่าทางเว็บน่าจะถูกปิดโดยสหรัฐและการปิดนี้ก็น่าจะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย SOPA และ PIPA ที่ผ่านสภาคองเกรสมา [2] ข้อเท็จจริงคือ ทางเว็บได้ปิดตัวลงไปเอง ภายหลังจากที่ทางเจ้าของเว็บไซต์ที่อยู่ในไอร์แลนด์ได้รับหมายฟ้องจากทางศาลเยอรมัน

การฟ้องเป็นผลผลิตของการสืบสวนกว่า 7 เดือนโดยสำนักพิมพ์ 17 สำนักพิมพ์ทั้งฝั่งยุโรปและอเมริการ่วมกันฟ้อง Library.nu และเว็บฝากไฟล์ ifile.it (โปรดอ่านต่อไป) โดยการฟ้องเกิดขึ้นในเยอรมันผ่านสำนักกฎหมายในเยอรมัน [3] กระบวนการสืบสวนกินเวลานานมากเพราะในตอนแรกทางฝั่งสำนักพิมพ์ได้พยายามหาที่ตั้งของเว็บ Library.nu แต่ในที่สุดก็พบว่าเว็บนี้ได้รับการโฮสต์ในยูเครน แต่ชื่อเว็บกลับได้รับการจดทะเบียนบนเกาะเล็กๆ ในแปซิฟิกนามว่าเกาะนูเว (Niue) การสืบสวนหาเจ้าของเว็บ Library.nu ยังไม่จบลงง่ายๆ แบบนี้ เพราะทางฝั่งสำนักพิมพ์ได้เห็นว่าหนังสือทุกเล่มใน library.nu นั้นได้รับการโฮสต์ที่เว็บ ifile.it [4] และจากการสืบสวนเบื้องต้นก็พบว่า ifile.it เป็นเว็บที่โฮสต์ในไอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศเดียวกับที่ทางสำนักพิมพ์ได้สืบมาว่าเป็นต้นสังกัดของ library.nu ทางสำนักพิมพ์จึงได้ว่าจ้างนักสืบอิสระในไอร์แลนด์ให้ทำการสืบสวนต่อทันทีถึงเจ้าของเว็บ ทางนักสืบในไอร์แลน์ก็สืบสวนไปจนได้รายชื่อของเจ้าของเว็บ ifile.it มาและพบว่าที่อยู่ของทั้ง library.nu และ ifile.it ล้วนอยู่ใกล้ๆ กันในเมืองกาลเวย์ อย่างไรก็ดี นักสืบก็ยังไม่สามารถหาความเชื่อมโยงกันของ library.nu และ ifile.it ที่จะใช้เป็นหลักฐานได้

จุดสิ้นสุดของการสืบสวนอยู่ตรงทางฝ่ายสำนักพิมพ์พบว่าการจ่ายเงินบริจาคให้กับเว็บไซต์ library.nu ทาง Paypal จะมีใบเสร็จระบุชื่อผู้รับเงินมาด้วย และก็ปรากฏว่าผู้รับเงินการบริจาคของ library.nu เป็นคนเดียวกับเจ้าของและผู้อำนวยการของ ifile.it นี่ทำให้หลักฐานในการฟ้องครบถ้วนและสำนักพิมพ์ทั้งหมด 17 สำนักพิมพ์ก็ร่วมกันฟ้องเจ้าของเว็บ library.nu และ ifile.it พร้อมๆ กันในการละเมิดลิขสิทธิ์หนังสือของสำนักพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์หนึ่งก็ฟ้องการละเมิดหนังสือของตน 10 เล่ม ซึ่งโทษของการมีลิงค์ที่นำไปสู่ไฟล์หนังสือละเมิดลิขสิทธิ์หนึ่งเล่มนั้นก็เป็นค่าปรับจำนวน 250,000 ยูโรและโทษจำคุก 6 เดือน ต่อ 1 เล่ม [5] ทำให้ยอดค่าปรับรวมสำหรับการละเมิดทั้งหมดสูงกว่า 170 ล้านยูโร และเมื่อหมายศาลจากเยอรมันส่งไปถึงไอร์แลนด์ ตำนานของห้องสมุดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดก็ปิดฉากลงด้วยน้ำมือของเจ้าของห้องสมุดแห่งนี้เอง ...และก็แทบไม่มีใครได้ยินอะไรจาก Library.nu อีก [6]

มีการกล่าวว่าผู้ที่เดือดร้อนจากการปิดตัวของ Library.nu จากทั่วโลกในระดับที่กล่าวว่าคนเหล่านี้คือ “99 เปอร์เซ็น” [7] (แน่นอนว่าเป็นการกล่าวเพื่อล้อกับขบวนการ Occupy) คนเหล่านี้คือบรรดาชนชั้นกลางในโลกที่รักการเรียนรู้และไม่มีเงินมากนัก พวกเขาอาจเป็นตั้งแต่นักวิชาการโลกที่สามไปจนถึงนักศึกษาและผู้ต้องการพัฒนาความรู้ของตนเองในโลกที่หนึ่ง อย่างไรก็ดีไม่ว่าพวกเขาจะไม่พอใจแค่ไหนพวกเขาก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก อย่างน้อยๆ ที่สุดกระแส “อคาเดมิคสปริง” ที่นักวิชาการพร้อมใจกันต่อต้านการขูดรีดของพวกสำนักพิมพ์ก็ดูจะไม่ได้เชื่อมโยงกับบรรดาผู้ไม่พอใจในการปิด Library.nu มากนัก แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหมือนปฐมบทของสงครามลิขสิทธิ์ล่าสุดของโลกหนังสือที่คงจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ในยุคที่ทั้ง e-books และ e-readers ต่างๆ เริ่มเข้ามาแทนที่หนังสือเล่มแบบดั้งเดิม

 

อ้างอิง:

  1. ดู http://vikas-gupta.in/2009/08/10/gigapedia-the-greatest-largest-and-the-best-website-for-downloading-free-e-books/
  2. ซึ่งจริงๆ กฎหมายทั้งสองฉบับก็ยังไม่ผ่านสภาแต่อย่างใด และก็ถูกแขวนการพิจารณาไว้อย่างไม่มีกำหนดทั้งคู่
  3. รายชื่อสำนักพิมพ์ที่ร่วมกันฟ้อง (ในข่าวบอกว่า 17 สำนักพิมพ์ แต่ผู้เขียนนับรายชื่อได้เพียง 16)
    ได้แก่
    1. Cengage Learning
    2. Elsevier
    3. HarperCollins
    4. John Wiley & Sons
    5. The McGraw-Hill Companies
    6. Oxford University Press
    7. Pearson Education Inc.
    8. Cambridge University Press
    9. Georg Thieme
    10. Hogrefe
    11. Macmillan
    12. Pearson Education Ltd
    13. Springer
    14. Taylor & Francis
    15. C.H. Beck
    16. De Gruyter.

    ผู้สนันสนุนการฟ้องก็ได้แก่

    1. the Nederlands Uitgeversverbond NUV
    2. Associazione Italiana Editori
    3. the International Association of Scientific Technical and Medical Publishers (STM)

    ผู้ประสานงานการฟ้องได้แก่

    1. Börsenverein des Deutschen Buchhandels
    2. 2. the International Publishers Association

    ส่วนสำนักกฎหมายที่รับทำคดีมีนามว่า Lausen Rechtsanwälte ข้อมูลทั้งหมดจาก http://www.publishers.org/press/59/

  4. จริงๆ หนังสือใน library.nu ก็ได้รับการฝากไฟล์ไว้ในเว็บฝากไฟล์ชื่อดังอย่าง Mediafire, Megaupload และเว็บอื่นๆ ด้วย แต่เว็บเพียงเว็บเดียวที่หนังสือทุกเล่มต้องได้รับการฝากไว้คือ ifile.it
  5. ดู http://www.huffingtonpost.com/2012/02/15/librarynu-book-downloading-injunction_n_1280383.html
  6. ณ ปัจจุบันทางเว็บเพียงแจ้งว่าข้อมูลทั้งหมดได้ถูกลบไปแล้ว และ library.nu เก่าก็จบสิ้นไปแล้ว นอกจากนี้ขอให้ช่วยซื้อหนังสือผ่านทางเว็บเพื่อช่วยเหลือค่าใช้จ่ายทางกฏหมายมหาศาลของทางเว็บ ดู http://library.nu/lnu.html
  7. ดู http://www.aljazeera.com/indepth/opinion/2012/02/2012227143813304790.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net