Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


“...แม้สังคมทั่วไปจะเรียกจำเลยว่า “อากง” ฟังดูประหนึ่งว่าจำเลยชราภาพมากแล้ว แต่ตามฟ้องจำเลยอายุ 61 ปี มิได้แก่ชราจนต้องอยู่ในความอนุบาลดูแลของผู้ใดสามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ แสดงว่าเป็นผู้มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์และมิได้แก่เฒ่าคราวปู่ทวด

สำหรับบุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย มีเจตนาทำร้ายสังคมสถาบันหลักของประเทศชาติและองค์พระประมุข อันเป็นที่เคารพสักการะของคนในชาติให้เกิดความหลงผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ผู้เขียนเชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้คนเช่นนี้ลอยนวลอยู่ในสังคมเพื่อสร้างความเสียหายต่อเนื่องหรือแก่ผู้อื่นอีก เพราะสักวันคนใกล้ตัวของคนเหล่านี้อาจตกเป็นเหยื่อด้วยก็ได้ มาตรการที่เหมาะสมจึงควรตัดโอกาสในการกระทำผิด ลงโทษให้หลาบจำสาสมไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่น...”

จากบทความ "อากงปลงไม่ตก" โดย สิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม (ข่าวสดออนไลน์ 14 ธันวาคม 2554)

 

เมื่อทราบข่าว “อากง” เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่โรงพยาบาลในเรือนจำเมื่อเช้านี้ ทำให้ผมต้องย้อนกลับไปอ่านบทความ “อากงปลงไม่ตก” ของ “โฆษกศาลยุติธรรม” อีกครั้ง ในโลก fb วันนี้มีแต่ความโศกเศร้ากับการจากไปของอากง และหดหู่สิ้นหวังกับ “ระบบยุติธรรมไทย”

เพราะ “อากง” ในความรับรู้ของพวกเราคือชายชราท่าทางซื่อๆ ที่มีโรคประจำตัวน่าสงสาร คือไม่ว่าจะดูบุคลิกภาพ บริบทครอบครัว หรือดูอะไร อย่างไร เราก็ไม่สามารถจะมองเห็นอากงในภาพพจน์ของ “บุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย” ไปได้เลย!

ยิ่งย้อนไปอ่านที่โฆษกศาลยุติธรรมระบุว่า “...คดีนี้ผ่านกระบวนการสอบสวน การกลั่นกรองจากอัยการ แล้วเปิดโอกาสให้จำเลยต่อสู้คดีในชั้นศาลอย่างเต็มที่ อันเป็นหลักการสากล และหลักกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต่อสู้คดีอย่างเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม”

ยิ่งทำให้นึกถึงคำถามเก่าๆ ที่ศาลไม่เคยตอบเลย คือคำถามที่ว่า “ศาลได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์พยานจนสิ้นสงสัยแล้วหรือว่า อากงเป็นผู้ส่งข้อความ 4 ข้อความ นั้นจริง?”

และยิ่งเมื่อโฆษกศาลยุติธรรมอ้าง “หลักการสากล” ยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมาอีกมาก เช่น

1. ตามหลักการสากล มีด้วยหรือที่การกระทำผิดด้วย “ข้อความ” ต้องลงโทษจำคุกถึง 20 ปี

2. ตามหลักการสากล มีด้วยหรือที่การทำผิดด้วย “ข้อความ” โดยชายชราคนหนึ่งที่มีโรคประจำตัว (มะเร็ง) ซึ่งคดียังไม่ถึงที่สุด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่กลับไม่ได้รับสิทธิประกันตัว แม้ภรรยาของเขาจะอดข้าวประท้วง หรือกระแสเสียงของประชาชนที่มีมโนธรรมสำนักรักความยุติธรรมจะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องมากมายเพียงใดก็ตาม

ตามหลักการสากล ความยุติธรรมตามกฎหมายต้องไม่คำนึงถึง “มนุษยธรรม” และสิทธิมนุษยชนหรือครับ

หลักการสากลของประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกครับ ที่เขาเป็นเหมือนประเทศไทยที่ปกครองด้วย “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลกที่ประชาชนต่างอยู่เย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

3. ตามหลักสากล การที่ศาลจะตัดสินคดีอาญาเอาคนเข้าคุก เขาไม่ต้องพิสูจน์ประจักษ์พยานจนสิ้นสงสัยหรือครับว่า “จำเลยเป็นผู้ลงมือกระทำความผิดจริง”

4. ตามหลักสากล ในประเทศอารยะประชาธิปไตย เขาต้องยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม ตาม “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” ในการพิพากษาคดีไม่ใช่หรือครับ (ซึ่งหมายถึงต้องคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด) มีประเทศอารยประชาธิปไตยที่ไหนในโลกครับที่เขายึด “อุดมการณ์กษัตริย์นิยม” ในการพิพากษาคดี

5. ที่โฆษศาลยุติธรรมเขียนว่า “สำหรับคดีนี้ มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายแสดงความอาฆาตมาดร้าย จาบจ้วงล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชินีด้วยถ้อยคำภาษาที่ป่าเถื่อนและต่ำทรามอย่างยิ่ง เกินกว่าวิญญูชนคนทั่วไปจะพึงพูดจาดูหมิ่นเหยียดหยามกัน...”

ถามว่า ตามหลักการสากล มีด้วยหรือครับ การตั้งข้อหาหมิ่นประมาทที่จำเลยไม่มีสิทธิพิสูจน์ว่าข้อความที่ตนพูดนั้นๆ เป็นความจริงและเกิดประโยชน์แก่สาธารณะหรือไม่ และ

6. ตามหลักการสากล มีด้วยหรือครับที่ “โฆษกศาลยุติธรรม” จะออกมาแสดงความเห็นต่อสาธารณะในท่วงทำนองกดเหยียดทางจริยธรรมต่อจำเลยว่าเป็น “บุคคลที่เจนโลก โชกโชน สันดานเป็นโจรผู้ร้าย” อันเป็นการหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลย ทั้งที่คดียังไม่ถึงที่สุด

สังคมไทยก็พูดกันอยู่เสมอๆ นะครับว่า คนไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็น “พุทธมามกะ” และทรง “ทศพิธราชธรรม” ประเทศเราเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน

แต่หลักปรัชญาพุทธและหลักการประชาธิปไตยนั้นต่างยกย่อง “ความเป็นมนุษย์” ของปัจเจกบุคคลว่า เขาแต่ละคนควรมีสิทธิ เสรีภาพ ที่จะใช้เหตุผล ใช้ปัญญาของตนเองแสวงหาการมีชีวิตที่ดีส่วนตัว และร่วมกันสร้างระบบ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่เป็นธรรมบนพื้นฐานของความเสมอภาค ภราดรภาพ

โดยเฉพาะผู้ทรงคุณธรรมสูงส่งตามคติของพุทธศาสนานั้น ย่อมต้องมีปัญญาเข้าใจ เคารพความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ เมตตา ให้อภัยในความผิดพลาดบกพร่องของเพื่อนมนุษย์ หากไม่ใช่การกระทำความผิดที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อชีวิต ทรัพย์สินของผู้อื่นจริงๆ พุทธศาสนาย่อมไม่เห็นด้วยกับการลงโทษทางกฎหมาย

พุทธะเองนั้นสูงส่งทางคุณธรรมกว่ากษัตริย์มาก และท่านก็แสดงแบบอย่างให้เห็นว่า การมีคุณธรรมสูงส่งกับเมตตาให้อภัยต้องเป็นของคู่กัน

ฉะนั้น ท่านจึงสอนไม่ให้ชาวพุทธโกรธต่อคำจาบจ้วง ล่วงละเมิดพระศาสดา ธรรมะ และสังฆะ ซึ่งแสดงให้เห็น “สปิริตทางศีลธรรม” ว่า พุทธะเองแม้ถูกจาบจ้วงล่วงละเมิดท่านเองก็ไม่ถือสา และกำชับว่าชาวพุทธต้องไม่โกรธผู้ที่กระทำเช่นนั้น อย่าว่าแต่จะต้องเอาผิดทางกฎหมายใดๆ เลย

ถ้าเป็นจริงอย่างที่โฆษกศาลยุติธรรมเขียนว่า “...โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมิใช่คู่กรณีที่มีความขัดแย้งสร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่จำเลยแม้แต่น้อยนิดรวมทั้งพระองค์ท่านทรงอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองจากมวลชนทุกหมู่เหล่าจึงไม่มีเหตุผลที่จำเลยหรือบางคนจะพยายามบิดเบือนว่า คดีนี้มาจากมูลฐานทางการเมือง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นธรรมและห่างไกลจากความเป็นจริง” อันนี้พุทธะยิ่งไม่ให้ใส่ใจเลย เพราะถ้าที่เขาพูดนั้น “ไม่จริง” ความเท็จนั้นก็ไม่อาจทำลายความดีงามที่ “มีอยู่จริง” ได้

ยิ่งชายชราชาวบ้านธรรมดาๆ คนหนึ่งจะใช้ “ข้อความเท็จ” ทำลายความดีงามสูงส่งของ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม” ให้มัวหมอง หรือเสื่อมเสียไปแม้แต่น้อยนิดนั้น ย่อมไม่มีทางเป็นไปได้ “ในโลกของความเป็นจริง” เลย ที่ว่าข้อความเท็จจะทำให้พระมหากษัตริย์ผู้ซึ่งในความเป็นจริงทรงเปี่ยมล้นด้วยทศพิธราชธรรมเสื่อมเสียนั้นจึงเป็นเพียง “ความเชื่อ” เท่านั้น

ฉะนั้น การลงโทษตาสีตาสาคนหนึ่งที่ทำผิดด้วย “ข้อความ” เพียง 4 ข้อความ (ด้วย “ความเชื่อ” ว่าจะทำให้พระมหากษัตริย์ พระราชินีผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยความดีงามอยู่แล้วเสื่อมเสีย) โดยการจำคุก 20 ปี และไม่ให้ประกันตัว จนกระทั่ง “เขาตายในคุก” นั้น ไม่ว่าจะคิดด้วยหลักพุทธศาสนา หลักประชาธิปไตย หรือคิดจาก “หัวใจ” ของ “มนุษย์” เราก็ไม่มีทางจะเข้าใจได้ว่ามัน “ยุติธรรม” อย่างไร!

คำถามที่ค้างคาใจผู้คนในสังคมที่คนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา มีพระราชาทรงทศพิธราชธรรม ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ “ใครคือผู้รับผิดชอบต่อความตายของอากง?” ทั้งในทางมโนธรรมสำนึกของ “มนุษย์” ทางศีลธรรม และรับผิดชอบโดยการร่วมกันผลักด้นให้เกิดการปฏิรูป “ระบบยุติธรรมไทย” ให้อยู่ภายใต้ “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” อย่างแท้จริง!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net