Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เวลาเราพูดถึง “ความมั่นคงของพุทธศาสนา” คำถามที่ตามมาคือ พุทธศาสนาที่เราต้องการให้มีความมั่นคงนั้น คือพุทธศาสนาในความหมายใดกันแน่?

คือพุทธศาสนาในความหมายของเนื้อหาสาระ วิถีชีวิต หรือพุทธศาสนาในความหมายของพิธีกรรม สถาบัน หรืองค์กรสงฆ์?

หากเป็นพุทธศาสนาในความหมายของเนื้อหาสาระ วิถีชีวิต ที่พุทธะค้นพบและนำมาเผยแผ่ ก็ได้แก่ “สัจจะ” และ “เสรีภาพ” สัจจะคืออริยสัจสี่ที่เป็นความจริงของทุกข์และความดับทุกข์ ส่วนเสรีภาพนั้นเป็นทั้ง “วิถี” (means) และ “เป้าหมาย” (end) อยู่ในตัวเอง

เป็น “วิถี” หมายความว่า เราต้องมีเสรีภาพในการแสวงหาสัจจะ จึงจะค้นพบสัจจะหรือความจริงได้ และเป็น “เป้าหมาย” หมายความว่า ความจริงที่ค้นพบทำให้เรามีเสรีภาพ (วิมุติ-freedom) จากกิเลสและความทุกข์ได้ เช่น สิทธัตถะต้องมีความกล้าหาญในการสลัดพันธนาการต่างๆ เพื่อใช้เสรีภาพแสวงหาความจริง และเมื่อค้นพบความจริงแล้วจึงมีเสรีภาพจากกิเลสและความทุกข์

ในทำนองเดียวกัน ถ้าเป็นความจริงเกี่ยวกับปัญหาทางสังคม เช่น ความจริงเบื้องหลังรัฐประหาร เป็นต้น ผู้คนในสังคมก็ต้องมีเสรีภาพในการแสวงหาความจริงดังกล่าว จึงจะค้นพบความจริงนั้นได้ และความจริงที่ค้นพบนั้นก็จะนำไปสู่การแก้ปัญหาของสังคมนั้นๆ ได้

ฉะนั้น “เสรีภาพ” กับ “สัจจะ” จึงมีความสัมพันธ์ในลักษณะที่เป็นเงื่อนไขแก่กัน คือเราจะค้นพบความจริงไม่ได้ถ้าปราศจากเสรีภาพ ในขณะเดียวกันเมื่อเราใช้เสรีภาพแสวงหาความจริงที่จำเป็นแก่การดับทุกข์ทางจิตวิญญาณ ความจริงที่ค้นพบนั้นก็ทำให้ปัจเจกบุคคลมีเสรีภาพจากกิเลสและความทุกข์ และเมื่อเราใช้เสรีภาพแสวงหาความจริงที่จำเป็นแก่การแก้ปัญหาหรือทุกข์ทางสังคม ก็จะช่วยให้สังคมนั้นมีเสรีภาพจากปัญหาหรือความทุกข์ที่กดทับอยู่ เช่น ความอยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำของอำนาจต่อรองทางการเมือง เป็นต้น

จึงกล่าวได้ว่า ความมั่นคงของพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระก็คือ ความมั่นคงของ “สัจจะ” และ “เสรีภาพ” ที่แสดงให้เห็นผ่านวิถีชีวิตของผู้คนและวัฒนธรรมของชาวพุทธที่ส่งเสริมเสรีภาพในการแสวงหาสสัจจะเพื่อดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคมนั่นเอง

แต่ดูเหมือนว่า พุทธศาสนาในความหมายของการใช้เสรีภาพในการแสวงหาสัจจะเพื่อดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคมจะไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมเท่าที่ควรจะเป็น พุทธศาสนาที่กลายเป็นวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวพุทธปัจจุบันคือ พุทธศาสนาเชิงพิธีกรรมและเชิงสถาบัน

จริงๆแล้ว พุทธศาสนาเชิงพิธีกรรมและเชิงสถาบันมีความจำเป็นในแง่ว่าเป็น “รูปแบบ” หรือระบบรองรับการแสดงออกของพุทธศาสนาเชิงเนื้อหาสาระ

เช่น พุทธะก่อตั้งสังฆะขึ้นเพื่อให้เป็นชุมชนฝึกฝนตนเองตามแนวทาง “ไตรสิกขา” หรือมรรคมีองค์ 8 เพื่อค้นพบสัจจะและเสรีภาพจากกิเลสและความทุกข์ ฉะนั้น สังฆะจึงเป็นชุมชนที่สละพันธนาการแบบโลกย์ๆ ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เบาสบาย เพื่อให้มีเสรีภาพมากที่สุดในการแสวงหาสัจจะ สังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้นจึงไม่มีระบบชนชั้นแบบพราหมณ์ (วรรณะ 4) พุทธะสละฐานันดรศักดิ์ และทุกคนที่เข้ามาบวชไม่ว่าจะมาจากชนชั้นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร หรือจัณฑาล เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของสังฆะสถานะทางชนชั้นถือว่าสิ้นสุดลง คงมีอยู่เพียงสถานะของพระภิกษุ หรือสมณะที่มีความเสมอภาคกันภายใต้ธรรมวินัยอันเป็นธรรมนูญหรือ “ธรรมาธิปไตย” ของสังฆะที่ต้องยึดถือร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองกว้างออกไป ความมั่นคงของพุทธศาสนา (ธรรมวินัย) ย่อมขึ้นอยู่กับพุทธบริษัท 4 คือ กลุ่มชาวพุทธ 4 ฝ่าย ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ที่เอาใจใส่ในการศึกษาปฏิบัติ บรรลุผล (ปฏิเวธ) และการเผยแผ่ธรรมวินัย

พูดง่ายๆ คือ ชาวพุทธทุกฝ่ายมีความสามารถที่จะดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแห่งการใช้เสรีภาพในการแสวงหาสัจจะเพื่อดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคมนั่นเอง

คำถามคือ เวลานี้เมื่อเราพูดถึงความมั่นคงของพุทธศาสนาในเชิงพิธีกรรมและในเชิงสถาบัน เรากำลังพูดกันในความหมายของความมั่นคงที่รองรับการแสดงตัวของวิถีชีวิตที่ใช้เสรีภาพในการแสวงหาสัจจะเพื่อดับทุกข์ในชีวิตของปัจเจก และทุกข์ทางสังคมหรือไม่?

หรือพูดอีกอย่างว่า ความมั่นคงของพุทธศาสนาเชิงพิธีกรรมและสถาบันสงฆ์ในแบบปัจจุบัน เป็นความมั่นคงที่สนับสนุนส่งเสริมวิถีชีวิต และ/หรือวัฒนธรรมทางความคิดความเชื่อที่มุ่งใช้เสรีภาพแสวงหาสัจจะเพื่อความดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคมหรือไม่?

เพราะในขณะที่สังฆะที่พุทธะก่อตั้งขึ้น เป็นสังฆะที่สละฐานันดรศักดิ์ แต่สังฆะปัจจุบันมีฐานันดรศักดิ์ สังฆะในอดีตเป็นสังฆะที่เน้นความเรียบง่าย ปล่อยวาง มีทรัพย์สินส่วนตัวเพียงไตรจีวร หรืออัฐบริขารที่จำเป็นแก่การดำรงชีพเพื่อแสวงหาสัจจะเท่านั้น แต่สังฆะในปัจจุบันมีทั้งทรัพย์สินของวัด มีที่ดินวัดให้เช่า มีผลประโยชน์ต่างๆ ที่เป็นรายได้ของวัด บางวัดมีทรัพย์สินหลายพันล้าน บางวัดก่อสร้างใหญ่โตเสมือนเป็นอาณาจักรทางศาสนามีเงินกว่าแสนล้าน ขณะที่พระบางรูปมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวเป็นหลักล้าน หรือหลายสิบล้าน

ทั้งๆ ที่ข้อหนึ่งในวินัย 227 ข้อของพระนั้น “ห้ามภิกษุรับเงินและทอง” แต่สังฆะปัจจุบันก็อ้างความจำเป็นว่า โลกยุคนี้ต้องใช้เงินในทุกๆ เรื่อง ทว่าพระและวัดครอบครองเงิน “ตามความจำเป็น” จริงๆ หรือ? เหตุใดคณะสงฆ์ปัจจุบันจึงไม่มีระบบบริหารจัดการที่กระจายรายได้ระหว่างวัดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือกันและกันตามความจำเป็น ทำไมบางวัดจึงใหญ่โต ร่ำรวยมหาศาล ขณะที่บางวัดขาดแคลนไปเสียทุกด้าน

ทำไมสถาบันสงฆ์ซึ่งเป็นสถาบันที่รักษาธรรมวินัย เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมวินัยมากกว่าฆราวาส และต่างโปรโมทอยู่ตลอดเวลาว่า “ธรรมะแก้ปัญหาทุกอย่างได้” แต่ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้และผลประโยชน์ของวัด หรือการจะจัดการให้วัดทั่วประเทศอยู่อย่างมั่นคงภายใต้ความเมตตาเอื้ออาทรสนับสนุนช่วยเหลือกันและกันกลับใช้ธรรมะมาแก้ไม่ได้

พูดตรงๆ คือถ้าธรรมะแก้ปัญหาทุกอย่างได้จริง ทำไมสังฆะปัจจุบันไม่ใช้ธรรมะแก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้ การเติบโตอย่างผิดรูปของบางวัด ความไม่สมดุลในด้านต่างๆของวัดโดยรวมๆ เป็นต้นเองก่อน หากธรรมะแก้ปัญหาของสังฆะเองยังไม่ได้ สังฆะจะนำธรรมะมาแก้ปัญหาของสังคมโลกที่ซับซ้อนยิ่งกว่าได้อย่างไร

ปัจจุบันทราบว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลปีละประมาณ 4,000 ล้านบาท และยังต้องการงบประมาณเพิ่มอีกมากในการอุปถัมภ์คุ้มครองพุทธศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่อุปถัมภ์คุ้งครองพุทธศาสนาด้วยการจัดงบสนับสนุนวัดต่างๆ

ถามว่า 4,000 ล้านบาท ที่เอาไปสนับสนุนวัดทั่วประเทศ (ซึ่งมีพระภิกษุสามเณรรวมทั้งสิ้นประมาณ 250,000 รูป และมีแนวโน้มลดลงทุกปี) ในการศึกษาปฏิบัติธรรมนั้น ก่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อการปกป้องพุทธศาสนาในเชิงเนื้อหาสาระที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง

ที่เราเห็นๆ กันอยู่ มีเพียงความมั่นคงของพุทธศาสนาเชิงพิธีกรรม เชิงสถาบัน ที่เน้นเรื่องการหารายได้ ผลประโยชน์ ฐานันดรศักดิ์ของพระ มากกว่าที่จะเป็นความมั่นคงของพุทธศาสนาเชิงเนื้อหาสาระที่สนับสนุนส่งเสริมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการใช้เสรีภาพในการแสวงหาสัจจะเพื่อดับทุกข์ในมิติต่างๆ ของชีวิตและสังคม ดังที่พุทธะเคยทำเป็นแบบอย่าง! mso-ascii-font-family:"Times New Roman";mso-hansi-font-family:"Times New Roman"">

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net