Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีความขัดแย้งเรื่องเขื่อนแม่วงก์น่าจะเป็นปัญหาทางการเมืองอันสำคัญต่อไป กรณีนี้เริ่มจากการที่คณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ผ่านมติในวันที่ ๑๐ เมษายน ที่ผ่านมา อนุมัติงบประมาณ ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท ให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยเหตุผลสำคัญคือ การเชื่อรายงานที่ว่า การสร้างเขื่อนนี้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่การชลประทาน และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง และ กรุงเทพมหานครได้ และบริเวณป่าแม่วงก์ก็เป็นป่าเสื่อมโทรมการสร้างเขื่อนจะไม่ส่งผลต่อการทำลายป่า

ในเรื่องโครงการสร้างเขื่อนลักษณะนี้ ถ้าหากเป็นเมื่อระยะเวลา ๓๐ ปีก่อน อาจจะเป็นเรื่องที่ง่ายกว่านี้ เพราะรัฐบาลไทยหลังการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ ก็ได้มีโครงการสร้างเขื่อนจำนวนมากต่อเนื่องกันมา เป้าหมายของเขื่อนทั้งหลาย มีตั้งแต่การสร้างเขื่อนชลประทาน เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า เขื่อนแก้ปัญหาน้ำท่วม และเขื่อนอเนกประสงค์ มีทั้งเขื่อนขนาดเล็ก และเขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนสำคัญที่เป็นที่รู้จักแรกสุด คือเขื่อนยันฮี จังหวัดตาก สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๐๗ และมีชื่อทางการว่า เขื่อนภูมิพล จนปัจจุบัน ประเทศมีเขื่อนในระดับใหญ่มากกว่า ๓๐ เขื่อน แต่หลายเขื่อนที่สร้างขึ้นมีการต่อต้านคัดค้าน รัฐบาลก็อ้างความจำเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศก้าวหน้า เพื่อสร้างความชอบธรรม นอกจากนี้ หลายเขื่อนก็อธิบายว่า เป็นเขื่อนตามแนวพระราชดำริ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนปากพนัง เขื่อนขุนด่านปราการชล เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อลดกระแสต่อต้านคัดค้าน

อย่างไรก็ตาม กรณีการสร้างเขื่อนได้เริ่มกลายเป็นปัญหาทางการเมืองอย่างชัดเจนหลัง พ.ศ.๒๕๒๕ เริ่มต้นจากกรณีโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจน จังหวัดกาญจนบุรี เพราะเขื่อนจะก่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีผลอย่างมากในการทำลายป่าใจกลางทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นเนื้อที่นับหมื่นไร่ และบริเวณนี้เป็นเขตป่าสมบูรณ์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โครงการนี้จึงถูกคัดค้านอย่างหนักทั้งจากนักอนุรักษ์ธรรมชาติ จากปัญญาชน สื่อมวลชน และ ประชาชนจังหวัดกาญจนบุรี ในที่สุด รัฐบาลต้องระงับโครงการตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๓๑

ต่อมา เรื่องที่เป็นกรณีพิพาทอันยืดเยื้อคือการสร้างเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสร้างได้สำเร็จใน พ.ศ.๒๕๓๗ แต่เขื่อนนี้มีผลอย่างสำคัญในการทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณปากแม่น้ำมูลทำให้เกิดการต่อสู้คัดค้านของประชาชนตั้งแต่ต้นจนเป็นกรณียืดเยื้อกว่ายี่สิบปี และยังได้ค้นพบต่อมาว่า เขื่อนปากมูลใช้เงินลงทุนสร้างเขื่อนถึง ๗,๐๐๐ ล้านบาท แต่ผลิตกระแสไฟฟ้าได้น้อยจนไม่คุ้มค่าในการลงทุน และการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประชาชน เขื่อนปากมูลจึงกลายเป็นกรณีตัวอย่างของความล้มเหลวในเรื่องของการสร้างเขื่อน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายเขื่อนที่สร้างแล้วประสบปัญหากับประชาชนในพื้นที่อย่างมาก กรณีสำคัญเช่นเขื่อนราษีไศล จังหวัดศรีษะเกษ และมีโครงการสร้างเขื่อนใหม่ที่ประสบปัญหา เพราะถูกต่อต้านคัดค้านอย่างหนักจากประชาชน และองค์การพัฒนาเอกชน คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น จังหวัดแพร่ ที่มีโครงการจะสร้าง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้เพราะการต่อต้านจากประชาชน

กล่าวโดยสรุปการสร้างเขื่อนในระยะที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการคือ

๑. เขื่อนหลายแห่งทำลายสภาพธรรมชาติและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะเขตป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธาร ในสภาพที่ป่าไม้ในประเทศไทยถูกทำลายลงไปมากแล้ว การสร้างเขื่อนจึงเป็นการเร่งทวีการทำลายป่าให้มากยิ่งขึ้น แม้ฝ่ายที่สนับสนุนการสร้างเขื่อนจะอ้างเสมอว่า เขื่อนจะก่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่สามารถใช้เป็นแหล่งชลประทานและการท่องเที่ยว แต่ในทางความเป็นจริงการคงรักษาป่าไม้ไว้ ก็เป็นการรักษาน้ำตามธรรมชาติไว้เป็นจำนวนมากเช่นกัน

๒. การเกิดของเขื่อนหลายแห่ง เป็นการทำลายวิถีชีวิตของประชาชน ซึ่งจะส่งผลทั้งในด้านที่อยู่อาศัย ทำให้คนต้องย้ายถิ่น และยังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ซึ่งเป็นการทำให้ประชาชนในชนบทจะต้องเสียสละวิถีชีวิตเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับคนในเมือง แต่หลายเขื่อนแสดงให้เห็นถึงการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า

๓. หลักฐานที่ว่า การสร้างเขื่อนจะเป็นการช่วยป้องกันหรือบรรเทาน้ำท่วม ยังเห็นได้ไม่ชัดเจน หลายเขื่อนที่สร้างขึ้นภายใต้ข้ออ้างว่าจะป้องกันน้ำท่วม เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรากฏว่าหลังจากการสร้างเขื่อน น้ำก็คงท่วมจังหวัดที่เป็นพื้นที่ใต้เขื่อนเช่นเดิม

ปัญหาของโครงการเขื่อนแม่วงก์ เท่าที่เปิดเผยข้อมูลในขณะนี้ ก็เช่น ยังไม่มีการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA)อย่างรอบคอบเพียงพอ เพราะ ป่าแม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของ“ผืนป่าตะวันตก”มีเขตต่อเนื่องกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นป่าไม้เขตต้นน้ำลำธาร นอกจากนี้ ฝ่ายอนุรักษ์ธรรมชาติยังยืนยันว่า ป่าแม่วงก์ยังเป็นเขตที่มีป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ใกล้สูญพันธ์หลายชนิด

องค์กรสำคัญที่นำการต่อสู้คัดค้านเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ก็คือ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร แต่สถานการณ์สลับซับซ้อนมากขึ้นเมื่อ เอ็นจีโอ และ สื่อมวลชนฝ่ายเสื้อเหลืองต่างก็ถือโอกาสระดมต่อต้านนโยบายนี้ ขณะที่ฝ่ายขบวนการเสื้อแดงยังมีท่าทีไม่ชัดเจน 

ขณะที่ นางรตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร บอกเช่นกันว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ถือเป็นบ้านที่สงบของสัตว์ป่า รวมถึงเป็นต้นน้ำ ช่วยรับน้ำจากภาวะฝนตกหนัก ทั้งยังผลิตอากาศบริสุทธิ์ ถือเป็น ๑ใน ๑๗ เขตพื้นที่อนุรักษ์ ถือเป็นป่าต่อเนื่องกับห้วยขาแข้ง จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่จะเอาพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รับน้ำโดยการสร้างเขื่อน นอกจากนี้หากจะสร้างพื้นที่รับน้ำในกรณีป้องกันน้ำท่วม คิดว่าน่าจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในแต่ละพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หากจะแก้ปัญหาน้ำท่วม

ถามว่าประเทศไทยมีความจำเป็นหรือไม่ ที่จะสร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วม ประธานมูลนิธิสืบฯ กล่าวว่า ต้องพิจารณาแต่ละพื้นที่สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมจะเหมาะสมมากกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แม้ว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์มาแล้ว ปริมาณน้ำก็จะเข้าไปท่วมป่าขนาดใหญ่ได้ ๑๐๐เปอร์เซนต์

ในส่วนของภาคประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อย่าง เครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก นายอดิศักดิ์ จันทรวิชานุวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเครือข่ายอนุรักษ์ผืนป่าตะวันตก กล่าวว่า ทันทีที่รับทราบข่าวประชาคมในพื้นที่ยังไม่ได้คุยกันรู้สึกตกใจกับท่าทีของรัฐบาล เนื่องจากการอนุมัติของ ครม.ยังไม่ผ่านรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) ทั้งยังไม่ผ่านคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) หรือมีการจัดทำประชาพิจารณ์แต่อย่างใด ซึ่งทางภาคีเครือข่ายอาจจะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกับการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้

"ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เรื่องนี้เลยการที่ ครม.ออกมติแบบไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการพิจารณาใดๆ เลย อนุมัติได้อย่างไร เราคัดค้านเรื่องนี้ เพราะเป็นการสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ หากสร้างในพื้นที่ดังกล่าวจะสูญเสียป่าไม้นับหมื่นไร่ แม้ว่าเหตุผลของรัฐบาลเพื่อป้องกันน้ำท่วม และช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะน้ำแล้งก็ตาม ซึ่งเหตุผลการสร้างเขื่อนมันก็เป็นรูปแบบเดิมๆ คนใน จ.นครสวรรค์ ไม่ได้มองแค่ประเด็นน้ำท่วม น้ำแล้ง แต่ยังมองว่าที่ดินจะมีราคาสูงขึ้น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะมีต่อป่าไม้และสัตว์ป่า"

ดังนั้น ถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องการที่จะให้โครงการสร้างเขื่อนนี้บรรลุผลแล้ว คงไม่สามารถที่จะใช้การดำเนินงานตามระบบราชการในลักษณะที่ผ่านมาได้ จะต้องมีกระบวนในการให้ข้อมูลและตอบคำตามในมิติใหม่ ด้วยเหตุผลใหม่ ที่จะทำให้ประชาชนส่วนข้างมากเข้าใจและเห็นพ้องด้วย แต่ถ้ายังไม่มีข้อมูลอันชัดเจน ก็ระงับโครงการไว้ก่อนดีกว่า อย่างน้อยก็จะได้ไม่ทำลายป่าไม้และสภาพแวดล้อมต่อไป

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net