Skip to main content
sharethis

เสวนาผลการศึกษาเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม” พบฟรีทีวีเน้นการรายงานแนวทางการช่วยเหลือระยะสั้น 

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา โครงการมีเดียมอนิเตอร์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ได้จัดกิจกรรมนำเสนอและรับฟังความเห็นต่อ ผลการศึกษาเรื่อง “ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สะท้อนผ่านฟรีทีวีในวิกฤตน้ำท่วม” ที่ลานกิจกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชั้น 35 อาคารเอสเอ็มทาวเวอร์

เริ่มด้วยการนำเสนอ โดย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ซึ่งกล่าวว่า งานนี้เป็นการศึกษารายการข่าวและรายการพิเศษของฟรีทีวี 6 ช่อง ที่ออกอากาศระหว่างวันที่ 13-19 พฤศจิกายน 2554  ในช่วงเวลา 20.00 – 24.00 น.  โดยรายการที่ศึกษา คือ ข่าว 3 มิติ (ช่อง 3) จับประเด็นข่าวร้อน (ช่อง 5) ประเด็นเด็ด 7 สี (ช่อง 7) ข่าวข้นคนข่าว (ช่องโมเดิร์นไนน์) สถานีรวมใจช่วยภัยน้ำท่วม (ช่อง สทท.11) คุยแต่น้ำไม่เอาเนื้อ (ช่องสทท.11) ที่นี่ไทยพีบีเอส (ช่องไทยพีบีเอส) ฝ่าวิกฤตน้ำท่วม ช่วง 1 และ 2 (ช่องไทยพีบีเอส) กับลุยกรุง (ช่องไทยพีบีเอส) ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเวลาที่ศึกษา คือ มีน้ำท่วมขังตั้งแต่พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี  ปทุมธานี  และกรุงเทพมหานคร ที่น้ำเริ่มไหลออกทางปากแม่น้ำเจ้าพระยาที่อ่าวไทย

การศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

ส่วนที่ 1  การวิเคราะห์เนื้อหารายการที่ศึกษา ใน 7 ประเด็น ซึ่งสรุปผลการศึกษาต่อแต่ละประเด็น ได้ดังนี้

การรายงานสถานการณ์น้ำ พบว่า ฟรีทีวีให้ความสำคัญกับการรายงานระดับน้ำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลโดยเฉพาะย่านที่อยู่อาศัยและเส้นทางสัญจรที่สำคัญโดยเฉพาะเขตดอนเมือง-รังสิต  ห้าแยกลาดพร้าว พระราม 2  บางชัน ลาดกระบัง ทั้งที่ในช่วงเวลาเดียวกัน จังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง พระนครศรีอยุธยาก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่กลับถูกนำเสนอไม่มากนัก

การจัดการปัญหาน้ำท่วม พบการนำเสนอ 8 มิติ ได้แก่ การจัดการสถานการณ์น้ำและการระบายน้ำ การเฝ้าระวังและป้องกันสถานการณ์น้ำ การจัดการปัญหาสภาพแวดล้อม การช่วยเหลือและชดเชยความเสียหาย การจัดการสวัสดิภาพชีวิตและทรัพย์สิน การจัดการปัญหาความขัดแย้ง การจัดการด้านเศรษฐกิจ และการจัดการร่วมกับองค์กรต่างประเทศ จากการวิเคราะห์รายการที่ศึกษา พบว่าผู้ที่มีบทบาทหลักในการแก้ไขปัญหา คือ ภาครัฐ แต่พบช่องไทยพีบีเอส ให้ความสำคัญกับประชาชนในฐานะของผู้จัดการปัญหา และมีการนำเสนอข่าวการจัดการเพื่อกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบ รวมถึงการเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ประสบภัยที่ไม่ได้รับเงินชดเชย

ผลกระทบจากสถานการณ์ พบ 4 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม โดยในมิติเศรษฐกิจ พบว่า มักเน้นภาคเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่ด้านสังคมให้ความสำคัญรอบด้านทั้งเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัย ราคาสินค้า และชีวิตความเป็นอยู่ เช่นเดียวกับมิติด้านธรรมชาติสิ่งแวดล้อมซึ่งมีทั้งเรื่องปัญหาระบบนิเวศน์ ปัญหามลพิษ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ในขณะที่มีการรายงานผลกระทบต่อโบราณสถานจากช่อง 7 เท่านั้น

ความขัดแย้ง พบความขัดแย้งระหว่างรัฐและประชาชนจากการจัดการสถานการณ์ เช่น ปัญหาบิ๊กแบ๊ค การแก้ไขสถานการณ์น้ำซึ่งนำเสนอความผิดพลาดของรัฐ และความไม่พอใจของผู้ประสบภัยที่ลงเอยด้วยการรื้อบิ๊กแบ๊คและการฟ้องร้อง นอกจากนี้ยังพบความขัดแย้งระหว่างขั้วการเมืองเรื่องการตรวจสอบทุจริตถุงยังชีพ 

การช่วยเหลือ พบว่าฟรีทีวีเน้นการรายงานแนวทางการช่วยเหลือระยะสั้น เช่น การบริจาคของ การติดตั้งเครื่องสูบน้ำ การให้บริการรถ เรือ และการบริการทางการแพทย์ ในขณะที่การแก้ไขปัญหาระยาว เช่น การปรับปรุงระบบประกันภัยพิบัติ การพักชำระหนี้ และการสร้างถนนพบในช่องสทท.11 และ ไทยพีบีเอส เท่านั้น

การเตือนภัย ในรายการที่ศึกษาพบว่า ฟรีทีวีรายงานข่าวการประกาศอพยพและการประกาศพื้นที่เฝ้าระวังเป็นภาษาไทย และไม่พบการสื่อสารเพื่อผู้พิการทางการได้ยิน นอกจากนี้พบว่ามีเพียงช่อง 3 และช่องไทยพีบีเอสเท่านั้นที่มีการตรวจสอบการเตือนภัยของรัฐบาล เช่น การสำรวจสถานการณ์น้ำและปฏิกิริยาของประชาชนในพื้นที่ที่มีการเตือนภัย

การฟื้นฟู จากรายการที่ศึกษา พบ 7 มิติ ได้แก่ พื้นที่ ทรัพย์สิน สุขภาพ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ศาสนาวัฒนธรรม และอาชีพ แต่มิติที่ฟรีทีวีทุกช่องให้ความสำคัญ คือ มิติด้านพื้นที่โดยเฉพาะกิจกรรม Big Cleaning Day และกิจกรรมทำความสะอาดอื่นๆ ซึ่งจัดโดยภาครัฐ ในขณะที่ช่องไทยพีบีเอสเน้นการฟื้นฟู โดยการทำความสะอาดของภาคประชาชน

ส่วนที่ 2  เป็นการวิเคราะห์ผลการศึกษาส่วนที่ 1 ด้วยแนวคิดเรื่อง สิทธิมนุษยชน และ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมกับการรายงานข่าว สรุปผลการวิเคราะห์ได้ดังนี้

เรื่องของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลครองพื้นที่สื่อ - แม้ว่าฟรีทีวีให้พื้นที่กลุ่มคนที่หลากหลายทั้งภาครัฐ ธุรกิจ อุตสาหกรรม แรงงานในระบบและนอกระบบ เกษตรกร และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะช่อง 3 ให้พื้นที่ผู้ประสบภัยหลากหลายกลุ่มทั้ง ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ คนเก็บของเก่า ชาวนา และสัตว์เลี้ยง ฯลฯ อย่างไรก็ตามฟรีทีวีเน้นนำเสนอบุคคลที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่าผู้ที่อยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงเวลาเดียวกัน

รัฐ สื่อ ธุรกิจสวมบทเด่น – แม้จากรายการที่ศึกษาจะพบว่ากลุ่มคนที่ปรากฏในสื่อถูกนำเสนอในบทบาทที่แตกต่างกันจนทำให้เกิดภาพลักษณ์เฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ดี พบว่า กลุ่มภาครัฐ กลุ่มสื่อ และกลุ่มธุรกิจถูกนำเสนอในบทบาทการควบคุมสถานการณ์ การแก้ไขปัญหา และการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่น การสั่งระบายน้ำ การกู้เส้นทางจราจร การบริจาคสิ่งของ ฯลฯ ในขณะที่ประชาชนทั่วไป กลุ่มคนพิเศษ เกษตรกร และ ผู้ใช้แรงงาน ถูกนำเสนอในบทบาทของผู้ประสบภัยที่ได้รับความทุกข์จากสถานการณ์น้ำท่วมและการจัดการของภาครัฐ เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถคิดแก้ไขปัญหาได้เอง ต้องรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ  ทั้งพบบทบาทกลุ่มประชาชนที่รื้อบิ๊กแบ๊ค เป็นผู้ก่อความวุ่นวาย มีการกระทำที่ใช้อารมณ์

อย่างไรก็ตามช่องไทยพีบีเอสนำเสนอบทบาทของประชาชนที่แตกต่างออกไป คือ เป็นกลุ่มประชาชนที่สามารถช่วยเหลือตัวเองและชุมชนได้ เช่น การวางแผนสร้างทางเดินในชุมชน และการทำอาหารแจกคนในชุมชน รวมถึงการบอกเล่าและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผล

ในส่วนบทบาทนักการเมือง พบการจับผิดขั้วตรงข้ามทางการเมือง มากกว่าการช่วยเหลือประชาชน

คนพิการ ชาวต่างชาติถูกมองข้าม – จากรายการที่ศึกษาพบว่าการสื่อสารของฟรีทีวีเป็นแบบ One fits for all หรือการนำเสนอข้อมูลชุดเดียวแก่คนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญ เช่น การแจ้งพื้นที่เฝ้าระวังและการแจ้งอพยพที่ไม่มีการแปลภาษาหรือสื่อสารด้วยวิธีการพิเศษสำหรับกลุ่มผู้พิการทางการได้ยิน กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตามพบว่าช่องไทยพีบีเอสนำเสนอแนวทางการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติผ่านการสัมภาษณ์ตัวแทนกลุ่มแรงงานโดยใช้ภาษาของแรงงานกลุ่มดังกล่าว

ข้อมูลเป็นประโยชน์เฉพาะคนบางกลุ่ม – จากรายการที่ศึกษา พบว่า ฟรีทีวีรายงานสถานการณ์น้ำเฉพาะพื้นที่ที่น้ำท่วมและน้ำลด มากกว่าการรายงานภาพรวมเส้นทางน้ำ ปริมาณน้ำ หรืออัตราความเร็วน้ำเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ และมีอำนาจควบคุมสถานการณ์ควบคู่ไปกับภาครัฐ ในส่วนของการแจ้งอพยพ พบว่าสื่อรายงานประกาศของภาครัฐโดยไม่มีข้อมูลที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประสบภัย เช่น สถานที่พัก จุดบริการรถรับส่ง เส้นทางจราจร ฯลฯ โดยเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นต่อการอพยพผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สำหรับประเด็นการช่วยเหลือฟื้นฟู พบการนำเสนอหลายมิติ แต่ส่วนใหญ่เป็นแผนระยะสั้น เช่น การบริจาคของ การตั้งเครื่องสูบน้ำ การทำความสะอาด ฯลฯ ในขณะที่แผนระยะยาวมุ่งเน้นมิติเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การพักหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ และการปล่อยสินเชื่อ

หลังจากการนำเสนอผลการศึกษา เป็นการเสนอ/ความคิดเห็นจากคณะวิทยากร ดังนี้

อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นต่อการศึกษาว่ามีข้อจำกัดเพราะสุ่มเลือกช่วงเวลาหนึ่ง ในสถานการณ์หนึ่ง ในขณะที่ภาวะน้ำท่วมครั้งนี้ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงเวลา ถ้าทำการติดตามศึกษาโดยตลอด จะเห็นวิธีคิดของคนทำข่าว นอกจากจะเป็นการศึกษาในช่วงสั้นแล้ว ยังเลือกประเด็นความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นประเด็นใหญ่

อาจารย์สุภาพร วิเคราะห์ลักษณะการทำงานของสื่อมวลชนที่มีผลต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน 4 ประเด็น ดังนี้

1.ยึดติดกับมายาคติเก่าๆ คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจระดับมหภาค หรือส่วนกลาง มักจะได้พื้นที่และความสำคัญ ซึ่งเป็นโจทย์ที่น่าตั้งคำถามกับสื่อมวลชน เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่เหมือนกรณีของสึนามิที่เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่เป็นวิกฤตที่ก่อตัวอย่างช้าๆ และมีเวลาให้จัดการ ดังนั้น วิกฤตน้ำท่วมจึงไม่ได้สะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนการขาดความพร้อมของคนไทย และการที่สื่อไม่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึง “ข้อมูลสำคัญ”

2.โลกทัศน์ของสื่อมวลชน ที่มองว่า “ความคิดทางวิทยาศาสตร์” มีเพียงหนึ่งเดียว แต่ที่จริงแล้วมีความคิดหลายสำนัก แต่ละสำนักคิดก็มีการให้เหตุผลกับกระบวนการ แตกต่างกัน ในกรณีวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ ผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ชี้ว่า การวางบิ๊กแบ็คทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้ที่อยู่เหนือและใต้แนวกั้นน้ำ แต่ในเรื่องนี้ ก็มีแนวคิดต่างจากการใช้บิ๊กแบ็คกั้นน้ำ ที่เห็นว่าการกั้นน้ำเป็นการสะสมน้ำ ทำให้น้ำมีเวลารวมตัว ก่อให้ผลกระทบมากกว่าเดิม โจทย์นี้เป็นความเหลื่อมล้ำที่อยู่บนความแตกต่าง หลากหลาย ซับซ้อน และเคลื่อนที่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะมีกลุ่มคน และชุมชนที่ได้รับผลกระทบที่ไม่เหมือนกัน และมีตัวละครเกี่ยวข้องที่หลากหลาย เป็นความละเอียดอ่อนซึ่งท้าทายสื่อมวลชนยุคนี้ เช่น กรณีอำเภอบางบาล ที่ถูกเลือกให้เป็นแก้มลิง ขณะที่กรุงเทพฯ น้ำแห้งแต่คนบางบาลยังนอนอยู่ริมถนน เป็นพื้นที่ที่ท่วมก่อนแต่แห้งทีหลัง อันนี้เป็นความล่มสลายของชีวิต สื่อมวลชนให้ความสำคัญกับการล่มสลายของชีวิตผู้คนที่อยู่ร่วมสังคมไม่พอ ทำให้มองไม่เห็นความเหลื่อมล้ำของปัญหานี้ สื่อต้องเชื่อว่ามีความเหลื่อมล้ำ สื่อต้องนำเสนอในมิติ Macro (มหภาค) และ Micro (จุลภาค) เช่นในเรื่องเศรษฐกิจ ต้องมีเรื่องของชุมชนและผู้คนที่ถูกละเลยในพื้นที่สื่อ ซึ่งก็คือ ภาคส่วนที่ถูกลืมและละเลย การศึกษานี้ จึงไม่ใช่ศึกษาเฉพาะส่วนที่สื่อนำเสนอ แต่ต้องค้นหาส่วนที่ขาดหายไป และนั่นคือความเหลื่อมล้ำ

3.ขาดการตั้งคำถาม ในวิกฤตน้ำท่วมนี้รัฐบาลต้องมีการจัดการเพื่อการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจน และมีเอกภาพ แต่สื่อมวลชนไม่ต้องไปเป็นส่วนหนึ่งของเอกภาพนั้น สื่อมวลชนต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ ติดตาม และตั้งคำถาม เพื่อให้ผู้รับสารได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น การประกาศแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ เป็นต้น หรือ ในส่วนของวาทกรรม “ผู้เสียสละ” โดยการประกาศให้บางชุมชนเป็นผู้เสียสละ สื่อต้องให้ความสนใจว่า การที่ภาครัฐประกาศให้บางชุมชนเป็นผู้เสียสละ เป็นที่มาของความเหลื่อมล้ำหรือไม่

4.ความอ่อนไหว สื่อมวลชนได้ร่วมกับภาครัฐในการสร้างวาทกรรม “ผู้เสียสละ” ซึ่งคนกลุ่มนี้ คือ ผู้ที่อ่อนแอที่สุด แต่ต้องเสียสละเพื่อคนที่เข้มแข็งกว่า สื่อมวลชนควรสร้างความเช้าใจและเห็นอกเห็นใจ

ท้ายที่สุด อาจารย์สุภาพรตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรให้สื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างคำนึงถึงการให้ความรู้ไปด้วย ทำอย่างไรให้การสื่อสารในวิกฤตแบบนี้ “ไม่มีใครถูกลืม”

ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำในมิติของนักรัฐศาสตร์ จากที่สื่อมวลชนมักมองคนบางกลุ่มเป็นกลุ่มพิเศษ เช่น เด็ก สตรี คนชรา ฯลฯ ทั้งที่ควรมองในหลายมิติมากขึ้น และมองอย่างเท่าเทียมกัน โดยผศ.ดร.ประภาส ได้ให้มุมมองความเหลื่อมล้ำใน 3 มิติ ดังนี้

1.มิติอำนาจทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับความเหลื่อมล้ำจากอำนาจทางเศรษฐกิจ คือ มายาคติที่มองเห็นกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และมีศักยภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าชนบท ดังนั้นคนในชนบทจึงต้องเสียสละรับน้ำไป ทั้งที่ในความเป็นจริงผลกระทบที่เกิดกับกลุ่มคนดังกล่าว มีความรุนแรงและส่งผลยาวนานกว่ามาก จนอาจทำให้วิถีชีวิตบางอย่างหายไป เช่น ชาวไร่ชาวสวนในบางพื้นที่ต้องล้มสวนเกือบทั้งหมด ขาดรายได้ 6-7 เดือน และต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน จนอาจเลิกปลูกไม้ยืนต้นในอนาคต ดังนั้นการแก้ไขปัญหาของคนกลุ่มนี้  จึงมีความซับซ้อนมากกว่าการแจกถุงยังชีพ

2.มิติอำนาจทางการเมือง สังคมมักมองผู้ออกมาเรียกร้อง ผู้ชุมนุม ว่าเป็นผู้ที่ไม่ยอมเสียสละ ทั้งที่เป็นการกระทำที่ไม่ต่างจากการชุมนุมประท้วงของกลุ่มสมัชชาคนจน ที่ต้องการพื้นที่สื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารความเดือดร้อน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปถึงพื้นที่ทางการเมืองได้

3.มิติอำนาจทางวัฒนธรรม จากผลการศึกษาของมีเดียมอนิเตอร์ สื่อให้ความสำคัญกับมิติวัฒนธรรมเกี่ยวกับโบราณสถาน แต่วัฒนธรรมต้องหมายรวมถึงวัฒนธรรมชุมชน ซึ่งได้รับผลกระทบด้วย นั่นคือ ผลกระทบไม่ได้มีต่อที่อยู่อาศัย หรือเศรษฐกิจเท่านั้น  และอยากให้สื่อมองความไม่เท่าเทียมกันของกลุ่มคนที่ไม่ถูกพูดถึง เช่น แรงงานต่างด้าว ซึ่งไม่มีสถานะอะไรเลยในสังคม  แต่ควรถูกเห็นคุณค่าความเป็นคนที่มีวิถีชีวิต มีอัตลักษณ์ มีตัวตน

ดร.ประภาส กล่าวทิ้งท้ายว่า “การสร้างระบบเป็นเรื่องสำคัญ หากระบบไม่มีก็รับมือไม่ได้ เช่น ในเรื่องค่าชดเชย กลุ่มใดรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรองได้ ก็ได้เงินชดเชยสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน แต่ขาดพลังต่อรอง สื่อต้องตรวจสอบระบบ จึงจะเห็นความเหลื่อมล้ำ”

ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา กล่าวถึง ปรากฏการณ์ใหม่ของสื่อมวลชนที่ทำการตลาด โดยนำดารามาร่วมทำข่าวนำเสนอความเป็นตัวตน แสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในการทำข่าว ซึ่งคนก็ดู เพราะบันเทิง และพบว่าสื่อโทรทัศน์ทุกช่องแข่งกันในการเป็นตัวกลางในการรับของบริจาคจากประชาชน ซึ่งในแง่ของการช่วยเหลือนี้ หากรัฐบาลจัดการเป็น ก็เชิญทุกฝ่ายมานั่งโต๊ะ และแบ่งว่าใคร

จะลงไปช่วยในพื้นที่ไหน หากพื้นที่ไหนลงไปลำบาก ภาครัฐก็เข้าไปเอง หากทำแบบนี้ก็จะได้เครือข่ายในการช่วยเหลือ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

ประเด็นการสร้างลักษณะบุคคลในข่าว พิธีกรถูกสร้างให้เป็นฮีโร่เกือบทุกคน โดยเฉพาะช่อง 3 เน้นเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ และเมื่อช่องต่างๆ แย่งกันเป็นฮีโร่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อทุกช่องได้รับการร้องเรียน จะรีบลงพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนการจัดการที่ล้มเหลวของ ศปภ. แต่ไม่มีสื่อใดรายงานว่า ศปภ. มีการทำงานอย่างไรจึงเกิดความล้มเหลวขึ้น

ในเรื่องวิธีการเลือกข่าว เนื่องจากสื่อไม่มีกำลังพอที่จะลงทำข่าวในทุกพื้นที่ สื่อจึงเลือกนำเสนอสิ่งที่มีผลกระทบมากที่สุด หรือในอีกแง่หนึ่งคือ ทำให้ได้คนดูมากที่สุด แม้แต่ไทยพีบีเอส ตอนทำนายเรื่องน้ำท่วม พื้นที่ที่ อ.เสรี ศุภราทิตย์ ให้ข้อมูลละเอียดที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร จะเห็นว่าแม้แต่ช่องที่เราคิดว่าดีที่สุด ก็ให้ความสำคัญกับกรุงเทพ เพราะรู้ว่าจะได้คนดูมาก การคิดแบบนี้ เป็นวิธีคิดของสื่อสารมวลชนระดับประเทศ และระดับโลกทั้งหมด ทางแก้คือ เราต้องสร้างสื่อชุมชนที่สามารถส่งต่อข้อมูลโดยที่สื่อหลักไม่ต้องส่งทีมลงไปเองทั้งหมด

ส่วนภาพรวมของปัญหาน้ำท่วม คือ สื่อไม่มีการเจาะลึกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วม ทั้งที่สำคัญมากกว่าการเถียงกันแต่เรื่องการปล่อยน้ำจากเขื่อน และไม่มีการพูดถึงเส้นทางน้ำว่าไหลมาอย่างไรเพื่อให้เห็นภาพรวมของปัญหาน้ำท่วมของประเทศในครั้งนี้

สุดท้าย ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ยอมรับว่า การศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัด โดยเฉพาะด้านข้อมูลของหน่วยการศึกษา ทั้งยังนำประเด็น”ความเหลื่อมล้ำทางสังคม” มาเป็นโจทย์การศึกษาด้วยอย่างไรก็ดี โครงการถือว่าเป็นการศึกษาที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยนำวาระสำคัญของปี 2554 ทั้งในเรื่องวิกฤตน้ำท่วม และความเหลื่อมล้ำทางสังคม มาประกอบกันเป็นโจทย์การศึกษา สิ่งที่น่าพอใจ คือ ผลการศึกษาครั้งนี้ ได้นำเสนอข้อมูล ที่ทำให้ได้รับฟังความคิดเห็นที่น่าสนใจของวิทยากรทั้ง 3 ท่าน คือ อาจารย์สุภาพร โพธิ์แก้ว จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา

 

  

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net