นัดพร้อมก่อนพิพากษา 19 ก.ย.คดี “สมยศ” –กก.สิทธิ ชี้บทความแค่เรื่องเล่าโจมตี “เปรม”

 

3 พ.ค. 55 ที่ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานฝ่ายจำเลยนัดสุท้าย คดีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112   โดย น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขึ้นเบิกความต่อศาลเป็นปากสุดท้าย ก่อนจะมีการนัดพร้อมในวันที่ 19 ก.ย. 55 เพื่อกำหนดวันพิพากษาอีกครั้ง เนื่องจากต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำร้องที่ส่งไปก่อนหน้านี้ว่า มาตรา 112 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ด้านนายสมยศ  กล่าวว่ารู้สึกพอใจกับการสืบพยานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจทก์หรือจำเลย ขอขอบคุณผู้ที่มาให้กำลังใจทุกๆ คน โดยเฉพาะพยานที่มาให้การตามความเป็นจริง คิดว่าคำให้การของพยานหลายคนจะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะคดีของตน แต่รวมไปถึงคดีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ด้วย และหวังว่าทุกคนคงจะร่วมกันสู้ต่อไป

ส่วนการสืบพยาน นพ.นิรันดร์ กรรมการสิทธิฯ และอดีต ส.ว.อุบลราชธานี เบิกความว่า องค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเป็นองค์กรอิสระ มีเป้าหมายหลักคือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร ในอดีตได้ทำการตรวจสอบระบอบทักษิณว่ามีการทุจริตเชิงนโยบายอย่างไรบ้าง ตรวจสอบการฆ่าตัดตอนในคดียาเสพติด และการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล

นิรันดร์ กล่าวว่า การคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาคดีอาญา ก็อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรฯ หากยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์  ผู้ถูกกล่าวหาจะถูกกระทำในลักษณะเดียวกับผู้กระทำความผิดไม่ได้  ในระหว่างที่ยังไม่มีคำพิพากษา จำเลยต้องได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว สำหรับนายสมยศก็เคยเข้าร้องเรียนต่อองค์กรฯ เรื่องที่รัฐบาลในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ช่วงการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

นอกจากนี้ กรรมการสิทธิฯ ยังได้รับการร้องเรียนมากขึ้นเกี่ยวกับการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อทำลายคนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน  โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า การกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทกษัตริย์ เป็นลักษณะเดียวกับการกล่าวหาว่านักศึกษาในสมัย 6 ต.ค. 19 เป็นคอมมิวนิสต์

ในส่วนของบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์  นิรันดร์เห็นว่าพระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และไม่อยากให้ใครดึงพระองค์ลงมา แต่การวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งสามารถทำได้เพราะเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนมาตรา 112 นั้น มีอัตราโทษรุนแรงเกินไป เมื่อเปรียบเทียบกับข้อกล่าวหาที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน อีกทั้งบุคคลใดก็สามารถไปร้องทุกข์กล่าวโทษได้ จึงมีนักวิชาการจำนวนมากที่ตื่นตัวต่อเรื่องนี้ เพราะต่างเห็นว่าการบังคับใช้ไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็เคยเข้าร้องเรียนเรื่องนี้ต่อกรรมการสิทธิฯ เช่นกัน

นิรันดร์เบิกความถึงรูปภาพในนิตยสาร Voice of Taksin ว่าดูจากรูปแล้วเป็นข้าราชการ นักการเมือง อำมาตย์ จึงไม่น่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่วนเนื้อหาของบทความ แผนนองเลือด ก็เกี่ยวกับการยึดทรัพย์ การวางแผนฆ่าทักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องทางการเมือง ไม่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เลย รวมถึงเรื่อง 6 ตุลาแห่ง 2553 ทั้ง2บทความอ่านแล้วก็ไม่พบว่าทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียแต่อย่างใด และโดยส่วนตัวก็ไม่เชื่อว่าในหลวงจะอยู่เบื้องหลังความรุนแรงใดๆ การเขียนในลักษณะเช่นนี้ เป็นการเขียนปรักปรำกล่าวหาโดยไม่มีข้อเท็จจริงหรือเป็นเรื่องเล่า แต่เข้าใจว่าคนสำคัญที่กลุ่มเสื้อแดงบอกว่าดึงสถาบันลงมาคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์  เพราะพบว่าเปรมมีพฤติกรรมเป็นหัวหน้าอำมาตย์ การที่คนพูดเช่นนี้ก็เป็นเพราะไม่อยากให้มีการแทรกแซงทางทหาร อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าการดึงเปรมเข้ามา ทำให้สังคมแตกแยก เพราะทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์และองคมนตรีเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะถูกดึงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง

ทนายกล่าวถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 48 ว่าการวิพากษ์วิจารณ์พระองค์นั้นสามารถทำได้ นิรันดร์ตอบว่า ตนน้อมนำมาเป็นแนวการทำงานเสมอ และเห็นว่ามีความเชื่อมโยงกับหลัก The King can do no wrong โดยเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องการสอนการตีความและบังคับใช้กฎหมายให้แก่ประชาชนทางอ้อม ส่วนสถาบันกษัตริย์นั้นถือสถาบันหลักของชาติ แต่การที่มาตรา112 จัดอยู่ในหมวดความมั่นคงนั้นถือว่าไม่ควร  อำนาจของรัฐมักมีความมิชอบ ดังนั้นสถาบันกษัตริย์ก็ไม่ควรมาเกี่ยวข้องกับการเมืองและความมั่นคง แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องรักษาไว้ในฐานะประมุขของรัฐ

สุธาชัย เบิกความในฐานะนักประวัติศาสตร์ ตีความถ้อยคำตามฟ้อง
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ค.55 ในช่วงบ่าย มีการสืบพยานจำเลย โดย ผศ. ดร. สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ  อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นให้การ

ทนายจำเลยถามพยานเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ สุธาชัยกล่าวว่าหลักฐานชิ้นหนึ่งสามารถนำมาตีความได้หลายอย่าง คนแต่ละฝ่ายก็ตีความแตกต่างกัน คำกล่าวว่าประวัติศาสตร์เขียนโดยผู้ชนะนั้นเป็นจริง แต่ไม่เสมอไป อย่างเช่นเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่ผู้ชนะในอดีตกลับเป็นผู้แพ้ทางประวัติศาสตร์ เรื่องการบันทึกประวัติศาสตร์ไทยในช่วงผลัดแผ่นดินจากพระเจ้าตากสินไปยังราชวงศ์จักรีนั้น สุธาชัยกล่าวว่า ประวัติศาสตร์แบบเดิมได้อธิบายเรื่องบุญบารมีไว้ว่า พระเจ้าตากสินได้หมดบุญแล้ว ผู้อื่นที่สั่งสมบุญบารมีมามากจึงขึ้นมาแทน ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าตากสินกับรัชกาลที่ 1 (ก่อนปราบดาภิเษก) คือการร่วมกันรบกับพม่า เรื่องการชิงราชสมบัตินั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติในประวัติศาสตร์ ในอดีตถือว่าบุญบารมีส่วนหนึ่งวัดด้วยกำลัง เป็นกลไกธรรมดาของการเมืองในสมัยนั้น สมัยอยุธยาก็เต็มไปด้วยการชิงราชสมบัติเช่นกรณีของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง สมเด็จพระนารายณ์ หรือสมเด็จพระเพทราชา ผู้ใดที่มีความสามารถก็ได้ขึ้นครองราชย์ เวลากล่าวถึงประวัติศาสตร์เรื่องการชิงราชสมบัติจึงไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท

ทนายจำเลยได้ถามถึง “ถุงแดง” ซึ่งบทความ “แผนนองเลือด” ของจิตร พลจันทร์ได้กล่าวถึงผู้ที่โค่นนายตัวเองโดยจับลงถุงแดงแล้วฆ่า สุธาชัยอธิบายว่า ถุงแดง คือสิ่งที่ถูกใช้ในการประหารเจ้านายส่วนใหญ่เพื่อไม่ให้โลหิตต้องพื้น แต่พระเจ้าตากสินไม่ได้สืบเชื้อสายมาจากเจ้านาย เวลาประหารจึงไม่ใช้ถุงแดง แต่ใช้วิธีตัดศีรษะ เรื่องนี้ถูกบันทึกไว้ในพงศาวดารกรุงธนบุรีซึ่งเป็นเอกสารที่เผยแพร่อยู่ทั่วไป สามารถไปหาอ่านได้ ส่วนเนื้อหาในแบบเรียนนั้นโดยมากจะนำมาจากงานเขียนของนักประวัติศาสตร์ซึ่งไม่ได้ลงละเอียดนัก และนักประวัติศาสตร์แต่ละคนก็ตีความแตกต่างกัน

สุธาชัยตอบคำถามทนายเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองของตนว่า ได้รับเชิญให้ไปพูดในฐานะนักวิชาการ ไม่ขออ้างว่าตนเป็นกลาง แต่ก็มีกลุ่มที่ชอบเป็นธรรมดา ตนรู้จักสมยศในฐานะนักสหภาพแรงงาน หนึ่งในคนสำคัญที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้ใช้แรงงาน  และทราบมาว่าหลังรัฐประหารปี 49 สมยศเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) เป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่ยอมรับรัฐประหาร และคัดค้านรัฐธรรมนูญปี 50 เพราะเห็นว่ามาจากการฉีกรัฐธรรมนูญปี 40 โดยใช้กำลังซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม ในปี 53 ตนและสมยศได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการสังหารประชาชน เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ตนได้ถูกจับกุมในข้อหาชุมนุมเกิน 5 คนตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

สุธาชัยกล่าวว่าช่วงเวลานั้นมีข่าวเรื่องผังล้มเจ้า โดยมีพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เป็นผู้นำมาเผยแพร่ ในผังมีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นแกนกลาง, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ, สมชาย วงศ์สวัสดิ์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และนักวิชาการอีกหลายคน ชื่อในผังทั้งหมดเป็นฝ่ายเสื้อแดง หลังจากเห็นว่ามีชื่อตนอยู่ในผัง ก็ได้ยื่นฟ้องอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, สุเทพ เทือกสุบรรณ และพันเอกสรรเสริญ แก้วกำเนิด ศาลได้พยายามไกล่เกลี่ยกระทั่งพันเอกสรรเสริญยอมรับว่าผังล้มเจ้าเกิดจากความคิดเห็นของ ศอฉ. ไม่ได้มีหลักฐานชัดเจน ผังเพียงแค่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเท่านั้น ไม่ได้แสดงว่าบุคคลเหล่านั้นล้มเจ้าจริง ตนจึงยอมความ ที่ผ่านมาตนยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112

ทนายจำเลยถามถึงประเด็นที่เสื้อแดง นปช. รวมทั้งจำเลยคัดค้าน สุธาชัยตอบว่าพวกเขาคัดค้านระบอบอำมาตยาธิปไตย ใครเป็นหัวขบวนของกลุ่มอำมาตย์ตามประวัติศาสตร์นั้นไม่ระบุชัดเจน หลังปฏิวัติปี 2475 ได้มีกลุ่มนิยมเจ้า หรือ royalist ที่ไม่ยอมรับหลักประชาธิปไตย และพยายามรวมตัวกันคัดค้านประชาธิปไตยของคณะราษฎร ปัจจุบันหัวขบวนอำมาตย์ที่ชัดที่สุดคือพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่ก่อนหน้านี้อาจหมายถึงคนอื่นๆ เช่น กบฏบวรเดช พระองค์เจ้าธานีนิวัต พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ซึ่งเป็นกลุ่ม royalist ไม่ระบุชัด เสื้อแดงมองว่าพลเอกเปรมเป็นสัญลักษณ์ของอำมาตย์ จากบทบาทการนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อปี 49

เรื่องนิตยสาร Voice of Taksin สุธาชัยกล่าวว่า ตนเคยเขียนบทความลงนิตยสารเรื่องคัดค้านรัฐประหารและอำมาตยาธิปไตย โดยเห็นว่าฝ่ายประชาธิปไตยต้องมีหนังสือเป็นอาวุธในการต่อสู้ และเห็นว่าชื่อ Voice of Taksin นั้นมีผลในทางการตลาด เนื่องจากมีคนจำนวนมากนิยม พ.ต.ท.ทักษิณ ตนใช้ชื่อจริงในการเขียน ส่วนนักเขียนทั่วไปอาจใช้นามจริงหรือนามปากกาก็ได้ ตอนที่ตนเขียนบทความนั้นไม่ทราบว่านามปากกา จิตร พลจันทร์ เป็นใคร

สุธาชัยได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับบทความ “6 ตุลา แห่ง 2553” ในนิตยสาร Voice of Taksin ว่าบทความโจมตีอำมาตย์ที่อยู่เบื้องหลังการนองเลือดคล้ายเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 คำว่า “หลวงนฤบาล” ในบทความ นั้นเป็นตัวละครในเรื่อง “โรงแรมผี” เป็นตัวละครฝ่ายดี จิตใจดี เสียสละ และยังอยู่ในนวนิยาย “ชัยชนะหลวงนฤบาล” ของ ดอกไม้สด ตนคิดว่าตัวละครนี้เป็นตัวแทนฝ่ายอำมาตย์ โยงถึงกษัตริย์ไม่ได้ ในบทความนี้ไม่มีถ้อยคำหรือใจความที่กล่าวถึงกษัตริย์เลย ข้อกล่าวหาเป็นการตีความอย่างเกินเลย การที่บทความกล่าวถึงผู้อยู่เบื้องหลังจอมพลถนอม จอมพลประภาส จอมพลสฤษดิ์ ตนคิดว่าหมายถึงพวกนิยมเจ้าอย่าง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, ควง อภัยวงศ์, พลเอกสำราญ แพทยกุล และพระองค์เจ้าธานีนิวัต

ส่วนบทความ “แผนนองเลือด” ว่า สุธาชัยเห็นว่าเนื้อความตอนที่กล่าวถึงผู้ที่ฆ่านายตัวเองโดยจับลงถุงแดงนั้น เนื้อความพูดกลางๆ อ่านแล้วหมายถึงใครก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าปราสาททอง พระเพทราชา ต่างก็เป็นขุนนางมาก่อน การเมืองระบบก่อนปี 2475 เป็นแบบนี้ทั้งสิ้น ต้องไปถามจิตร พลจันทร์ ผู้เขียน ว่าหมายถึงใคร ส่วนเนื้อความที่กล่าวถึงแผนการที่เคาะลงมาจากโรงพยาบาลย่านพระราม 9 นั้น อ่านแล้วไม่ทราบว่าใครอยู่โรงพยาบาลพระราม 9 และไม่ทราบว่าโรงพยาบาลนี้อยู่ที่ใด ตนคิดว่าเรื่องนี้เขียนไม่ดี อ่านแล้วไม่เข้าใจ ต่างจากบทความอื่นของจิตรที่เคยเขียนดีกว่านี้ และที่ไม่เข้าใจที่สุดคือเรื่องนี้เป็นหลักฐานในการเอาผิดคนได้อย่างไร ส่วน“สำนักงานทรัพย์สินส่วนตัว 2491” ที่ปรากฏในบทความ ที่ฝ่ายโจทก์อ้างว่าคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ สุธาชัยกล่าวว่าไม่ใช่ เพราะกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีมาตั้งแต่ปี 2479 ส่วนพฤติกรรม “หลวงของนฤบาล” ที่บทความสื่อว่าทำตัวเกี่ยวข้องกับการเมืองตลอดเวลา สุธาชัยให้ความเห็นว่าไม่แปลก เพราะพวกนิยมเจ้าก็เล่นการเมืองได้

สุธาชัยยังเบิกความถึงสถานการณ์ที่มีการพูดถึงสถาบันกษัตริย์มากขึ้นในความขัดแย้งทางการเมือง ว่าช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้ มาตรา 112 เป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้นเพราะการกำจัดศัตรูทางการเมืองด้วยข้อหาหมิ่นฯที่มากขึ้น ทำให้เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของสังคม ทุกคนล้วนถูกสอนมาให้จงรักภักดีเหมือนกัน แต่มีคนที่อ้างความจงรักภักดีของตัวเองและโจมตีคนอื่นว่าไม่จงรักภักดีอย่างการที่ สนธิ ลิ้มทองกุล โจมตี ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ด้วยมาตรา 112 ทำให้สิ่งนี้กลายเป็นแฟชั่น และยังมีการคิดผังล้มเจ้า เป็นสาเหตุของการรณรงค์เรื่องมาตรา 112 ตอนที่ตนมีชื่อในผังล้มเจ้า มีคนโทรมาด่าว่าเป็นถึงอาจารย์จุฬาฯทำไมทำเช่นนี้ เจ้าหน้าที่คณะรัฐศาสตร์ก็ด่า กระบวนการนี้ก่อให้เกิดการคุกคามจนทำให้ต้องฟ้องร้อง ในอดีตมีบุคคลสำคัญจำนวนมากที่โดนฝ่ายอำมาตย์ใส่ร้ายป้ายสีอย่าง ปรีดี พนมยงค์, ป๋วย อึ้งภากรณ์, ครูบาศรีวิชัย, บุญสนอง บุณโยทยาน และพระพิมลธรรม สุธาชัยยังกล่าวว่าถึงแม้ว่าจิตร พลจันทร์จะผิดจริง ก็ต้องไปฟ้องจิตรมากกว่า พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ 2550 บอกว่าบรรณาธิการไม่ต้องรับผิดชอบต่อผู้เขียน จึงไม่เข้าใจว่าทำไมสมยศถึงต้องโดนจับ

อัยการถามถึงความเกี่ยวข้องระหว่างพยานและจักรภพ เพ็ญแข เจ้าของนามปากกา “จิต พลจันทร์” สุธาชัยกล่าวว่าตนเคยคุยกับจักรภพ โดยจักรภพเป็นผู้ที่สนใจเรื่องการต่างประเทศมาก ขึ้นเวทีกับจักรภพ และมีความเห็นทางการเมืองที่สอดคล้องกัน อัยการตั้งคำถามต่อว่า พยานเคยขึ้นเวทีไฮปาร์คด้วยกัน ก็ต้องรู้ว่าบทความใดเป็นของจักรภพใช่หรือไม่ สุธาชัยปฏิเสธว่าไม่จำเป็น ตนกับจักรภพมักคุยกันเรื่องต่างประเทศมากกว่าเรื่องในประเทศ

สุธาชัยตอบคำถามเกี่ยวกับนิตยสาร Voice of Taksin ว่าบทความที่จะนำไปตีพิมพ์ส่งทางอีเมลล์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ทราบรายละเอียดว่าพนักงานของสมยศมีหน้าที่อะไรบ้างเพราะไม่ได้ยุ่งกับกองบรรณาธิการมาก สุธาชัยยอมรับว่าคนที่เป็นแม่งาน ดูแลการลงบทความให้ทันเวลาคือสมยศ อำนาจในการตัดสินใจลงบทความเป็นของสมยศโดยมาก แต่ไม่น่าเป็นคนที่นำงานมาตรวจปรู๊ฟ เพราะคงทำไม่ไหว

ทั้งนี้นายสมยศ ถูกจับในฐานะที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารVoice of Taksin ซึ่งศอฉ. ตรวจพบว่ามีบทความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์2บทความ จึงส่งให้กรมสืบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ทำการสอบสวน  และถูกควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย. 54 ขณะกำลังจะเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาพร้อมกับคณะทัวร์ การดำเนินคดีมีการเริ่มสืบพยานมาตั้งแต่วันที่ 21พ.ย. 54 จนสิ้นสุดในวันนี้ รวมมีการนัดสืบพยานทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ 13 ครั้ง โดยที่มีการร้องขอประกันตัวไปแล้วถึง 9 ครั้ง แต่ศาลยกคำร้องทั้งหมด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท